หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาพยุงศักดิ์ ธมฺมวิสุทฺธิเมธี (โสภาสาย)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์มนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวพุทธปรัชญา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาพยุงศักดิ์ ธมฺมวิสุทฺธิเมธี (โสภาสาย) ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังวราภิรักษ์ พธ.บ., M.A., Ph.D.
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพงษ์ คงสัตย์ ป.ธ. ๔, พธ.บ. , M.A , ปร.ด.
  ดร. ยุทธนา พูนเกิดมะเริง ป.ธ. ๔, พธ.บ., M.A., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้  เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย    ประการ คือ  (๑)  เพื่อศึกษามนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวปรัชญา  (๒)  เพื่อศึกษามนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวพุทธปรัชญา  (๓)  เพื่อวิเคราะห์วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ผลการวิจัยพบว่า  แนวคิดเรื่องมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวปรัชญา  พบว่า  มนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวปรัชญานั้นจะต้องรู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์  มีความรู้สึกนึกคิด  เป็นศูนย์รวมของสสารและจิต  รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล  รู้จักการตัดสินใจ  รู้จักเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์  รู้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระให้เป็นสาระ  และรู้จักปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี  เป็นคนดี  ชีวิตของมนุษย์ผู้นั้นก็จะสมบูรณ์  มนุษย์ในฐานะสัตว์ที่สามารถฝึกฝนพัฒนาตนเองได้จะต้องฝึกฝนพัฒนาด้านความประพฤติทางกายและวาจา  ฝึกฝนพัฒนาด้านจิตใจ  และฝึกฝนพัฒนาด้านปัญญาเพื่อให้ถึงธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบแห่งชีวิตมนุษย์นั่นก็คือ  การถึง  ภาวะพิเศษของมนุษย์  ได้แก่  การบรรลุธรรม  การตรัสรู้  การรู้แจ้งแห่งสัจธรรม 

มนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวพุทธปรัชญานั้น  พบว่า  มนุษย์จะต้องเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ทางจิตใจ  โดยมุ่งเน้นถึงความเป็นผู้มีใจสูง  เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในพระพุทธศาสนา  เป็นผู้ที่รู้จักการงดเว้นจากการทำความชั่ว  ทำความดีให้เกิดขึ้น  เป็นผู้ที่มีจิตใจสูงรู้จักทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้แก่ตนและสังคม  มีความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  สามารถปฏิบัติตนให้เป็นอยู่อย่างมีความสุขทั้งทางกาย  ทางจิตใจ  มีสติปัญญา  และแก้ปัญหาของสังคมให้มีความสงบสุขได้  จะต้องรู้จักอบรมใจของตนเองในเรื่องของการกระทำอันสำเร็จแล้วแต่ใจ  เป็นผู้ที่อยู่เหนือปัญหาทั้งทางโลกและทางธรรม  เป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์  หมายความว่า  เป็นมนุษย์ที่ไม่มีปัญหา  มีความเยือกเย็น  ทั้งในแง่ของวัตถุในแง่ของร่างกาย  ในแง่ของจิตใจ  และมีการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์

วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น  พบว่า  วิธีการที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ในแต่ระดับจนถึงขั้นสูงสุดนั้นจะต้องฝึกฝนส่งเสริมและพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ  ก่อนอื่นนั้นจะต้องรู้จักหลักการปฏิบัติเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก่อน  ซึ่งก็คือ  การทำให้มนุษย์มีความเจริญ  ทำสิ่งที่ยังไม่มีให้เกิดขึ้น  เพื่อพัฒนาตนเองโดยอยู่บนหลักของการพัฒนาตนทางด้านศีลธรรม  จิตใจ   และปัญญา  เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุดแก่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  โดยอาศัยหลักธรรม  เช่น  เบญจศีลเบญจธรรม  กุศลกรรมบถ  และอริยมรรค  ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในขั้นต้น  ขั้นกลาง  จนถึงการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในขั้นสูง

วิธีการปฏิบัติตามหลักสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  สรุปหลักสำคัญในการปฏิบัติได้    ประการ  ได้แก่  (๑)  ต้องศึกษาหลักธรรมแต่ละข้อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  (๒)  ต้องนำเอาหลักธรรมแต่ละข้อที่ศึกษาเข้าใจดีแล้วมาระลึกไว้ในใจเสมอ  (๓)  ต้องนำหลักธรรมแต่ละหัวข้อมาพิจารณาในการนำมาปฏิบัติตามให้ถูกต้อง  (๔)  ต้องมีความอดทน  อุตสาหะ  พยายาม  และบากบั่นในการประพฤติตามหลักธรรมแต่ละข้อเนืองๆ  (๕)  ต้องหมั่นสร้างความดีอันเป็นกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น  และหมั่นรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่  และ  (๖)  ต้องหมั่นเพียรละบาปอันเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป  และไม่ให้บาปอันเป็นอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น  เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว  มนุษย์ก็จะกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕