ในขณะที่แนวโน้ม และทิศทางของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นเนื่องจากความ ต้องการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น และกำลังการผลิตเดินมาถึงจุดที่ไม่สามารถจะขยายตัว ได้อีกมากนักในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้บรรดาโรงกลั่นส่วนใหญ่มีกำไรกันเป็นกอบเป็นกำตลอด ช่วงปีที่ผ่านมา แต่ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเพิ่งจะปรับโครงสร้างทางการเงินไปเมื่อต้นปี 2547 โดยการนำหุ้นเพิ่มทุนเข้ามาเสนอ ขายแก่นักลงทุนรายย่อย และประชาชนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมๆกับมีสัญญาว่า จะปรับโครงสร้างธุรกิจ และระบบการบริหารจัดการองค์กรใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และกระแสเงินสดของบางจาก กลับอยู่ในภาวะถดถอย
นักวิเคราะห์จากสถาบันการลงทุนต่างประเทศ ระบุในรายงานผลการตรวจสอบความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจ และการแก้ไขปัญหาการจัดการภายในเพื่อให้บางจากมีสถานภาพทางธุรกิจที่เข้มแข็งขึ้นว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมาปีเศษ แต่บางจากยังประสบปัญหาใหญ่จากการไม่สามารถเพิ่มมูลค่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันจากโรงกลั่นที่มีอยู่ได้ เนื่องจากบางจากไม่ได้ลงทุนติดตั้งระบบแครกกิ้งยูนิตซึ่งช่วยให้ โรงกลั่นสามารถผลิตน้ำมันคุณภาพหรือน้ำมันใส เช่น เบนซิน และดีเซลได้ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่บางจากผลิตจึงเป็นน้ำมันเตาสูงถึง 40%
ทั้งนี้ แม้ รมว.กระทรวงพลังงานที่ผ่านมาจะขอให้ ครม.มีมติสั่งการให้ไทยออยล์รับน้ำมันเตาที่บางจากผลิตได้ไปกลั่นเป็นน้ำมันใสแล้ว และให้ ปตท.เข้าไปช่วยเหลือด้านการตลาดเพื่อพยุงฐานะของบางจากให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ แต่เนื่องจากบางจากมีโครงสร้างองค์กรที่เปราะบาง และไม่ได้ ดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ได้มีการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมันในอนาคต ผลจึงทำให้บางจากมีต้นทุนทางธุรกิจสูง ทั้งในด้านการจัดหาน้ำมันดิบที่มีราคาแพงกว่า และการจัดการด้านการขนส่งน้ำมันดิบ ตลอดจนถึงกรณีที่ต้องจ่ายค่าเช่าโรงกลั่นที่มีอายุการใช้งานมานานเต็มที
ปัจจุบันน้ำมันดิบที่นำเข้าโดยบางจากเกือบทั้งหมดต้องส่งให้ไทยออยล์ช่วยกลั่นให้ แต่เนื่องจากน้ำมันดิบที่บางจากซื้อเป็นน้ำมันดิบที่ต่างชนิด และมีราคาแพงลิ่ว ขณะที่สถานการณ์ด้านน้ำมันเตาที่ผลิตได้เป็นส่วนใหญ่มีราคาตกต่ำ ลงสวนทางกับสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะน้ำมัน ดีเซล สิ่งที่บางจากต้องเผชิญอยู่ท่ามกลางความผันผวนของตลาดน้ำมันโลก จึงเป็นการขาดทุนในรอบใหม่
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การแก้ปัญหาการเงิน หรือแก้ไขตัวเลขทางบัญชี คงไม่ช่วยให้บางจากสามารถดำเนินธุรกิจโรงกลั่นต่อไปได้ ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ลงไปแก้ไขฐานรากสำคัญๆอย่างโครงสร้างองค์กร และประสิทธิภาพของบุคลากรอย่างจริงจัง ความหวังที่กระทรวงพลังงานจะเพิ่มกำลังการผลิตตามแนวโน้ม การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในประเทศก็ดี ลดต้นทุน หรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่บางจากก็ดี จึงยังอยู่ห่างไกล โดยเฉพาะในกรณีที่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจที่จะลงทุนติดตั้งระบบแครกกิ้งยูนิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บางจากได้นำใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นสามัญ หรือ Depository Receipt) หรือ BCP-DR1 เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อต้น เดือน ก.พ.2547 หลังจากที่เปิดให้ประชาชน และนักลงทุนทั่วไปจองซื้อในมูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยหุ้นบางจากดีอาร์ 1 ดังกล่าวเป็นผลผลิตจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้ 19,500 ล้านบาท ที่กระทรวงพลังงานสมัย น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรัฐมนตรีว่าการ นำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เพื่อขอให้ช่วยบางจากกลับมาดำเนินธุรกิจได้ โดยความช่วยเหลือดังกล่าว ประกอบไปด้วย 1. กู้เงินใหม่จากสถาบันการเงินโดยให้ธนาคารกรุงไทยเป็นแกนนำในการปล่อยกู้วงเงิน 12,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะยาว 10 ปี วงเงิน 8,500 ล้านบาท และเงินกู้เป็นทุนหมุนเวียนดำเนินการอีก 4,000 ล้านบาท
2. เพิ่มทุน และออกหุ้นกู้แปลงสภาพโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม และนักลงทุนประเภทสถาบัน 4,000 ล้านบาท และออกขายใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ หลักทรัพย์อ้างอิง หรือดีอาร์ 1 มูลค่า 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 231 ล้านหน่วย ขายให้กับประชาชนในราคาหน่วยละ 13 บาท โดยสัญญาว่าหลังระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ บางจากจะนำไปล้างหนี้สะสม 6,700 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลงปีละ 400-500 ล้านบาท และทำให้หนี้สินต่อทุนลดลงจาก 6.4 เท่า หรือ 1.6 เท่า เพื่อให้บางจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในต้นปีที่ผ่านมา และทำธุรกิจต่อไปได้หลังจากที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่เพียง 17 ล้านบาทเท่านั้น. |