๑. เกริ่นนำ นักวิชาการด้านสันติภาพหลายท่านมักจะมีข้อสังเกตต่อการนิยาม หรือให้คำจำกัดความต่อสันติภาพ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเข้าใจความหมายของสันติภาพที่แตกต่างกัน อาจจะทำให้เกิด ทัศนคติต่อสันติภาพแตกต่างกันได้” การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ ทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาว่า “เป็นไปได้หรือไม่ ที่สังคมโลก หรือสังคมไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ของความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะแต่ละคน หรือกลุ่มคนให้คำนิยามคำว่าสันติภาพต่างกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงนำไปสู่การปฏิบัติ หรือการแสวงหาเครื่องมือเพื่อเข้าถึงสันติภาพแตกต่างกัน” จะเห็นว่า ทัศนคติที่แตกต่างกันจัดได้ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำไมจึงเห็นต่าง เป็นการเห็นต่างๆ ที่ยืนอยู่บนฐานของชุดแนวคิด หรือการปฏิบัติอะไร แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ทัศนคติที่แตกแตกกันดังกล่าวนั้น ได้นำไปสู่วิธีการ หรือการปฏิบัติที่จะเดินทางไปสู่สันติภาพแตกต่างกันด้วย หรือกล่าวอีกข้อสังเกตหนึ่งคือ จริงหรือไม่ เมื่อมีการ “ตีความ” หรือ “ให้ค่า” สันติภาพบนฐานของสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่แตกต่างกัน ย่อมมีผลต่อการสร้างเครื่องมือ หรือใช้เครื่องมือเดินไปสู่สันติภาพที่แตกต่างกันด้วย หากเป็นเช่นนี้ สันติภาพที่เราพยายามจะกล่าวถึง และเข้าถึงร่วมกันนั้น จะบรรจบพบกันได้อย่างไร จึงจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ฉะนั้น บทความนี้ จึงให้ความใส่ใจกับคำถามที่จะต้องตอบในสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ “นักสันติภาพบางท่าน หรือบางกลุ่ม” ในโลกนี้มอง ตีความ หรือให้คุณค่าต่อสันติภาพอย่างไร เหมือนกันหรือไม่ สร้างวาทกรรมเกี่ยวกับสันติภาพบนพื้นฐานของอะไร เพราะการเข้าใจประเด็นเหล่านี้ จะมีผลต่อการแสวงหาเครื่องมือเพื่อก้าวไปสู่การสร้าง “สังคมสมดุล” หรือ “สังคมสมานุภาพ” ในโอกาสต่อไป
อ่านบทความฉบับเต็ม