หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ดร. » พระพุทธศาสนากับการสร้างสันติภาพโลก
 
เข้าชม : ๓๙๖๖๐ ครั้ง

''พระพุทธศาสนากับการสร้างสันติภาพโลก''
 
พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ดร. (2551)

บทคัดย่อ

 

ในยุคของการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ วิทยาการ ภายใต้กระแสทุนนิยม และความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุ ภายใต้กระแสการแข่งขันอันเชี่ยวกรากนั้นและความเป็นไปของอารยธรรม กลับมีปัญหาในทุกระดับ กล่าวคือ ระดับบุคคล ภายในใจของบุคคลกำลังเรียกร้องหาไมตรีจิตมิตรภาพ ระดับสังคมกำลังเรียกหาสันติและความปลอดพ้นจากการห้ำหั่นบีฑาและการหลั่งเลือดในสมรภูมิรบ และระดับโลกหรือสภาพแวดล้อม กำลังต้องการเยียวยาแผลร้ายที่ถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ที่เรียกตนว่า ผู้เจริญ หรือผู้อยู่ในยุคแห่งความเจริญของวิทยาศาสตร์ รวมความว่าทุกระดับกำลังเรียกร้องหาสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่ตนและโลกนี้ทั้งหมด

พระพุทธศาสนาเป็นความหวังสุดท้ายที่จะนำพาวิถีอารยธรรมไปสู่การพัฒนาสันติภาพ โดยเริ่มที่การพัฒนาบุคคล ให้อยู่กับด้วยหลีกเว้นจากการเบียดเบียนกันด้วยกายวาจา มีท่าทีปรารถนาดีต่อกัน ด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีความมุ่งมั่นสู้ปัญหา และมีปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบด้านในการที่จะทำการทั้งหลาย โดยตระหนักว่าไม่ทำลายตน สังคม และสภาพแวดล้อม

ผลในทางปฏิบัติผู้ที่กำลังโหยหาสันติภาพต้องยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคลและธรรมชาติฝ่ายร้ายของมนุษย์ คือ การมีความหวงแหน คับแคบ ตระหนี่ หรือที่เรียกว่า มัจฉริยะ เมื่อกำหนดรู้เช่นนี้แล้ว จึงเพียรกำจัดละวางมัจฉริยะ ให้คลายแล้วการแก้ปัญหาและสถาปนาสันติภาพให้เกิดแก่โลกก็จะพอมีหวังอยู่บ้าง

วันวิสาขาบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทั้งสำหรับพุทธบริษัทและชาวโลกเวียนมาถึง จึงเป็นวาระที่จะได้ศึกษาพุทธจริยา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาของโลก ซึ่งมองในแง่หนึ่งปัญหาในปัจจุบันนี้ฟ้องชัดอยู่ในตัวว่า ทุกระดับกำลังต้องการธรรม คือ ความจริงและสิ่งดีงามไว้สำหรับโลก และวันวิสาขบูานี้เองจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำธรรมมาแก้ปัญหาและสถาปนาสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก

พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการพัฒนาสันติภาพ

โลกพัฒนากว้างไกลแต่หาสันติภาพได้ยากยิ่ง

ตลอดเวลาประมาณพันปีของยุคกลางหรือยุคมืด (Middle/Dark Age : ค.ศ. ๔๗๖-๑๔๕๓) มนุษย์ในแถบโลกตะวันตกถูกครอบงำทางปัญญาด้วยอำนาจของฝ่ายศาสนจักร กล่าวคือ ถูกกำหนดให้คิดและเชื่อตามเทวบัญชา มีการตั้งศาลไต่สวนศรัทธา (Inquisition) เพื่อตรวจสอบความเชื่อของศาสนิก เมื่ออำนาจของศริสต์ศาสนาล่มสลายลง นักคิดที่เคยถูกบีบคั้นกดดันต่างมีแรงใจมุ่งมั่นทุ่มเทเวลาและแรงงานให้กับการแสวงหาความรู้อย่างเต็มที่ ผลของความเพียรพยายามนั้นได้มีการค้นพบวิทยาศาสตร์ นับเป็นการเปิดประตูอารยธรรมมนุษย์สู่ยุคแห่งเหตุผลและความเจริญทางปัญญา (Reason age/ Enlightenment age : คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘) และมีการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเริ่มในอังกฤษประมาณ ค.ศ.๑๗๕๐-๑๘๕๐ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). ๒๕๔๘ก: ๖๓-๘๐)

ถึงแม้จะเป็นเพียงการค้นพบความจริงของธรรมชาติฝ่ายวัตถุเพียงด้านเดียว แต่วิทยาศาสตร์ได้อำนวยประโยชน์อย่างมหาศาลให้แก่มนุษยชาติและมีอิทธิพลทั้งต่อด้านวัตถุและนามธรรม โดยเริ่มจากประเทศตะวันตกแล้วแผ่ไปทั่วโลก ด้านวัตถุมีการผลิตเครื่องอำนวยความสะดวกและประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่เพื่อช่วยทุ่นแรงมนุษย์ ผลที่สุดได้มีระบบอุตสาหกรรมขึ้นเพื่อผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคตามที่มนุษย์ต้องการ ทางด้านนามธรรมสามารถแผ่ขยายข่าวสารและแนวคิดวิทยาการจากต้นแหล่งไปอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต เป็นโลกไร้พรมแดนหรือโลกาภิวัตน์ (Globalization) โดยแฝงนัยแห่งความหมายว่า มีผู้นำเป็นต้นแหล่งแผ่ไปเป็นฝ่ายรุกและมีผู้รับตื่นเต้นหลงไปตามกระแสโดยขาดความเป็นตัวของตัวเอง (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). ๒๕๓๙: ๑๔-๒๐) กล่าวได้ว่า การค้นพบสาระและวิธีการทางวิทยาศาสตร์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ รวดเร็วและต่อเนื่องของอารยธรรมมนุษย์

ฝ่ายเศรษฐกิจเกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเชิดชูการแข่งขัน มีระบบอุตสาหกรรมและภายหลังจากพ้นการเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้ว (Post Industrial Society) ก็เข้าสู่สังคมบริโภคนิยม (Consumer Society) ตามลำดับ ทำให้บุคคลมุ่งแสวงหาวัตถุเสพอย่างเต็มที่ รูปที่ปรากฏออกมาทางสังคม คือ การแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบ รีบเร่ง เห็นแก่ประโยชน์ตน แห้งแล้งน้ำใจ คนในสังคมอยู่กันมากมายแต่ภายในตัวคนกลับว้าเหว่กลวงใน เป็นต้น

มองกว้างออกไปในระดับท้องถิ่นดินแดนต่างมุ่งแย่งชิงและปกป้องผลประโยชน์ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่สุดแม้ด้วยการใช้อาวุธหนักกลายเป็นสงครามระหว่างชาติ โลกจึงไม่ว่างเว้นจากการห้ำหั่นบีฑาและหลั่งเลือดในสมรภูมิรบ

ทางด้านธรรมชาติก็กำลังถูกทำลายด้วยระบบอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้มนุษย์เริ่มทราบว่าตลอดอารยธรรมที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน (Unsustainable Development)

กล่าวได้ว่าขณะมีความเจริญอย่างสูงสุดกลับเกิดปัญหาหรือทุกข์ภัยในทุกระดับ คือ ในระดับปัจเจกบุคคล ระดับสังคมและระดับโลกหรือระดับธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามทำให้มนุษย์ตื่นตนดิ้นรนขวนขวายหาทางแก้ปัญหาเป็นการใหญ่ ปัญหาในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมยังพอทนกันได้ แต่ในระดับธรรมชาติแวดล้อมไม่อาจรออยู่ได้ เพราะภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ทั้งร้ายแรงและไม่เคยมีมาก่อนเริ่มแสดงตัวบ่อยครั้ง ทำให้มนุษย์ตื่นตัวคิดหาวิธีการจะรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้เพื่อความอยู่รอดของตน ถึงกับมีการประชุมร่วมกันระหว่างชาติต่างๆ ในโลกจำนวน ๑๑๓ ประเทศ (บางแห่งว่า ๑๑๔ ประเทศ) เป็นการประชุมของสหประชาชาติ ที่ชื่อว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสภาพแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment) ที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) เมื่อ ค.ศ.๑๙๗๒ และประชุมสุดยอดในเรื่องของโลก (Earth Summit) ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeio) ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ในชื่อว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development) (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). ๒๕๔๑ค: ๒๑-๒๙; ๒๕๔๙: ๓๘-๕๔) จึงเป็นธรรมดาอยู่นั่นเองว่า ผู้ใฝ่รู้หรือนักหาความรู้จะต้องรู้เท่าทันความเป็นไปของการพัฒนาที่ผ่านมา มิใช่แต่นิยมชมชอบความเจริญและเลียนแบบตามกันไปอย่างขาดความรู้ ตั้งต้นแต่รู้เท่าทันเป็นฐานไว้ก่อน จนถึงการช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ปัญหา แต่ถ้าขาดการใฝ่รู้เสียแล้ว นอกจากจะไม่มีแนวทางการแก้ไข ยังต้องตกอยู่ในวังวนของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้นอีกต่อไป

จากที่แสดงนี้ มองเห็นชัดว่าขณะที่วิทยาการและโลกฝ่ายวัตถุกำลังรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ แต่ภายในใจของบุคคลกำลังเรียกร้องหาไมตรีจิตมิตรภาพ สังคมกำลังเรียกหาสันติ และโลกกำลังต้องการเยียวยาแผลร้ายที่ถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ที่เรียกตนว่า ผู้เจริญ หรือผู้อยู่ในยุคแห่งความเจริญของวิทยาศาสตร์ รวมความว่าทุกระดับกำลังเรียกร้องหาสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่ตนและโลกนี้ทั้งหมด

เมื่อปัญหาแสดงตนเช่นนี้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้มีปัญญาและมีกำลังพอจะขึ้นมานำวิถีโลกและอารยธรรมให้เปลี่ยนไปสู่ความเกื้อกูล อำนวยประโยชน์ทั้งระดับบุคคล สังคม และธรรมชาติแวดล้อม โดยเป็นธรรมดาของพุทธบริษัท ที่จะต้องกำหนดรู้ปัญหาด้วยปัญญา แล้วลงมือแก้ไขจัดการปัญหานั้น และถือคติของผู้ศึกษาว่า จะต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนได้ในทุกกรณี ทุกสถานการณ์ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมองปัญหานั้นเป็นแบบฝึกหัดพร้อมกับการแก้ปัญหา

วันวิสาขาบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทั้งสำหรับพุทธบริษัทและชาวโลกเวียนมาถึง จึงเป็นวาระที่จะได้ศึกษาพุทธจริยา เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาของโลก ซึ่งมองในแง่หนึ่งปัญหาในปัจจุบันนี้ฟ้องชัดอยู่ในตัวว่า ทุกระดับกำลังต้องการธรรม คือ ความจริงและสิ่งดีงามไว้สำหรับโลก และวันวิสาขบูชานี้เองจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำธรรมมาแก้ปัญหาและสถาปนาสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก ในขั้นต้นที่สุดควรได้สาระจากวันวิสาขบูชา

วิสาขบูชา: พระวาจามหาบุรุษ

บรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา นับเป็นวันสำคัญที่สุด เพราะเป็นวันที่ชาวพุทธได้ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์เกิดขึ้นตรงในวันเดียวกัน และเพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงมีการแสดงธรรมโปรดพระสาวก และแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อพิจารณาในแง่เหตุการณ์วันวิสาขบูชาจึงมีความสำคัญที่สุด

การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถฝึกหัดพัฒนาตนได้ และฝึกได้สูงสุดถึงขั้นเป็นพระพุทธเจ้า โดยเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์จากอำนาจลึกลับ หรือเทพเจ้าผู้สร้างบันดาล ดังพระดำรัสที่เรียกว่า อาสภิวาจา ในคราวประสูติว่า

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฎฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฎฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก (ที.ม. ๑๐/๒๖)

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่า ธรรมสูงสุด กล่าวคือ โลกและชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ขึ้นต่อการสั่งบังคับของผู้มีอำนาจ มนุษย์เป็นเพียงเข้าไปรู้หลักธรรมด้วยปัญญาและได้รับประโยชน์จากการรู้ความจริงนั้น ดังพุทธอุทานเมื่อแรกตรัสรู้ว่า

“ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา เป็นต้น มีใจความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่บุคคลประเสริฐผู้เพียรพยายามเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นปวงความสงสัยย่อมมลายไป เพราะมารู้เข้าใจถึงธรรมพร้อมทั้งเหตุของมัน...เพราะได้รู้ถึงภาวะที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย...ขจัดมารและเสนาเสียได้ ดังตะวันส่องฟ้าทอแสงจ้าอยู่ฉะนั้น (วินย. ๔/๑-๓)

เมื่อท่านผู้ใดมาเห็นความจริงและปฏิบัติถูกต้องตามธรรมแล้ว ก็เข้าสู่วิถีแห่งสันติ คือ นิพพาน เป็นการสถาปนาสันติภาพขึ้นภายในตัวบุคคล แล้วผู้เข้าสู่วิถีแห่งสันติ คือ นิพพาน นั้นแล้ว ก็บำเพ็ญประโยชน์เพื่อพหูชน เป็นการขยายสันติภาพกว้างออกไปสู่สังคมและชาวโลก

การปรินิพพาน ได้เตือนให้ตระหนักว่า ชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาติและสรรพสิ่ง คือ ทนได้ยาก ไม่อยู่ในสภาพเดิม ไม่อยู่บังคับ หน้าที่ของมนุษย์ต้องขวนขวาย รีบเร่งบำเพ็ญเพียร ทำกิจหน้าที่ของตนๆ โดยรวมคือ ให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่มั่วยุ่งอยู่กับการเที่ยวแสวงหาสิ่งเสพ บำรุงบำเรอทางตา หู เป็นต้น ดังพระปัจฉิมวาจาว่า

“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ แปลว่า สิ่งทั้งหมายที่เกิดจากปัจจัยปรุงประกอบขึ้น ล้วนมีอันจะต้องเสื่อมสลายไป เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” (ที.ม. ๑๐/๑๔๓)

สันติภาพภายใน ขยายไปเพื่อโลก

การบูชาในวันวิสาขบูชา ในทางปฏิบัติควรขยายจากอามิสบูชากว้างออกไปถึงปฏิบัติบูชา กล่าวคือ นอกจากจะทำการบูชาด้วยการเวียนเทียนเป็นต้นแล้ว ควรนำหลักธรรมหรือคติจากวันนี้ไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงจังกับชีวิต

ในบรรดาคติที่ควรจะได้จากวันวิสาขบูชา คติประการหนึ่งที่สำคัญและควรเน้นก็คือ สันติ กล่าวคือ นิพพาน

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแง่หนึ่งเป็นการเข้าถึงสันติ คือ นิพพาน เป็นการเข้าถึงความสุข ปลอดทุกข์ พ้นจากกิเลสทั้งปวง เมื่อไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีความเห็นแก่ประโยชน์ตนเป็นต้น แล้วก็ย่อมหวังได้ว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจด้วยเมตตาต่อสรรพสัตว์ พิจารณาในแง่ของบุคคล พระองค์ทรงเข้าถึงสันติภาพภายใน

ในแง่สังคมพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ โดยมุ่งแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้น พร้อมทั้งจัดตั้งชุมชนพิเศษขึ้น ที่เรียกว่า สงฆ์ เพื่อสร้างสภาพเอื้อให้แก่กุลบุตรผู้ศรัทธาจะฝึกหัดพัฒนาตนได้อาสาตนเข้าอยู่ในสงฆ์นี้ ทั้งยังให้การศึกษาที่ทั่วถึงและเปิดกว้าง กล่าวคือ รับบุคคลทุกชาติชั้นวรรณะเข้าเป็นพุทธมามกะ การบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธองค์จึงเป็นการขยายสันติจากภายในบุคคลออกไปสู่สังคมและโลกทั้งหมด

คติการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพหูชน เป็นหลักการที่ทรงแสดงให้พุทธสาวกถือเป็นสำคัญ ในการเผยแผ่ ดังเช่นพุทธโอวาทประทานแก่พระอรหันต์ ๖๐ รูป ว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เป็นต้น (วินย. ๓๒/๓๙) การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อมหาชนจึงเป็นเป็นคติที่พุทธสาวกถือปฏิบัติเป็นแบบและสืบต่อกันมา และถือว่าเป็นการเผยแผ่สันติภาพไปให้แก่โลก

มัจฉริยะ: ก่อปัญหาให้ขวางสันติ

การที่มนุษย์จะอยู่กันได้โดยปลอดความขัดแย้ง ไม่ห่ำหั่นบีฑากัน กว้างออกไปถึงการปลอดจากสังคราม หรือรวมความว่า การจะสถาปนาสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก มนุษย์ควรได้รับการศึกษา ฝึกหัดพัฒนาตน ให้ปลอดจากความหวงแหนคับแคบ ที่เรียกว่า มัจฉริยะ และควรตระหนักรู้ถึงความหวงแหนซึ่งเป็นธรรมชาติฝ่ายร้ายของมนุษย์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) อธิบายมัจฉริยะไว้ในหนังสือ มองสันติภาพโลกผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์ (น. ๒๑๕: ออนไลน์) ไว้ดังนี้

...มัจฉริยะ คือ ความใจแคบหวงแหนกีดกัน ๕ ประการ..มัจฉริยะ ๕ ประการนี้ จะเป็นตัวตัดสินการพัฒนามนุษย์และการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ว่าจะสำเร็จหรือไม่

มัฉริยะ ๕ ที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์ในแง่นี้คือ

๑. ความหวงกั้นถิ่นอาศัย คือ หวงแหนกีดกันในเรื่องที่อยู่อาศัย ประเทศ ท้องถิ่น ดินแดน (อาวาสมัจฉริยะ)

๒. ความหวงกั้นกลุ่มพวก คือ หวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องพรรคพวก พงศ์เผ่า เหล่ากอ ชาติพันธ์ การแบ่งแยกพวกหมู่เป็นกลุ่มผิว กลุ่มเผ่า กลุ่มลัทธิศาสนาต่าง (กุลมัจฉริยะ)

๓. ความหวงกั้นลาภผล คือ หวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องลาภ ทรัพย์สมบัติ และผลประโยชน์ (ลาภมัจฉริยะ)

๔. ความหวงกั้นชั้นวรรณะ คือ หวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องของวิทยาการ ความรู้ คุณพิเศษ วุฒิ ความดีงาม ความก้าวหน้าในทางภูมิธรรมภูมิปัญญา และความสำเร็จในการสร้างสรรค์ (ธรรมมัจฉริยะ)

ถ้ามนุษย์ยังหนาแน่นด้วยมัจฉริยะ ก็ย่อมหวังได้ยากว่า สันติภาพโลกจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งสันติภายในระดับบุคคลก็คงไม่ต้องหวังอีกต่อไป คงอยู่ก็เพียงแต่การช่วงชิง ห่ำหันบีฑากันไม่รู้จักจบสิ้น ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อันเลวร้ายร่ำไป

เมื่อพัฒนามนุษย์ถึงที่สุด สันติภาพก็ตามมา

การที่ธรรมจะเข้ามาอยู่ในเนื้อตัวของผู้ปฏิบัติ นอกจากจะเป็นเพราะการมีจิตสำนึกในการฝึกหัดพัฒนาตนทั้งด้านศีล จิต และปัญญาของผู้ศึกษาเองแล้ว ส่วนสำคัญก็เป็นเพราะพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยพระปัญญา แต่พระธรรมนั้นจะออกผลในทางปฏิบัติแก่พหูชน ก็เพราะอาศัยพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ จึงทรงนำพระธรรมนั้นมาแสดงแก่ชนจำนวนมาก และทรงบำเพ็ญเพื่อการให้ชนจำนวนมากได้ลิ้มรสอมตธรรมนี้ตลอดพระชนม์ชีพ

ในทางปฏิบัติ ผู้คนในสังคมก็ควรอยู่กันในเมตตาไมตรี ไม่มุ่งทำร้าย ทำลายกัน โดยมีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ ให้มนุษย์รักษา สำรวมกายวาจา ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ละเมิดล่วงเกินสิทธิ์ของผู้อื่น เป็นต้น รวมเรียกว่า ในระดับกายวาจาก็สำรวม มีศีล เป็นเครื่องกำกับ

การมีศีล เป็นเครื่องประกันในขึ้นหนึ่งว่า มนุษย์อาจจะไม่เบียดเบียนกัน ด้วยกายเวลา แต่เพียงแค่ขั้นศีลนี้ ไม่พอสำหรับการจะสถาปนาสันติภาพได้ เพราะการมุ่งปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ จะทำให้รู้สึกแห้งแล้ง ไร้น้ำใจ ไร้ชีวิตชีวิต จึงต้องพัฒนาศึกษาลึกไปอีกขึ้น คือ เข้าไปถึงจิตใจ กล่าวคือ การฝึกหัดพัฒนาตนให้มีท่าทีปรารถนาดีต่อเพื่อร่วมโลก ธรรมชาติ และสิ่งแวกล้อม การเห็นคุณค่าของธรรมชาติ ความสามารถในการสู้ปัญหา อดทน เข้มแข็ง ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย ไม่ใจเสาะเปราะบาง ซึ่งรวมเรียกว่า พัฒนาตนด้านจิตใจ

ทั้งการรักษาศีล และการมีท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องพยายามให้เกิดขึ้นพร้อมกับการพิจารณาเป็นคุณค่า ไตร่ตรองผลดีผลเสีย แล้วลงมือปฏิบัติ ด้วยความรู้ความเข้าใจ การที่ต้นเข้าไปเกี่ยวข้องหรือจะลงมือปฏิบัติกิจการใด ต้องทำด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ทำด้วยความลุ่มหลงมัวเมา ไปตามกระแสของความอยาก เมื่อมีความรู้แล้วก็ทำการด้วยความรู้นั้น รวมเรียกว่า พัฒนาตนด้านปัญญา

การพัฒนามนุษย์ในด้านศีล จิต และปัญญา เป็นการมุ่งไปสู่วิถีแห่งสันติภายใน กล่าวคือ เป็นวิถีทางอันประเสริฐเมื่อเข้าถึงความสุข เมื่อเกิดสันติภายในแล้ว ก็หวังในขั้นหนี่งว่า ด้วยการถือคติเมตตาไมตรี สันติภาพจะแผ่ขยายออกไปสู่สังคมและโลกกว้าง

เมื่อวาระวันวิสาขบูชาเวียนมาถึงทั่วโลกต่างให้ความสนใจ ด้วยจะได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสดงหลักความจริงและสิ่งดีงาม พร้อมข้อปฏิบัติเพื่อให้รับประโยชน์จากความจริงนั้น โดยพระองค์เองในฐานะมนุษย์ผู้ฝึกหัดพัฒนาตนได้เป็นตัวอย่างสำหรับผู้ใครฝึกตน และทรงตรัสรู้เข้าถึงสันติคือนิพพาน แล้วขยายสันตินั้นให้กว้างออกไปแด่พหูชน

ในทางปฏิบัติผู้ศึกษาจึงนำหลักคำสอนที่ทรงแสดงนั้นมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าถึงสันติตามกำลังความสามารถด้วยความไม่ประมาท โดยมุ่งฝึกพัดพัฒนาตนในกายวาจา ไม่มุ่งทำร้ายผู้อื่น พัฒนาตนด้ายจิตใจให้มีท่าทีปรารถนาดีต่อเพื่อร่วมเกิดแก่เจ็บตาย มีความเข็มแข็ง มั่นใจ ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ และพัฒนาตนด้านปัญญา มุ่งศึกษาด้วยมั่นพิจารณาให้เห็นความจริงของโลกและชีวิต เมื่อพัฒนาตนได้ครบกระบวนนี้แล้ว ก็หวังได้ว่าสันติจะเกิดขึ้นแก่ชีวิตและแผ่กว้างไปถึงโลกสืบไป

***

บรรณานุกรม

วินย. ๔/๑-๓

วินย. ๓๒/๓๙

ที.ม. ๑๐/๑๔๓

ที.ม. ๑๐/๒๖

พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ สฺยมรฏฺฐสฺส เตปิฏกํ. กรุเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๐). การสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.

-----------. (๒๕๔๑ก). การศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒ (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ: กองทุนวุฒิธรรม.

-----------. (๒๕๔๑ข). การศึกษา เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.

-----------. (๒๕๔๒). เพื่อชุมชนแห่งการศึกษาและบรรยากาศแห่งวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.

-----------. (๒๕๔๓ก). กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย. ฉบับปรับปรุง พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

-----------. (๒๕๔๓ข). ถึงเวลา มารื้อปรับระบบพัฒนาคนกันใหม่. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ.

-----------. (๒๕๔๓ค). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

-----------. (๒๕๔๕ก). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพฯ: สื่อตะวัน.

-----------. (๒๕๔๕ข). พุทธศาสน์กับการแนะแนว. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ: ศูนย์แนะแนวการศึกษาและอาชีพ กรมวิชาการ.

-----------. (๒๕๔๕ค). แสงทองส่องฟ้า ทั่วหล้าสดใส แสงธรรมส่องจิต ชีวิตอำไพ. กรุงเทพฯ: ธรรมสาร.

-----------. (๒๕๔๖). ซีดีรอม. จากวาเลนไทน์ สู่วาเรนท์ธรรม. นครปฐม: วัดญาณเวศกวัน.

-----------. (๒๕๔๖ก). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพฯ: เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์.

-----------. (๒๕๔๖ข). รุ่งอรุณของการศึกษาเบิกฟ้าแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: พิมพ์สวย.

-----------. (๒๕๔๗ก). ธรรมะกับการทำงาน. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก.

-----------. (๒๕๔๗ข). ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง. พิมพ์ครั้งที่ ๖๘. กรุงเทพฯ: พิมพ์สวย.

-----------. (๒๕๔๗ค). เพิ่มพลังแห่งชีวิต. กรุงเทพฯ: อักษรสยามการพิมพ์.

-----------. (๒๕๔๗ง). สอนนาค-สอนฑิต ชีวิตพระ ชีวิตชาวพุทธ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.

-----------. (๒๕๔๗จ). วันวิสาขบูชา. นครปฐม: วัดญาณเวศกวัน.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๘). โลกขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนต้องเปลี่ยนแนวคิด. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก.

................ (๒๕๔๘ก). มองสันติภาพโลกผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: พิมพ์สวย.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕