เราชาวพุทธย่อมคุ้นชินชื่อบทความนี้ จนแทบจะไม่รู้สึกเลยว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่น่าสนใจสักเท่าไร ยิ่งผู้เกี่ยวข้องกับวัดวาอารามด้วยแล้วจะยิ่งคุ้นเคยเป็นพิเศษ เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธเจ้า รู้กันทันทีว่าเป็นใครโดยไม่ต้องสอบถาม ต่างกับยุคอดีตถ้าใครอ้างตนเป็นพระพุทธเจ้า จะถูกทดสอบว่าเป็นจริงตามคำอ้างหรือไม่
ในคัมภีร์ท่านบรรยายสถานภาพของพระพุทธเจ้าไว้วิจิตรพิสดารมาก มีทั้งเรื่องราวในตำนานและเรื่องประวัติศาสตร์ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า พระพุทธเจ้าคือใคร พระองค์เป็นอะไรกันแน่ เป็นมนุษย์หรือไม่ใช่มนุษย์ (อมนุษย์)
พระพุทธเจ้า (พระ + พุทธะ + เจ้า) สมาสคำต้นกับคำท้ายเป็น พระเจ้า ในภาษาไทยสื่อความไปทางหนึ่ง พุทธะ ตรงกับคำในบาลี พุทฺธะหรือ พุทฺโธ หมายถึง รู้ ตรงข้ามกับ ไม่รู้ เช่น พุทฺโธ (รู้แล้ว) แปลว่า ตื่น ตรงข้ามกับ หลับ เช่น ปพุทฺธา (ตื่นแล้ว), สุตฺตปฺปพุทฺโธ (หลับแล้วตื่น) ธาตุเดียวกัน (พุธ ธาตุ) นี้ใช้เป็นอากัปกิริยา เช่นคำว่า พุชฺฌิ, พุชฺฌติ, ปพุชฺฌมาโน แปลว่า ตื่น
ที่มาแห่งคำว่าพุทธะ
ในสมัยโบราณ คำที่ใช้หมายถึงตำแหน่งสูงสุดสองตำแหน่ง ทางโลกียวิสัยคือตำแหน่งจักรพรรดิ ทางโลกุตตรวิสัยคือตำแหน่งพุทธะ เห็นได้จากการทำนายลักษณะพระสิทธัตถกุมาร เมื่อครั้งประสูติ ว่า (๑) หากพระกุมารอยู่ในโลกิยวิสัยเป็นฆราวาส จะได้เป็นจักรพรรดิเป็นราชาผู้หมุนกงล้ออำนาจแผ่ไปกว้างไกล (๒) หากละทิ้งโลกิยวิสัยไปเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพุทธะผู้หมดสิ้นกิเลสอาสวะทุกอย่าง
ใน จักกวัตติสูตร อ้างพระนามของจักรพรรดิทัฬหเนมิ มหาสุทัสสนสูตร บรรยายความมั่งคั่งของจอมจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ ยกย่องตำแหน่งพุทธะเป็นธรรมราชาเสมอด้วยตำแหน่งจอมจักรพรรดิ
นอกจากตำแหน่งพุทธะ ยังระบุว่ามีตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งปุโรหิตหรือนักบวช ตำแหน่งมหาโควินทะ ตำแหน่งมเหสี ตำแหน่งเสนาบดี ตำแหน่งคามณี ตำแหน่งคณิกา เจ้าลิจฉวี ในเมืองเวสาลี มีราชา อุปราช เสนาบดี มหาอมาตย์ตัดสินคดีความ กำนัน และนายบ้าน
บทความนี้จะ ศึกษาตำแหน่งพุทธะ
พุทธะ ตำแหน่งในโลกุตรวิสัย ตำแหน่งนี้เกิดขึ้นยากที่สุด ผู้เป็นพุทธะเกิดมาเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์ ช่วยเหลือมวลมนุษย์ บางคนพอได้ยินพุทธะ ถึงกับตื่นเต้นยินดีปลาบปลื้ม แต่คนบางกลุ่มโดยเฉพาะพราหมณ์กลับรังเกียจ ไม่อยากได้ยินชื่อนี้
พุทธะ เป็นอุคฺคตนาม คำนี้ใช้กับผู้มีปัญญาและเสียสละ เสียสละได้ขนาดที่เรียกว่าแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนเสียสละเช่นนี้มีชีวิตอยู่จริง ๆ จึงมีความหมายทางโลกุตรวิสัย สมัยพุทธกาลใครอ้างว่าตนเป็นพุทธะก็หมายถึงประกาศให้ผู้คนรับทราบว่าเขาคือผู้มีความสามารถที่จะโต้ตอบข้อสงสัย ชี้แจงเรื่องราวได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องในโลกนี้ เรื่องในจักรวาล เรื่องวิญญาณ รวมถึงเรื่องชีวิตหลังความตาย รู้ไปทุกอย่าง สังคมยกย่องนับถือคนเป็นพุทธะว่าเก่งกล้าสามารถ ใครอ้างว่าเป็นพุทธะจะถูกสังคมตรวจสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ เวลานั้นพราหมณ์เป็นนักวิชาการ เป็นผู้สร้างเงื่อนไขในสังคม มีพราหมณ์ผู้สูงอายุหลายคนเจนจบไตรเพท มั่นใจความรู้ตนเองเข้าใจว่าไม่มีใครเก่งกล้าเทียมเท่าหรือเสมอเหมือนตน ประกาศว่ามนุษย์ไม่มีปัญญามากพอที่จะรู้ความจริงแท้ได้เอง แต่ทว่ากลับมีเจ้าชายหนุ่มจากศากยะตระกูลประกาศว่าเขาคือผู้รู้ความจริงแท้ด้วยตน เป็นสัมมาสัมพุทธะ มิใช่เป็นอย่างที่พราหมณ์ประกาศอ้าง ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นว่าได้ท้าทายอำนาจพราหมณ์ซึ่งๆ หน้า
-พุทธะในตำนาน
สถานภาพของ พุทธะ มีทั้งที่บรรยายในตำนานและในประวัติศาสตร์
บรรยายด้านตำนาน พุทธะ ชื่อเล่าขานคล้ายกับนิทาน เรื่องตำนานไม่ต่างกับนิทาน จะค้นหาความจริงจากตำนานทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย ไม่มีหลักฐานทางตำนานว่าเรื่องราวนั้นๆ เกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน ตำนานมีแต่ความลี้ลับ มักเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อลัทธิศาสนา ลัทธิศาสนาที่ไม่มีตำนาน ไม่มีเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ก็ไม่สามารถเป็นลัทธิมาจนถึงทุกวันนี้
พระพุทธศาสนามีตำนานสนับสนุนคำสอน ตำนานช่วยให้คำสอนเคลื่อนไหว
ตามประวัติของพุทธะ (พุทธประวัติ) พระบรมศาสดาทรงอุบัติในกลุ่มของผู้นับถือเทพเจ้า เป็นเรื่องศาสนาที่อิงกับความเชื่อ ทั้งความเชื่อของพราหมณ์และของชาวพุทธ พุทธะในตำนาน เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าและสิ่งลี้ลับ
บรรยายโวหารในทูเรนิทานกถา(เรื่องในที่ไกล) มีเหตุการณ์เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าว่าเคยบำเพ็ญบารมีมาหลายชาติ หรือในอวิทูเรนิทานกถา(เรื่องใกล้เข้ามาอีก) เหตุการณ์เมื่อพระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เทวดาในเทวโลกกับพรหมในพรหมโลก อัญเชิญให้จุติมาบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ทรงเลือกเวลา ทวีป ประเทศ ตระกูล และอายุมารดา รับว่าจะจุติมายังโลกมนุษย์ ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ บรรยายโวหารเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ต่าง ๆ สะท้อนความเชื่อในยุคที่วรรณกรรมของลัทธินิกายต่าง ๆ เมื่อสิ้นพระศาสดาต้องต่อสู้แข่งขันกับลัทธินิกายอื่น พราหมณ์ หรือเชน อ้างความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าว่ามีมหิทธานุภาพที่มองไม่เห็นแต่มีคุณอเนกอนันต์ ชาวพุทธเดิมทีเชื่อว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ แต่ด้วยเหตุที่ต้องต่อสู้แข่งขันกับลัทธิอื่น จึงยกย่องพระพุทธเจ้าให้เป็นเทพเจ้าไปอย่างช้า ๆ (เรื่องลักษณะนี้ไม่ต้องมองถึงสองพันปี เพียง ๑๕๐ ปีเมืองไทยยังมีลัทธิเสด็จพ่อ ร. ๕) พระพุทธศาสนานิกายอื่นพัฒนาแนวคิดเรื่องเกี่ยวกับพุทธะ รับรูปแบบจากพราหมณ์ เชน และลัทธิลึกลับในเปอร์เซีย เสริมแต่งพุทธประวัติจนวิจิตรพิสดารไร้ขอบเขต โดยมุ่งอิทธิปาฏิหาริย์
ก่อนพุทธกาลในยุคอุปนิษัทมีความเชื่อกันอยู่ว่ามีสิ่งทรงอำนาจสูงสุดสร้างสรรค์สรรพสิ่ง สามัญชนไม่อาจมองเห็นได้ สิ่งนั้นเรียกว่าพรหมัน (The Supreme being) พรหมันอยู่เหนือการกำหนดวัด พ้นขีดกาลเวลา ยิ่งใหญ่กว่าบรรดาเทพเจ้า The great Lord of lords, The Great God of gods, The Master of masters, greater than the great, the adorable Lord of the world) บรรยายโวหารเกี่ยวกับพรหมันถูกนำมาบรรยายลักษณะของพุทธะ ว่า ใครจะประเมินพุทธะไม่ได้ พุทธะมีความวิเศษเหนือชั้น ยิ่งกว่าราชา ยิ่งกว่าเทพ ยิ่งกว่าสักกะ ยิ่งกว่าพรหม (อปฺปเมยฺโย อนุตฺตโร ราชาภิราชา เทวเทโว สกฺกานมติสกฺโก พฺรหฺมานมติพฺรหฺมา)
บรรยายโวหารเรื่องพรหมัน หรือสิ่งสูงสุด (absolute) ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา
ช่วงเวลาที่ชาวพุทธรวบรวมพระไตรปิฎกระหว่าง พ. ศ. ๑๙๐ - พ.ศ. ๔๐๐ ผู้รวบรวมคัมภีร์ได้ยกย่องสรรเสริญสดุดีท่านผู้เป็นพุทธะ มีทั้งตำนานและประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่เมื่อพุทธะ (พระโพธิสัตว์) สถิต ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ชี้ถึงความอัศจรรย์ของพุทธะว่าเป็นผู้วิเศษ มีคุณสมบัติเหนือกว่าทุกคน มีความยิ่งใหญ่ บรรยายเหตุการณ์ ขณะประสูติว่าพระโพธิสัตว์มีความพิเศษแปลกไม่เหมือนใคร :-
การสดุดีเป็นรูปแบบการแสดงความเคารพ ใช้อยู่ ๓ ลักษณะ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า mythology โดยเฉพาะการสดุดีความเป็นมาในอดีตชาติ กล่าวได้ว่าเบื้องหลัง(background)ปรากฏการณ์ในทุกศาสนา มักหนีไม่พ้น mythology
การสดุดีพระพุทธเจ้า มีทั้งความประพฤติ (จริยวณฺโณ) ทางสรีระ (สรีรวณฺโณ) และพระคุณ ( คุณวณฺโณ)
... เมื่อสดุดีพระพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่(จุติจาก)สวรรค์ชั้นดุสิต จนถึงประทับนั่ง ณ บัลลังก์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พรรณนาพระสรีระของพระทศพล คือพระรัศมีซึ่งซ่านจากมหาปุริสลักษณะ ๓๒ และจากอนุพยัญชนะ ๘๐ จากพื้นเท้าขึ้นไปจนถึงปลายพระเกสา (พุทฺธสฺส วณฺณํ ภาสนฺตา ตุสิตภวนโต ปฏฺฐาย ยาว มหาโพธิปลฺลงฺกา ทสพลสฺส เหฏฺฐา ปาทตเลหิ อุปริ เกสคฺเคหิ ปริจฺฉินฺทิตฺวา ทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณอสีติอนุพฺยญฺชนพฺยามปฺปภาวเสน สรีรวณฺณํ กถยึสุ)
มีเรื่องว่า ผู้ทำนายลักษณะเห็นรอยเท้า(ของพุทธะ)บนทาง ไม่รู้ว่ารอยใคร พิเคราะห์ลักษณะรอยเห็นต่างกับรอยของสามัญชน ตามรอยไปจนพบพระพุทธเจ้าประทับนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ เข้าไปสอบถามว่าพระองค์เป็นเทวดาใช่ไหม พระพุทธเจ้าทรงตอบว่าไม่ใช่ จึงถามต่อไปว่าเป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ หรือว่าเป็นอะไรแน่ พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า พระองค์ไม่มีกิเลสที่ทำให้เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ พระองค์คือพุทธะ คำตอบนี้ทำให้คิดว่า ถ้าพระองค์ไม่ใช่มนุษย์ก็ต้องเป็นอมนุษย์(ไม่ใช่มนุษย์) นิกายโลกุตตรวาทิน ซึ่งเป็นนิกายย่อยของนิกายมหาสังฆิกะ เข้าใจไปว่าในเมื่อพระองค์ไม่ใช่มนุษย์ก็ต้องเป็นยอดมนุษย์ (Super-man)
-พุทธะในประวัติศาสตร์
ตำนานกับประวัติศาสตร์มาจากแหล่งเดียวกัน ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา
พุทธะในประวัติศาสตร์ ต้องศึกษาปรากฏการณ์ในสังคมก่อนพุทธกาลโยงมายังพุทธกาล สรุปได้ว่าพระรูปกายของพุทธะ(พระพุทธเจ้า) เกิดเมื่อ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว อุบัติในชมพูทวีปคืออินเดียตอนเหนือ แถบเขาหิมาลัย (ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล) กำเนิดในสุริยวงศ์ (อาทิจฺจพนฺธุ) ราชวงศ์โอกกากราช ของมหาสมมุติราช วรรณะกษัตริย์ มีพระนามว่า สิทธัตถะ (อีกพระนามหนึ่งคือ อังคีรส)
ชาติภูมิของพุทธะมี ๒ มติ มติหนึ่ง พระองค์ทรงเป็นฮินดู อีกมติหนึ่ง ทรงเป็นมงโกล ชาวพุทธส่วนมากทราบมติแรกมากกว่ามติสอง วิเวกนันทะ รีดส์ เดวิดส์ อานันทะ โกมะระสวามี และราธะกฤษณัน เชื่อถือมติแรก ส่วนที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นมงโกล ชาวพุทธ(ไทย)หลายคนอาจไม่ทราบ วินเซนต์ เอ. สมิธ เผยแพร่เรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. 1919) ในหนังสือประวัติศาสตร์อินเดีย (The Oxford History of India) ระบุโคตมพุทธะของชนเผ่าศากยะว่าเป็นเผ่ามงโกล(a Mongolian by birth) แม้มหาวีระ(นิครนถ์นาฏบุตร)ของเชน ก็เป็นชนเผ่ามงโกลชาวภูเขา (a Mongolian hill-man) ในหนังสือสารานุกรมโลกฮินดู (Hindu World) พ. ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. 1968) ระบุว่าเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาทรงเป็นกษัตริย์ของชนเผ่ามงโกล (king of Mongolian stock) มายาเทวีเป็นเจ้าหญิงชนเผ่าลิจฉวี
เมื่อพระสิทธัตถกุมารทรงเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมสมัยนั้นสับสนวุ่นวาย คนกลุ่มหนึ่งกำลังรุ่งเรืองเพลิดเพลินด้วยความสุขทางวัตถุ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะด้อยลง ๆ อีกพวกหนึ่ง เบื่อวัตถุจึงปลีกตัวจากสังคมมุ่งหาจุดหมายในชีวิตโดยไม่ใส่ใจความวุ่นวาย ความเป็นไปในสังคมเวลานั้นมีคนอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบพากันแสวงหาโอกาสที่จะหาความสุขทางวัตถุ แข่งขันแย่งชิง มีชีวิตอยู่อย่างเป็นทาสของวัตถุแล้วตายไปอย่างไร้สาระ อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบทุกด้าน ถูกบีบคั้นกดขี่เป็นอยู่อย่างคับแค้น สภาพเช่นนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อระอา ในที่สุดทรงมองเห็นภาพสมณะซึ่งเป็นผู้ได้ปลีกตัวจากสังคมไปค้นหาความจริงโดยมีความเป็นอยู่ง่าย ๆ ปราศจากกังวลและสะดวกในการแสวงหาความสุขและคิดหาเหตุผล เมื่อพระชนม์ได้ ๒๙ ปี เสด็จออกบรรพชา เป็นนักบวชทรงเข้าศึกษาหาความรู้ในสำนักที่มีชื่อสมัยนั้น แต่ไม่ทรงพอพระทัย จนกระทั่งตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
พระองค์ทรงเผยแผ่คำสอนอยู่ ๔๕ ปี ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก(โลกัตถจริยา) แก่หมู่พระญาติ (ญาตัตถจริยา) ในฐานะเป็นพุทธะ (พุทธัตถจริยา) การเกิดของเอกบุคคล(พุทธะ)เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข การล่วงลับของเอกบุคคลเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อเผยแผ่คำสอนเป็นปึกแผ่นเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนม์ ๘๐ ปี ตถาคตแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ วัยของตถาคตมาถึง ๘๐ ปี เกวียนเก่าที่ซ่อมแซม ยังใช้ได้เหมือนกายของตถาคต ที่ยังเป็นไปก็เหมือนเกวียนเก่าซ่อมด้วยไม้ไผ่
-พระนามว่าพุทธะ
ชื่อที่พระองค์ทรงหมายถึงพระองค์เองก็มี มีผู้ถวายพระนามให้ก็มี ชื่อที่เกิดขึ้นตามลักษณะพระองค์ก็มี
ชื่อ มีอำนาจเหนือกว่าสิ่งอื่นใด สิ่งที่ชาวโลกรับรู้เข้าใจความหมายกันได้ก็เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีชื่อ ชื่อกำหนดทุกสิ่งทั้งที่มองเห็นได้และไม่สามารถจะมองเห็น ชื่อครอบงำทุกอย่างในโลก สิ่งต่าง ๆ ที่เรียกกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้เพราะมีชื่อ ลำพังตัวมันไม่มีอำนาจบัญญัติได้เอง นอกจากมนุษย์จะกำหนดให้ เพราะว่าสิ่งทั้งปวงมีตามสภาพของมันไม่ดีไม่ร้าย มนุษย์คือผู้กำหนดความดีความร้าย ให้สัญลักษณ์ตามความรู้สึกนึกคิดที่ตัวเองเห็นเหมาะสม จนกลายเป็นโวหารเรียกกันสืบมา ถ้าสืบสาวลงไปจะพบว่าว่างเปล่า ไม่มีสาระไม่มีภาวะที่พอจะจับหยิบฉวยได้ มนุษย์ซึ่งกำหนดเรียกชื่อ สิ่งต่าง ๆก็ใช่ว่ามีอะไรเป็นตัวตน มนุษย์เกิดขึ้นเพราะการรวมแห่งขันธ์ ๕ เรียกสั้น ๆ ว่า รูป กับ นาม
ความสำคัญของชื่อ อำนาจภาษาและวิถีบัญญัติมีอิทธิพลหนือความคิดของโลกียชน ภาษาในพระพุทธศาสนาชี้สัจจะชีวิต โลกียชนชอบความจริงพอกับที่ไม่ต้องการรู้ความจริง โดยเฉพาะความจริงเรื่องชีวิต เพราะความอาลัยกิเลส กลัวหมดความสนุก กลัวพ้นสมัย กลัวถูกตำหนิว่าเป็นคนแก่ชรา ถ้าหากเปิดเผยว่าเป็นคนธรรมะธรรมโมก็ยากที่จะไปเที่ยวเตร่เฮฮาเหมือนกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้คำสอนของพระพุทธเจ้าฝืนกระแสความคิด แต่ในความรู้สึกส่วนลึกต้องยอมรับว่าเป็นจริงเช่นนั้น สำนวนภาษาซึ่งแฝงปริศนาธรรมมีทั้งลุ่มลึก คมคาย เช่น พระกุมารประสูติเสด็จไปพร้อมตรัสอาสภิวาจา การพบเห็นเทวทูต ก่อนตรัสรู้ทรงลอยถาด ถาดลอยทวนกระแสน้ำ ต่อสู้กับมาร บาตรจีวรสำเร็จจากฤทธิ์ลอยมาในอากาศ ผู้ประทุษร้ายพระอริยบุคคลถูกธรณีสูบ ศีรษะแตก ๗ เสี่ยง มีกำลังเท่าช้าง ๕ ตัว แต่ละเหตุการณ์แฝงปริศนาให้ขบคิด ดังนั้น ไม่ควรรีบตัดสินเรื่องนั้น ๆ ว่าผิดถูก เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ ภาษาคือผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ ภาษาเป็นเครื่องกรองสังคม มนุษย์ที่เป็นทาสสังคมจึงตกเป็นทาสของภาษาด้วย
คำว่า พุทธะ (จาก พุธ ธาตุ ; intelligent) เปลี่ยนเป็น โพธิ ใช้เป็นชื่อต้นไม้ ชื่อมรรค ชื่อสัพพัญุตญาณ ชื่อนิพพาน
ลักษณะ พุทธะ ลักษณะมนุษย์ สิ่งที่ควรรู้ยิ่งพระองค์รู้แล้ว สิ่งที่ควรเจริญพระองค์เจริญแล้ว สิ่งที่ควรละพระองค์ละได้แล้ว ดังนั้น พระองค์จึงเป็นพุทธะ
ในคัมภีร์นิทเทส และคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นิยามไว้ ๑๕ ความหมาย :
๑. ตรัสรู้สัจจะ (พุชฺฌิตา สจฺจานีติ พุทฺโธ)
๒. ให้หมู่สัตว์ตรัสรู้ (โพเธตา ปชายาติ พุทฺโธ)
๓. เป็นสัพพัญญู (สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ)
๔. เห็นธรรมทั้งปวง (สพฺพทสฺสาวิตาย พุทฺโธ)
๕. รู้ยิ่ง (อภิญฺเญยฺยตาย พุทฺโธ)
๖. ผู้เบิกบาน (วิกสิตตาย พุทฺโธ)
๗. สิ้นกิเลส (ขีณาสวสงฺขาเตน พุทฺโธ)
๘. ไม่มีอุปกิเลส (นิรุปกฺกิเลสสงฺขาเตน พุทฺโธ)
๙. ปราศจากราคะสิ้นเชิง (เอกนฺตวีตราโค พุทฺโธ)
๑๐. ปราศจากโทษะสิ้นเชิง (เอกนฺตวีตโทโส พุทฺโธ)
๑๑. ปราศจากโมหะสิ้นเชิง (เอกนฺตวีตโมโห พุทฺโธ)
๑๒. ปราศจากกิเลสอย่างเด็ดขาด (เอกนฺตนิกฺกิเลโส พุทฺโธ
๑๓. เดินตามเอกายนมรรค(เอกายนมคฺคํ คโตติ พุทฺโธ)
๑๔. ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิอันยอดเยี่ยม (เอกํ อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธติ พุทฺโธ)
๑๕. ปราศจากความไม่รู้ มีแต่ความรู้ (อพุทฺธิวิหตตฺตา พุทฺธิปฏิลาภตฺตา พุทฺโธ)
ไม่ใช่ใครตั้งชื่อพุทธะ คำนี้เกิดขึ้นมาพร้อมสัพพัญญุตญาณ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
นักประวัติศาสตร์ ชื่อ เอ็ช. จี เวลส์ (H.G. Wells) ยกย่องพระพุทธเจ้าว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกในบรรดาคนสำคัญทั้งหมด ๖ คน พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพชั่วเวลาหนึ่ง ทรงมีพระปัญญาอย่างอัจฉริยบุคคล ทรงเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขของชาวโลก
ถ้าเราเชื่อว่าอาศัยรอยเท้าจะสามารถติดตามผู้ที่หนีไปจากสายตาของเราได้ ก็อาศัยคำสอนของพระองค์นั่นเองก็สามารถตามหาพระพุทธองค์ได้เหมือนกัน คำสอนที่นำออกจากความทุกข์ ชี้ให้เห็นว่าบุคลิกภาพของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระองค์ทรงปฏิบัติได้ตามที่สอนจึงเป็นบุคคลต้นแบบที่ดี ผู้ต้องการพบเห็นพระพุทธเจ้าต้องปฏิบัติตามที่คำที่ว่า ผู้มองเห็นธรรมย่อมมองเห็นพระพุทธเจ้า ผู้มองเห็นธรรมย่อมมองเห็นปฏิจจสมุปบาท
พุทธะในตำนาน บรรยายให้เท่าเทียม หรือเหนือยิ่งกว่าความจริงสูงสุดของพราหมณ์
พุทธะในประวัติศาสตร์ บรรยายตามปรากฏการณ์ทางสังคม
พุทธะเรียกพระองค์เป็น ตถาคต
สรุปว่า พระพุทธเจ้าคือสิ่งที่มีอยู่เองโดยไม่ตบแต่ง นั่นคือ ธรรม หรือ ตถาคต
บุคลิกภาพของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์
พระไตรปิฎกบรรยายบุคลิกภาพของพุทธะ (พระพุทธเจ้า) ว่าสะอาดบริสุทธิ์ดุจดอกบัว ตถาคตไม่ขัดแย้งกับโลกแต่โลกขัดแย้งกับตถาคต ผู้กล่าวเป็นธรรมไม่ขัดแย้งกับใครในโลก สิ่งที่บัณฑิตสมมุติว่าไม่มีในโลก ตถาคตก็ว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งที่บัณฑิตสมมุติว่ามีอยู่ในโลก ตถาคตก็ว่าสิ่งนั้นมี ... ตถาคตเกิดเติบโตอยู่ในโลก ครอบงำโลกแต่ไม่แปดเปื้อนโลก เหมือนอุบล ปทุม บุณฑริก เกิดเจริญ เติบโตในน้ำ แต่ไม่ติดน้ำ ฉะนั้น
พระพุทธลักษณะด้านใน และด้านนอก
-บุคลิกภาพภายใน
พระชนม์ชีพแต่ละวัน พระพุทธเจ้าทรงยินดีในความสงัด โปรดเสียงเบาเงียบสงบ (อปฺป สทฺทกาโม) ทรงบำเพ็ญพุทธกิจด้วยความรู้เท่าทันไม่ยึดมั่น (วิชฺชาวิมุตฺติผลานิสํโส) พระลักษณะด้านในไม่มีใครรู้ได้ แม้ผู้พบเห็นเคยสนทนาก็ไม่อาจหยั่งคะเน ผู้ที่รู้จักพระองค์ต้องเป็นเช่นเดียวกับพระองค์
อัสสลายนมาณพ พราหมณ์หนุ่มอายุ ๑๖ ปี มีคุณสมบัติของพราหมณ์ครบถ้วนรู้เจนจบไตรเพท กล่าวว่า พระสมณะโคดมเป็นธรรมวาทีที่บุคคลจะพึงเจรจาโต้ตอบได้ยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณะโคดมในคำนั้นได้
สัจจกนิครนถ์ นักโต้วาทะ โต้จนไม่มีใครกล้าปะทะคารม ความสามารถของเขาขนาดที่ว่าโต้วาทะกับเสาไม้เสายังสะเทือน เขาอวดตัวเหมือนปูเดินชูก้าม ไปโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า ท้ายที่สุดความทะนงหายไปหมดสิ้น เก้อเขิน ก้มหน้า นิ่งอึ้ง พูดไม่ออก เหมือนปูโดนหักก้าม ถ้าเจอพระสมณโคดมไม่มีใครเอาตัวรอดได้เลย
พระอานนท์บอกโคปกโมคคัลลานพราหมณ์ว่า ไม่มีภิกษุสักรูปหนึ่งที่จะมีคุณสมบัติครบทุกประการอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงมี พระพุทธเจ้าทรงยังมรรคที่ยังไม่อุบัติให้อุบัติ ทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ไม่มีใครบอกได้ ทรงทราบชัดมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค ทรงฉลาดในมรรค
ทีฆตปัสสี เชื่อว่า พระพุทธเจ้ารู้วิชามายาศาสตร์ (มายาวี) ที่เรียกว่าอาวัฏฏีมายาศาสตร์ ที่เป็นศาสตร์หนึ่งใน ๓ ศาสตร์ ของอุปนิษัท คือ ศักติ ประกฤติ และอัพยากฤต (อวิชชา) สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้
ถึงแม้ไม่มีใครหยั่งพระปัญญาได้ ก็พึงศึกษาทสพลญาณ ๑๐ ประการ ในพระองค์
สิ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงอาจหาญแกล้วกล้า คือเวสารัชชธรรม ทรงยืนยันว่า
๑. เป็นสัมมาสัมพุทธะ (สัมมาสัมพุทธปฏิญญา)
๒. หมดสิ้นกิเลสอาสวะ (ขีณาสวปฏิญญา)
๓. ยืนยันสิ่งที่ตรัสแล้วว่ามีโทษจริง (อันตรายิกธรรม)
๔. แสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังพ้นทุกข์ (นิยยานิกธัมมเทสนา)
บทบาทของพระองค์ผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อชาวโลก เยียวยาความทุกข์ความเดือดร้อนเป็นที่พึ่งของชาวโลก พระองค์เหมือนหมอรักษาคนไข้ ชี้แนะทางดำเนินชีวิตแก่ชาวโลก เป็นเหมือนสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างบ้าน ทรงชี้ทางเดินให้ (มคฺคกฺขายี)
โลกุตรธรรม ๙ ประการ เป็นพระรูปกายของพระพุทธเจ้า
-พระบุคลิกภาพภายนอก
พระพุทธเจ้าทรงมีผิวพรรณประดุจทองคำ
-ทรงมีพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีพระวรกายสง่างามอย่างที่มีคนชื่นชมว่า พระสมณโคดมมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก วรรณะและพระสรีระดังพรหม น่าดูน่าชมนักหนา
-ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ พูดวาจาสุภาพสละสลวย ดังคำชื่นชมที่ว่า พระสมณะโคดมมีพระวาจาไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำได้งดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวย ไม่มีโทษ ยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดเจน และคำชมที่ว่า พระสุรเสียงที่เปล่งออกจากพระโอษฐ์นั้น ประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ ประการ คือ (๑) แจ่มใส (๒) ชัดเจน (๓) นุ่มนวล (๔) ชวนฟัง (๕) กลมกล่อม (๖) ไม่พร่า (๗) ซึ้ง (๘) กังวาน
-ทรงมีพระอากัปกิริยามารยาททุกอย่างงดงามน่าเลื่อมใส เป็นที่ยอมรับในสังคม มีความองอาจ แกล้วกล้า สงบเยือกเย็น เปรียบเหมือนพญาราชสีห์
วันเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมชีพตรงกับสมัยนักปราชญ์หลายคน คือ ทาเลส (Thales) อเนกซิมานเดอร์ (Aneximander) ไพธากอรัส (Pythagoras) เล่าจื้อ (Laotse) วันเวลาที่พระองค์ล่วงลับ ตรงกับสงครามเปอร์เซีย (Persian wars) และนักปราชญ์ คือ เฮอแรคคลิตัส (Heraclitus) พาร์มีนิเดส (Parmenides) ขงจื้อ (Confucius)
สรุป
พุทธลักษณะ หรือบุคลิกภาพของพระพุทธองค์ ผู้นำอารยันของชาวพุทธ สรุปได้คร่าว ๆ ทรงเป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง พระองค์ไม่ใช่อวตารหรือเกิดจากคำสั่งของเทพ ทรงค้นพบสัจธรรมด้วยพระองค์เอง (สมฺมาสมฺพุทฺโธ) ไม่ใช่เพราะมีเทพเจ้าดลบันดาลให้พบ ทรงเป็นผู้ชี้ทางดำเนินชีวิตให้ (อกฺขาตาโร ตถาคตา) พระองค์ไม่บังคับให้ใครเชื่อ ไม่ผูกขาดความเป็นพุทธะไว้แต่เพียงผู้เดียว คำสอนไม่มีนัยเร้นลับไม่มีเงื่อนงำ (อาจริยมุฏฺฐิ) สอนแต่สิ่งที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติได้จริงในชีวิต ไม่มุ่งหวังอยากได้ศิษย์ (เช่น กรณีสีหเสนาบดี) สอนไม่ให้ติดยึดบุคคล (เช่น กรณีพระวักกลิ) ทรงมุ่งความสำเร็จประโยชน์ของผู้ปฏิบัติเป็นประมาณ
นี้เป็นลักษณะเด่นของผู้มีพระนามว่า พุทธะ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงชักชวนผู้หนึ่งผู้ใดมาสู่สังคมอารยันของพระองค์ ทรงใช้ภาษาชัดถ้อยชัดคำ มีหลักการหลายวิธี คำพูดที่ตรัสชี้ชัดเหมือนหงายของคว่ำ เปิดของปิด ชี้ทางแก่คนหลงทาง เหมือนส่องไฟในที่มืดให้คนตาดี ด้วยหวังว่าเขาคงมีโอกาสได้เห็นรูป หมายความว่าคนที่ได้ฟังคำสอนจะเกิดความรู้ยิ่งขึ้น มีความสามารถฉลาดยิ่งขึ้น มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป
การศึกษาสถานภาพของพุทธะไม่ใช่เรื่องต้องห้ามว่าอย่าไปรู้ อย่าสงสัยเรื่องนี้ ไม่มีบทบัญญัติหรือความผิดต่อผู้อยากทราบสถานภาพของพุทธะ พระองค์ทรงอนุญาตให้ตรวจสอบดังที่ตรัสว่า ถ้าจะตรวจสอบแต่ไม่รู้วาระจิตผู้อื่น พึงตรวจสอบพระองค์ได้เพื่อจะรู้ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะจริงหรือไม่ หรือที่ตรัสว่า จะไม่ติเตียนกรรมใด ๆ ของตถาคตบ้างเลยหรือ
ความเข้าใจสถานภาพของพระพุทธเจ้า(พุทธะ) มีผลต่อการศึกษา ถ้าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้วิเศษ ย่อมเชื่อว่าคำสอนของพระองค์เป็นคำสอนของผู้วิเศษ ถ้าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาล้ำเลิศ ชี้ทางดำเนินชีวิต ย่อมเชื่อว่าคำสอนของพระองค์เป็นคำสอนของผู้มีปัญญา ส่วนมากมักเชื่อว่าพระพุทธเจ้าคือผู้วิเศษ มากกว่าเชื่อว่าพระองค์เป็นครู แท้จริง พระพุทธเจ้าคือพระบรมครู (พุทฺธา หิ ครู โหนฺติ) ผู้สร้างสรรค์สังคม ชี้ทางชีวิต เหมือนสถาปนิกออกแบบสร้างบ้านเรือน
บรรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาจุฬา เตปิฏกํ. กรุงเทพ ฯ : ม.ป.ป.
-------. มหาจุฬา อฏฺฐกถา. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และโรงพิมพ์
วิญญาณ, ๒๕๓๒-๒๕๓๓.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ชาวพุทธต้องเป็นผู้ตื่น. กรุงเทพ ฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๓.
พระราชธรรมสุธี (เกียรติ สุกิตฺติ), เกี่ยวกับอินเดีย พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพ ฯ : บริษัท วี. อินเตอร์
พริ้นท์ จำกัด, ๒๕๔๙.
Haldar, J.R. Early Buddhist Mythology. New Delhi : Manohar, 1977.
Morgan, Kenneth ed. The Religion of the Hindus. Delhi : Motilal Banarasidass, 1996.
Thomas, E.J. The Life of Buddha ; as Legend and History. Delhi : Motilal Banarasidass, 1997.
Sukumari Bhattachari, Buddhist Hybrid Sanskrit Literature. (Calcutta : Arunima Printing Works,1992), p. XIV.
ที. สี. อ. ๑/๗/๖๔.
นารายณสงฺฆาตพลํ (ม. มู. อ. ๑/๑๔๘/๓๔๖)
ม. ม. อ. ๒/๓๘๗/๒๗๙.
ม. อุ. ๑๔/๖๕/๔๘ , ขุ. สุ. ๒๕/๑๐๐/๓๑๙.
สํ. ส. ๑๕/๒๑๕/๒๓๐ น จ เม กิญฺจิ ครหถ กายิกํ วา วาจสิกํ วา
|