หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » รศ.สมบูรณ์ บุญฤทธิ์,บุญหนา จิมานัง และไฉไลฤดี ยุวนะศิริ » ตีละฉิ่น : ชีแห่งเมืองสกาย ประเทศสหภาพเมียนมาร์
 
เข้าชม : ๒๐๓๘๑ ครั้ง

''ตีละฉิ่น : ชีแห่งเมืองสกาย ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ''
 
รศ.สมบูรณ์ บุญฤทธิ์,บุญหนา จิมานัง และไฉไลฤดี ยุวนะศิริ


ความเป็นมา
    บทความเรื่องนี้  เขียนขึ้นจากการที่คณะผู้เขียนได?มีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมทาง วิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง พระพุทธศาสนาเถรวาท : ประเพณี เอกลักษณ์และการพัฒนา ระหว่างวันที่  ๓ - ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิตะกู เมืองสกาย ประเทศสหภาพเมียนมาร การเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้คณะผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกลิ่นไอ ของความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาของผู้คนในประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยเฉพาะ ค่านิยม ของการบวชกุลบุตร กุลธิดา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนนาน
    ภาพของผู้หญิงชาวเมียนมาร์ ในชุดแปลกตาสำหรับชาวต่างประเทศ นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้า ๓ สี คือผ้านุ่งสีคล้ำ  เสื้อสีขาว  และห่มด้วยสีชมพู  อีกชั้นหนึ่ง  ปลงผม  แต่ไม่โกนคิ้ว  ทูนถาด บนศีรษะถือภาชนะรูปร่างคล้ายกระโถน ส่งเสียงบอกบุญให้พร เพื่อขอรับบริจาคอาหารแห่งตาม ถนนหนทาง ตลาด และบ้านของประชาชนทั่วไป ทำให้สะดุดตาเป็นอย่างมาก ทราบว่าผู้ที่แต่ง ชุดดังกล่าว คือ ชี หรือ แม่ชี นักบวชในพระพุทธศาสนา     ซึ่งทางเมียนมาร์เรียกว่า ตีละฉิ่น (thi  - la - shin) หรือ เม ตีละฉิ่น (ma - thi - la - shin)
    สิ่งที่ทำให้น่าฉงนมากกว่านั้น คณะผู้เขียนได้พบเห็น ชี หรือตีละฉิ่น ตัวน้อย ๆ หลาย รูปในหลายที่หลายแห่ง บางรูปอายุอยู่ในวัยประมาณ ๓ - ๔ ขวบ ยิ่งทำให้คณะผู้เขียนให้ความ สนใจที่จะศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง ตีละฉิ่น มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเขียนบทความชิ้นนี้
    คณะผู้เขียนได้ค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดย การสืบเสาะหาข้อมูลจากสำนักชี (จ่าว) ต่าง ๆ สอบถามสัมภาษณ์จากพระภิกษุ และชีในเมือง สกายหลายรูป สืบค้นข้อมูลจากเอกสารต่างๆ และสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ตลอดจนสอบ ทานข้อมูลที่ได้กับพระภิกษุชาวเมียนมาร์ที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย โดยหวังว่าข้อมูลที่ได้มาจะเป็น พื้นฐานนำไปสู่ความเข้าใจเงื่อนไขทางสังคมเมียนมาร์และวิถีชีวิตของชี อันจะนำไปสู่ความสนใจ ในการศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับสังคมไทยในโอกาสต่อไป

ชี : แม่ชี หรือตีละฉิ่น
    ในบทความ “แม่ชีในสังคมพม่า” ของศูนย์พม่าศึกษา ได้กล่าวถึง คำเรียก และความ หมาย ของชี หรือตีละฉิ่น ไว้ สรุปได้ว่า ในประเทศสหภาพเมียนมาร์ มีคำเรียก ชี หรือ แม่ชี ว่า ตีละฉิ่น หมายถึง “ผู้ทรงศีล” คำนี้เป็นคำประสม ประกอบด้วยศัพท์บาลีว่า สีละ คือ ศีล กับศัพท์ เมียนมาร์คำว่า ฉิ่น หมายถึง “ผู้ครอง,ผู้ทรง” นอกจากนั้น ชี ยังมีคำเรียกอื่นได้อีก อาทิ แมตีละ แปลตามศัพท์ได้ว่า “แม่ศีล”; พวาตีละ แปลว่า “แม่เฒ่าศีล”; แมตูด่อ หรือ ตูด่อมะ แปลว่า” หญิงผู้ทรงศีล” สำหรับคำว่าแมตูด่อนั้น มักใช้คู่กับคำว่า โพตู่ด่อ หมายถึงชายถือศีลนุ่งห่มขาว แบบเดียวกับปะขาว ส่วนคำตูด่อมะนั้น   นิยมใช้ในหมู่ชาวเมียนมาร์ที่รัฐอาระกัน(ยะไข่)
    วัดชีในสหภาพเมียนมาร์    จะอยู่ภายใต้การดูแลของเถรสมาคมหรือคณะสังฆะมหา นายกะ วัดชีมีรูปแบบเป็น ๒ ลักษณะ ลักษณะหนึ่งเป็นวัดเอกเทศ มีการปกครองโดยชีด้วย กันเอง อีกลักษณะหนึ่ง เป็นวัดที่อยู่ภายใต้การดูแลของวัดสงฆ์ แต่ที่พบเห็นส่วนมากจะเป็นวัด ชีในแบบแรก การปกครองของชีนั้น จะมีคณะกรรมการที่เป็นแม่ชีโดยเฉพาะ ทั้งในระดับประเทศ รัฐ ภาค และอำเภอ สำนักชีในเมียนมาร์ ถือเป็นวัดเช่นเดียวกับวัดของสงฆ์ มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ ปกครอง เรียกว่า อาจารย์ใหญ่ หรือ ซยาจี ต่างจากเจ้าอาวาสของฝ่ายสงฆ์   ซึ่งจะเรียกว่าพระ อาจารย์ หรือ ซยาดอ ศูนย์กลางวัดชีในประเทศเมียนมาร์ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ ณ เนินเขาสะกาย (Sagaing Hills) ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี ตรงข้ามเมืองอมรปุระใกล้เมืองมัณฑะเลย์ บนดอยแห่งนี้มีวัดชีเป็นจำนวน หลายร้อยวัด มีจำนวนชีหลายพันรูป เนินเขาสะกายจึงเปรียบดุจหมู่บ้านแม่ชีของเมียนมาร์
    วัดชีมีคำเรียกเช่นเดียวกับวัดของฝ่ายสงฆ์ คือใช้คำว่า จ่าว เหมือนกัน ซึ่งกินความได้ ทั้งวัดและโรงเรียน และมักเรียกวัดชีเต็มๆว่า ตีละฉิ่นจ่าว แปลว่า “วัดชี”   และยังมีคำเรียกแบบ สำนักชีว่า จ่าวไต้ แปลตามศัพท์ว่า “ตึกวัด” หรือ “ตึกโรงเรียน” หรืออาจเรียกว่า ซาตี่งไต้ แปล ว่า “ตึกเรียนหนังสือ” ซึ่งก็คือโรงเรียนนั่นเอง     นอกจากนี้อาจเรียกสำนักชีได้อีกว่า ตีละฉิ่นซยะ เฉพาะคำว่า ซยะ นั้น จะหมายถึง “ศาลาที่พักพิง” แต่ถ้าเป็นพื้นที่เขาสะกาย นิยมเรียกวัดชีว่า ฉ่อง คำนี้มีความหมายได้ ๒ นัย นัยหนึ่งแปลว่า “วิเวกสถาน” อีกนัยหนึ่งแปลว่า “ซอกเขา” ก็ได้ ศัพท์นี้สันนิษฐานว่ามีที่มาตามนัยว่าซอกเขา ก่อนกินความรวมถึงที่วิเวก เพราะวัดชีบนเขาสะกาย นั้น  จะตั้งเร้นอยู่ในหลืบเขาเป็นส่วนใหญ่  ด้วยเป็นที่สงบเย็นอยู่กลางแมกไม้ เหมาะแก่การ ปฏิบัติธรรม กล่าวกันว่าวัดชีซึ่งมีเนืองแน่นบนเขาสะกายนั้น ยามเมื่อต้องการพื้นที่เพิ่มเพื่อขยาย วัด จำต้องปรับซอกเขาให้เป็นลานกว้าง ก่อนที่จะปลูกสร้างตัวอาคาร ด้วยเหตุนี้ สหภาพเมียนมาร์ จึงมีโวหารสำหรับการสร้างวัดชีที่เขาสะกายไว้ว่า ตัดดอย ขยายวัด จึงถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ วัดชีแห่งเขาสะกายนั้น เห็นได้ว่าศัพท์ที่ใช้สำหรับเรียกวัดชีในภาษาเมียนมาร์นั้นมีแตกต่างถึง ๓ นัย คือเป็นได้ทั้งสำนักเรียน ที่พักพิง และวิเวกสถาน ช่วยบ่งให้รู้บทบาทหน้าที่ของวัดชีได้อย่าง ชัดเจน

ประเพณีและค่านิยมการบวชชีของชาวเมียนมาร์
    ในบทความเรื่อง “แม่ชีในสังคมพม่า” ที่อ้างถึงนั้น ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการบวช ในสังคมพุทธของประเทศเมียนมาร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้หญิงเมียนมาร์น่าจะมีโอกาสถือบวชได้ เช่นเดียวกับชายมาแต่ยุคแรกๆ โดยศาสตราจารย์ลูช (G.H.Luce) เอ่ยถึงสังคมชาวพยูในเมียนมาร์ ตามที่กล่าวในบันทึกของจีนยุคราชวงศ์ถังโบราณ เมื่อศตวรรษที่ ๙ ความว่า “เมื่อย่างถึงวัย ๗ ขวบ เด็กทั้งชายหญิงจะปลงผมและพำนักอยู่ในวัด เพื่อใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ต่อเมื่อ อายุถึงวัย  ๒๐ ปี หากไม่อาจมีสุขอยู่ในแนวทางนั้นได้ ก็จะสึกจากสมณเพศ ปล่อยผมยาวคืนสู่ ภาวะสามัญชนดังเดิม” จากข้อเขียนของศาสตราจารย์ลูชดังกล่าวนั้น  กล่าวถึงพระภิกษุชาว เมียนมาร์ ชื่อยะเวทูน ผู้แต่งหนังสือ “ประวัติภิกขุณีและแม่ชี” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ ได้สันนิษฐานว่า ชีในสังคมเมียนมาร์น่าจะกำเนิดมาแต่ยุคสมัยศรีเกษตรของชาวพยูเป็นอย่างช้า และผู้หญิงเมียนมาร์คงนิยมบวชชีสืบเนื่องเรื่อยมาถึงสมัยพุกาม อังวะ คองบอง จวบจนถึงปัจจุบัน
    อย่างไรก็ตามในประวัติศาสตร์เมียนมาร์  ได้ปรากฏมีชีที่ประกอบคุณความดีเป็นที่นับถือ ของพุทธศาสนิกชนเช่นกัน ชีที่มีชื่อท่านหนึ่ง  คือ  ซยากีง    มีชีวิตอยู่ในสมัยของพระเจ้ามินดง พระองค์ให้ความเคารพศรัทธาต่อชีท่านนี้ยิ่งนัก  ถึงขนาดนิมนต์มาพำนักในวังหลวง  เพื่อให้ การอบรมสั่งสอนเจ้านายฝ่ายใน  ในสมัยนั้นชีเมียนมาร์มีประวัติโดดเด่นที่สุด  ต่อมาในสมัย อาณานิคม จำนวนชีดูจะน้อยลงกว่าเดิม จนหลังได้รับเอกราชกลับปรากฏว่ามีจำนวนชีเพิ่มขึ้น มาเป็นลำดับ
    จากข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รายงานว่าประเทศเมียนมาร์มีชีจำนวนถึง ๒๒,๙๙๗ รูป เชื่อว่าในปัจจุบันจำนวนชีในประเทศเมียนมาร์น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากข้อมูลที่ระบุไว้ในปีที่อ้าง ถึง และน่าจะเป็นข้อสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนชีในปัจจุบันนั้น มิได้เพิ่มเพียงปริมาณ แต่ ยังมีคุณภาพสูงกว่าในอดีต ดังพบว่ามีชีหลายรูปที่เรียนธรรมชั้นสูง และบางรูปแต่งตำราได้ไม่ด้อย ไปกว่าพระ อย่างไรก็ตามชีจะไม่ได้รับโอกาสสอบท่องพระไตรปิฎก ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะฝ่ายสงฆ์ เท่านั้น
    ธรรมเนียมการบวชชีของชาวเมียนมาร์นั้นหากเป็นเด็กหญิง มักจะบวชพร?อมกับการบวช เณร และการบวชชีมักจะทำควบคู่ไปกับพิธีเจาะหู โดยแต่งตัวให้สวยงามดุจเจ้าหญิง มีการแห่แหน พาไปไหว้พระเจดีย์ จากนั้นจึงพามาทำพิธีที่วัด มีให้พระสงฆ์เป็นผู้บวชให้หากต้องเจาะหู ด้วย ก็ต้องทำพิธีก่อนปลงผม โดยไม่ต้องโกนคิ้ว หลังจากครองผ้า ชีจะเข้ารับศีลจากพระสงฆ์ แล้วจึงไปจำอยู่ที่จ่าวหรือสำนักชี ส่วนอายุบวชนั้น มักอยู่ในวัย ๗-๘ ขวบ ด้วยสามารถช่วยตนเอง ได้  และเหมาะจะเรียนรู้ธรรมะขั้นพื้นฐาน เด็กบางคนถูกพ่อแม่จับบวชชีตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วย วัยเพียง ๓-๔ ขวบ แต่จะเป็นการบวชเพียงเพื่อหวังกุศล และจะบวชในระยะสั้นๆ ๓-๗ วัน บาง รายพอโกนหัวแต่งชุดชี เข้าพิธีบวช พ่อแม่ก็พากลับไปนอนบ้าน ไม่จำเป็นต้องถือถึงศีล ๘ อนุโลม ให้ถือเพียงศีล ๕ เท่านั้น นับเป็นการบวชชีพอเป็นพิธี
    การบวชครองเพศชีในสังคมเมียนมาร์ มีทั้งการบวชชั่วคราว บวชนาน และบวชตลอด ชีวิต การบวชชั่วคราวนั้น มักเป็นการบวชเพื่อบุญกุศล บวชแก้บน หรือบวชปฏิบัติธรรมตามโอกาส ที่ครองเพศชีอยู่นานจะบวชเพื่อศึกษาหาความรู้ หรือไม่ก็บวชเพราะหนีปัญหาชีวิต ชีที่บวชเพียง ชั่วคราวจะเรียกว่า ดุลฺลภะ-ตีละฉิ่น ส่วนการบวชนานตลอดชีวิตนั้น โดยมากสืบเนื่องมาจากกลุ่ม ผู้บวชชั่วคราวและกลุ่มผู้บวชนานนั่นเอง  หญิงเมียนมาร์มักบวชชีด้วยศรัทธาในแนวทางพุทธ ศาสนา และมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่บวชด้วยหวังพึ่งพุทธศาสนาเป็นทางออกแก่ชีวิต แต่ไม่ว่า
จะบวชช่วงสั้น ยาวนาน หรือจะบวชด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชาวพุทธเมียนมาร์จะให้ความเคารพ ต่อชี หากเป็นชีมีวุฒิหรือสูงวัยจะต้องเรียก ซยาจี แปลว่า “ครูใหญ่” และเรียกชีวัยเด็กวัยสาวว่า ซยาเล แปลว่า “ครูน้อย” คำว่า ซยา แปลว่า “ครู” และเวลาพูดกับชีจะต้องกล่าวลงท้ายอย่าง
สุภาพด้วยคำว่า “พะยา” เทียบได้กับ “เจ้าค่ะ” หรือ “ขอรับ” ดุจเดียวกับพูดกับพระสงฆ์ ทั้งนี้ เพราะสังคมเมียนมาร์ถือว่าชีเป็นผู้ทรงศีลและมีความรู้ด้านพุทธศาสนา ช่วยสืบพระศาสนา อีก ทั้งเห็นว่าชีมีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน โดยอยู่ประจำสำนักซึ่งเป็นเสมือนโรงเรียน ชีในเมียนมาร์จึงได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับสงฆ์
    ในการครองชีวิตชีในเมียนมาร์นั้น จะไม่สะสมสิ่งของเครื่องใช้มากเกินความจำเป็น ของ ใช้ส่วนตัวของชีนอกจากผ้าครองกาย ๖ ชิ้นแล้ว จะมีของใช้อีก ๖ อย่าง ได้แก่ มีดโกน ร่ม รองเท้า หีบ สร้อยประคำ และถาดรับอาหาร ปัจจัยจำเป็นดังกล่าว แม้ดูไม่มากนัก แต่การบวชชีสำหรับ ชาวเมียนมาร์ที่มีฐานะยากจน ของใช้เหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่เหลือวิสัย จึงต้องอาศัยศรัทธาจากผู้ อื่น เกื้อหนุน หรือหยิบยืมกันเองในหมู่เพื่อนชีด้วยกัน
    ในด้านการศึกษาตามสำนักชีนั้น ชีจะมีบทบาทในด้านการสั่งสอนธรรม การอบรมบ่ม นิสัย และการสังคมสงเคราะห์ ชั้นเรียนสำหรับชีจะเริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถม ที่เรียกว่า มูละตัน จนถึงชั้นมัธยม ที่เรียกว่า อะจีตัน บางสำนักเปิดสอนในระดับธรรมาจริยะ เป็นชั้นเรียนสำหรับ ผู้สอน ที่เรียกว่า ระดับส่าชะตัน ที่จริงจำนวนชีที่จบถึงชั้นธรรมาจริยะนั้นมีไม่มากนักเมื่อเทียบ กับฝ่ายสงฆ์ วัดชีจึงมีชีสำหรับสอนในระดับสูงค่อนข้างน้อย จึงมักต้องอาศัยเรียนกับวัดของสงฆ์ ที่อยู่ใกล้ๆ มีน้อยวัดที่สามารถเปิดสอนจนถึงระดับสูงได้โดยไม่ต้องพึ่งสงฆ์ ในการอบรมบ่มนิสัย นั้น จะมุ่งสอนในด้านงานบ้านงานเรือน อาทิ การปรุงอาหาร การจัดหิ้งบูชาพระ และกิริยามารยาท
    ในด้านการสังคมสงเคราะห์นั้น ชีเมียนมาร์ได้พัฒนารูปแบบมานับแต่เมื่อประเทศสห ภาพเมียนมาร์ได้รับเอกราช บางวัดรับดูแลคนชราและคนพิการ บางวัดรับเด็กกำพร้าและเด็กยาก จนมาบวชเรียน  โดยเฉพาะเด็กชาวเขาหรือชนกลุ่มน้อยต่างภาษา เช่น ปะหล่อง มอญ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง  ว่า  คะฉิ่น  และฉิ่น  กล่าวว่ารูปแบบนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้กลุ่มชนเหล่านั้นเปลี่ยนไป นับถือศาสนาคริสต์
    อย่างไรก็ตามเท่าที่สังเกต จะพบว่าสภาพความเป็นอยู่ของชีดูจะไม่สุขสบายอย่างพระ สงฆ์และสามเณร ชีมักจะมีความเป็นอยู่ที่อัตคัด โอกาสในลาภสักการะจะมีน้อยกว่าสงฆ์ ชีมัก จะออกรับบริจาคสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ของที่ได้รับมักเป็นข้าวสารและเงิน ไม่มีการถวายเครื่องคาว หวาน อีกทั้งชีมักต้องจัดหากับข่าวเอง  โดยจับกลุ่มทำอาหารแบ่งปันกันในวัด  เว้นแต่วัดชีที่ได้ ผู้ศรัทธาที่มีฐานะให้การอุปถัมภ์ จึงจะอยู่ดีกินดี ชีไม่เพียงแต่ต้องจัดหาอาหารเองเท่านั้น ชียังต้อง คอยเตรียมอาหารถวายพระเป็นครั้งคราว เพราะถือเป็นการทำบุญกุศลเช่นเดียวกับฆราวาส
    ในด้านปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงเมียนมาร์เข้าบวชเป็นชีนั้นมีหลายประการ หญิงเมียนมาร์ที่ พบกับปัญหาชีวิต เช่น ยากจน กำพร้าพ่อแม่ ไร้ที่พึ่งพิง ผิดหวังในชีวิต อาจหาทางออกด้วยการ บวชชี มักจะเป็นเด็กจากชนบท หรือชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ และมีไม่น้อยที่บวชเพื่อแก้บน บ้าง บวชเพราะพ่อแม่บังคับ โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน หรือช่วงสงกรานต์ ด้วยพ่อแม่ปรารถนา จะให้ลูกใกล้ชิดพระศาสนา เรียนรู้ธรรมะและเป็นคนมีระเบียบวินัย เด็กบางคนเต็มใจบวชเพราะ เห็นแบบอย่างอยู่บ่อย เห็นการเอาใจจากผู้ใหญ่ และแม้แต่เครื่องแต่งตัวสวยงามก่อนบวชก็เป็น แรงจูงใจอย่างหนึ่งได้เช่นกัน ถึงแม้ชีเมียนมาร์จะมีฐานะทางสังคมไม่ต่ำต้อยนัก แต่พ่อแม่ที่มีฐานะ ดีมักไม่นิยมให้ลูกสาวบวชชีเพื่อหลีกหนีชีวิตฆราวาส ส่วนมากจะยอมให้บวชเพียงชั่วคราวเพื่อหวัง กุศล ศึกษาหาความรู้ หรือเพื่อปฏิบัติธรรม เว้นแต่จะมีจิตมุ่งมั่นจริงๆ ก็อาจบวชชีไปตลอดชีวิต เช่นกรณีของ Ma-Tejavati ที่มีความมุ่งมั่นในการบวชเป็นตีละฉิ่นจนตลอดชีวิต
    นอกเหนือจากการบวชชีด้วยศรัทธา หรือด้วยความจำเป็นดังกล่าวมาแล้ว ในอดีตมีหญิง ชาวเมียนมาร์บวชชีเพราะหนีภัยสงคราม และเลี่ยงราชภัย ดังมีบันทึกไว้ว่า  นางสลิ่นสุพยา ราชธิดาของพระเจ้ามินดง ผู้กินตำแหน่งตะบีงด่าย มีฐานะว่าที่อัครมเหสีของกษัตริย์องค์ถัดไป ซึ่ง คือพระเจ้าธีบอหรือสีป่อ แต่ด้วยนางเกรงอำนาจของพระนางอะเลนันดอ กับ นางสุพยาลัต นาง สลิ่นสุพยาจึงออกบวชเป็นชีจนชั่วชีวิต และในช่วงสงคราม ผู้หญิงเมียนมาร์ก็ได้อาศัยการบวช ชีเป็นที่พึ่งหนีความอดอยากและความโหดร้ายจากภัยสงคราม
    ชีวิตชีนับเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้หญิงเมียนมาร์ผู้ปรารถนาพึ่งร่มเงาแห่งพระศาสนา ในสังคมเมียนมาร์ถือว่าชีเป็นนักบวชที่ต้องอยู่ประจำสำนัก ครองชีวิตพ้นจากโลกียสุข ทั้งนี้อาจ จะด้วยความศรัทธา เพื่อการศึกษา หรือเพราะหนีปัญหาชีวิตก็ตาม และแม้ว่าชีวิตชีเมียนมาร์จะ มิใช่เป็นหนทางที่สะดวกสบายนัก ด้วยชียังจำต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ และสังคมเมียนมาร์มิได้ยอม รับฐานะของชีเสมอกับพระสงฆ์ แต่ผู้หญิงเมียนมาร์ก็ยังนิยมบวชชีเพื่อหนีปัญหาทางโลกเข้าสู่วิถี ทางอันสงบที่สังคมอำนวยให้ และนับแต่อดีตมา ชีเมียนมาร์แทบจะไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดเป็นพิเศษ จากสังคม นอกเหนือจากปัจจัยยังชีพและที่พักพิง อีกทั้งไม่เคยออกมาเรียกร้องทางการเมืองจนเด่น ชัด

เมืองสกาย (Sagaing) เมื่องแห่งจ่าว หรือสำนักชี
    ชี หรือ ตีละฉิ่น สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกเมืองของสหภาพเมียนมาร์ แต่หากจะดู หรือศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ ชี หรือ ตีละฉิ่น แล้วมีผู้แนะนำว่า ให้ไปที่เมืองสกาย(Sagaing) ซึ่ง อยู่ในเขตสกาย (Sagaing divison) อันเป็นเขตที่อยู่ทางตอนเหนือของเขตมัณฑะเลย์ (Mandalay divison) หรือทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสหภาพเมียนมาร์ เป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน ๗ เขต ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี ซึ่งกล่าวกันว่าในเมืองสกายนี้เองจะมีสำนักชีและชีเป็นจำนวน มากที่สุดในประเทศเมียนมาร์
    จากข้อมูลที่แจ้งในรายงานของรัฐบาลเมียนมาร์ เมื่อปี พ.ศ.  ๒๕๓๖ ระบุว่ามีจำนวน ชีอยู่จำพรรษาในปีนั้น ๒๒,๙๙๗ รูป(ทั่วประเทศ)๗   แต่หากจะดูจำนวนชีที่อยู่จำพรรษาเฉพาะที่เนินเขาสกายแล้ว พบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีสำนักชี หรือ จ่าว จำนวน ๖๐๐ จ่าว และมีชี เป็น จำนวนถึง ๕,๑๙๐ รูป
    เมืองสกาย ประกอบด้วยตำบล ๘ ตำบล เมืองสกายตั้งอยู่บนเนินและหุบเขาบนฝั่งตะวัน ตกของแม่น้ำอิระวดี ขณะที่แม่น้ำอิระวดีไหลผ่านมัณฑะเลย์ ก็หักเลี้ยวฉับพลัน โค้งไปทางด้าน ทิศตะวันตก จึงเป็นเหตุให้เมืองนี้ได้ชื่อว่า Sagaing ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้นของทางโค้ง
    ในอดีต เมืองสกายเป็นเมืองหลวงเก่า ตั้งขึ้นโดย พระเจ้าอติ่นคยา ซอ หยุ่น ในปี พ.ศ. ๑๘๕๙ เมืองสกายถูกปกครองโดยกษัตริย์ ๗ พระองค์ คือ พระเจ้าอติ่นคยา  พระเจ้าตาหย่าพยา พระเจ้าชเวต่าวแต๊ะ  พระเจ้าจ๊ะสว่า   พระเจ้ามินแยต่อทแวะ พระเจ้าตาหย่าพยา และพระเจ้า มยีนปยันหะปเต
    สกายเป็นเมืองที่มีพื้นที่ ๙๓,๕๒๗ ตารางกิโลเมตร เป็นสถานที่ที่มีความพิเศษและสวย งาม มีพุทธสถานทั้งที่เป็นสถูป วิหาร วัด สำนักสงฆ์ สำนักชี และถ้ำต่าง ๆ รวมแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ แห่ง บริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยบันไดและทางเดินตัดไปตัดมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตามรายทาง ล้วนปกคลุมไปด้วยต้นไม้มีหม้อน้ำวางไว้สำหรับผู้มาทำบุญที่กระหายน้ำ กุฏิพระและบ้านเรือน ราษฎรซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาและหุบเขา โบสถ์ วิหารใหญ่ ๆ และพระเจดีย์ตั้งอยู่บนยอดเขาส่อง ประกายให้เห็นจากพื้นแผ่นดิน
    นอกจากศาสนสถานจำนวนมากเรียงรายบนเนินเขาสกาย ปัจจุบันเมืองสกายยังเป็นที่ ตั้งของสถาบันการศึกษาพุทธศาสนานานาชาติสิตะกู (Sitagu  International  Buddhist Academy) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทระดับนานาชาติที่มีทั้งพระภิกษุ สามเณร และชี เล่าเรียนวิชาการด้านพุทธศาสนากันอย่างลุ่มลึกและขะมักเขม้น เป็นแหล่งผลิตพุทธศาสน ทายาทที่มีคุณภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก
    ภาพชีวิตอันสะท้อนกลิ่นไอของเมืองแห่งพระพุทธศาสนา ของเมืองสกายเริ่มจากยาม เช้าพระสงฆ์และเหล่าสานุศิษย์หลั่งไหลออกจากวัดไปบิณฑบาต ตอนกลางวันอันร้อนอบอ้าวกลับ มีเสียงระฆังและเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์ดังกระหึ่มกลบทุกสรรพสำเนียง    จวบจนยามเย็นที่ ประดับประดาด้วยความงามของแสงไฟในกรุงมัณฑะเลย์ส่องประกายมาตามฝั่งแม่น้ำอิระวดี ชาว เมียนมาร์เปรียบเมืองสกายเป็นเหมือนเชิงเขาพระสุเมรุอันลี้ลับที่นี่เต็มไปด้วยเสียงสวดมนต์ เสียง ฆ้อง เสียงระฆังดังกังวาล ผู้ที่หนีจากความวุ่นวายอาจมาที่นี่ชั่วระยะหนึ่งหรืออยู่ชั่วชีวิตเพื่อถือศีล ภาวนา เนินเขาสกาย ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระสงฆ์และชีดำเนินชีวิตอยู่อย่างสงบ มีสถูป เจดีย์ สำนักสงฆ์และสำนักชีที่มีชื่อเสียงมากมาย  ครอบครัวที่เคร่งครัดในพุทธศาสนาจะพาลูกชายมา บรรพชาเป็นสามเณร และลูกสาวก็พามาบวชชี บนท้องถนนจึงเต็มไปด้วย พระสงฆ์ สามเณร และชีเดินไปมาอยู่เสมอ
    เนินเขาสกาย (Sagaing Hills) เป็นบริเวณที่ร่มรื่น สงบอยู่ท่ามกลางแมกไม้ตามซอก เขาเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม สำนักชีที่สกายจึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จ้าว ซึ่งหมายถึง สถานที่ที่ วิเวกสงบ หรืออาจหมายถึงซอกเขาก็ได้ ในแง่ประวัติศาสตร์ เนินเขาสกายเคยเป็นที่พำนักของ ซยากีง ตีละฉิ่น  ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของพระเจ้ามินดง  และเป็นตีละฉิ่นที่มีชื่อเสียง  เป็นผู้อบรม ราชสำนักฝ่ายใน ภายหลังท่านซยากีง ได้ย้ายมาตั้งสำนักที่เนินเขาสกาย และได้อบรมสั่งสอน
ตีละฉิ่นหลายต่อหลายรุ่น
    ชี  หรือ ตีละฉิ่น ที่เนินเขาสกาย ที่ถือศีล  ๘ และเน้นด้านปริยัติ จะใช้สบงสีส้ม เสื้อ คอกลมผ้าหน้าสีชมพู ผ้าคลุมยาวสีชมพู ผ้าพาดบ่าสีน้ำตาลอ่อน ส่วนตีละฉิ่นที่ถือศีล ๑๐ ที่ เคร่งด้านการปฏิบัติ และมีอายุพรรษาในการบวช ๕ - ๑๐ ปีขึ้นไป ใช้ผ้าสีน้ำตาล โดยนุ่งสบง และใช้ผ้าพาดบ่าสีน้ำตาลเข้มและสวมเสื้อสีน้ำตาลอ่อน  ตีละฉิ่นส่วนใหญ่ในสกายจะเป็นตีละ ฉิ่นที่ถือศีล ๘ ใช้สีชมพู นอกจากเครื่องแต่งกายชุดชีแล้ว ตีละฉิ่นแต่ละคนจะมีเครื่องบริขารที่ จำเป็น เช่น รองเท้าแตะ มีดโกน ร่ม หีบ ประคำ และถาดรับอาหาร
    จ่าวที่ใหญ่ที่สุดในสกาย ชื่อ เซ ยะ เต็ง กี (se- ya -sein -gi) มีตีละฉิ่น ๑๕๐ รูป เจ้า อาวาส หรือ จ่าวโอจี อายุ ๙๐ ปี มีตีละฉิ่นอาวุโสจำนวน ๓๐ รูป    เปิดสำนักมาแล้ว ๕๑ ปี ตีละ ฉิ่นส่วนใหญ่อายุ ประมาณ ๒๐ ปี อายุน้อยที่สุด ๙ ปี ถือเป็นสำนักชีที่ดูแลสำนักชีอื่น ๆ ในเมือง สกายด้วย นอกจากนั้นในสกายยังมีจ่าวขนาดต่าง ๆ โดยมีจ้าวขนาดใหญ่จำนวน ๗ จ่าว นอก นั้นเป็นจ้าวขนาดกลางและจ่าวขนาดเล็กซึ่งบางแห่งมีตีละฉิ่น ๑๐ - ๑๕ รูปก็มี กิจวัตรประจำวันของตีละฉิ่นที่เนินเขาสกาย
    การใช้ชีวิตของตีละฉิ่นในจ้าวที่เนินเขาสกาย มีบรรทัดฐานวางไว้เพื่อเป็นแบบแผน ในการปฏิบัติร่วมกันโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครองสูงสุด มีชีอาวุโสทำหน้าที่ในการสอนและดูแล อีกชั้นหนึ่ง และชีทุกคนจะได้รับการจัดสรรหน้าที่และแบ่งงานกันทำ โดยการแบ่งหน้าที่จะขึ้นอยู่ กับระดับการศึกษาของตีละฉิ่นแต่ละคนด้วย โดยทั่วไปกิจวัตรประจำวันของตีละฉิ่นจะเป็นดังนี้ 
    
                   ๐๓.๓๐             -  ตื่นนอน/กิจวัตรประจำวัน
                                          - สวดมนต์
                                          - กวาดถูทำความสะอาดจ่าว /ทำอาหาร
                   ๐๔.๓๐ - ๐๕.๐๐ ใส่บาตรพระภิกษุ
                   ๐๖.๓๐ - ๐๗.๐๐  รับประทานอาหารเช้า
                   ๐๗.๐๐ - ๐๗.๓๐  ทำความสะอาดโดยรอบจ่าว
                   ๐๗.๓๐ - ๑๐.๐๐  เรียนหนังสือ
                   ๑๐.๐๐ - ๑๑.๐๐  เตรียมอาหาร/อาบน้ำ
                   ๑๑.๐๐ - ๑๑.๓๐  รับประทานอาหารเพล
                   ๑๑.๓๐ - ๑๓.๐๐  นอนพัก
                   ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐  เรียนหนังสือ
                   ๑๖.๓๐ - ๑๘.๐๐  เตรียมอาหารสำหรับวันใหม่/ เตรียมอาหารใส่บาตร/รดน้ำต้นไม้/ทำงานตามที่ได้ รับมอบหมาย
                   ๑๘.๐๐ - ๑๙.๓๐  สวดมนต์
                   ๑๙.๓๐ - ๒๒.๐๐  ทบทวนแบบเรียน/เข้านอน

 

กิจวัตรด้านการเรียนการสอน
    จากการสัมภาษณ์ตีละฉิ่นในสำนักชี เซ ยะ เต็ง กี และ อุรุสะมักโกตะยะเชา พบว่า ตีละฉิ่นจะมีกิจวัตรประจำวันที่คล้ายกัน ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของตีละฉิ่นจะเป็นไปเพื่อการศึกษา ธรรมะ โดยใช้เวลาศึกษาประมาณวันละ ๖ ชั่วโมง นอกเหนือจากนั้นยังใช้เวลาที่เหลือทบทวน บทเรียน ภาพตีละฉิ่นนั่งท้องหนังสือตามมุมต่าง ๆ จึงเป็นภาพที่พบได้เป็นประจำในจ้าว   จาก ปรากฏการณ์ตีละฉิ่น  มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนธรรมะกันเป็นอันมากนั้น นอกจากเหตุผล ที่ต้องการศึกษาธรรมะแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายที่ค่อนข้างชัดเจนในการเรียนถึงขั้นธรรมาจริยะ และ ปรารถนาจะกลับมาสอนตีละฉิ่นรุ่นน้องต่อไป ในสำนักชี เซ ยะ เต็ง กี มีตีละฉิ่นที่กำลังศึกษา ชั้นต้น คือ ปฐมแห่ง จำนวน ๒๐ คน (อายุระหว่าง ๑๐ -๑๕ ปี) ปฐมลัต จำนวน ๒๕ คน (อายุระหว่าง ๑๕ - ๒๐ ปี) ปฐมจี จำนวน ๒๐ คน (อายุ ๒๐ ปีขึ้นไป) ศึกษาระดับธรรมาจริยะ จำนวน ๖๐ คน (อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป)
    การเรียนการสอนจะจัดขึ้นในแต่ละจ้าว ส่วนใหญ่ใช้วิธีการอ่าน อธิบายและการตั้งคำถาม การที่ตีละฉิ่นมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนโดยมีเป้าหมายในการกลับมาเป็นครูสอนในอนาคต จึงทำให้มอง ได้ว่านอกจากการยอมรับทางสังคมต่อสถานภาพของตีละฉิ่นที่ได้รับการศึกษาสูงแล้ว วิธีคิดเช่น นี้ยังมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการสืบต่อพระพุทธศาสนา และเพิ่มพื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงในสังคม อีกด้วย


กิจวัตรในด้านการทำอาหาร
    กิจวัตรเกี่ยวกับการจัดการอาหารของตีละฉิ่นในจ่าวสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตตีละฉิ่นที่ สัมพันธ์กับสังคมภายนอกและสังคมสังฆะ เริ่มจากคำถามที่ว่า อาหารที่ใช้?เลี้ยงดูตีละฉิ่นและอาหาร สำหรับใส่บาตรสำหรับพระภิกษุได้มาอย่างไร
    ปกติตีละฉิ่นจะไม่รับอาหารปรุงสำเร็จที่มีผู้นำมาถวาย แต่จะจัดหาอาหารเอง สำหรับ ตีละฉิ่นที่ออกรับบริจาคมักรับเป็นข้าวสารอาหารแห่งและเงินจากครัวเรือนที่ต้องการบริจาค การ ออกรับบริจาคขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่แต่ละจ้าวกำหนด เช่น สำนัก เซ ยะ เต็ง กี กำหนดออกรับ บริจาคปีละ ๒ ครั้ง คือช่วงเดือนพฤศจิกายนและมีนาคม ส่วนสำนัก อุรุสะมักโกตะยะเชา ออก รับบริจาคสัปดาห์ละ  ๒ วัน ในลักษณะเช่นนี้ ตีละฉิ่นและจ้าว มีความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพากับ สังคมภายนอก อาหารแห่งที่ได้รับมา จะถูกนำมาเก็บไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับสมาชิกในจ้าว และ
จัดทำเป็นอาหารสำหรับพระภิกษุด้วย จ้าวต่างๆ มีหน้าที่ในการสนับสนุนด้านอาหารแก่พระภิกษุ สงฆ์ โดยการบิณฑบาตถวายอาหารแก่พระภิกษุ และขณะเดียวกันพระภิกษุจะมีหน้าที่สนับสนุน ด้านการศึกษาแก่ตีละฉิ่น เป็นความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน และส่งผลต่อการสืบต่อพระพุทธ ศาสนาอย่างสำคัญ ในด้านความสัมพันธ์กับครอบครัว ตีละฉิ่นไม่ได้ตัดขาดจากครอบครัว สำนัก ชี  เซ  ยะ  เต็ง  กี  ดูแลตีละฉิ่นจำนวนมาก ปกติตีละฉิ่นแต่ละคนจะกลับบ้าน ปีละ  ๑-๒ ครั้ง และเนื่องจากสำนักชีจะไม่มีคนมาทำบุญเหมือนวัดของภิกษุ  ก็จะมีการเก็บเงินบริจาคจาก ครอบครัวของตีละฉิ่น ๑,๐๐๐ จั๊ดต่อคนต่อปี นอกจากนั้น จ้าวต่าง ๆ ในสกายก็มีความสัมพันธ์ เชิงพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโอกาสต่าง ๆ


บทสรุป สิ่งที่พบเห็นกับมุมมองในแง่สังคมวิทยา
    สังคมทุกสังคมในทุกยุคทุกสมัย หากต้องการจะธำรงรักษาตนเองให้ยั่งยืนยาวนาน ก็ จำเป็นต้องสร้างสถาบันสังคมต่าง ๆ ขึ้นมาทำหน้าที่นานัปการ เช่นสถาบันครอบครัว ศาสนา การศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ สถาบันเหล่านี้จะช่วยให้สังคมดำเนินต่อไปและดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ในสังคมแบบดั้งเดิม (Traditional Society)   สถาบันศาสนาจะเป็นแกนกลางของ ดุมล้อทั้งหมด สถาบันอื่น ๆ ต้องมาเกาะเกี่ยวเคลื่อนไหวภายใต้การอำนวยการของสถาบันศาสนา ชีวิตประจำวันของคนในสังคมจะต้องดำเนินไปตามพิธีกรรม ข้อห้ามและความเชื่อแบบต่าง ๆ แม้แต่ระบบจิตใต้สำนึกก็ยังผูกพันกับศาสนาและความเชื่อที่ตนนับถือ แต่เมื่อสังคมวิวัฒนาการมา เป็นสังคมสมัยใหม่(สังคมทุนนิยม) (Modern Society) จุดแตกหักระหว่างสังคมแบบดั้งเดิมและ สังคมสมัยใหม่ก็คือ  การเปลี่ยนแกนกลางของสังคมจากสถาบันศาสนามาเป็นสถาบันเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือศูนย์กลางของสังคมก็จะเปลี่ยนจากวัดเป็นศูนย์การค้า ผู้คนมุ่งหน้าไป สู่ศูนย์การค้าลดการเข้าวัด ทำกิจกรรมทางด้านศาสนาลดลง สถาบันศาสนาลดความสำคัญ และ มีบทบาทน้อยลงกว่าสถาบันอื่น กระบวนการเปลี่ยนจาก โลกธรรม (Secred) มาสู่โลกียะ (Secular) นี้  ทางสังคมวิทยาเรียกว่า “กระบวนการทำให้เป็นโลกฆราวาส” (Secularization)
    หากใช้แนวคิดนี้เพื่อเป็นกรอบในการมองสังคมเมียนมาร์ ก็จะพบว่าเมียนมาร์มีภาพของ สังคมดั้งเดิมและสังคมสมัยใหม่อยู่ให้เห็นในชีวิตประจำวัน ในส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ หากเรา นั่งรถไปตามถนนสายต่าง ๆ มองไปข้างทางจะเห็นบ้านเรือนทั้งบ้านเรือนแบบเก่าที่นิยมใช้ไม้ไผ่ สานขัดแตะทำเป็นฝาบ้าน บางหลังจะทาสีและบางที่ก็เป็นสีธรรมชาติ  แต่ก็มีตึกรามที่สร้างสมัย ใหม่ให้เห็นสลับกันไป ยานพาหนะที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ก็มีผสมปนเประหว่างรถยนต์ทั้งเก่าและ ใหม่ รถมอเตอร์ไซด์ แต่ที่มากที่สุดคือรถจักรยาน ออกไปนอกเมืองก็จะมีเกวียน และที่เมืองสกาย ก็มีรถม้าวิ่งไปมาตามท้องถนน  กระแสโลกาภิวัตน์ในระบบทุนคืบคลานเข้าสู่สังคมวิถีพุทธของ เมียนมาร์ ผ่านโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ที่เมียนมาร์สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ จากประเทศไทยได้ทุกช่อง รวมทั้ง UBC ป้ายขนาดใหญ่ตามสี่แยกและอาคารสูงในย่างกุ้งและ มัณฑะเลย์มีพรีเซนเตอร์เป็นนางแบบนายแบบยอดนิยม การแต่งกายของชาวเมียนมาร์ที่นับว่ามี เอกลักษณ์เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวเมียนมาร์นิยมนุ่งโสร่งหรือลงจี บัดนี้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเครื่อง แต่งกายสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามเรายังสามารถพบเห็นผู้คนที่แต่งตัวด้วยโสร่งและผ้านุ่งรวมทั้ง ทาหน้าด้วยทานาคาตามประเพณีของชาวเมียนมาร์อยู่เป็นจำนวนมาก การสวมรองเท้าแตะคีบ ที่ทำด้วยกำมะหยี่ทั้งชายและหญิง  ยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่ยังไม่หายไปจากวัฒนธรรมเมียนมาร์ รวมทั้งผู้คนถอดรองเท่าในยามเข้าสู่พื้นที่ของวัดถือเป็นธรรมเนียมที่แม้แต่คนต่างชาติหรือ นักท่องเที่ยวก็ปฏิเสธไม่ได้ เมื่อเราย่างเท่าเข้าไปในตลาดเมืองมัณฑะเลย์ ก็จะพบความหลากหลาย ของสินค้า ทั้งที่ผลิตในประเทศและนอกประเทศ สินค้าแห่ง สินค้าสดปะปนกัน วางขายกลาง แจ้งและใต้อาคาร ด้านใต้อาคารส่วนใหญ่เป็นร้านขายผ้า ที่วางขายกันอย่างแออัดหนาแน่น และ ที่น่าสังเกตคือ  จะมีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและเปิดเท่าที่จำเป็นขณะเดียวกันบนชั้นสองของ อาคารปรากฏศูนย์การค้าที่ทันสมัย มีบันไดเลื่อน ร้านค้าติดแอร์ ร้านตัดผมสำหรับวัยรุ่น ร้าน กาแฟ ฯลฯ ซึ่งเป็นภาพที่ดูตรงกันข้ามกับตลาดด้านล่างอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังพบว่ามีศูนย์การค้า อีกหลายแห่งกำลังผุดขึ้นมาทั่วเมืองมัณฑะเลย์
    อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในเมืองสกายยังคงสภาพของความสงบเงียบ รั้วกำแพงขาว สองข้างทางขนานกับแนวถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นมุ่งหน้าสู่สถาบันสิตะกู เบื้องหลังรั้วสีขาวเหล่านั้น มีอาราม สำนักสงฆ์ สำนักชี แทรกตัวอยู่ใต้ร่มไม้  พระภิกษุ  สามเณร  ชี  เดินไปมาตามถนน นาน ๆ จะมีรถม้าและรถสามล้อรับจ้างวิ่งสวนทางมา ดูราวกับว่าสกายยังคงมีความเป็นสังคม ดั้งเดิมอยู่ไม่น้อย  พุทธศาสนายังคงอยู่กลางวงล้อที่ยึดโยงหมุนพากิจกรรมอื่น ๆ เคลื่อนผ่านไป ในกระแสวิถีแห่งพุทธะ  หากวันหนึ่งวันใด  สังคมภายนอกที่อยู่ไม่ไกลถูกกระแสโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมรุกเข้าไปครอบงำจนถึงจุดแตกหักที่สถาบันศาสนาไม่ได้เป็นแกนหลักของสังคมอีกต่อไป สกายจะคงความเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาที่น่าชื่นชมแบบนี้ได้หรือไม่ เป็นคำถามที่รอคำตอบ ด้วยความห่วงใยของคณะผู้เขียนบทความนี้
    ท้ายสุดของบทความ คณะผู้เขียน    ขอขอบพระคุณคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้แก่ พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี พระศรี คัมภีรญาณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที ผู้อำนวยการกองวิชาการ ที่ได้ให้โอกาสคณะผู้เขียนได้มีโอกาส เดินทางไปร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสเก็บข้อมูลนำมาเสนอเป็นบทความทางวิชาการ ในครั้งนี้
    นอกจากนั้น คณะผู้เขียนขอขอบคุณน้อง Hseng Kong, น้อง Hseng Mon และ น้อง Ying Mo ที่ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งไกด์และล่ามให้แก่คณะผู้เขียน จนได้ข้อมูลเพียงพอในการเขียน บทความนี้ทั้ง ๆ ที่มีเวลาค่อนข้างจำกัด 
 

 

(ที่มา: สารนิพนธ์)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕