หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธ์ » พุทธจริยธรรมกับการพัฒนานักพัฒนาสังคม
 
เข้าชม : ๖๐๔๒๗ ครั้ง

''พุทธจริยธรรมกับการพัฒนานักพัฒนาสังคม''
 
ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธ์

๑.บทนำ
     สงคมปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคมอาจเป็น ไปได้ทั้งในเชิงบวก หรือเชิงก้าวหน้า ส่งผลที่พึงปรารถนาแก่ผู้อยู่ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลง และเป็นไปได้ในทางตรงกันข้าม  คือ เชิงลบหรือเชิงถดถอย  ซึ่งส่งผลเป็นความเสื่อมโทรมและ ความไม่พึงปราถนาต่าง ๆ แก่บุคคลในสังคม
     สังคมอารยะทั่วไปมักจะกำหนดแนวทางการเปลี่ยนแปลงไปตามแผน เป็นความต้องการ ของสมาชิกทงหมดในสังคมในรูปของโครงการพัฒนารูปแบบต่าง  ๆ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ใน การผลักดันให้โครงการพัฒนาบรรลุผลสำเร็จตามแผนการพัฒนา มีหลายฝ่ายหรือหลายภาคส่วน ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า กลุ่มพหภาคี อันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนในชุมชนนักวิชาการ ผู้นำทางศาสนา หรือผู้นำทางจิตวิญญาณและธุรกิจเอกชน
     ในบรรดากลุ่มพหุภาคีเหล่านี้  ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการผลักดัน ดำเนินการ  และ รับผิดชอบโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในสังคมให้ก้าวหน้าไปตามวัตถุประสงค์ ก็คือ นักพัฒนา (change agent)   อาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำชมชน ผู้นำทางศาสนา หรือผู้นำองค์กรเอกชนก็ได้ นักพัฒนาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง เป็นกลไกประสานงานระหว่างแหล่งสนับสนุนโครงการพัฒนา กับโครงการพัฒนาที่ลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในสังคมและชุมชน
     โครงการพัฒนาต่าง ๆ ในสังคมจะบรรลุผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ คุณสมบัติและความสามารถของนักพัฒนา ดังนั้นเพื่อให้โครงการพัฒนาบรรลุถึงเป้าหมายอย่าง มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึงพอใจแก่ทุกฝ่าย จึงจำเป็นต้องพัฒนานักพัฒนา ให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ และมีความเป็นผู้นำในการพัฒนาอย่างสมบูรณ์
 

๒.นักพัฒนาสังคมคือใคร
     นักพัฒนาสังคม (change   agent  of society)  คือ นักเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทาง ที่พึงปรารถนา สังคมที่พึงปรารถนาประกอบด้วยสังคมที่มีความยุติธรรม (justice) สังคมที่มีความ เสมอภาค (equality) สังคมที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน (solidarity) และเป็นสังคมที่มีสมาชิก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยการเสียสละ จริงใจ (participation) เพื่อให้สังคมได้รับการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดังกล่าว  จำเป็นต้องพัฒนานักพัฒนาสังคมให้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่พึงปรารถนา รายละเอียดดังต่อไปนี้

๓.ยุทธศาสตร์การพัฒนานักพัฒนาสังคมแนวพุทธ
     พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนสำคัญเพื่อมุ่งพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ (ปัญญาอย่าง แท้จริง เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิต สังคม และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้บุคคล เป็นคนดีของสังคม (ศีล) มีวินัยในตัวเอง เข้าใจระเบียบกฎเกณฑ์ในสังคม และปรับตัวอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสงบสุข (สันติสุข) และให้บุคคลมีจิตใจหนักแน่นในการทำความดี  ด้วย ความขยัน (วิริยะ)  และไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ โดยมีความมุ่งมั่นเพื่อให้จิตใจ มีความสว่าง สงบ สะอาด ด้วยวิธีการถูกต้องในหลักการปฏิบัติ (สัมมาสมาธิ)
     เพื่อให้บรรลุถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์  พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่สามารถประมวลเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคคลที่เป็นนักพัฒนาทั้งหลายดังต่อไปนี้
     (๑) สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง (ฉันทะ) แรงจูงใจในการพัฒนา (Motivation for  development)   หมายถึงความรัก ความกระตือรือร้นในการสร้างสรรคสิ่งที่ดีงามและมี คุณประโยชน์ต่อตนเองและต่อสังคม รวมทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ความรักในการสร้างสรรค์ที่ดีงามจะต้อง ปลูกฝังให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน การที่บุคคลจะมีความรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะต้องมองเห็นคุณค่าของ สิ่งนั้น  มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ  เป็นสัตว์ที่มีค่า การเกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ง่าย การเกิด เป็นมนุษย์เพราะได้ทำสิ่งที่มีค่ามาก่อนและได้สั่งสมคุณงามความดีมานาน แม้จะเกิดมาในสังคม ชุมชน หรือชาติตระกูลที่ต่างกันไปบ้าง แต่มนุษย์ก็ถือได้ว่าเป็นสัตว์โลกที่ได้ทำคุณงามความดีมา ก่อนทุกคน โดยมีระดับคุณงามความดีที่ทำให้แตกต่างกัน

     ผลของคุณงามความดีส่งให้ผู้ทำเกิด เป็นมนุษย์ ข้อนี้เป็นการวิเคราะห์ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้นำจะต้องมีความรักเป็นพิเศษในบุคคลที่อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งและพึ่งตนเองไม่ได้ โดยจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้พัฒนาตนเองให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งบุคคลเหล่านี้ได้เคยสร้างคุณประโยชน์
บางอย่างมา แล้วจึงเป็นเหตุให้เกิดมาเป็นมนุษย์
     (๒) ผู้นำจะต้องรู้จักกระตุ้นให้บุคคลผู้ตามมีความกระตือรือร้นในการสร้างพลังแก่ ตัวเองอยู่เสมอ (พละ)  ยุทธศาสตร์ในการกระตุ้นให้บุคคลอื่นตื่นตัว  มีกำลังความรักที่จะพัฒนา ตัวเองให้ก้าวหน้าไปตามลำดับ มีหลายขึ้นตอน เช่น
     - กระตุ้นให้มีความเชื่อมั่น (ศรัทธา) ในการพัฒนาพลังความดีของตนเอง โดยเน้นว่า ความดีคือสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ การเกิดเป็นคนนั้นถือว่าเป็นผลจากการกระทำความดีใน ชาติก่อน เมื่อเกิดความเชื่อมั่นว่าความดีเป็นสิ่งที่มีจริงส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์ บุคคลก็จะเกิดความ กระตือรือร้น  มีกำลังใจมีความหวังที่จะทำดี และพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการกระตุ้นให้บุคคลรู้ว่าตัวเองสามารถพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้
     - กระตุ้นให้ปฏิบัติตนตามระเบียบแบบแผน (ศีล) และธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมและ ขององค์กรที่บุคคลเป็นสมาชิกอยู่ การปฏิบัติตนตามระเบียบแบบแผนที่ดีจะทำให้บุคคลลดการยืด มั่นในตัวตน (มานะ)  และพร้อมจะเปิดใจรับฟังการแนะนำการอบรมจากผู้อื่น เสมือนทำตนให้ เป็นแก้วน้ำที่วางพร้อมจะรับน้ำใส่แก้ว  ถ้าทำตัวเองเหมือนน้ำเต็มแก้ว ยึดมั่นในตัวตน ปิดประต ต้อนรับความคิดเห็นและการแนะนำจากบุคคลอื่น ก็จะไม่ได้รับสิ่งใหม่ ๆ เจตคติก็ไม่เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมก็ไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้น การปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์และการฝึกให้เป็น คนมีวินัย จึงเป็นขั้นสำคัญ อีกขั้นหนึ่งที่จะได้รับการพัฒนา
     (๓)  กระตุ้นให้มีความขยันและพยายามอย่างต่อเนื่อง (วิริยะ) กระบวนการข้อที่ ๑ และ ข้อที่ ๒ เป็นกระบวนการเตรียมตัวให้พร้อมของผู้ที่จะได้รับการพัฒนา   กระบวนการขั้นที่  ๓ นี้ เป็นกระบวนการปฏิบัติตามกระบวนการพัฒนา ในที่นี้นักพัฒนาจะต้องกระตุ้นให้ผู้รับการอบรม มีความขยัน  อดทน และพยายามดำเนินการศึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ
     (๔) การกระตุ้นให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม โดยยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนบ้าง (จาคะ) ทั้งนี้เพื่อมีให้มีการลุ่มหลงยึดติดกับตัวเอง การกระตุ้นนี้เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมก็คือการเข้าใจถึงคุณค่าและความ สำคัญของส่วนรวม  โดยมองเห็นว่าหากปราศจากส่วนรวม  เราก็อยู่ไม่ได้ เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะอาศัยการช่วยเหลือของส่วนรวม คุณค่าของการอยู่รวมกับส่วนรวมหรืออยู่รวมกับคนอื่นในชุมชนมีมากมายนอกเหนือจากทส่วนรวมช่วยให้เรามีชีวิตอยู่รอด และส่วนรวมให้ความอบอุ่น (คุณคา ทางจิตใจ) ให้ความบันเทิงเบิกบาน (คุณค่าทางอารมณ์)  และให้สติปัญญา (คุณค่าทางปัญญา) การกระตุ้นในระดับนี้เป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
     (๕) การกระตุ้นให้แสวงหาและพัฒนาสติปัญญา   การพัฒนาสติปัญญาจำเป็น ต้องกระตุ้น ผู้นำจะต้องรู้วิธีพัฒนาสติปัญญาแก่ลูกน้อง รูปแบบการพัฒนาสติปัญญาอาจจะดำเนิน การโดยศึกษาเล่าเรียนทั้งในระบบ และนอกระบบ  และรู้จักสังเกตและเลียนแบบตัวอย่างที่ดี นอกจากนี้ การพัฒนาสติปัญญาตามแนวพุทธสามารถดำเนินการต่อไปโดยให้รู้จักคิดอย่างเป็น ระบบและแยบคาย  (โยนิโสมนสิการ) และการคบคนดี  (กัลยาณมิตร)  และสิ่งแวดล้อมที่ดี (ปรโตโฆสะ) รวมทั้งการต่อยอดด้วยการปฏิบัติอย่างมีสติ  (ภาวนา) ซึ่งในระดับนี้ถือว่าเป็นระดับของการรู้จักประยุกต์หลักการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
     (๖)  กระตุ้นและพัฒนาลูกน้องให้รู้จักนิ่ง มีสมาธิในการทำงาน การทำทุกอย่างจะสำเร็จ ได้ก็โดยอาศัยจิตใจที่มีสมาธิ การมีสมาธิ  หมายถึง ความตั้งใจแน่วแน่มั่นคง   และอุทิศพลังงาน ทั้งหมดให้แก่งาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทางร่างกาย  พลังทางสมองและพลังงานทางอารมณ์ จิตใจที่อ่อนแอไม่มั่นคง จะทำให้งานเสีย ดังนั้น ผู้นำที่ดีควรสร้างบรรยากาศในการทำงานอย่าง มีสมาธิ และควรพัฒนาวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม   โดยให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการ เสนอแนะ วิธีการทำงานอย่างสร้างสรรค์ และอย่างมีสมาธิ ความจริงการกระตุ้นให้เกิดสมาธิ จะต้อง อาศัยการกระตุ้นด้านอื่น ๆ พร้อมกัน สมาธิจะเกิดขึ้นมาได้โดยอาศัยการปฏิบัติงานด้วยความรัก ความเมตตา ความเชื่อมั่น (ศรัทธา) ความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ดีงาม  (ศีล) การ รู้จักเสียสละ (จาคะ) และการมีสติปัญญาเป็นพื้นฐาน


๔.ขอบข่ายการพัฒนานักพัฒนา
     การพัฒนานักพัฒนาจะต้องดำเนินการพร้อมกันใน  ๓ ด้าน ดังต่อไปนี้
     ๑.  การพัฒนาตนเอง
     ๒.  การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน
     ๓.  การพัฒนามนุษยสมพันธ์
 

     การพัฒนาตนเอง
     นักพัฒนาจะต้องมีตัวตนที่ได้รับการฝึกอบรมและการพัฒนาเป็นพื้นฐานมาก่อน เป็น ความจริงที่ว่า ก่อนการพัฒนาใครจะต้องพัฒนาตนเองก่อน ถ้าตนเองไม่ได้รับการพัฒนาเป็นการ ยากที่จะพัฒนาคนอื่น พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาตนเองสูงมาก

     การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน
     การทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานสุจริต  เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและสนับสนุน ให้ทำอย่างสม่ำเสมอ การทำงานที่มีผลตอบแทนเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีงาม  ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสม เรียกว่า  สัมมาอาชีพ ตรงกันข้าม การทำงานที่มีผลตอบแทนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม และมีผลทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน เรียกว่า มิจฉาอาชีพ
     พระพุทธศาสนาให้คุณค่าแก่การทำงานสุจริตสูงมาก การทำงานทำให้ผู้ทำมีคุณค่าและคุณประโยชน์ การทำงานทำให้ผู้ทำมีโอกาสพัฒนาสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น  เข้าใจบุคคลอื่น โดย ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางการทำงาน ทำให้ผู้ทำมีรายได้ผลตอบแทน ช่วยทำให้ชีวิตอยู่รอดการพัฒนาศักยภาพในการทำงาน ตามหลักพระพุทธศาสนา ต้องดำเนินตามขั้นตอน๕ อย่าง  คือ
     ๑. ความรักในงาน  (ศรัทธา)
     ๒. ความกตัญู (กตัญูกตเวทิตา)
     ๓. ความรู้ความเข้าใจระบบการทำงาน  (กิจจญาณ)
     ๔. ความสามารถในการทำงาน   (วสี)
     ๕.  การมีปัญญารู้จักประเมินผลการทำงาน (วิมังสา)

     การพัฒนามนุษยสัมพันธ์
     มนุษยสัมพันธ์ คือ ความรักในการติดต่อกับคนอื่นด้วยจิตใจเต็มไปด้วยไมตรี  ผู้นำที่ดี จะต้องมีความรักในเพื่อนมนุษย์ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูง  ความรักในมนุษย์เป็น ก้าวแรกในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ ปราศจากความรักในเพื่อนมนุษย์จะไม่เกิดมนุษยสัมพันธ์
 

๕.ยุทธวิธีในการพัฒนานักพัฒนา
     นักพัฒนาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม บทบาทของนักพัฒนาจะปรากฏในที่ ทุกแห่งที่ต้องการจะปรับปรุงสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่และดีงาม ที่ดีแทนสิ่งเก่าที่มีปัญหาและล้าหลัง ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม
     แต่การที่จะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมได้ จะต้องสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้น ในสังคมว่า สังคมจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเก่า ซึ่งก็เป็นบทบาท ของนักพัฒนาที่จะดำเนินการสร้างความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีแก่กลุ่มบุคคลเป้าหมาย การที่ประชาชนจะยอมรับและมีความรู้สึกร่วมขึ้นมาได้ ประชาชนจะต้องมีศรัทธาในตัวนักพัฒนา และเชื่อในสิ่งที่นักพัฒนานำเสนอ

     ตามหลักพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับแรก ที่จะต้องพัฒนาตน โดยเฉพาะ ตัวผู้นำให้มีคุณธรรมจริยธรรม มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดงามเพื่อสร้างศรัทธาแก่ผู้ที่รับการ พัฒนา


๖.หลักการพัฒนาผู้นำในการเปลี่ยนแปลงที่ดี
     การเปลี่ยนแปลงที่ดี  ก็คือการพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่จุดมงหมายที่พึงปรารถนาและเป็นที่ ยอมรับของสังคม การที่จะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินตามระบบการพัฒนาซึ่ง ประกอบด้วยการศึกษาปัญหาและความต้องการทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรณ์อื่น ๆ รวมทั้งนโยบาย ที่มีการวางแผนอยีางรัดกุม กระบวนการในการดำเนินการ การตรวจสอบ และการประเมินผล ทรัพยากรมนุษย์จัดเป็นองค์ประกอบทสำคัญยิ่งในระบบการพัฒนาสังคม และทรัพยากร มนุษย์ที่สำคัญก็คือผู้นำ ซึ่งจะต้องมีบทบาทสำคัญในการนำ การควบคุมและประเมินผลจากการ พัฒนาโครงการ พัฒนาสังคมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระด้บชุมชน หมู่บ้าน หรือในระดับชาติ จะต้องมีผู้นำและมีผู้บริหารโครงการทั้งสิ้น
     การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะต้องพิจารณา   มิติการพัฒนาให้ครบทุกด้านดังนี้
      ๑.  มิติทางด้านจริยธรรมส่วนบุคคล
      ๒.  มิติทางด้านวิชาการ
      ๓.  มิติทางด้านการนำ
 

     การพัฒนาจริยธรรมส่วนบุคคลของผู้นำ
     ผู้นำที่ดีจะต้องได้รับการพัฒนาใหม่คุณธรรมจริยธรรมส่วนตัว พระพุทธศาสนากำหนด คุณธรรมส่วนตัวสำหรับผู้นำดังนี้
     ๑. เมตตา กรุณา (ความรักความเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น)
     ๒. การรู้จักให้และรู้จักแบ่งปัน  (ทาน)
     ๓. การปฏิบัติตามระเบียบ  กฎเกณฑ์ของสังคม (ศีล)
     ๔.  การไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  (จาคะ)
     ๕. ความชื่อสัตย์   (สัจจะ)
     ๖. ความกตัญญูรู้พระคุณของผู้มีอุปการะ
     ๗.    การมีความอดทน  (ขันติ) รู้จักให้อภัย
     ๘.  การปฏิบัติตนเป็นกัลยาณมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนทั่วไป

     การพัฒนาวิชาการของผู้นำ
     ผู้นำที่ดีจะต้องได้รับการพัฒนาทางวิชาการ กล่าวคือ ต้องมีปัญญา มีความรู้รอบตัว และ รู้จักบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศชาติของตนเองอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้
     คุณลักษณะความเป็นนักวิชาการที่ดีของผู้นำซึ่งสมควรได้รับการพัฒนาใหัเกิดมีเป็นการเฉพาะมีดังนี้
     ๑.   ผู้นำที่ดีต้องรู้จักตั้งคำถาม การตั้งคำถามเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้ตอบ รู้จักคิด และพัฒนาสติปัญญาของตนไปในตัว
     ๒. ผู้นำที่ดีไม่ควรเอาตนเองเป็นตัวตั้ง หรือเป็นศูนย์กลางของการกระทำทุกอย่าง การกระตุ้นให้ลูกน้องคิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น เป็นแนวทางที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยพัฒนาองค์กร ให้เจริญก้าวหน้า เป็นการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ
     ๓.  ผู้นำที่ดีควรมีเจตนาที่ดีที่จะนำผู้คนที่มีศรัทธาในตนให้ออกจากลัทธิดลบันดาล ผู้นำที่ดีควรใช้ศรัทธาที่คนอื่นมีต่อตนในการพัฒนาคนอื่นให้เข้มแข็ง ไม่ต้องพึ่งคนอื่นตลอดไป ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาช่วย แล้วค่อยช่วยประคองคนที่มีความพยายามด้วยตนเองให้เข้าถึงจุดหมาย ปลายทางด้วยตัวของเขาเอง ดังเช่น เทพธิดาเมขลาช่วยพระมหาชนกให้ถึงฝั่งโดยปลอดภัย หลังจากพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่กลางทะเลเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน
 

     การพัฒนามิติทางด้านการนำ
     ผู้นำที่ดีควรทำตนเหมือนเทวดาที่ดี ผู้นำที่ไม่ดีจะทำตนเหมือนเทวดาไม่ดี ซึ่งก็คือพญามาร พญามารคือเทวดาที่มุ่งทำร้ายต่อผู้อื่น
     วิธีของมาร มี ๒ อย่าง
     ๑. ทำลายล้าง และขัดขวางคนที่จะทำความดี  หรือคนที่จะทำการสร้างสรรค์
     ๒. หลอกล่อให้คนติดสิ่งมัวเมาที่บำรุงบำเรออยู่กับความสำราญ  อุปกรณ์ในการ หลอกล่อ มี ๒ อย่างคือ
        (๑) เบ็ด คือ เครื่องล่อเหยื่อ
        (๒) บ่วง คือ เครื่องมัดเหยื่อ
     ผู้นำตามคติพระพุทธศาสนา นาจะมี  ๓ ประเภท  คือ
     ๑.  ผู้นำแบบเทวดา
     ๒.  ผู้นำแบบมาร
     ๓.  ผู้นำแบบกึ่งเทวดากึ่งมาร


๗.ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตของผู้นำ
     พระพุทธศาสนาได้สอนวิธีปฏิบัติตนที่เหมาะสมสำหรับผู้นำและสามัญชนหรือคนทั่วไป ในการดำเนินชีวิตประจำวัน   ตามหลักการที่เรียกว่า อปัณณกปฏิบัติ (ทางดำเนินที่ไม่ผิด) ซึ่งมี๓ ข้อดังนี้
     ๑. ความสำรวม  ระมัดระวังในอินทรีย์   (อินทรียสงวร)  ซึ่งก็คือการมีสัมมาสติ ควบคุมอินทรีย์ทั้งหก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
     ๒. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค   (โภชเนมัตตัญญุตา)
     ๓. การรู้จักตื่นตัว   ไม่ประมาทหวั่นไหว  (ชาคริยานุโยค)   ซึ่งก็คือความขยันรู้จัก ทำงานอย่างจริงจัง ไม่เกียจคร้าน ไม่เห็นแก่นอน
    ผู้นำที่ดีจะต้องมีความสามารถในการนำตนเองให้รอดพ้นจากการเป็นผู้นำแบบพญามาร ซึ่งอาจเรียกว่าแบบทรราชย์ก็ได้ และจะต้องนำตนเองให้พ้นจากกำลังภายนอกที่เหนือกว่าตนเอง รวมทั้งจากอำนาจกิเลสภายในของตนเองด้วย นำตนเองให้พ้นจากการถูกกระทำจากกำลังทุกประเภททอาจจะครอบงำจนไม่มีอิสรภาพในการทำสิ่งที่ดีงาม
 

     พุทธจรยธรรมพื้นฐานสำหรับพัฒนาผู้นำ
     พระพุทธศาสนาได้เสนอหลักการขั้นพื้นฐานในการพัฒนาบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือผู้ตามให้เป็นคนดี ในหลักคำสอนที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ผู้นำจำเป็นต้องมี การปฏิบัติตามคำสอนพื้นฐานเหมือนกับบุคคลทั่วไป ขณะเดียวกันก็จะต้องปฏิบัติตามคำสอนพิเศษ ที่กำหนดไว้เฉพาะสำหรบผู้ที่อยู่ในสถานภาพผู้นำ
     คำสอนของพระพุทธศาสนาขั้นพื้นฐานสำหรับคนทั่วไปปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ตัวอย่างเช่น ในพรหมชาลสูตรแห่งพระสุตตันตปิฎก   พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน  ศีล ๓ ระดับแก่ สาวกของพระองค์  คือ จูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล
     ศีลระดับจูฬศีล เป็นคำสอนให้งดเว้นจากการประทุษร้ายชีวิตสัตว์ ชีวิตคนอื่น ชีวิตตนเอง และต้นไม้ ทั้งทางกายและทางวาจา
     ศีลระดับมัชฌิมศีล  เป็นคำสอนสำหรับผู้ที่ต้องการถือเคร่งในชีวิตในระดับสูงขึ้น  โดย เฉพาะนักบวชที่ประพฤติพรหมจรรย์อยู่แล้วจำต้องหลีกเลี่ยง จากการแสวงหาความเพลิดเพลิน แบบชาวโลก รวมทั้งใช้เครื่องอุปโภค บริโภคและสิ่งประดับตกแต่งที่ชาวโลกนิยมกัน   ก็จะต้อง งดดวยศีลในระดับนี้รวมถึงข้อห้ามการมิให้สมณะประกอบอาชีพเสริมที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย เช่น รับที่นา ที่สวน ไว้ทำนา ทำสวน รับสัตว์เลี้ยง เช่น แพะ ไก่ สุกร เพื่อค้าขายแลกเปลี่ยน
     ศีลในระดับมหาศีล สามารถประยุกต์ใช้โดยสามัญชน เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ จริยธรรมในการประกอบอาชีพด้วย   เช่น  ไม่โกงในการค้าขาย ไม่โกงด้วยตาชั่ง และสำหรับข้าราชการห้ามมิให้รับสินบน เป็นต้น
   ข้อความในพรหมชาลสูตร สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหลักพุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐานเกี่ยว กับการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ผู้ปฏิบัติตตามศีลทั้ง ๓ ระดับ ดังกล่าว ย่อมจะทำให้ชีวิตประเสริฐสูงส่งและมีคุณค่าเพิ่มขึ้น

     การพัฒนาคุณธรรมสำหรับผู้นำ
     คุณธรรม  คือ สิงที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดมีขึ้นประจำอยู่ในจิตใจของบุคคล คุณธรรม จัดเป็นลักษณะภายในและเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติจริยธรรม บุคคลที่ดีจะต้องมีคุณธรรมประจำ ชีวิตตลอดเวลา และจะต้องหนักแน่นในเหตุผล  มีสติตื่นตัว มีความรู้สึกไวต่อเพื่อนมนุษย์
 
     บุคคลที่มีคุณธรรม  คือบุคคลที่มีคุณสมบัตพิเศษ เด่น และคุณธรรมย่อมทำให้บุคคลเป็นสัตว์โลกที่ประเสริฐ

๘.บทสรุป
     การพัฒนาบุคคลเพื่อให้เป็นผู้นำที่ดีนั้น เป็นเป้าหมายสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคน ตามหลักทางพระพุทธศาสนา บุคคลที่พัฒนาดีแล้วยังมีความประพฤติเป็นแบบอย่างแก่บุคคลอื่นได้ ขณะเดียวกันก็เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าของสังคม สถาบันพระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนานักพัฒนาสังคมตั้งแต่ยุคแรกเกิดมีพระสงฆ์ขึ้นในสังคมมนุษย กล่าวโดยเฉพาะใน สังคมไทย พระสงฆ์เป็นบุคลากรสำคัญมากที่สุดในบรรดาทรัพยากรมนุษย์ของพระศาสนา การ จะให้พระสงฆ์เป็นผู้นำได้อย่างสมบูรณ์  จะต้องพัฒนาตนเองให้มีความสมบูรณ์พร้อมกัน  ๓ มิติ คือ มิติทางคุณธรรม มิติทางปัญญา และมิติการเป็นผู้นำ สถาบันการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้นำ พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยก่อนบวชและระหว่าง บวชเป็นผลผลิตของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในสังคมมาแล้ว ดังนั้น จึงสมควรประยุกต์เอาความรู้ทางวิชาการที่ได้รับมาเป็นแนวปฏิบัติตน และเป็นแนวทางในการชี้นำสั่งสอนแก่ประชาชน  เพื่อ ความมีศรัทธาอย่างยั่งยืนต่อพระพุทธศาสนา และเพื่อบรรลุถึงความเป็นอริยบุคคลตามอุดมการณ์ ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงต่อไป

 

(ที่มา: สารนิพนธ์)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕