หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ธรรมาภิบาลในพระไตรปิฎก » พระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ไทย สู่กฎหมายรัฐธรรมนูญ
 
เข้าชม : ๔๖๘๓๕ ครั้ง

''พระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ไทย สู่กฎหมายรัฐธรรมนูญ''
 
โดย..กิตติพงศ์ ดารักษ์

 

พระพุทธศาสนามีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่บรรพกาล  โดยยึดคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการการปกครองการบริหารที่อำนวยประโยชน์ให้แก่ราษฎรในรัฐ เรียกว่า  ทศพิธราชธรรม  พระมหากษัตริย์ไทยทรงอุทิศพระองค์เพื่อพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมเป็นหลักในการบริหารชาติบ้านเมืองประหนึ่งว่าเป็นธรรมนูญการปกครองชาติไทย

 

                สมัยกรุงสุโขทัย

                ในสมัยกรุงสุโขทัยมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูก (ปิตาธิปไตย)  เป็นการปกครองแบบไทยแท้  กล่าวคือ ราษฎรถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นบิดาของปวงชน  พลเมืองทุกคนมีฐานะเป็น ลูกบ้านลูกเมือง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทางให้ความใกล้ชิดเยี่ยงบิดากับบุตร 

                มองอีกนัยหนึ่ง เป็นการปกครองแบบธรรมราชา  คือ ผู้ปกครองทรงใช้ธรรมในการปกครองซึ่งมีพื้นแนวคิดและความเชื่อในทางพระพุทธศาสนาที่ว่า  ราชาที่ดีควรปกครองอาณาเขตประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข  อุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองซึ่งจะต้องทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม  โดยเฉพาะทศพิธราชธรรมเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองทรงใช้อำนาจโดยมิชอบที่จะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน  มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดจาก หลักศิลาจารึก และหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งกษัตริย์ได้ให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในการบริหารบ้านเมือง ทรงเห็นความสำคัญแก่การพระศาสนา กล่าวคือ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่พระศาสนาอยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย   

                สมัยกรุงศรีอยุธยา

                ระบบการปกครองของยุคสมัยนี้  ได้เปลี่ยนวิธีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกเป็นเอกาธิปไตยในช่วงแรกของการสร้างกรุง  ต่อมาได้กลายมาเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์   การปกครองในอยุธยาเป็นรูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจอันล้นพ้นและทรงอยู่ในฐานะทรงเป็นเจ้าชีวิต   เจ้าแผ่นดิน  เจ้าอยู่หัว และที่สำคัญที่สุดคือพระองค์ทรงเป็นธรรมราชา   ซึ่งพระองค์เองทรงได้น้อมนำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับการปกครองบ้านเมืองและหลักธรรมที่พระองค์นำมาเป็นแนวทางนั้น สังเกตได้จากการเกิดขึ้นของวรรณคดีและวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย

                การพระศาสนาทรงใส่พระทัยเป็นยิ่งนัก  เห็นได้ชัดในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงผนวชเป็นเวลา ๘ เดือน เมและทรงให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย นับว่าเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการรจนาหนังสือมหาชาติคำหลวงอันเป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา    

                ในรัชสมัยสมเด็จพระณารายณ์มหาราช  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ประกาศพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าและเป็นที่เลื่องลือพระนามไปถึงชาติยุโรป ครั้ง สมัยที่พวกฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อสัมพันธไมตรีกับไทยและได้พยายามเผยแผ่ศาสนา ถึงกับทูลขอให้สมเด็จพระณารายณ์มหาราชเข้ารีต  แต่พระองค์ทรงมั่นคงในพระพุทธศาสนา และทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถชนิดบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นว่า

                “การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป  ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว แลเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้วไซร้ สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้”

 

                ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเสวยราช    การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง ถึงกับกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้  ในรัชสมัยนี้ ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา จนทำให้พระพุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้งจนถึงปัจจุบันและเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่า นิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน

    

                สมัยกรุงธนบุรี

                ในยุคสมัยนี้เป็นยุคที่กอบกู้เอกราชบ้านเมืองให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหลังจากที่ตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่า  แต่กระนั้นกษัตริย์ของไทยก็ไม่ละทิ้งพระพุทธศาสนา ดังจารึกของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ความว่า

                                อันตัวพ่อ ชื่อว่า    พระยาตาก

                ทนทุกข์ยาก          กู้ชาติ      พระศาสนา

                ถวายแผ่นดิน        ให้เป็น   พุทธบูชา

                แด่พระศาสนา      สมณะ   พระพุทธโคตม 

                                ให้ยืนยง  คงถ้วน ห้าพันปี

                สมณะพราหมณ์ชี    ปฏิบัติ  ให้พอสม

                เจริญสมถะ  วิปัสสนา    พ่อชื่นชม

                ถวายบังคม  รอยบาท     พระศาสดา

                                คิดถึงพ่อ   พ่ออยู่       คู่ตัวเจ้า

                ชาติของเรา    คงอยู่        คู่พระศาสนา 

                พุทธศาสนา   อยู่ยง      คู่องค์กษัตรา

                พระศาสดา    ฝากไว้      ให้คู่กัน...

                พระองค์นอกจากจะทรงเป็นนักรบที่แกล้วกล้า ยังทรงเป็นนักศาสนาที่เคร่งครัดด้วยทรงปฏิบัติสมถและวิปัสสนากัมมัฏฐาน และทรงฟื้นฟูวัดวาอาราม รวบรวมพระ สงฆ์ที่กระจัดกระจายคราวกรุงศรีอยุธยาแตก ให้กลับคืนสู่วัดของตน  ส่งเสริมบำรุงสงฆ์ ผู้ปฏิบัติชอบ และโปรดให้รวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎก และปกรณ์วิเศษต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายเมื่อคราวเสียกรุง  

 

                สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

                พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ จะต้องทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบแห่งระเบียบวินัยและแบบแผนต่างๆ   เฉพาะอย่างยิ่งต้องทรงศึกษาและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์     ตลอดถึงหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา อุทิศพระองค์เพื่อพระพุทธศาสนาเพราะเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่สมัยบูรพกษัตริยาธิราช   ดังพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ความว่า

                             “ตั้งใจจะอุปถัมภก              ยอยกพระพุทธศาสนา 

                        ป้องกันขอบขัณฑสีมา         รักษาประชาชนและมนตรี”

 

                นอกจากนี้ พระองค์ยังมีเจตจำนงต่อพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในกฎหมายตรา ๓ ดวง  ความตอนหนึ่งว่า

                 “ทุกวันนี้ตั้งใจที่จะทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนาไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ตั้งอยู่ในคติธรรม ๔ ดำรงจิตจตุรัส  บำเพ็ญศีล ทาน และได้สุคติภูมิ...”

                เมื่อครั้งทรงจัดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก พระองค์และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ทรงประกาศต่อคณะสงฆ์ว่า

                   “ครั้งนี้ ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง  จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์เกิดขึ้นจงได้   ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยม  โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้ปริยัติสมบูรณ์เป็นมูลที่ตั้งพระพุทธศาสนาจงได้”

                 

                ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ คือสมเด็จพระสังฆราช (มี) สมเด็จพระสังฆราช (สุก) และสมเด็จพระสังฆราช (สอน) พระองค์ทรงจัดส่งสมณทูต ๘ รูป ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา นอกจานี้ พระองค์ยังทรงได้จัดให้มีการจัดงานวันวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมก็เคยปฏิบัติถือกันมาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย  

 

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับ  ครบถ้วนกว่ารัชกาลก่อนๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย  พระองค์ทรงมีพระประสงค์สูงสุด ๔ ประการ คือ

                                ๑.  ทรงเป็นศาสนูปถัมภ์  ยกพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการครองชีวิตของพระองค์และประชาชน

                                ๒. ให้สามารถปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์

                                ๓. สามารถรักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง

                                ๔. เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวง

 

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวช ๒๗ พรรษา   โปรดให้มีพระราชพิธี  “มาฆบูชา”  ขึ้นเป็นครั้งแรก  ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้   พระองค์ทรงมีกุศลเจตนาเสียสละอันแรงกล้าทรงบริจาคเพชรประดับอุณาโลมพระแก้วมรกต โดยทรงมีความเชื่อมั่นและพระราชดำริว่า จากการทรงบริจาคเพชร  ดังนี้

                                ๑. ไม่ขัดขวางเป็นเหตุให้ผู้ใดขุ่นเคืองขัดใจเลย  เพราะพระนครนี้ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนผู้นับถือพระพุทธศาสนามาแต่เดิมไม่ใช่แผ่นดินของคนนับถือศาสนาอื่น

                                ๒. คนที่นับถือศาสนาอื่นมาแต่ที่อื่นก็ดี อยู่ในเมืองนี้ก็ดี จะโทมนัสน้อยใจด้วยริษยาแก่พระพุทธศาสนาเพราะบูชาอันนี้มิได้  ด้วยมิใช่เมืองของศาสนาตัวเลย  ถ้าใครโทมนัสก็เชื่อว่า โลภล่วงเกินไป

 

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ทรงครองราชย์นานถึง ๔๒ ปี พระองค์ทรงประกาศเป็นสัจจปฏิญญาณต่อพระสงฆ์ตอนหนึ่งว่า 

                “ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตรยินดีน้อมไปในศาสดาอื่น นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แลพระธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้วกับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเป็นอันขาด จนตราบกว่าสิ้นชีวิต”  

                ในรัชสมัยนี้ ทรงใช้คำว่า ศาสนาของชาติ หรือ ศาสนาของเรา  พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมั่นคงในการที่จะรักษาสืบสานพระพุทธศาสนา ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ความตอนหนึ่งว่า

                  “ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักร  ให้ดำเนินไปในทางวัฒนาถาวรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย”

 

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์เป็นนักเรียนนอก แต่กลับทรงแสดงความเป็นเอเชียอย่างชัดเจนแทนที่จะมีแนวคิดอย่างตะวันตกหรือแบบยุโรป  พระองค์ทรงเน้นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงเทิดทูนพระรัตนตรัยมาก  ทรงคิดค้นธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติและทรงให้ความหมายไว้ชัดว่า  สีขาว หมายถึง พระรัตนตรัย   ดังพระราชนิพนธ์ความตอนหนึ่งว่า

                                “ขอร่ำรำพรรณบรรยาย            ความคิดเครื่องหมาย

                แห่งสีทั้งสามงามถนัด

                                ขาวคือบริสุทธิ์ ศรีสวัสดิ์             หมายพระไตรรัตน์

                และธรรมะคุ้มจิตไทย...”

                นอกจากนี้  ทรงมีพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนามาก คือ เทศนาเสือป่า  ดังความบางตอนมีกล่าวไว้ว่า

                  “...พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา  เราจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดา และโครตวงศ์ของเรา  จำเป็นต้องถือไม่มีปัญหาอะไร  เมื่อข้าพเจ้ารู้ได้แน่นอน จึงได้กล้าลุกขึ้นยืนแสดงเทศนาทางพระพุทธศาสนาแก่ท่านทั้งหลาย  โดยหวังแน่ว่าบรรดาท่านทั้งหลายทั้งปวง  ซึ่งเป็นคนไทยเมื่อรู้สึกแน่นอนแล้วว่า ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้...เพราะเหตุฉะนั้น เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลายผู้เป็นไทยจะต้องยึดมั่นอยู่ในศาสนาพระพุทธซึ่งเป็น ศาสนาสำหรับชาติเรา...”

 

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ในเมืองไทย แล้วทรงจัดให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ชุดละ ๔๕  เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ ชุด และพระราชทานแก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ ๕๐๐ ชุด  นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์ข้อความตอนหนึ่งไว้ในคำนำหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก  ข้อความตอนหนึ่งว่า

              “ศาสนาเป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ ให้ทนความลำบากได้ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนให้เป็นผลสำเร็จได้และยังเป็นยาที่สมานหัวใจให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วย” 

 

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงจัดให้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

                ๑. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด ๘๐ เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ แลกะไทำต่อจนเสร็ตเมื่องานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐

                 ๒. พระไตรปิฎก แปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น ๑๒๕๐ กัณฑ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ 

 

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  พระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานจนถึงปัจจุบันกว่า ๖๐ ปี  ทุกครั้งที่ทรงมีพระราชดำรัส จะปรากฏหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชดำรัสลาผนวชต่อราษฎร  ณ พระที่นั่งพุทธไธสวรรค์ปราสาท  เมื่อวันที่ ๑๘  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๙๙  ความตอนหนึ่งว่า

                “...อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรานี้ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี  ตามความศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี  เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง  มีคำสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี  ทั้งเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเลื่อมใสยิ่งนัก  ข้าพเจ้าจึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวยก็น่าจะอุปสมบทในพระศาสนาตามพระราชประเพณีสักเวลาหนึ่ง  ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย...”

               

                เมื่อวันที่ ๑๗  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๑๒  ทรงประทานพระบรมราโชวาทแก่ที่ประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วประเทศมีความตอนหนึ่งว่า

                “บัดนี้ ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้านและต้องการความสามัคคี ความสงบเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

                   กรณีย์อันสำคัญของท่านทั้งหลายคือ การส่งเสริมประชาชนให้มีพระรัตนตรัยและธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นหลักใจ และความประพฤติด้วยศรัทธา และปัญญาที่ถูกต้อง...”

                ในวันที่ ๑๐  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๒๗    พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เสด็จออกรับพระสันตปาปา  จอห์น ปอล ที่ ๒  ได้รับสั่งกับสันตปาปาเมื่อคราวเสด็จเยี่ยมสำนักวาติกันความว่า  องค์สันตปาปาในสมัยนั้น ได้รับสั่งถามถึงการนับถือศาสนาของคนไทย พระองค์ได้รับสั่งตอบว่า

                 “คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนนับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ...”

 

                นอกจากนี้ เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๕๓๗  พระองค์ทรงประทานพระบรมราโชวาทแก่ที่ประชุมของสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย  มีความตอนหนึ่งว่า

                  “ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชมยินดีด้วย ที่สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ จัดให้มีการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยยกเอาเรื่องการปลูกจิตสำนึกของชาวพุทธเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเราขึ้นเป็นหัวข้อการประชุม... ชาวพุทธที่แท้จริงจึงเป็นผู้ที่คิดชอบ ปฏิบัติชอบอยู่เป็นปกติ   อยู่  ณ ที่ใดก็ทำให้ที่นั้นสงบ ร่มเย็น มีแต่ความปรองดองและสร้างสรรค์  จึงเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ   ทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุข มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน  มีการสงเคราะห์  อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน และมีความสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี...”

               

                จากพระบรมราโชวาทดังกล่าวข้างต้น  แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ  คือ ชาวพุทธที่แท้จริงแม้จะอยู่ในที่ใดย่อมทำให้ที่นั้นสงบร่มเย็น มีความปรองดองสามัคคีและสร้างสรรค์ จึงเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น ๓ ประการคือ  รักเอกราชขอชาติ  ปราศจากวิหิงสา (การเบียดเบียน)  และความฉลาดประสานประโยชน์

 

                หลักฐานดังที่ยกมาทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสถาบันหลักของชาติกับ  หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ประดุจจิตวิญญาณที่ผสมผสานในสายเลือดของคนไทย นับตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ชาติ สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา   โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นเปรียบเสมือนเจ้าของแผ่นดินไทยจึงมีพระนามว่า พระเจ้าแผ่นดิน  ซึ่งมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตลอด ทรงมีพระราชภาระที่ทรงทำหน้าที่เป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด ทรงสนพระทัยในการปฏิบัติ และเผยแผ่  ทรงทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาและทรงทำหน้าที่ในการป้องกันอันตราย ขจัดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์   หลักธรรมในพระพุทธศาสนากลายเป็นตัวชี้วัดสถาบันพระมหากษัตริย์ มีทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร เป็นต้น  ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความประสงค์ของราษฎรคณะหนึ่ง พระมหากษัตริย์จึงได้มอบราชภาระการพระพุทธศาสนาให้ผู้นำประเทศรับเป็นภาระแทนพระองค์ต่อไป

                ดังนั้น พระราชดำรัสที่ตรัสจากพระโอษฐ์ขององค์พระมหากษัตริย์ดังกล่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงแสดงให้เห็นถึงพระพุทธศาสนาย่อมอยู่คู่กับคนไทยและชาติไทยมาแต่บรรพกาล  ด้วยคุณสมบัติของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา    หากผู้นำประเทศผู้ได้ชื่อว่ารับภาระราชการบริหารแผ่นดินแทนองค์กษัตริยาธิราช ไม่ขาดสติปัญญา  หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาและพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ถ่องแท้และลึกซึ้งแล้วไซร้  ใยจะทำให้ประเทศชาติล่มจม เดือดร้อน ลูกเป็นไฟ  ด้วยเพียงถ้อยคำที่ว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”  

               

 =================================================

ขอขอบคุณเจ้าของตำรับตำรา เอกสารต่าง ๆ ทุกท่าน ที่ผู้เขียนได้ศึกษาซึมซับไว้ในความคิด แล้วนำมาเรียบเรียงในครั้งนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

(ที่มา: คณะครุศาสตร์ มจร)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕