หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระธรรมโกศาจารย์ » ธรรมกับความรักและการแต่งงาน
 
เข้าชม : ๓๔๐๑๕ ครั้ง

''ธรรมกับความรักและการแต่งงาน''
 
พระธรรมโกศาจารย์ (2549)

           ความงดงามของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงที่มีความหลากหลายของธรรมเหมือนกับสวนไม้ดอกนานาพรรณมีดอกไม้หลากสีสันให้คนเลือกเก็บได้ตามต้องการ ธรรมมีจำนวนมากมายหลายประเภทพร้อมที่จะให้แต่ละคนเลือกนำไปปฏิบัติได้ตามความต้องการ ใครอยากไปนิพพานก็มีโลกุตรธรรมสำหรับคนที่ต้องการพ้นโลก ส่วนใครที่อยากประสบความสำเร็จในโลกนี้ก็มีโลกิยธรรมให้นำไปปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบัน สำหรับสามีภรรยาที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตการแต่งงานก็มีธรรมสำหรับคนครองเรือนให้เลือกปฏิบัติ
          เป้าหมายแห่งการแต่งงานอยู่ที่การสร้างครอบครัวที่มีแต่ความรักใคร่กลมเกลียวโดยไม่มีการหย่าร้าง สามีภรรยาจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน การปฏิบัติธรรมจะช่วยให้ชีวิตคู่เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะฝ่ามรสุมต่างๆไปได้ ดังนั้น คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีชีวิตการแต่งงานที่ยั่งยืนตลอดไปต้องร่วมกันปฏิบัติธรรม
            คำว่า ธรรม ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมและจริยธรรม
            คุณธรรม ได้แก่ คุณสมบัติที่ดีภายในจิตใจ เช่น ความรัก ความสงสาร ซึ่งช่วยให้คนเราทำหน้าที่ของสามีภรรยาได้โดยไม่ต้องฝืนใจ
            จริยธรรม ได้แก่ หลักแห่งความประพฤติที่ดีงามที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ครอบครัว และสังคม จริยธรรมเป็นข้อปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้โดยศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายว่าอะไรเป็นหน้าที่ที่สามีภรรยาจะต้องทำเพื่อความผาสุกแห่งครอบครัว
            จริยธรรมเป็นเรื่องการควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและทางวาจา ซึ่งคนอื่นสามารถรับรู้และประเมินได้ว่าเรามีจริยธรรมมากน้อยเพียงใด เช่น การที่สามีภรรยาต้องให้เกียรติกันและกันเป็นจริยธรรมอย่างหนึ่ง คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าสามีภรรยาคู่นี้ให้เกียรติกันและกันหรือไม่ ตรงกันข้ามกับคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจซึ่งยากที่คนทั่วไปจะตรวจสอบได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ความรักเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนอื่นไม่สามารถจะมองเห็นความรักภายในจิตใจของเราว่ามีมากน้อยเพียงใด เท่าที่คนทั่วไปจะทำได้ก็คือคาดคะเนจากพฤติกรรมภายนอกของเราว่าเรามีความรักในใจมากน้อยแค่ไหน
            คุณธรรมเป็นรากฐานของจริยธรรม เมื่อสามีมีคุณธรรมคือความรักภรรยาอยู่ในหัวใจ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ ความรักทำให้สามียอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อครอบครัวของเขา ดังนั้น ความรักจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันด้วยความรักจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีกว่าคู่ที่แต่งงานกันโดยไม่มีความรัก เพราะความรักจะทำให้คู่รักยอมลงให้กันและทนกันได้
            คำว่า ความรัก ในพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท ดังนี้
            ๑. เปมะ ได้แก่ ความรักใคร่หรือความรักแบบโรแมนติกซึ่งเกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ (๑) บุพสันนิวาส หญิงชายเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน เมื่อเกิดใหม่มาพบกันในชาตินี้จึงเป็นเนื้อคู่กันและรักกัน (๒) การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความรัก แม้หญิงชายจะไม่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ทั้งคู่ก็รักกันได้เพราะความมีน้ำใจของอีกฝ่ายหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
            ๒. เมตตา ได้แก่ ความปรารถนาดีหรือความหวังดีที่จะให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเกิดจากการมองเห็นความดีงามหรือความน่ารักของคนอื่นแล้วเกิดความประทับใจจนถึงกับคิดส่งเสริมให้เขามีความดีงามหรือความน่ารักยิ่งๆขึ้นไป
            ชีวิตการแต่งงานจะยั่งยืนนานถ้ามีความรักทั้งสองอย่างคือมีทั้งความรักแบบโรแมนติกและความรักแบบเมตตาเป็นพื้นฐาน ความรักแบบโรแมนติกสร้างความสุขความเพลินใจเมื่ออยู่ใกล้คนรัก แต่ไฟแห่งความรักใคร่มักโชติช่วงอยู่ได้ไม่นาน ความเคยชินเพราะอยู่ด้วยกันมานานมักทำให้ความรักใคร่จืดจางไปได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมีความรักแบบเมตตาตามประกบความรักใคร่เพื่อให้ความรักยั่งยืนยาวนาน
            ความรักแบบโรแมนติกถูกความน่ารักน่าปรารถนาของคู่ครองเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดอารมณ์รัก ความรักใคร่นี้มีธรรมชาติไม่แน่นอน เวลาใดคนรักทำตัวมีเสน่ห์น่ารัก เวลานั้นอารมณ์รักใคร่ก็จะเบ่งบานมีพลัง เวลาใดคนรักเอาแต่ใจทำตัวไม่น่ารัก เวลานั้นความรักใคร่ก็จะอับเฉาร่วงโรย ความรักใคร่แบบโรแมนติกจึงมีสภาวะขึ้นลงตามปัจจัยเงื่อนไขภายนอกอันได้แก่กิริยาอาการของคนรักเป็นสำคัญ
            ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังสำราญพระราชหฤทัยอยู่กับพระมเหเสีชื่อว่าพระนางมัลลิกาเทวี พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระมเหสีว่า "เธอรักใครมากที่สุด"
            การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามอย่างนี้แสดงว่าทรงอยู่ในอารมณ์โรแมนติกและหวังว่าจะได้รับคำตอบแบบโรแมนติก แต่พระนางมัลลิกาเทวีกลับทูลตอบว่า "หม่อมฉันรักตัวเองมากที่สุด"
           พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับหมดอารณ์โรแมนติก ทรงนำเรื่องนี้ไปเล่าถวายพระพุทธเจ้าและตรัสถามว่าทำไมพระมเหสีจึงกล่าวอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงตอบว่าเพราะพระนางมัลลิกาเทวีเป็นคนตรงจึงกล้าพูดความจริงที่ว่าคนทุกคนรักตัวเองมากที่สุด พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ในที่อื่นว่า นัตถิ อัตตะสะมัง เปมัง ไม่มีรักใดไหนเล่าจะเท่ารักตนเอง
            ความรักใคร่แบบโรแมนติกเกิดโดยสิ่งเร้าภายนอกจากคนรักเป็นสำคัญจึงมีสภาวะไม่คงที่ถาวร สามีภรรยาที่ประสงค์จะทำให้ความรักใคร่เข้มแข็งมั่นคงต้องผสมความรักแบบโรแมนติก ด้วยความรักแบบเมตตา
            ความรักแบบโรแมนติกเปรียบเหมือนรถยนต์ที่อาศัยคนอื่นคอยเติมเชื้อเพลิงให้อยู่เสมอจึงจะแล่นไปได้ แต่ความรักแบบเมตตาเปรียบเหมือนรถยนต์ที่เจ้าของผลิตเชื้อเพลิงได้เองอย่างไม่มีขีดจำกัดจึงแล่นไปได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะความรักแบบเมตตาเป็นสิ่งที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองด้วยการฝึกมองให้เห็นความดีงามของคนอื่น คนเราจะมีเมตตาในใจได้ต้องฝึกมองโลกในแง่ดี ถ้าสามีภรรยาสามารถฝึกใจให้มองแต่แง่ดีของคู่ครอง ต่างฝ่ายต่างจะรักกันและกันได้ตลอดเวลาแม้แต่ในยามที่อยู่ด้วยกันมานานจนข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มปรากฏออกมา สามีภรรยาต้องสามารถทำใจให้มองข้ามข้อบกพร่องเหล่านั้นและเพ่งความสนใจไปอยู่ที่ความดีงามของคู่ครอง ดังคำประพันธ์ที่ว่า
  มองโลกแง่ดีมีผล เห็นคนอื่นดีมีค่า
  ปลุกใจให้เกิดศรัทธา ตั้งหน้าทำดีมีคุณ

            การฝีกใจให้มองแต่แง่ดีอย่างนี้เรียกว่าการแผ่เมตตา ใจของคนแผ่เมตตาจะเต็มไปด้วยความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกับความรักของแม่ที่มีต่อลูกน้อยคนเดียว นั่นคือ แม่พร้อมที่จะรักลูกน้อยของตนโดยมองข้ามความบกร่องของลูกได้ ฉันใด คนแผ่เมตตาก็สามารถที่จะรักและให้อภัยคนอื่นได้ ฉันนั้น
            สามีภรรยาต้องฝึกแผ่เมตตาให้กันและกัน ความรักแบบเมตตาไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นของคู่ครอง แต่เกิดจากการที่แต่ละฝ่ายเป็นผู้กำหนดความสนใจให้พุ่งเป้าไปที่ความดีงามหรือความน่ารักของอีกฝ่ายหนึ่ง ความรักแบบเมตตาจึงดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ เรียกว่าอัปปมัญญา คือไม่มีขีดจำกัด ตราบใดที่สามีภรรยายังนึกถึงความดีงามของอีกฝ่ายหนึ่ง ตราบนั้น ความรักแบบเมตตาก็ยังคงอยู่ตลอดไป
            ความรักแบบโรแมนติกมีวันจืดจางไปเมื่อความสวยงามร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ความรักแบบเมตตายังคงที่คงทนเพราะไม่ได้ใส่ใจความสวยงามภายนอกที่ร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเพ่งความสนใจไปที่ความดีงามภายในจิตใจอีกด้วย นั่นคือความรักแบบเมตตาใส่ใจคนรักในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์และเป็นเพื่อนชีวิตของเรา
            ในการแต่งงานตามประเพณีไทยต้องมีพิธีหลั่งน้ำสังข์ ซึ่งเป็นการสอนธรรมให้คู่บ่าวสาวมีความรักความเมตตาต่อกันและอยู่ครองคู่กันโดยไม่แตกแยกเหมือนกับสายน้ำสังข์ที่หลั่งรดมือนั้น คนโบราณได้ว่าคาถาหลั่งน้ำสังข์ให้พรคู่ บ่าวสาวว่า "อิทัง อุทะกัง วิยะ สะมัคคา อภินนา โหถะ ขอเธอทั้งสองจงปรองดองไม่แตกแยกกันเหมือนน้ำนี้เถิด" ดังคำประพันธ์ที่ว่า
  ขอเธอทั้งสอง  อยู่ครองสมาน ดุจดังสายธาร  สะอาดสดใส
  สายน้ำมิแยก  แตกกันฉันใด ขอสองดวงใจ  ดุจสายธารเทอญ

            อย่างไรก็ตาม ความรักแบบเมตตาเป็นเพียงคุณธรรมหนึ่งในสี่ข้อที่เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คุณธรรมทั้งสี่ข้อรวมเรียกว่า พรหมวิหารธรรม แปลว่าธรรมเครื่องอยู่ของพรหมคือผู้ประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยเมตตา(ความรัก) กรุณา(ความสงสาร) มุทิตา(ความพลอยยินดี) และอุเบกขา(ความวางเฉย)
            คำว่า พรหมวิหารธรรม ที่แปลว่าธรรมเครื่องอยู่ของพรหมนี้ชวนให้นึกถึงภาพของพระพรหม ๔ หน้า พระพรหมใช้หน้าแต่ละหน้าไว้ดูแต่ละทิศทาง ฉันใด สามีภรรยาก็ใช้พรหมวิหารธรรมแต่ละข้อเพ่งพินิจลักษณะแต่ละด้านของคู่ครอง ฉันนั้น
            คุณธรรมทั้งสี่ข้อมีหลักปฏิบัติเหมือนกันตรงที่ว่าตัวเราเองเป็นผู้สร้างคุณธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในใจด้วยการกำหนดทิศทางแห่งความสนใจให้เพ่งพินิจไปยังลักษณะแต่ละด้านของคนอื่นซึ่งจะช่วยให้เกิดความรัก ความสงสาร ความพลอยยินดีและความวางเฉยขึ้นในใจของเรา เช่น เมื่อเราเพ่งความสนใจไปที่ความดีงามของคนอื่น เราจะมีความรักแบบเมตตาต่อเขา แต่เมื่อเราเพ่งความสนใจไปที่ความทุกข์ระทมของเขา เราจะรู้สึกสงสารคือมีความกรุณาต่อเขา
            พรหมวิหารธรรมข้อที่ ๒ คือกรุณา หมายถึงความสงสารหวั่นใจปรารถนาจะช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ เมื่อคู่ครองของเราประสบความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย ในขณะนั้น เราหยุดเพ่งพินิจความดีงามของเขาเป็นการชั่วคราว แต่หันไปให้ความสนใจต่อความเจ็บป่วยของเขาเพื่อดูแลกันในยามเจ็บไข้ คู่ครองต้องไม่ทอดทิ้งกันในยามจนและยามเจ็บ ที่สำคัญก็คือคู่ครองต้องยืนหยัดเคียงข้างช่วยประคับประคองให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมเสพ" มีทุกข์ร่วมทุกข์ด้วยกรุณา มีสุขร่วมเสพด้วยเมตตา
            พรหมวิหารธรรมข้อที่ ๓ คือ มุทิตา หมายถึงความพลอยยินดีเมื่อคนอื่นได้ดีมีสุข เวลาที่คู่ครองของเราประสบความสำเร็จในชีวิต เราต้องแสดงความยินดีอย่างจริงใจด้วยมุทิตา คู่สามีภรรยาจะไม่อิจฉาริษยากันเองเพราะมองเห็นความสำเร็จของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นความสำเร็จของส่วนรวมคือครอบครัว ต่างฝ่ายต่างเป็นกำลังใจให้กันและกันเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จจนสามารถพูดได้เต็มปากว่าเบื้องหลังความสำเร็จทุกครั้งต้องมีเขาคนนั้นเป็นกำลังใจให้เสมอ
            พรหมวิหารธรรมข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา หมายถึงมีใจเป็นกลางวางเฉยต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจของคนอื่น เมื่อสามีภรรยามาจากภูมิหลังแตกต่างกันทั้งด้านการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับความแตกต่างนั้นด้วยอุเบกขา คือยอมปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองบ้างโดยไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซงจนเกินไป การฝึกมองข้ามข้อบกพร่องของกันและกันก็เป็นอุเบกขาอย่างหนึ่งซึ่งช่วยให้ทนอยู่ด้วยกันได้ ดังที่พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส ภิกขุ) ประพันธ์ไว้ว่า
       เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ ต่อโลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย

            นอกจากนี้ เรื่องญาติสนิทมิตรสหายของแต่ละฝ่ายอาจเป็นชนวนให้ปวดหัวได้ถ้าไม่รู้จักวางใจเป็นอุเบกขาด้วยการปรับตัวทำใจให้ยอมรับซึ่งกันและกัน แม้ใจจะไม่ชอบแต่ก็ไม่ถึงกับต้องชังกัน แม้จะมีความแตกต่างแต่ก็ไม่ถึงกับต้องแตกแยก นั่นคืออุเบกขาที่ทำให้สามีภรรยาทนกันได้โดยไม่ต้องหย่าร้างเพราะเกิดอาการที่เหลือจะทน
            พรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นคุณธรรมพื้นฐานภายในจิตใจที่จะทำให้คู่บ่าวสาวสามารถปฏิบัติหน้าที่ของสามีภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ หน้าที่จัดเป็นจริยธรรมเพราะเป็นเรื่องที่ต้องประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหน้าที่ของสามีภรรยาไว้ในสิงคาลกสูตร ดังนี้
            สามีต้องปฏิบัติบำรุงภรรยา ดังนี้
                 ๑) ยกย่องให้เกียรติในฐานะภรรยา
                 ๒) ไม่ดูหมิ่น
                 ๓) ไม่นอกใจ
                 ๔) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
                 ๕) ให้เครื่องประดับเป็นของขวัญตามโอกาสอันควร
            ภรรยาต้องปฏิบัติบำรุงสามี ดังนี้
                 ๑) จัดการงานบ้านให้เรียบร้อย
                 ๒) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
                 ๓) ไม่นอกใจ
                 ๔) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
                 ๕) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
            เมื่อว่าตามแนวสิงคาลกสูตรนี้ พิธีแต่งงานของชาวพุทธควรกำหนดให้คู่บ่าวสาวกล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามแนวสิงคาลกสูตรโดยฝ่ายเจ้าบ่าวเริ่มก่อนว่า
            " ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระรัตนตรัยว่า ข้าพเจ้าจะรักและซื่อสัตย์ต่อภรรยาของข้าพเจ้าตลอดชีวิต จะยกย่องให้เกียรติ ไม่ดูหมิ่น ไม่นอกใจ มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน และให้เครื่องประดับเป็นของขวัญตามโอกาสอันควร"
            ฝ่ายเจ้าสาวกล่าวว่า
            "ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระรัตนตรัยว่า ข้าพเจ้าจะรักและซื่อสัตย์ต่อสามีของข้าพเจ้าตลอดชีวิต จะจัดการงานบ้านให้เรียบร้อย สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี ไม่นอกใจ รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ และขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง"
            คำปฏิญาณของคู่บ่าวสาวนี้ควรถือเป็นหัวใจสำคัญของพิธีแต่งงานแบบพุทธ
            จริยธรรมของสามีภรรยาในสิงคาลกสูตรนี้เน้นการแบ่งหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ นั่นคือ สามีเป็นฝ่ายทำงานหารายได้เข้าบ้าน ในขณะที่ภรรยาเป็นใหญ่ในงานบ้าน แต่สามีภรรยาในยุคปัจจุบันอาจช่วยสนับสนุนบทบาทของกันและกันก็ได้ เช่น ภรรยาออกไปทำงานหารายได้นอกบ้าน สามีช่วยภรรยาทำงานบ้าน แต่ไม่ว่าใครจะทำบทบาทใด สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจก็คือต้องมีเวลาให้ความรักและความอบอุ่นแก่สามีภรรยาและบุตรธิดา ความรักและความอบอุ่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสมาชิกภายในครอบครัว บางที ความสำเร็จและความรุ่งเรืองในหน้าที่การงานนอกบ้านก็ไม่สามารถจะแทนที่ความรักและความอบอุ่นภายในบ้าน ดังเรื่องต่อไปนี้
            เย็นวันหนึ่ง ขณะที่อากาศหนาวจัด แม่คนหนึ่งกำลังเตรียมอาหารมื้อเย็นอยู่ภายในบ้าน มองออกไปนอกบ้านก็เห็นชายชรา ๓ คนนั่งผจญความหนาวอยู่ใต้สะพานลอยหน้าบ้าน แม่จึงบอกลูกชายให้ไปเชิญชายชราทั้งสามคนเข้ามาทานซุปร้อนๆภายในบ้าน
            ลูกชายหายไปพักหนึ่งแล้วกลับมารายงานว่า "คุณลุงทั้งสามคนไม่เคยรับเชิญเข้าบ้านพร้อมกัน พวกเขาบอกว่าคุณแม่เลือกเชิญได้เพียงคนเดียว ไม่ทราบว่าจะให้เชิญคนไหน"
            แม่สั่งให้ลูกชายไปถามชื่อของคุณลุงทั้งสามก่อนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
            ลูกชายวิ่งไปถามชื่อแล้วกลับมารายงานว่า คนแรกชื่อนายรัก คนที่สองชื่อนายสำเร็จ คนที่สามชื่อนายรุ่งโรจน์
            แม่สั่งลูกให้ไปเชิญนายรักเข้าบ้าน
            ลูกชายหายไปพักหนึ่งแล้วกลับมาพร้อมชายชราทั้งสามคน
            แม่อดถามด้วยความสงสัยไม่ได้ว่า "ตอนแรกลุงบอกว่าจะรับเชิญเข้าบ้านได้เพียงคนเดียว ทำไมตอนนี้จึงมาพร้อมกันทั้งสามคน"
            ชายชราตอบว่า "นั่นขึ้นอยู่กับว่าท่านเชิญใครเข้าบ้าน ถ้าท่านเชิญนายสำเร็จหรือนายรุ่งโรจน์ ท่านจะได้เพียงคนเดียว แต่ถ้าท่านเชิญนายรักเข้าบ้าน นายสำเร็จและนายรุ่งโรจน์จะตามเข้าบ้านมาด้วย"
            ความรักสามัคคีมีอยู่ในที่ใด ที่นั่นก็จะประสบความสำเร็จและความรุ่งโรจน์ แต่ที่ใดเน้นแต่ความสำเร็จหรือความรุ่งโรจน์ ก็ไม่แน่ว่าที่นั่นจะมีความรัก
            ความรักเป็นพื้นฐานของชีวิตครอบครัว เมื่อมีความรักอยู่ภายในบ้าน ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองก็จะตามเข้าบ้านมาเองโดยไม่ชักช้า
            ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรือง

(ที่มา: วันมาฆบูชา)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕