กว่า ๑๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่พระพุทธโฆษาจารย์ มหากวี ปราชญ์ชาวอินเดียระบุว่าพระพุทธเจ้าตรัสมาคธี ท่านเรียกภาษามาคธี (ปรากฤต) ว่า ปาลิภาสา, ตันติภาษา มีผู้ค้นค้วาความเป็นมาแห่งมาคธี สรุปได้หลายมติ เช่น
-ว่าเป็นภาษาพื้นเมืองในแคว้นมคธ เป็นภาษาโบราณดั้งเดิมโยงถึงฤคเวท ถือว่าเป็น มูลภาษา
-เกี่ยวข้องกับภาษาโบราณอื่น เช่น ภาษาไปศาจีปรากฤต, ภาษาอรถ(อัฑฒ)มาคธีปรากฤต
-เป็นภาษาของชาวกาลิงคะ
-เกี่ยวข้องกับคำว่า ปาฐะ
-เพี้ยนจาก ปัลลิ ชื่อหมู่บ้าน
-กร่อนจาก ปาตลีบุตร แคว้นมคธ
-เป็นภาษาคัมภีร์ของนิกายเถรวาท เกิดขึ้นที่ลังกาและที่พม่า
-บาลีเหมือนฉันท์ ฉันท์เป็นชื่อคัมภีร์สันสกฤต บาลีเป็นชื่อคัมภีร์มาคธี
-พระพุทธศาสนาอุบัติในเนปาล ตกแต่ง(มีภาษาใช้)ที่แคว้นอวันตี
บาลีเป็นภาษาของอารยัน จัดอยู่ในยุค Early Middle Indo-Aryan มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อินเดีย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา มีบาลีเป็นกุญแจไขคำสอน การเรียนบาลีจึงเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ต้องการศึกษาพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบันทึกด้วยภาษาบาลี ในปัจจุบันการศึกษาบาลีมีตั้งแต่เอกชนไปจนระดับนานาชาติ แต่ละคนแต่ละสถาบันแม้มีวิธีการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน แต่มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันเพื่อศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา
ชนชาติไทยมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณ สมัยลานนา (พ. ศ. ๑๘๒๔๒๑๒๑) เมื่อชาวไทยติดต่อกับชาวลังกา นิมนต์พระเถระชาวลังกามาเป็นครูอาจารย์ ยกย่องพระสงฆ์ที่ไปศึกษาที่ลังกาให้มาดำรงตำแหน่งสังฆนายก มีพระสงฆ์ไทย มอญ พม่าเดินทางไปที่ลังกา การที่พระสงฆ์ต่างถิ่นเข้าไปศึกษาในลังกาต่างไม่รู้ภาษาลังกา แม้พระสงฆ์ลังกาก็ไม่รู้ภาษาของพระสงฆ์ที่ไปศึกษาในลังกา เมื่อต่างฝ่ายไม่รู้ภาษาของกันจึงใช้บาลีเป็นภาษาติดต่อ ภาษาบาลีจึงได้รับยกย่องให้เป็นภาษาสำคัญในยุคนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้
การที่พระภิกษุไทย มอญ พม่า ไปศึกษาพระธรรมวินัยในลังกาทวีปนั้น ผู้ที่ไปไม่รู้ภาษาสิงหล ฝ่ายพระเถระในลังกาทวีปผู้เป็นครูบาอาจารย์ก็ไม่รู้ภาษาไทย มอญ พม่า จำต้องพูดและสอนกันโดยภาษาบาลี เพราะฉะนั้น การเล่าเรียนภาษาบาลีจึงเป็นการสำคัญและจำเป็นของภิกษุไทย มอญ พม่า ที่ไปศึกษา ทั้งที่จะอ่านหนังสือพระไตรปิฎกและในการที่จะพูดกับครูอาจารย์ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุที่ไปศึกษาในลังกาจึงรู้ภาษาบาลีแตกฉานโดยมาก บางองค์ถึงสามารถแต่งหนังสือในภาษาบาลีได้ (เช่นเดียวกับนักเรียนไทยที่ไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปในชั้นหลังนี้ บางคนก็อาจจะแต่งหนังสือในภาษาฝรั่งโดยทำนองเดียวกัน) ครั้นภิกษุเหล่านั้นกลับมาบ้านเมืองก็เอาวิธีได้เล่าเรียนในลังกามาสั่งสอนในประเทศของตน
ความรู้ภาษาบาลีจึงมาเจริญขึ้นในประเทศเหล่านี้จนถึงได้แต่งหนังสือในภาษาบาลีขึ้นหลายคัมภีร์
อักษรวิธีในพระไตรปิฎก
ยุคแรกแห่งอารยธรรมเมื่อกว่าสองพันปี พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในยุคที่ความเจริญทางวัตถุยังมีจำกัด พระองค์ทรงเผยแผ่คำสอนจัดระเบียบสังคมตามครรลองของผู้ใฝ่สงบ ทรงแนะนำมนุษย์ให้พัฒนาตนเอง สอนการดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมาย ไม่หมกมุ่นเถลไถลอยู่กับวัตถุ ยุคนั้นแม้ไม่ระบุถึงภาษาของพระพุทธเจ้าก็มีข้อมูลที่ชี้ว่า วิญญูชนในอดีตสื่อด้วยภาษา ยอมรับวิถีบัญญัติ พระพุทธเจ้าก็เผยแผ่สัจธรรมคำสอนด้วยวิถีบัญญัติเช่นกัน
เหตุการณ์ในพระไตรปิฎก สันนิษฐานได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสมากกว่าภาษาเดียว พระองค์เสด็จไปยังที่ต่าง ๆ พบปะผู้คนหลายเผ่าพันธุ์หลายอาชีพ ทรงมีวาทศิลป์เป็นวิภัชชวาที แต่ไม่ผูกมัดสัจธรรมคำสอนไว้ด้วยภาษาหนึ่งภาษาเดียว ไม่ให้ภิกษุละเลยภาษาของคนชนบท ทั้งห้ามไม่ให้เรียนพระพุทธภาษิตเป็นภาษาสันสกฤต (ฉนฺทโส) ทรงปรารถนาให้สัจธรรมคำสอนเอื้อประโยชน์แก่คนทุกหมู่เหล่า ถ้าหากอนุญาตให้เรียนพระพุทธภาษิตเป็นสันสกฤต ก็จะกลายเป็นจำกัดแบ่งแยกคำสอนเหมือนที่พราหมณ์ทำ คือใช้ภาษาสันสกฤตเพื่อคนวรรณะพราหมณ์
แม้ไม่ระบุภาษาของพระพุทธเจ้า ทั้งไม่ระบุว่าคนในยุคนั้นพูดภาษาใด มีร่องรอยที่ชี้ว่ายุคพุทธกาล การเขียนหนังสือเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง การเขียนหนังสือมีอยู่แล้ว เช่นสิกขาบทของภิกษุที่ห้ามเขียนหนังสือพรรณาความตาย ห้ามภิกษุบอกธรรมเป็นอักษร หรือที่อ้างถึงการเรียนวิชาขีดเขียน (เลขํ ปริยาปุณาติ) เป็นต้น
ที่ระบุถึงอักษร เช่น การเล่นเกมอักษร (อกฺขริกํ), คุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญอักษรศาสตร์ (สากฺขรปฺปเภทานํ = ส+อกฺขร+ปเภท), การศึกษากาพย์ (กาพฺยสิปฺปํ), สาวิตติฉันท์ มี ๓ บท มี ๒๔ อักษร ติปทํ จตุวีสตกฺขรํ (จตุวีสติ+อกฺขรํ), ใช้อักษรและสัญญาผิดเพี้ยน สญฺญกฺขรสญฺญนิสฺสิตานิ (สญฺญ+อกฺขร+สญฺญ+นิสฺสิตานิ), พระอรหันต์ฉลาดในนิรุตติบท รู้หมวดหมู่ ทั้งเบื้องต้นเบื้องปลายแห่งอักษร (นิรุตฺติปทโกวิโท อกฺขรานํ สนฺนิปาตํ ชญฺญา ปุพฺพปรานิ จ) เป็นต้น
ที่ระบุถึงตำรา เช่น ฉันท์เป็นต้นเหตุของคาถา อักษรเป็นที่ปรากฎของคาถา คาถาอาศัยชื่อ กวีอาศัยคาถา, การประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าพอใจเพราะศาสดามักอ้างตำรา, อัปปมาณาเจโตวิมุตติ กับ มหัคคตาเจโตวิมุตติ ความหมายต่างกัน เขียนต่างกัน เป็นต้น
เห็นได้ว่าสมัยพุทธกาลมีอักษรวิธี แต่ความรู้อักษรวิธีสงวนไว้สำหรับผู้มีการศึกษา ซึ่งส่วนมากเป็นคนวรรณะพราหมณ์ คนวรรณะอื่นถูกจำกัดสิทธิ์ ในแวดวงนักศึกษาใช้ภาษาพระเวท(สันสกฤต) กำหนดคุณสมบัติพราหมณ์ว่าต้องเป็นนักไวยากรณ์ต้องมีความชำนาญภาษา
ความสำคัญของสันสกฤต มีเรื่องในวินัยปิฎก พราหมณ์พี่น้องสองคนบวชแล้วไปขออนุญาตให้เรียนพระพุทธภาษิตเป็นภาษาฉันท์ คือภาษาสันสกฤต แต่ไม่ได้รับอนุญาต เหตุใดจึงไม่อนุญาต? จากบริบททางสังคมในยุคนั้น สันนิษฐานได้ ๒ ด้าน
(๑) พราหมณ์สองคนคิดไม่ซื่อ ต้องการให้ภาษาสันสกฤตครอบงำพระธรรมวินัย หรือไม่ก็ในเวลานั้น ผู้ที่บวชมาจากวรรณะต่างกัน ทั้งผู้มีการศึกษาและไม่มีการศึกษา คงจะติวภาษาฉันท์กันอยู่บ้าง พราหมณ์สองพี่น้องหวั่นเกรงว่าจะทำให้ภาษาพราหมณ์ถูกย่ำยีเพราะใช้กันผิดด้วยไม่รู้ จึงถือโอกาสขอให้ใช้ภาษาฉันท์ได้อย่างเต็มที่ เป็นเรื่องเป็นราว ภาษาฉันท์ของพราหมณ์จะได้ไม่วิบัติ
(๒) พราหมณ์สองพี่น้องมีเจตนาบริสุทธิ์ รู้ดีว่าฉันท์เป็นภาษาของนักศึกษา ต้องการยกระดับธรรมวินัยให้เป็นภาษาสำหรับคนชั้นสูง แต่ไม่คิดถึงผู้ไม่ได้เรียนภาษาฉันท์ที่ไม่ใช่พราหมณ์ซึ่งมีมากกว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้เรียนพระพุทธภาษิตเป็นภาษาฉันท์ อนุญาตให้เรียนด้วยภาษาของตนเองคือ สกภาษา ซึ่งเป็นภาษาคนพื้นเมือง
มัธว์ เอ็ม. เทสปานเด มองเรื่องนี้ว่าเป็นการต่อต้านภาษาพราหมณ์ เป็นปัญหาทางสังคม พร้อมให้ข้อสังเกตว่า พระพุทธเจ้ากับมหาวีระ(นิครนถ์นาฏบุตร)ในศาสนาเชน เป็นคนในวรรณะกษัตริย์ทางอินเดียตะวันออก อยู่นอกเขตอารยันที่พราหมณ์กำหนด พระศาสดาทั้งสองใช้ภาษาพื้นเมืองเผยแผ่ ไม่ยอมใช้ภาษาของพราหมณ์
ในมัชฌิมนิกาย พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบภาษามนุษย์เหมือนกับภาชนะตักน้ำ แต่ละแห่งเรียกชื่อภาชนะตักน้ำไม่เหมือนกัน แต่ทว่าภาชนะก็มีความหมายอย่างเดียวกัน ภาษาแม้มีมากมายเหมือนคนมีหลายชาติพันธ์ ประโยชน์ของภาษามีไว้สื่อ เหมือนน้ำที่มีความจำเป็นในชีวิต คนอดอาหารอย่างอื่นได้แต่ไม่สามารถทนอดน้ำได้ คนเหน็ดเหนื่อยกระวนกระวายยิ่งต้องการน้ำมากเป็นทวีคูณ แต่ก็ควรรู้วิธีใช้น้ำ รู้ประโยชน์รู้คุณค่า ขืนใช้โดยไม่รู้คุณค่าใช้ส่งเดชย่อมให้โทษมากกว่าคุณ หรือถึงให้คุณก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ประโยชน์ของภาชนะมีไว้ใส่น้ำ ประโยชน์ของน้ำก็คือความชุ่มชื่น ถ้าไม่มีภาชนะตักน้ำอาจใช้สิ่งอื่นเช่นฝ่ามือวักน้ำก็ได้ คนทุกชาติพันธุ์เสมอกันด้านกายภาพ ถ้าขาดน้ำก็ตาย เพราะว่าน้ำจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ในด้านภาษา คนหลายเผ่ามีภาษาที่สื่อต่างกัน พูดคนละภาษา แต่ทว่าจุดหมายเป็นอย่างเดียวกัน เหมือนภาชนะใส่น้ำ แต่ละท้องถิ่นแม้เรียกชื่อไม่เหมือนกัน บางถิ่นเรียกที่ตักน้ำว่าปาตี บางถิ่นเรียกปัตตะ บางถิ่นเรียกปิฏฐะ บางถิ่นเรียกสราวะ บางถิ่นเรียกหโรสะ บางถิ่นเรียกหนะ บางถิ่นเรียกปิปิละ เรียกชื่อต่างกันตามสมมุติบัญญัติในท้องถิ่น แต่รู้กันว่าหมายถึงที่ตักน้ำ ภาษาจึงอยู่ที่สาระความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่อักษร พระสูตรนี้(อรณวิภังคสูตร)ยืนยันว่า พระพุทธเจ้าตรัสภาษาของชาวชนบท
เหตุใดจึงห้ามใช้ภาษาสันสกฤต อนุญาตให้ใช้ภาษาในชนบท?
คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสัจจะในชีวิต ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิต แสดงเรื่องจริงชนิดที่ไม่เข้าใครออกใคร สามัญชนจะมีวรรณะหรือไม่มีวรรณะก็ตาม ประสบปัญหาชีวิตกันทุกคนในแง่ที่ต้องประคับประคองความทุกข์ ดังคำที่ว่า สมมุติให้คนเอาความทุกข์ที่มีอยู่ในโลกมากองรวมกัน แล้วบังคับให้ทุกคนรับส่วนแบ่งไปแบกไว้เท่า ๆ กัน เชื่อว่าแต่ละคนคงหยิบเอาเฉพาะทุกข์ของตนเองไปมากกว่าทุกข์ของคนอื่น
ภาษาฉันท์ถูกสงวนไว้เพื่อคนวรรณะพราหมณ์ที่ถือตนว่าวรรณะสูงกว่าคนวรรณะอื่น แต่ความทุกข์ความเดือดร้อนใช่ว่าสงวนไว้สำหรับคนวรรณะพราหมณ์กลุ่มเดียวเท่านั้น ทุกวรรณะทุกเพศทุกวัยต่างประสบปัญหาชีวิต มีความทุกข์ความเดือดร้อนเท่ากัน ปัญหาชีวิตเป็นความจริงของชีวิต เมื่อชีวิตมีปัญหาเกิดขึ้น การแก้ปัญหาก็ไม่ควรใช้เพียงแค่ภาษาหนึ่งภาษาเดียวแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นจำกัดทุกข์มากกว่าจะกำจัดทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสภาษาของชาวชนบท เหมือนที่นิครนถ์นาฏบุตรของเชนใช้ภาษาชาวชนบทเช่นกัน ทั้งไม่มีเหตุผลใดเลยที่ทำให้เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสภาษาสันสกฤตไม่ได้
เมื่อส่งสาวกออกเผยแผ่คราวแรก พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัจธรรมคำสอนมีเพื่อประโยชน์สุขแก่คนส่วนมาก พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย ตรงนี้ก็ชี้ว่าอนุญาตให้ใช้ภาษาพื้นเมือง เพราะจะได้ทั่วถึงแก่ทุกคน
เหตุที่ไม่อนุญาตให้เรียนภาษาฉันท์ อนุญาตให้เรียนเป็นสกภาษา ทำให้ยุคต่อมาภาษาพระพุทธศาสนาถูกแปลเป็นภาษาอื่น ๆ เช่นโขตาน คูเชียน จีน ทิเบต ญี่ปุ่น มองโกเลีย สิงหล พม่า ภาษาไทย อังกฤษ เมื่อสัจธรรมคำสอนถูกตีความเข้ากับสังคมต่าง ๆ กลายเป็นความเชื่อหลายรูปหลายแบบ ถูกดัดแปลงผสมไปกับความเชื่อ ผิดเพี้ยนจากคำสอนดั้งเดิมก็มี คงความหมายเดิมอยู่ก็มี ถึงกระนั้น ดินแดนที่รับพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อภาษาบาลี เชื่อว่าพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกบาลีวิวัฒนาการมาจากมาคธีปรากฤตซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิม ทั้งเชื่อว่าพระไตรปิฎกบาลีมีเนื้อหาสมบูรณ์มากกว่าในภาษาอื่น
ปาฬิ : ปาลิ : ตนฺติ
เมื่อพระพุทธศาสนาแยกเป็นนิกายเหนือและนิกายใต้ คัมภีร์ที่เป็นหลักใช้กัน ๓ แบบ ได้แก่ ปาลิ สันสกฤตประยุกต์ และตันติสันสกฤต ยุคแรก สัจธรรมคำสอนสืบกันมาด้วยการท่องจำ ซึ่งเป็นประเพณีโบราณจากยุคพราหมณ์ก่อนจะพัฒนาเป็นคัมภีร์ แต่ อานันทะ โกสัมพี มองว่า คำสอนที่เป็นภาษาถิ่นโบราณในอินเดียตะวันออกมีมาก่อนพระเจ้าอโศก แต่ไม่พบร่องรอย
เมื่อแยกเป็นสองนิกาย นิกายเหนือเป็นมหายาน ใช้ภาษาสันสกฤต นิกายใต้เป็นเถรวาท ใช้ภาษาบาลี
หลังพุทธกาลจนถึงสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ ระหว่างนี้ พระพุทธศาสนานิกายเหนือ (มหายาน) รุ่งเรืองมาก ใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก นิกายใต้ (เถรวาท) พระพุทธโฆษาจารย์ระบุว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมาคธีปรากฤต สมฺมาสมฺพุทฺเธน วุตฺตปฺปกาโร มาคธิกโวหาโร เป็นภาษาชาวบ้านแคว้นมคธ สืบทอดจากภาษาในพระเวทวิวัฒนาการจนมีไวยากรณ์ภาษา มีแบบแผนเป็นตันติภาษา มีสูตรภาษา (ภาษามีสูตรที่สำคัญในอินเดีย เช่น สูตรสันสกฤตของมุนิไตรย ๓ ท่าน คือ อัษฏาธยายี ของปาณินิ ๓,๙๙๕ สูตร, วารตติกา ของกาฏยายนะ ๑,๒๔๕, มหาภาษา ของปตัญชลี )
มาคธีปรากฤต(ภาษามาคธี) บางครั้งเรียกว่าอรธมาคธี ปรากฤต หมายถึงธรรมชาติ ภาษาปรากฤตก็คือภาษาธรรมชาติ เป็นภาษาชาวบ้าน เคียงคู่มากับสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาปรับใหม่ เอ. เอ็น. อุปัธเย ผู้เชี่ยวชาญภาษาปรากฤต มองว่า ปรากฤตเป็นวิธีสื่อของคนไม่มีอักษร (unlettered masses) ภาษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับปรากฤตมีอยู่หลายภาษา เช่น คาถา เสารเสนี อรธมาคธี มราถี ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาของคนวรรณะสูง คือ พราหมณ์ พระราชา ผู้นำ หรือฤษี ผู้หญิงหรือคนวรรณะต่ำต้องพูดปรากฤต ซึ่งเป็นภาษาลูกทุ่ง ดังที่กำหนดไว้ในบทละครให้ผู้แสดงตัวเอกหรือนักแสดงนำต้องพูดสันสกฤต คนรับใช้ หรือคนพันทางต้องพูดปรากฤต
คัมภีร์เถรวาท ใช้ภาษาบาลี
ปาฬิ หรือปาลิ มี ๒ ความหมาย หมายถึง (๑) พระพุทธวจนะ (๒) ขอบ, แนว, คัน
(เทียบกับ สูตระ ในสันสกฤต สูตร หมายถึงเส้น เชือก แถว บรรทัด เงื่อนปม สิ่งบ่งชี้)
จากอรรถาธิบายวินัยปิฎก จึงทราบว่า ภาษาของพระพุทธเจ้ามีกฎเกณฑ์ มีคำศัพท์หลายประเภท มีคำเปล่งพ่นเสียง คำไม่ต้องพ่น คำมีพยางค์หนักเบา คำเสียงสั้นเสียงยาว ความสัมพันธ์ระหว่างพยางค์ พระพุทธโฆษาจารย์ใช้ ปาฬิ แทน ปาฐะ ปาโฐหรือปาฐะนี้เก่ากว่าคำว่า ปาลิ
ท่านใช้ ปาโฐ หมายถึงปาลิ เช่น
-อชฺชทคฺเค อิจฺเจว วา ปาโฐ (บาลีใช้ อชฺชทคฺเค)
-อเหตกาฬโกติปิ ปาโฐ (บาลีใช้ อเหตกาฬโก)
- ตโตยนฺติปิ ปาโฐ (บาลีใช้ ตโตยํ)
ปาฬิ (ปาโฐ) เช่น
-ปาโฐ ปน สงฺเขเปน ทสฺสิโต (แสดงบาลีโดยย่อ)
-ปาฬึ วตฺตํ อสกฺโกนฺเตน อญฺญถาปิ วตฺตพฺพํ (กล่าวบาลีไม่ได้ต้องกล่าวภาษาอื่น)
-ปาฬิยา อตฺถํ วณฺณยนฺโต อตฺถปุเรกฺขาโร (ที่ว่ามุ่งอรรถ ก็คือกล่าวบาลี)
-ปาฬึ วาเจนฺโต ธมฺมปุเรกขาโร (ที่ว่ามุ่งธรรม ก็คือบอกบาลี)
-อุทฺเทเสติ ปาฬิปริยาปุณเน (คำว่า อุทฺเทเส คือ เรียนบาลี)
-ปาฬิ จ อฏฺฐกถา จ สุปริสุทฺธา (บาลีและอรรถกถาชัดเจนดี)
ปาฐะ หมายถึง บอก, กล่าว เช่น
-นกฺขตฺตปาฐโก (ผู้บอกนักษัตร์)
-ปฐนฺติ (สวด)
ปาฬิ หมายถึง แนว, คัน, ขอบ, แถว เช่น
- เกทารปาฬึ (แนวคันนา)
- ปาฬึ วา พนฺธติ (ผูกคัน)
- นิทฺธมนปปาฬึ (คันระบายน้ำ )
- เอกาพทฺธเมว ปาฬิยา ภิกฺขาจารํ ปวิสนฺเต (เข้าแถวบิณฑบาต)
- ปาฬิยมฺปิ อฐตฺวา (ไม่ยืนในแถว)
- คพฺภปาฬิยา (ห้องแถว)
- ปาฬิการโก (คนจัดแถว)
- ปาฬิยา ปน คนฺตํ วา ฐาตํ (เดินหรือยืนในแถว)
ถึงยุคไวยากรณ์บาลี
(๑) พระสารีบุตรมหาเถระ ชาวลังกา ใช้คำว่า ปาฬิ หมายถึงปาพจน์ โดยอธิบายว่า ปาฬิ มาจาก ป+อาฬิ คือ ปริยัติธรรม วิเคราะห์คำศัพท์ :- ปริยัติธรรมที่ชื่อว่าบาลี เพราะหมายถึงขอบคันแห่งคาถาอันยอดเยี่ยมสูงสุดที่จะทำให้เข้าใจคุณธรรมเช่นศีล เป็นถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าทรงภาษิตเป็นสภาวนิรุตติ (ธมฺโมติ ปาฬีติ เอตฺถ ปกฏฺฐานํ อุกฺกฏฺฐานํ สีลาทิอตฺถานํ โพธนโต สภาวนิรุตฺติภาวโต พุทฺธาทีหิ ภาสิตตฺตา จ ปกฏฺฐานํ วจนปฺปพนฺธานํ อาฬีติ ปาฬิ, ปริยตฺติธมโม)
(๒) พระอัคควงศาจารย์ ชาวพม่า วิเคราะห์คำว่า ปาลิ
ปาฬิ อตฺถํ ปาเฬตีติ ปาฬิ, ลสฺส ฬตฺตํ. ปาฬิคือรักษาความหมาย เปลี่ยน ฬ เป็น ล (เขียนได้ทั้ง ฬ และ ล ) ปาฬิ หมายถึง ปาฬิธรรม, ขอบสระ, แถว, แนว ( ปาฬิสทฺโท ปาฬิธมฺเม ตฬากปาฬิยมฺปิ จ ทิสฺสเต ปนฺติยญฺเจว อิติ เญยฺยํ วิชานตา)
(๓) โยชนาวินัย วิเคราะห์ปาลิ ๒ นัย คือ ป+อาลิ และ ปา+ ลิ
ป + อาลิ หมายความว่า รักษาคุ้มครองเนื้อความ
ปา + ลิ ปัจจัย (ปกฏฺฐา อาลิ ปาลิ, อถวา อตฺถํ ปาติ รกฺขตีติ ปาลิ, ปาโต ลีติ โมคฺคลฺลานสุตฺเตน ลิปฺปจฺจโย)
(๔) โรเบริต์ ซีซาร์ ชิลเดอร์ นิยามคำว่าปาลิ คือ เส้น, แถว, แนว, ตำรา, ขอบ
ส่วนคำว่า ตนฺติ เป็นชื่อภาษา, เส้นด้าย, ประเพณี
อรรถกถาธรรมบท พระพุทธโฆษาจารย์แปลจากภาษาสิงหลโบราณ ระบุถึงบาลีว่าเป็น ตันติภาษา หมายถึงภาษาอันมีแบบ มีกฎไวยากรณ์ ตนฺติ ที่หมายถึงประเพณี หรือการสืบทอด เช่นคำว่า วินยตนฺตึ, ตนฺติปเวณิฆฏนา, ตนฺติวเสน, วินยลกฺขเณ ตนฺตึ ฐเปนฺโต
ปาฬิ หรือ ปาลิ หมายถึงภาษาก็มี ที่เป็นคำนามก็มี ตันติภาษาก็คือบาลี เชื่อกันว่าพระพุทธโฆษาจารย์ เรียบเรียงจากภาษาเดิมคือมาคธี(ปรากฤต) วิวัฒนากรมาตามลำดับ มีไวยากรณ์ เช่น การลบอักษร (อิการโลโป) ลิงควิปลาส (ลิงฺควิปฺปลฺลาโส) ชื่อวิภัตติ ธาตุ ตัปปุริสะ ทวันทวะ อัพยยีภาวะ พหุพพิหิ สมาส ตัทธิต นักนิรุกติศาสตร์ยุคโบราณใช้มาแล้ว พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพราหมณ์ ศึกษาตามธรรมเนียมพราหมณ์ ไม่ประกาศว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านจัดระเบียบภาษาเป็นที่รองรับพระพุทธวจนะ ระบุเครื่องมือที่มีใช้ในยุคของท่าน คือ เหล็กจาร (กณฺฏกเลขา) เขม่า (มสึ มกฺเขสิ)
ศาสตราจารย์สุนิติ กุมาร์ เอ.ซี. ชัตเตอร์จี มองว่า ไวยากรณ์บาลีแต่งขึ้นที่ลังกาและที่พม่า
สรุป
มนุษย์ใช้ภาษาเป็นสื่อ เริ่มจากภาษาพูดเป็นภาษาหนังสือ คำพูดไม่มีข้อจำกัดเหมือนภาษาหนังสือ มนุษย์ทุกชาติพันธุ์ใช้ภาษาเป็นสื่อสัมพันธ์ บอกความเป็นชนเผ่าด้วยกัน เมื่อมีเครื่องมือแทนคำพูดคืออักษรได้ใช้อักษรแทนความคิด คำพูดกับอักษรจึงสัมพันธ์กันตั้งแต่คนรู้จักคิด
การดำเนินชีวิตอย่างพินิจพิเคราะห์ตามหลักการที่ว่า โลกนี้ไม่มีสิ่งใดพ้นไปจากสมมติบัญญัติ มนุษย์รับรู้กันตามสัญลักษณ์ สมมติให้เป็นนั่นเป็นนี่ ชื่อครอบงำทุกอย่าง (นามํ สพฺพํ อนฺธวิ) ถ้ามนุษย์ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่เจ้ากี้เจ้าการกำหนดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งทั้งหลายย่อมอยู่ตามปกติตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงยอมรับอำนาจของการสื่อที่วิญญูชนเคยใช้กันมา พระองค์ทรงใช้สื่อทรงอาศัยสื่อของชาวโลกแต่ไม่ทรงยึดมั่นถือมั่น ทรงสอนตามที่วิญญูชนสอนกันมา เขาบอกว่ามี ก็ทรงสอนว่ามี ที่เขาบอกว่าไม่มีก็ไม่ถือรั้นดันทุรัง ทรงสอนให้ใช้ปัญญาวิเคราะห์สื่อ ชาวโลกนิยมแบบไหนอย่าไปขัดใจแต่ต้องรู้เท่าทัน
พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอรรกถาจารย์ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในนิกายเถรวาท ท่านบอกให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสมาคธีปรากฤต ที่วิวัฒนาการมาอย่างมีระบบระเบียบ เป็นแถวเป็นแนว ด้วยถ้อยคำภาษาซึ่งรู้จักกันในชื่อว่าบาลีหรือตันติภาษานั่นเอง
(พุทธกาล มีภาษา ๑๔ ภาษา ปัจจุบันอินเดียมี ๑,๖๕๒ ภาษา ใช้ทางราชการ ๑๕ ภาษา มีแหล่งมาจากภาษาอารยันและฑราวิฑทั้งสิ้น)
บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย, ๒๕๓๕.
_______. อรรถกถาภาษาบาลี. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, โรงพิมพ์
วิญญาณ, ๒๕๓๒- ๒๕๓๔.
Childer,R.C. Dictionaries of the Pali Language. Delhi : Asian Educational Services,1993.
Geiger, Wilhelm. Pali Literature and Language Translated by Batakrishna Ghoah. New Delhi :
Oriental Books Reprint Corporation,1978.
Law, B.C., ed. Buddhist Studies. Varanasi : Indological Book House, 1983.
|