โดยทั่วไป เรามักจะศึกษาชาดกกันในแง่มุมของศาสนา หรืออาจวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงปรัชญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจริยศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันอยู่ว่า ชาดกเป็นวรรณกรรมส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก การศึกษาชาดกจึงมักมุ่งประเด็นไปที่ศาสนาเป็นสำคัญ ดังนั้น ประเด็นศึกษาจึงมักอยู่ที่การศึกษาคติธรรมในการดำเนินชีวิต ได้ศึกษาชีวิตและจริยธรรมของพระโพธิสัตว์ผู้จะตรัสรู้ในอนาคต คำพูดที่ปรากฏในชาดกยังมีปริศนาชวนให้ขบคิด ทั้งที่อยู่ในรูปของสุภาษิต บทสนทนาและบทบรรยายเรื่องทั่วไป โดยมีนิทานเป็นเครื่องจูงใจและเป็นกุศโลบายนำร่องชวนให้น่าติดตาม
หากเราเปิดใจกว้างมองชาดกในแง่มุมอื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนาและปรัชญาแล้ว เราจะพบว่าชาดกให้ความรู้แก่เรามากมายในหลายสาขาวิชาเช่น รัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง จิตวิทยา สังคมวิทยา การศึกษา วรรณกรรม ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ เรื่องราวที่บันทึกอยู่ในชาดกได้บอกให้เรารู้ถึงระบบการเมืองการปกครองของอินเดียก่อนพุทธกาล สถาบันทางสังคม (social institution) วิถีชีวิต (folklore) วัฒนธรรม (culture) ปทัฏฐาน(norms)ทางสังคม สภาพและบทบาทของบุคคลในสังคมต่าง ๆ ความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานและการอพยพ ตลอดจนพื้นที่อาณาเขตในยุคนั้น
ความหมาย สหวิทยาการ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ ไม่มีคำ สหวิทยาการ ที่เป็นรากคำนี้ได้แก่ สห, วิทยา, การ มีความหมาย ดังนี้ : -
สห- : ด้วยกัน, พร้อม, ร่วม, ร่วมกัน, ใช้ประกอบหน้าคำอื่น เช่น สหประชาชาติ สหพันธ์ สหรัฐ
วิชา : ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน เช่น วิชาหนังสือ วิชาช่าง (ป. วิชฺชา ; ส. วิทฺยา)
การ : ผู้ทำ, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคำบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ
สมาส สห+วิทยา+การ เป็น สหวิทยาการ จึงหมายถึง การที่เกี่ยวกับวิชาความรู้หลายด้านหรือหลายอย่าง
สหวิทยาการในชาดก จึงหมายถึงการศึกษาชาดกหลายวิธี หลายมุมมอง โดยเชื่อมโยงกับศาสตร์หลายสาขาวิชา ซึ่งจะทำให้การศึกษาชาดกมีความเป็นศาสตร์มากขึ้น โดยมีการสังเกตการณ์ วิเคราะห์จากข้อมูลจริงที่ปรากฏในคัมภีร์ต้นแบบแล้วนำกระบวนวิธีในวิชาการต่าง ๆ มาอธิบาย ซึ่งเป็นระบบวิธีการศึกษาที่แน่นอนและมีความเป็นกลาง การศึกษาวิธีนี้จะทำให้ข้ามพ้นจากการสรุปหรือสร้างทฤษฎีเอาเองจากความนึกคิดหรือความเข้าใจของตน ซึ่งมีลักษณะเพ้อฝันโดยปราศจากข้อมูลมาสนับสนุน ที่เราเรียกว่า armchair theory เช่น การศึกษาในรูปแบบเดิม ซึ่งอยู่ในรูปแบบอุดมคติไม่เป็นศาสตร์
ความหมาย ชาดก
ชาดก เป็นคำสอนสำคัญในคำสอน ๙ วิธี ที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ ได้แก่ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ พระสังคีติกาจารย์ประมวลนวังคสัตถุศาสน์ไว้ ๓ ปิฎก คือ
(๑) พระวินัยปิฎก ระเบียบกฎเกณฑ์ในสังคมสงฆ์ ความเป็นมาของสงฆ์ คนที่มีความคิดเห็นมีความประพฤติเสมอกัน กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสงฆ์ ระเบียบการครองชีพ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงวิธีศึกษาพัฒนาตามหลักการของพระพุทธเจ้า
(๒) พระสุตตันตปิฎก ประมวลเหตุการณ์และเรื่องราว คำสั่งสอนสำหรับพระสงฆ์และคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน มีคำสอนหลายระดับ
(๓) พระอภิธรรมปิฎก อธิบายธรรมอย่างละเอียด
พระสุตตันตปิฎก แบ่งเป็น ๕ นิกาย คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกายและขุททกนิกาย ชาดกอยู่ในขุททกนิกาย พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ ๒๗ และ ๒๘
ชาดก มีความหมายที่ใช้กันทั่วไป ๒ อย่าง
(๑) หมายถึง เกิด เช่น ปรับอาบัติทุกกฏภิกษุผู้แสวงหามีดและขวานเพื่อจะตัดต้นไม้และเถาวัลย์ที่เกิด ณ ที่นั้น (ตตฺถ ชาตกกฏฺฐลตาเฉทนตฺถํ วาสิผรสํ) หรือ ที่ขึ้นอยู่ที่นั้น ได้แก่ ที่เกิดบนหม้อดินที่ฝังไว้นาน (ตตฺถ ชาตกนฺติ จิรนิหิตาย กุมฺภิยา อุปริ ชาตกํ)
(๒) หมายถึง การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ (ชาตํ ภูตํ อตีตํ ภควโต จริยํ, ตํ กียติ กถียติ เอเตนาติ ชาตกํ)
ชาดกเป็นพระพุทธพจน์ประเภทที่ไม่ใช่พระสูตร เป็นคำสอนที่มีอิทธิพลต่อวิธีสอนธรรมในยุคต่อมา เป็นการสอนอย่างเล่านิทาน เหมาะกับผู้ฟังทุกระดับ เป็นเทคนิคที่คงประสิทธิผลต่อผู้ฟังมาทุกยุคสมัย เพราะผู้สอนมีความรู้หลายด้าน รู้วิธีนำเสนอ มีวาทศิลป์ เชื่อมโยงให้คนฟังมองเห็นภาพลักษณ์ชวนให้น่าติดตาม
ชาดกเป็นเรื่องเล่า มีเหตุการณ์ข้ามภพข้ามชาติ ไม่ต่างกับวิธีสอนในจริยาปิฎก เล่าถึงการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ ในกลุ่มชาดกหรือนิทานชาดกมีคัมภีร์ชาตกปาลิหรือชาดกภาษาบาลีเป็นต้นแบบ ต่อมามีอรรถกถาชาดก (ชาตกฏฺฐกถา) ชาตกมาลา (ชาดกของมหายาน) รวมทั้งนิทานชาดกในยุคต่อมา คือ ปัญญาสชาดก เล่าเรื่องข้ามสังสารวัฏเช่นเดียวกัน
ศึกษาชาดกอย่างสหวิทยาการ
เมื่อพูดถึงชาดก(ชาตกะ) เรามักคิดถึงเรื่องอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ การศึกษาชาดกให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับยุคสมัย ควรศึกษาเป็นสหวิทยาการ มองหลายแง่ ทั้งด้านอุดมคติ (ศาสนา) ด้านวรรณกรรม และด้านประวัติศาสตร์ จะช่วยให้มีมุมมอง มีความคิดหลายด้านไปพร้อมกัน
(๑) วรรณกรรมในชาดก
ศึกษาด้านวรรณกรรม พัฒนาการของคัมภีร์ เรื่องราวที่ระบุว่า เรื่องนั้นเป็นพระพุทธพจน์หรือว่ามีเรื่องราวจากวรรณกรรมอื่นปะปนเข้ามา ชาดกมีอิทธิพลจากวรรณกรรมอื่นหรือไม่ การศึกษาด้านนี้ทำให้รู้ว่า ชาดกหลายเรื่องรับอิทธิพลจากวรรณกรรมอื่น มีเรื่องราวในวรรณกรรมอื่นปะปนเข้ามา เช่น ไตรเพท ประวัติศาสตร์ (อิติหาสะ) รามายณะ(รามเกียรติ์) มหาภารตะ ในทสรถชาดก ระบุชื่อราม ลักษมณ์ สีดา ในกุณาลชาดก ระบุชื่อตระกูลปาณฑพในมหาภารตยุทธ์ บางชาดกเล่าเหมือนในนิทานอีสบ หลายชาดกระบุภูเขาสิเนรุ เขาสัตบริภัณฑ์ ได้แก่ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัสสนะ เนมินธร วินตกะและอัสสกัณ ปลา ๗ ชนิด ได้แก่ ติมิ ติมิงคละ ติมิงปิงคละ อานนท์ ติมินท์ อัชฌาโรหะ และมหาติมิ สระ ๗ สระ ได้แก่ อโนดาต มุณฑะ รถกาละ ฉัททันต์ คุณา มันทากินี คีหัปปาตะ ที่มีอยู่ในป่าหิมพานต์ สืบทอดมาจากวรรณกรรมโบราณคือเรื่องโลกบัญญัติ
เมื่อศึกษาด้านวรรณกรรม รู้พัฒนาการของคัมภีร์จะแยกแยะได้ ว่า เรื่องใดเป็นคำสอนหลัก เรื่องใดเป็นสำนวนภาษา เรื่องใดเป็นบรรยายโวหาร เรื่องใดเป็นพรรณนาโวหาร เรื่องใดเป็นเทศนาโวหาร เรื่องใดเป็นอุปมาโวหาร เรื่องใดเป็นสาธกโวหาร
(๒) ประวัติศาสตร์ในชาดก
ศึกษาเหตุการณ์และเรื่องราวในชาดกด้านประวัติศาสตร์ คือ อรรถกถาชาดก
อรรถกถาชาดกประมวลประวัติศาสตร์ชมพูทวีปหรืออินเดียโบราณ บันทึกความเป็นมาในอดีต สะท้อนวิถีชีวิต การปกครอง การคมนาคม นักประวัติศาสตร์อินเดียได้ข้อมูลในชาดกเป็นคู่มือศึกษาประวัติศาสตร์อินเดีย
ประวัติศาสตร์อินเดียในชาดก บันทึกเหมือนเล่านิทาน ใช้คำศัพท์ อตีเต หรือ อตีตกาเล (ในอดีตกาล) ภูตปุพฺพํ (เรื่องเคยเกิดขึ้น) ปฐมกปฺเป (ในกัปแรก) อนุปฺปนฺเน พุทฺเธ (ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ) บอกประวัติศาสตร์อินเดียก่อนพุทธกาล การบันทึกประวัติศาสตร์เช่นนี้ พบว่านอกจากในอรรถกถาชาดก ยังพบในอรรถกถาธรรมบท อรรถกถาเถรคาถา อรรถกถาเถรีคาถา อรรถกถาอปาทาน อรรถกถาวิมานวัตถุ อรรถกถาเปตวัตถุ เป็นต้น
ระติลัล เมห์ทา (Ratilal Mehta) ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียจากชาดก อ้างคำพูดของ ศาสตราจารย์รีส เดวิดส์ (Rhys Davids) ที่มองว่า ชาดกเป็นนิทานพื้นบ้านเก่าแก่ที่สุด มีเนื้อหาสมบูรณ์และมีความสำคัญมากในบรรดานิทานอินเดียด้วยกัน และอ้างคำพูดของ ศาสตราจารย์ ลโคเต (Lacote) ที่บอกว่า ชาดกเป็นวรรณกรรมด้านประวัติศาสตร์ สะท้อนเรื่องอดีต แฝงคติความเชื่อทางปรัชญาศาสนา ความรู้ทางด้านศิลปะและสภาพสังคม ศาสตราจารย์ลโคเต มองว่า ชาดกเป็นวรรณกรรมสำคัญรองจากไตรเพทและปุราณะ มีข้อมูลประวัติศาสตร์อินเดีย
ชาดกมีโครงเรื่อง ๕ อย่าง ได้แก่
๑. เหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่า คือ ปัจจุบันนวัตถุ (story of the present time)
๒. เหตุการณ์ในอดีต คือ อตีตวัตถุ (story of the past)
๓. คำประพันธ์ คือ คาถา (verses)
๔. อรรถาธิบายคาถา คือ ไวยากรณ์ (short commentary in which the the Gathas are explained word for word)
๕. บทสรุป คือ สโมธาน (connection)
เหตุการณ์ในชาดก ๔ ยุค
๑. ยุคโบราณ (Ancient Period) ระหว่าง ๒๐๐๐ ๑๔๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ ๑๓๗๗๗๗๗ ปี ก่อนพุทธกาล (๘๐+๕๔๓)
๒. ยุคราชวงษ์กุรุและปัญจาละ (The Kuru Panjala Kings) ระหว่าง ๑๔๐๐ ๑๒๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ ๗๗๗๓๗๗ ปี ก่อนพุทธกาล
๓. ยุคอาณาจักรวิเทหะและอาณาจักรต่าง ๆ (Videha and Lesser Kingdoms) ระหว่าง
๑๒๐๐ ๘๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ ๓๗๗๑๗๗ ปีก่อนพุทธกาล
๔. ยุคมหาชนบท (Mahajanapada Period) ระหว่าง ๘๐๐ ๖๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ ๑๗๗๒๓ ปี ก่อนพุทธกาล
๑๗๗๒๓ ปีก่อนพุทธกาล บันทึกเหตุการณ์ยุคมหาชนบทในอรรถกถาชาดกมากกว่ายุคอื่น ยุคนี้กล่าวถึง
(๑) อำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองในราชวงษ์กาศี เมืองพาราณสี ดังสำนวนบาลีที่ว่า อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต รชฺชํ กาเรนฺเต ครั้งอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี อรรถกถาชาดกระบุถึงเมืองพาราณสีถูกเปลี่ยนชื่อมาหลายชื่อ ได้แก่ โมฬินีนคร ปุปผวดี สุรุนธนนคร สุทัสสนนคร พรหมวัฒนนคร สัมมนคร ผู้ปกครองเมืองพาราณสี เช่น สังยมะ กัณฑรี พกะ เอสุการี เสนกะ ชนกะ ทัฬหธัมมะ อุทัย ชนสันธะ วิสสเสนะ กลาพุ ธนัญชัย มหาปตาปะ ตัมพะ สุสีมะ สามะ ยสปาณิ มหาปิงคละ
(๒) อำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองในราชวงษ์นาคะแคว้นมคธ หรือบทบาทของพระเจ้าพิมพิสาร กรุงราชคฤห์
(๓) ความล่มสลายของแคว้นกาศี ผู้ปกครองแคว้นโกศลกับแคว้นกาศีแย่งชิงความเป็นใหญ่ แย่งอำนาจกันหลายครั้ง สมัยพุทธกาลแคว้นกาศีเสื่อมอำนาจ เป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกศล
(๔) ราชวงษ์ในแคว้นอัสสกะและแคว้นกาลิงคะ
เมื่อศึกษาชาดกในด้านประวัติศาสตร์(ยุคมหาชนบท) ย่อมรู้ความสัมพันธ์ของผู้ปกครองในสมัยพุทธกาล คือ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าอุเทน พระเจ้าจัณฑปัชโชต พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าปุกกุสาติ
(๓) ภูมิศาสตร์ในชาดก
ชาดก ระบุดินแดนครั้งโบราณ เรียกว่า ทวีป
(๑) อุตตรกุรุทวีป ถิ่นที่ตั้งอยู่ด้านเหนือแคว้นกุรุ ดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ บรรยายว่ามีความลึกลับมหัศจรรย์ ปัจจุบันอยู่ในเขตไซบีเรีย ผู้อพยพจากอุตตรกุรุทวีปไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แคว้นกุรุ (เดลี)
(๒) ปุพพวิเทหทวีป ถิ่นที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองวิเทหะ ปัจจุบันอยู่ในเตอรกีสถานตะวันออกและจีนตอนเหนือ ผู้อพยพจากปุพพวิเทหทวีปไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แคว้นวิเทหะ (เนปาล)
(๓) อปรโคยานทวีป ปัจจุบันอยู่ในเตอรกีตะวันตก ผู้อพยพจากอปรโคยานทวีปไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อปรันตชนบท (อินเดียตะวันตกเฉียงใต้)
(๔) ชมพูทวีป หมายถึง อินเดีย ไปจนถึงอัฟกานิสถาน
(๕) ตามพปัณณิทวีป คือ ศรีลังกา
(๖) นาคทวีป คือ เกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ใกล้ตามพปัณณิทวีป พ่อค้าใช้เป็นเส้นทางผ่านจากท่าเรือภารุกัจฉะไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ
(คัมภีร์มารกัณเทยปุราณะ ระบุอาณาเขตมหาปฐพี แบ่งเป็น ๗ ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป ปลักศทวีป ศาลมลิทวีป กุศทวีป กราญจทวีป ศากทวีป และปุศกรทวีป แต่ละทวีปอยู่กลางทะเล พุทธประวัติมีเรื่องว่าพระสิทธัตถกุมารประสูติ ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว ไม่พบหลักฐานว่า ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว เกี่ยวข้องกับ ๗ ทวีปนี้ หรือไม่)
อรรถกถาชาดกมีเหตุการณ์ทางการเมือง การปกครอง การศึกษา ความสัมพันธ์ในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม อาชีพ สถานภาพของผู้หญิง ศิลปะวิทยาการ ความเชื่อทางศาสนาปรัชญาและจารีตประเพณี การค้าขาย ความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับลังกา (ตามพปัณณิทวีป) การติดต่อค้าขายกับบาบิโลน(Babylon)ในเมโสโปเตเมีย เมืองนี้ในพาเวรุชาดก คือ พาเวรุ สุวรรณภูมิเป็นเมืองศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ อยู่ตอนล่างประเทศพม่า (บางมติว่าอยู่ในอินเดียตะวันออกติดกับพม่า) ชาดกแสดงสัมพันธภาพระหว่างชมพูทวีปกับประเทศแถบทะเลแดง คาบสมุทรเปอร์เซีย ตั้งแต่บาบิโลน อาระเบีย อียิปต์ กรีก จนถึงยุโรปตอนใต้เหนือคาบสมุทรเมดิเตอเรเนียน
มณิกัณฐชาดก อัฏฐิเสนกชาดก สุวัณณหังสชาดก วัฏฏกชาดก ลฏุกิกชาดก ทีฆีติโกสลชาดก นันทิวิสาลชาดก ระบุในวินัยปิฎก มหาสุทัสสนชาดก มฆเทวชาดก สกุณัคฆิชาดก เล่าไว้ในทีฆนิกายและสังยุตตนิกาย เป็นประเด็นให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปถึงจำนวนชาดกที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่พุทธกาล และชาดกที่เสริมเข้ามายุคหลัง
(๔) การศึกษาในชาดก
ชาดกระบุว่าเมืองตักกศิลา ในแคว้นคันธาระ (ในปากีสถาน) ด้านตะวันตกเฉียงเหนือสุดอินเดีย เป็นศูนย์กลางการศึกษา (บางยุคพาราณสีเป็นศูนย์กลาง) การศึกษาเบื้องต้น เด็กเรียนที่บ้าน เด็กชายและเด็กหญิงได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ เด็กชายเรียนจากพ่อ เด็กหญิงมุ่งการบ้านการเรือนเรียนจากแม่ พ่อเป็นแบบในการเลือกคู่ครอง นักเรียนที่ไปศึกษายังตักกสิลา เรียนกับอาจารย์ทิสาปาโมกข์ เป็นเด็กชายมาจากวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ พ่อค้า เศรษฐี คนวรรณะศูทรถูกจำกัดสิทธิ์ด้านการศึกษา ค่าเล่าเรียนสุดแต่จะเลือก คือ ใช้จ่ายด้วยทรัพย์ของตัวเองหรือว่าอยู่รับใช้อาจารย์แล้วหักค่าใช้จ่ายไปพร้อมกัน วิชาที่เรียนเน้นความชำนาญด้านศิลปกรรม( skill in arts) หัตถกรรม (crafts) เด็กวรรณะกษัตริย์มุ่งวิชาการปกครอง และการต่อสู้
(๕) ชาดกกับสังคมวิทยา
ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญทางสังคม ตรงกับคำที่ว่า ครอบครัวเป็นหน่วยเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ระบบครอบครัวที่ปรากฎในชาดก ในหมู่ประชาชนเป็นระบบครอบครัวสามีเดียวภรรยาเดียว ในครอบครัวของคนมีฐานะเป็นระบบชายมีภรรยาหลายคน หัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่หล่อหลอมปลูกฝังบุคลิกภาพ ให้การศึกษาเบื้องต้นและถ่ายทอดวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้กับสมาชิกในครอบครัว
โครงสร้างทางสังคม ระบุว่า ยุคนั้นมีความเชื่อมาจากวรรณกรรมของพราหมณ์ ที่สอนว่ามหาพรหมเป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์จากองคาพยพของตน สร้างพราหมณ์จากปาก สร้างกษัตริย์จากแขน สร้างแพศย์จากสะโพก สร้างศูทรจากเท้า เป็นวรรณะ ๔ ถือชาติกำเนิดเป็นตัวกำหนด บางชาดกพูดถึงคนวรรณะศูทรที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนจึงปลอมตัวเป็นพราหมณ์ คนวรรณะศูทรคงเป็นที่รังเกียจในสังคม เป็นต้น
เกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุนโครงสร้างระบบวรรณะ เพราะการแบ่งแยกนำไปสู่ความขัดแย้งความแตกแยก จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงตั้งสังคมขึ้นใหม่ให้มีความเสมอกันทางความประพฤติและความคิด คือ สังคมของภิกษุสงฆ์ (ภิกฺขุสํฆนฺติ ทิฏฺฐิสีลสามญฺเญน สํหตํ อฏฺฐอริยปุคฺคลสมูหํ) ได้นำชื่อ สงฆ์ จาก ระบบการปกครองที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยอมรับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ดังที่ตรัสว่า บุคคลจะเป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร ไม่ใช่เพราะชาติตระกูล แต่เป็นเพราะการกระทำของเขา
(๖) อุดมคติในชาดก
ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการศึกษาชาดกในด้านอุดมคติ ศึกษาชาดกด้านศาสนา ศึกษาปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีมาหลายชาติก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การศึกษาวิธีนี้ไม่ยุ่งยากไม่ต้องตีความ เนื้อหาในคัมภีร์ว่าอย่างไรก็เชื่อตามนั้น ถ้าตีความอาจถูกมองว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เชื่อตำรา เป็นคนดื้อรั้นสมัยใหม่ไม่เชื่อคัมภีร์ บางเรื่องเป็นพุทธวิสัยไม่ใช่ภูมิปัญญาที่สามัญชนจะรับรู้ได้ ฉะนั้น อย่าเที่ยววิพากย์วิจารณ์ คติของคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นตอในวัฏสงสาร นอนเฝ้าแผ่นดินอย่าคิดหวังสุคติภูมิ
การศึกษาชาดกด้านอุดมคติ มุ่งแบบอย่างการสร้างความดีและคติในการดำเนินชีวิต จำเรื่องราวในชาดก รู้จริยธรรมของผู้ที่จะตรัสรู้ในอนาคตคือพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่างเป็นคนในอุดมคติที่สร้างสมความดีมาหลายภพหลายชาติ การสร้างสมคุณความดีของพระโพธิสัตว์ก็คือการบำเพ็ญบารมีไว้มากมายจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย
พระโพธิสัตว์ก็คือพระสิทธัตถะพุทธเจ้า ในอดีตชาติเคยเสวยพระชาติเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นอมนุษย์
เป็นนักบวช ๘๓ ชาติ
เป็นพระราชา ๘๕ ชาติ
เป็นรุกขเทวดา ๔๓ ชาติ
เป็นอาจารย์สอนธรรม ๒๖ ชาติ
เป็นอมาตย์ ๒๔ ชาติ
เป็นพราหมณ์ ๒๔ ชาติ
เป็นราชโอรส ๒๔ ชาติ
เป็นปุโรหิต ๒๓ ชาติ
เป็นผู้คงแก่เรียน ๒๒ ชาติ
เป็นท้าวสักกเทวราช ๒๐ ชาติ
เป็นพญาลิง ๑๘ ชาติ
เป็นพ่อค้า ๑๓ ชาติ
เป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง ๑๒ ชาติ
เป็นพญากวาง ๑๑ ชาติ
เป็นสิงโต ๑๐ ชาติ
เป็นพญาหงส์ ๘ ชาติ
เป็นพญานก ๖ ชาติ
เป็นพญาช้าง ๖ ชาติ
เป็นพญาไก่ ๕ ชาติ
เป็นทาส ๕ ชาติ
เป็นพญาเหยี่ยว ๕ ชาติ
เป็นพญาม้า ๔ ชาติ
เป็นโคอุสภะ เป็นพรหม เป็นพญานกยูง เป็นพญางู อย่างละ ๔ ชาติ
เป็นคนพิการ เป็นคนจัณฑาล เป็นพญาเหี้ย อย่างละ ๓ ชาติ
เป็นพญาปลา ๒ ชาติ
เป็นควาญช้าง เป็นพญาหนู เป็นโจร
เป็นพญากา เป็นพญานกหัวขวาน เป็นขโมย เป็นหมู อย่างละ ๑ ชาติ
เป็นพญาสุนัข เป็นหมองู เป็นนักเลงการพนัน
เป็นช่างทอง เป็นนักศึกษา เป็นช่างเงิน
เป็นช่างไม้ เป็นสุนัขจิ้งจอก เป็นนกกาน้ำ
เป็นกบ เป็นกระต่าย เป็นคนโกง
เป็นเจ้าหน้าที่รักษาป่า เป็นเทวดา อย่างละ ๑ ชาติ
แต่ละชาติฟันฝ่าอุปสรรคสู้กับความชั่วร้ายสร้างสมบารมี เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นสัตว์เช่นเป็นนก เป็นสุนัขหรือเป็นช้าง เคยสั่งสอนศีลธรรมแก่มนุษย์ การสอนศีลธรรมกำหนดให้สัตว์แสดงบทบาทเหมือนมนุษย์ พูดภาษามนุษย์ได้ เป็นกุสโลบายของผู้สอน สาระมิได้อยู่ที่ว่าสัตว์พูดภาษามนุษย์ได้หรือไม่ได้ สิ่งพึงสำเหนียกจดจำก็คือคำพูดที่สัตว์พูดอะไรมากกว่า นิทานชาดกมักจบด้วยสามัญสำนึกหรือไม่ก็ชี้โทษภัยแห่งความประพฤติทุจริต การคบมิตร การแตกจากมิตร ให้แง่คิดคติธรรมเรื่องความดีความชั่ว คำพูดของตัวละครแฝงปริศนาให้ขบคิด บอกให้รู้ธรรมชาติคน เล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย มารยาทในสังคม ตลอดถึงจารีตประเพณีต่าง ๆ
ผู้ต้องการสัมฤทธิผล ต้องการความดีงามอย่างพระโพธิสัตว์ พึงศึกษาชาดกด้านอุดมคติ ถ้าจำชาดกได้จะจำคำพูดของตัวละครในชาดกได้
ตัวอย่างจากชาดก
(๑) คำพูด
ควรพูดคำที่น่าพอใจเท่านั้น
ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจ
เมื่อพราหมณ์พูดคำน่าพอใจ
โคนันทิวิสาลจึงลากสัมภาระอันหนักไปได้
ส่วนตนเองก็ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้น
(๒) มิตรสหาย
เป็นมิตรเพราะเดินร่วมกัน ๗ ก้าว
เป็นสหายเพราะเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว
เป็นญาติเพราะอยู่ร่วมกันเกิน ๑๕ วัน
เป็นผู้เสมอกันเพราะอยู่ร่วมกันมากกว่านั้น
(๓) คนกับเหตุการณ์
คราวคับขันต้องการผู้กล้า
คราวปรึกษางานไม่ต้องการคนพูดพล่าม
คราวมีข้าวน้ำต้องการผู้เป็นที่รัก
คราวเกิดปัญหาต้องการบัณฑิต
(๔) คนคุ้นเคย
ไม่ควรวางใจคนไม่คุ้นเคย
แม้คนคุ้นเคยก็ไม่ควรวางใจ
ภัยย่อมเกิดจากคนคุ้นเคย
(๕) คนกับหน้าที่
ผู้ครองเรือนต้องไม่เกียจคร้าน
นักบวชต้องสำรวม
นักปกครองต้องรอบคอบ
บัณฑิตต้องไม่โกรธ
(๖) คนกับความรู้
วิชาความรู้ควรเรียนไว้ทุกอย่าง
ไม่ว่าต่ำว่าสูงหรือปานกลาง
ควรรู้ความมุ่งหมายเข้าใจได้
แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่าง
วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ความรู้นั้นนำประโยชน์มาให้
(๗) ความสัมพันธ์
จะตายก็ไปคนเดียว
จะเกิดก็มาคนเดียว
ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย
ก็เพียงแค่ได้มาพบปะเกี่ยวข้องกันเท่านั้น
(๘) ความสิเนหา
จิตจดจ่ออยู่ที่ใคร
ถึงไกลนักก็เหมือนอยู่ใกล้
หากหมางเมินใคร
ถึงใกล้กันก็เหมือนอยู่แสนไกล
สรุป
สมัยนี้ แม้ว่ามนุษย์จะมีความเจริญด้านวัตถุจนสามารถเดินทางไปนอกโลกได้ ผู้คนก็ยังมีศรัทธาต่อสิ่งที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ ความประหลาดมหัศจรรย์ยังได้รับความนับถือตลอดมาและคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป นิทานชาดกมีเรื่องราวเต็มไปด้วยความประหลาดมหัศจรรย์ อำนาจของวิเศษ การใช้อำนาจเวทย์มนตร์ ถึงกระนั้น จริยธรรมในชาดกเป็นดุจประทีปส่องทางความประพฤติ เป็นรูปแบบการสอนให้คนทำความดีตามพระโพธิสัตว์ วิธีสอนจริยธรรมในชาดกจึงคงเป็นเทคนิคที่ไม่พ้นสมัย
การศึกษาชาดกเป็นสหวิทยาการ (รวบไปถึงการศึกษาพระไตรปิฎก) ย่อมไม่อับจนคำตอบต่อคำถามของคนยุคใหม่ที่มักถามว่า ที่ชาดกสอนเช่นนั้น จริงหรือไม่ ถือว่านำเสนอทางออกอย่างหนึ่ง แม้เรื่องราวในชาดกเกิดขึ้นห่างไกลสังคมไทย แต่พฤติกรรมของมนุษย์ไม่แตกต่างกับในปัจจุบัน จะเกิดขึ้นรูปแบบใดนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่ความมุ่งหมายคงเหมือนเดิม การศึกษาชาดกจึงทำให้รู้วิธีคิดของคนโบราณที่จุดประกายความคิดให้คนรุ่นหลังขบคิด เป็นการสืบทอดเจตนาของคนโบราณ ดังคำที่ว่า
พวกเราคิดบิดาเราฉงน เราเป็นคนมีปัญญาจะหาไหน
บุตรของเราคงดีจริงยิ่งขึ้นไป จิตใจเขาคงคิดเหมือนบิดา
บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาจุฬาเตปิฏกํ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย, ม.ป.ป.
______, ขุทฺทกนิกาเย ชาตกปาลิยา สํวณฺณนาภูตา ชาตกฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค - ทสโม
วคฺโค. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๓.
Mehta, Ratilal N. Pre-Buddhist India. Delhi : Anmol Publications, 1985.
Rhys Davids, T. W. Buddhist Birth-Stories (Jataka Tales). Varanasi : Indological Book
House, 1973.
ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร ป.ธ. ๙, พ.ม., พธ.บ., พธ.ม., Ph.D. อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
|