วิสาขบูชา เป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาเพราะ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งบังเอิญมาตรงกัน คือวัน ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ซึ่งบาลีเรียกว่า "วิสาขะ"พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีวิสาขบูชา เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในประเทศศรีลังกาจะจัดงานฉลองวันวิสาขบูชายิ่งใหญ่กว่าทุกประเทศ มีการ ประดับโคมไฟทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองโคลัมโบ ความเป็นมาของวันวิสาขบูชา มีดังนี้
เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะต่อกัน พระนางสิริมหามายามเหสีของ พระเจ้า สุทโธทนะ ได้ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการขนานพระนามว่า "สิทธัตถะ"เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัยจนมีพระชนม์ ๑๖ พรรษาแล้ว ก็ได้เสด็จเข้าสู่ พระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา หรือพิมพา และทรงเสวยสุขอยู่จน พระชนม์ ๒๙ พรรษาก็ทรงมีพระโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่า "ราหุล"
เจ้าชายสิทธัตถะได้พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกของชีวิตทรงเห็นว่า ไม่มีอะไรที่เป็นสาระแก่นสารเลย ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้พระองค์ทรง เบื่อหน่ายในโลกียสุข จึงได้เสด็จออกบวช โดยได้เสด็จไปศึกษายังสำนักอาจารย์ต่าง ๆ อยู่หลายปี แต่ก็ไม่ทรงบรรลุผลสำเร็จ ในที่สุดพระองค์ก็ทรงหลีกไปแสวงหาทางตรัสรู้ด้วยพระองค์เองจนกระทั่ง พระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาหลังจากที่พระองค์ ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วก็ทรงใช้เวลาทั้งหมดที่มีอยู่ออกประกาศศาสนา ให้แพร่ไปทั่ว ชมพูทวีป พระองค์ทรงสอนมุ่งให้ประชาชนตั้งอยู่ในความสงบ ขยันขันแข็งในการ ทำมาหากินในทางสุจริต ฯลฯ เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ทรงสามารถวางรากฐานพระพุทธ-ศาสนา ได้อย่างมั่นคงทั่วประเทศอินเดีย จนกระทั่งมีพระชนม์ได้ ๘๐ พรรษา ก็ทรงดับขันธปรินิพพาน ที่ระหว่างต้นสาละคู่ แขวงเมืองกุสินารา ในวัน เพ็ญเดือนวิสาขะเช่นกัน
โดยเหตุที่เหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิตของพระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง คือ วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน ได้มาประจวบในวันเดียวกันเช่นนี้ จึงนับว่าเป็นความมหัศจรรย์ยิ่ง เมื่อถึงวันสำคัญเช่นนี้ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันบูชาพระองค์ ฉะนั้นวันนี้จึงเรียว่า วันวิสาขบูชาพิธีวิสาขบูชาไม่อาจทราบได้ว่าเป็นพิธีที่นิยมกันมาแต่ครั้งใดปรากฏแต่ในคัมภีร์ มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า สมัยเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในลังกาทวีปราวพุทธศักราช ๔๒๐ พระเจ้าแผ่นดินในช่วงนี้ล้วนเป็นเอกอัครศาสนู ปถัมภกที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดมา ปรากฏพระนามที่ทรงทำพระราชพิธีวิสาขบูชาประจำปีเป็นการใหญ่หลายพระองค์ เช่น พระเจ้าภาติกราช
ส่วนในประเทศไทย ประชาชนจะประกอบพิธีบูชาในวันเช่นนี้มาแต่เดิมหรือไม่ ไม่ปรากฏชัดในที่ใด จนถึงสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จึงได้ความตามหนังสือที่นางนพมาศ แต่งไว้ว่า
"ครั้นถึงวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์ สมเด็จ พระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวังข้างหน้า ข้างใน จวนตำแหน่งท้าวพระยา พระหลวง เศรษฐี ชี พราหมณ์ บ้านเรือน โรงร้านพ่วงแพชน ประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสวห้อยพวงบุปผชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาอุโบสถศีล สดับฟัง พระสัทธรรมเทศนา บูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้น ซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิทก คนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อถ่ายชีวิตสัตว์ จัตุบาทชาติมัจฉาต่าง ๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล ก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์เป็นอันมาก เพลาตะวันชายแสง ก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์นางในออกวัด หน้าพระธาตุ ราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราชบุรณะพระพิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกยสุธาราชาวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการ พระรัตนัตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคันธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่น รอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่าสมโภช พระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถ-สัตถารศ โดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวคน"๑
และมีคำสรรเสริญว่า "อันพระมหานครสุโขทัยราชธานีถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียน ดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอน ธงชายธงปฏาก ไสวไปด้วยพู่พวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกช่อขึ้น"๒
แสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้น เมื่อถึงวันวิสาขบูชา ประชาชนชาวไทยนับตั้งแต่องค์
พระมหากษัตริย์ลงมา จะพร้อมกันรักษาอุโบสถศีล สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา และประดับประดาบ้านช่องด้วยประทีปโคมไฟและดอกไม้ตลอดสามวันสามคืน ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็นยิ่งขึ้น
ครั้งถึงสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าปฏิบัติกันอย่างไร จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา จึงได้มีพิธีวิสาขบูชาเป็นแบบแผนขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงปรึกษากับสมเด็จพระสังฆราช (มี) แล้วได้ทรงรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาให้เป็นแบบแผนขึ้น มีพระราชกำหนดเรียกว่า "พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา" ได้ทรงเกณฑ์ข้าราชการให้ร้อยดอกไม้มาแขวนไว้ในวัดพระศรี-รัตนศาสดารามวันละ ๑๐๐ พวงเศษ ทั้งได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนรักษาศีลโดยทั่วกัน ให้ไปฟังเทศน์ และให้จุดประทีปโคมไฟทั้งในอารามและตามบ้านเรือนทั่วไป
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระองค์ได้ทรงจัดให้มีเทศน์ปฐมสมโพธิว่าด้วยเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายในเดินเทียนและสวดมนต์ที่พระพุทธรัตนสถานอีกแห่งหนึ่ง
ส่วนพุทธศาสนิกชนทั่ว ๆ ไป เมื่อถึงวันวิสาขบูชา นอกจากจะทำบุญ ถือศีลและฟังเทศน์แล้ว ตอนเช้าก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาตามวัด บางทีก็ไปประชุมกันในโบสถ์ ถ้าโบสถ์แคบไปก็อยู่ข้างนอกโบสถ์บ้าง แล้วผู้เป็นหัวหน้าก็จะกล่าวคำบูชาพระ จบแล้วก็จัดแถวเดินประทักษิณพระอุโบสถ ๓ รอบ เรียกว่า "เดินเวียนเทียน" ในการเดินเวียนเทียนนี้ ต้องสำรวมรักษากิริยามารยาท อย่าเห็นแก่สนุกสนาน ตั้งจิตให้เป็นบุญเป็นกุศล ในรอบแรก ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยว่า อิติปิโส ภควา ฯลฯ พุทฺโธ ภควาติ. ในรอบที่ ๒ ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิฺหีติ. และในรอบที่ ๓ ให้ระลึกถึงพระสังฆคุณ โดยว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ อนุตฺตรํ ปฺุกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ. เมื่อเดินเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ถ้าตามวัดนั้น ๆ มีการแสดงพระธรรมเทศนา ก็ควร เข้าไปฟังพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถด้วย.
บรมครูผู้ยิ่งใหญ่
เพราะคำที่พวกเราได้นำเอาหลักคำสอนของพระองค์มาใช้ในชีวิตจริง พวกเราจึงควร ถวายการอภิวาทสดุดีแด่พระองค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระบรมคร ูของมวลมนุษย์ ตลอดเวลาที่โลกนี้ยังดำรงอยู่ ข้าพเจ้ามั่นใจ อย่างไม่หลงเหลือความเคลือบแคลงเลย แม้แต่น้อยว่า พระองค์จะทรงดำรงฐานะ ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ
มหาตมา คานธี
มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่
ในวันพระจันทร์เพ็ญเสวยวิสาขฤกษ์นี้ ข้าพเจ้าได้มาร่วมเฉลิมฉลองวันคล้าย วันประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้า แด่พระองค์ผู้ที่ข้าพเจ้ายอมรับ นับถือด้วยใจจริง ในฐานะมหาบุรุษ ซึ่งยากนักหนาจะอุบัติขึ้นในโลกนี้ ... ในนานาประเทศที่ไกลโพ้น ชนทั้งหลายต่างยินดีปรีดาร่วมฉลองการเสด็จมาของพระองค์ พวกเขาประกาศยืนยันว่า เพิ่งได้เคยพบเคยเห็นอุตมบุรุษผู้รุ่งเรืองสว่างไสว ดั่งดวงอาทิตย์ ซึ่งอุทัยขึ้นมาขับม่านเมฆ แห่งความมืดมนให้ปลาสนาการไป ฉะนั้น
รพินทรนาถ ฐากูร
-----------------------------------------------------------
๑ ศิลปากร, กรม, นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์, สำนักพระศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๑๓, หน้า ๑๒๔-๑๒๕
๒ อ้างแล้ว, หน้า ๑๒๕-๑๒๖
|