หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ดร. อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (2541-2548) » ทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : วิเคราะห์จากหนังสือ “ทางสายกลางของการศึกษาไทย”
 
เข้าชม : ๒๑๔๒๕ ครั้ง

''ทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : วิเคราะห์จากหนังสือ “ทางสายกลางของการศึกษาไทย”''
 
พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ผศ.ดร. (2546)

ความนำ

ยุคในระหว่างประมาณปีพุทธศักราช ๖๐๐-๙๐๐ ถือเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมพระพุทธศาสนามหายานในอินเดีย เพราะนักปราชญ์ฝ่ายมหายานหลายท่านมีชีวิตอยู่ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่านศรีโฆษะ ท่านกัจจายนียบุตร ท่านอัศวโฆษะ ท่านอสังคะและวสุพันธุ ส่วนยุคทองแห่งวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเถรวาทในอินเดียนั้น ยุคแรกก็น่าจะเป็นยุคของท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านพระมหากัจจายนเถระ และท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ และต่อมาก็เป็นยุคของท่านพระพุทธทัตตะ ท่านพระพุทธโฆสะ พระธรรมปาละ ประมาณปีพุทธศักราช ๙๐๐ เพราะมีวรรณกรรมใหม่ ๆ ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นมาก นี่เป็นเพียงความเห็นที่วิเคราะห์จากตำราที่ศึกษากัน ไม่ได้ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเอง

ในยุคตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐-ปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเถรวาทในเมืองไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะมีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เป็นคนไทยได้สร้างสรรค์งานเขียนไว้มิใช่น้อย กล่าวเฉพาะปัจจุบัน ที่มีพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นต้นเป็นประธาน ได้สร้างสรรค์งานเขียนทางพระพุทธศาสนาไว้จำนวนมาก ที่ปรากฏรายชื่อตามที่พระครูปลัดปิฎกวัฒน์ได้รวบรวมไว้ล่าสุด มีจำนวน ๑๖๗ เรื่อง

ผู้เขียนได้เริ่มศึกษางานของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) อย่างจริงจังในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ เมื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อนหน้านี้ สมัยที่เรียนบาลีอมรมศึกษา ณ วัดสระเกศ หรือแม้แต่ขณะที่ศึกษาระดับปริญญาตรี ยังไม่ได้ศึกษางานของพระเดชพระคุณอย่างจริงจัง เพราะสาเหตุ ๒ ประการ คือ (๑) พื้นฐานทางวิชาการยังไม่ถึงขั้นที่จะศึกษาให้เข้าใจได้ (๒) ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะช่วยเสริมให้ศึกษา สาเหตุทั้ง ๒ ประการนี้ ทำให้พลาดโอกาสที่จะสร้างภูมิปัญญาให้แก่ตัวเองเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี

ผู้เขียนเข้าใจว่า มีเพื่อนสหธรรมิกหลายท่านที่ได้ศึกษางานของพระเดชพระคุณอย่างจริงจังในเมื่อเข้าศึกษาระดับปริญญาโทที่บัณฑิตวิทยาลัย มจร. การที่ได้ศึกษางานของพระเดชพระคุณอย่างจริงจัง ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้เขียนในแนวใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะผลงานทุกเรื่องของพระเดชพระคุณจัดเป็นงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่ผ่านการกลั่นกรองจากภูมิปัญญาที่ลึกซึ้ง มีคุณภาพระดับวรรณคดีบาลีประเภท “อัตโนมัติ” ที่ผู้เขียนกล่าวอย่างนี้ เพราะมีตัวอย่างการแบ่งระดับวรรณคดีบาลีที่พระอรรถกถาจารย์จัดเอาไว้ เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อความเกี่ยวกับพระวินัย ๔ ระดับ คือ

(๑) สูตร คือบาลีในพระวินัยปิฎกทั้งหมด

(๒) สุตตานุโลม คือ มหาปเทส ๔ ใช้เป็นหลักอ้างอิงความถูกผิดเมื่อไม่มีพุทธบัญญัติกำหนดไว้โดยตรง

(๓) อาจริยวาท คือ คัมภีร์อรรถกถาทั้งหลาย ที่พระอรหันต์ผู้ร่วมปฐมสังคายนาได้ตั้งเป็นมาตรฐานไว้

(๔) อัตโนมัติ คือ ข้อความที่กล่าวอธิบายพระวินัย โดยถือตามนัยที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลาย เป็นข้อเขียนคำอธิบายของนักปราชญ์ที่อ้างอิงคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา

งานเขียนหรือวรรณกรรมใดก็ตามที่จัดอยู่ใน ๔ ระดับนี้ ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ งานเขียนของพระเดชพระคุณก็มีลักษณะอย่างนี้ คือสามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ในทุกกรณี แนวความคิดของพระเดชพระคุณโดยเฉพาะด้านการศึกษา มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาก นักการศึกษาไทยปัจจุบันล้วนแต่ยึดแนวความคิดของพระเดชพระคุณเป็นแม่แบบในการพัฒนาทฤษฎีทางการศึกษาที่เป็นของไทย ในอดีต นักการศึกษาไทยหลายท่านแม้จะรู้ทฤษฎีการศึกษาดี แต่ก็ตีความทฤษฎีผิด ทำให้เกิดประยุกต์ใช้กับสังคมไทยอย่างผิด ๆ จนทำให้ประเทศดำเนินนโยบายทางการศึกษาไม่ถูกทางนัก นักการศึกษาทุกคนรู้ว่า จุดประสงค์ของการศึกษาคือ เพื่อพัฒนาคนทั้งด้านพุทธิปัญญา อารมณ์ สังคม และเจตคติ แต่เวลาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา กลับมุ่งจะให้ผู้เรียนจบการศึกษา มีวุฒิบัตร มีปริญญา และเมื่อได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงระดับสูงสุดก็กลายเป็นพวกแก่ตำรา เกาะติดทฤษฎี เป็นพวก Dogmatists ทำให้เกิดปัญหาแปลก ๆ ขึ้นในกลุ่มของพวกมีปริญญาโดยเฉพาะ ปัญหาแปลก ๆ ที่เห็นได้ชัดมี ๒ ประการ คือ

(๑) ความคิดที่เกาะติดกับทฤษฎี

(๒) ความคิดแปลกแยกจากสังคมที่เคยอยู่ อู่ที่เคยนอน

ปัญหาประการที่ ๑ เห็นได้ชัดเจน คือ เวลาเกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตนหรือปัญหาสังคม สังคมไทยมีคนจบปริญญาเอกมาก แต่แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ เพราะมัวแต่มุ่งที่จะนำทฤษฎีมาแก้ปัญหา เพราะลืมความจริงข้อหนึ่งว่า ปัญหาของมนุษย์มีมากและซับซ้อน ในสังคมหนึ่ง มนุษย์หนึ่งคนก็มีหนึ่งปัญหา มนุษย์สิบคนก็มีสิบปัญหา มนุษย์ร้อยคนก็มีร้อยปัญหา ทฤษฎีในโลกปัจจุบัน แม้จะมีมากเพียงใดแต่คงมีไม่มากเท่ากับปัญหาของมนุษย์ ถ้ามุ่งแต่จะนำทฤษฎีมาแก้ปัญหามนุษย์อย่างเดียว ต้องสร้างทฤษฎีขึ้นมาให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนมนุษย์

ปัญหาประการที่ ๒ คือ ความคิดแปลกแยกจากถิ่นที่ตนเคยอยู่ อู่ที่เคยนอนนี้แหละ เป็นปัญหาโลกแตกในปัจจุบัน มันขัดแย้งตรงกันข้ามกับนโยบายที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Contradiction, Contradistinction, หรือ Paradoxical ก็แล้วแต่เถอะ แต่ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันมันขัดกัน กลายเป็นว่า คนที่ไม่มีการศึกษาเข้าสังคมได้ คนที่มีการศึกษา มีปริญญาเข้าสังคมยาก

ปัจจุบัน นักการศึกษาไทยได้สำนึกตระหนักถึงความจริงนี้แล้ว จึงได้จัดทำโครงการชื่อ “การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ซึ่ง ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน มีนักการศึกษาไทยหลายท่านเป็นกรรมการ ท่านเหล่านี้ได้วางกรอบการดำเนินงานโดยอาศัยแนวความคิดของพระธรรมปิฎกเสนอไว้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นได้จากวัตถุประสงค์ของโครงการ และกรอบการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร มุ่งที่จะให้คนแต่ละท้องถิ่นศึกษาวิชาการ ๒ ส่วนไปพร้อมกัน คือ (๑)วิชาการพื้นฐานทั่วไปที่คนทั่วประเทศจะมีโอกาสศึกษาเหมือนกันหมด เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลขคณิต (๒)วิชาการที่เป็นเรื่องของท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัยอยู่ ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถใช้ชีวิตอยู่ในท้องถิ่นนั้นได้

พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎกได้กล่าวไว้ชัดในเรื่องนี้ว่า “...ผลจากการศึกษาที่ผ่านมาแล้วอย่างหนึ่ง คือ การทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชนของตน แปลกแยกจากท้องถิ่นของตนเอง ยิ่งเรียนไปยิ่งกลายเป็นนอกชุมชน...” ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์เรื่องนี้ในภายหลัง ในเบื้องต้นนี้ จะขอ กล่าวถึงเฉพาะเรื่องที่ผู้เขียนแม้จะไม่มีบุญบารมีรู้จักพระเดชพระคุณเป็นการส่วนตัว แต่ก็พยายามเข้าใกล้พระเดชพระคุณโดยการศึกษางานเขียนแทน ถือเป็นการคบบัณฑิตอีกรูปแบบหนึ่ง คือแทนที่จะเข้าไปหา ปรึกษาสนทนาท่านผู้เป็นบัณฑิตโดยตรง ก็ใช้วิธีการศึกษางานเขียนของท่านผู้เป็นบัณฑิตนั้น ข้อนี้จัดเป็นมงคลอย่างสูงสุดเช่นเดียวกัน

ทัศนะเกี่ยวกับการศึกษา

ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

๑. จุดกำเนิดของการศึกษา

เนื้อหาในหนังสือเรื่อง “ทางสายกลางของการศึกษาไทย” แบ่งเป็น ๓ ตอน

ตอนที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องการศึกษา เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา

ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องความคิด แหล่งสำคัญของการศึกษา

ตอนที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องปัญหาที่ต้องแก้ไขยิ่งกว่าขยายโอกาสทางการศึกษา

นอกจากนี้ ยังแบ่งย่อยเนื้อหาเป็น ๔ บท ผู้เขียนสนใจเนื้อหาของบทที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องจุดกำเนิดของการศึกษา พระเดชพระคุณเห็นว่า จุดกำเนิดของการศึกษาคือ “แรงจูงใจ” เริ่มตั้งแต่แรงจูงใจอย่างหยาบจนถึงแรงจูงใจอย่างละเอียด แรงจูงใจในการศึกษาในทัศนะของไอน์สไตน์มี ๓ อย่าง คือ (๑)ความกลัว (๒)ความใฝ่สูงอยากดีอยากเด่น (๓)ฉันทะ คือความสนใจใฝ่รักและความปรารถนาต่อสัจธรรมและปัญญา พระเดชพระได้อ้างคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ว่า

วิทยาศาสตร์จะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจธรรม และปัญญาที่เข้าใจถึงความจริงนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทุกคนมีความเชื่ออย่างลึกซึ้งว่า กฎเกณฑ์ที่กำกับสากลพิภพนี้เป็นสิ่งที่มีเหตุผล และสามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผล

จากข้อความนี้ พระเดชพระคุณกำลังบอกว่า จุดเริ่มต้นของการศึกษาคือความเชื่อมั่นในหลักแห่งเหตุผล และมีแรงจูงใจใฝ่ต่อสัจธรรมและวิธีการที่จะเข้าถึงสัจธรรมนั้น สากลจักรวาลเป็นเรื่องของเหตุผล ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ มีคำอยู่ ๔ คำที่พระเดชพระคุณกล่าวถึง คือ (๑)วิธีการวิทยาศาสตร์ (๒)ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ (๓)ทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์ และ(๔)จิตใจแบบวิทยาศาสตร์ ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผินอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าทั้ง ๔ คำนี้มีนัยเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วไม่เหมือนกัน พระเดชพระคุณให้คุณค่าแก่คำว่า “จิตใจแบบวิทยาศาสตร์” ถามว่า “เพราะเหตุไร” เมื่อวิเคราะห์ข้อความต่อมาจึงได้คำตอบว่า จิตใจแบบวิทยาศาสตร์นั้นเป็นจิตใจของผู้ที่มีความเชื่อมั่นในทางศาสนา เชื่อว่า สากลจักรวาลมีความสมบูรณ์และสามารถรับรู้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล พระเดชพระคุณบอกว่า

จุดเริ่มต้นของศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นอันเดียวกัน หรือว่าศาสนานั่นเองทำให้คนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่มีจิตใจวิทยาศาสตร์แบบนี้ ไม่มีความใฝ่ปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะเข้าถึงสัจธรรมหรือปัญญาที่รู้เข้าใจจริงต่อสภาวะของสิ่งทั้งหลาย แล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงได้

ข้อความที่กล่าวมานี้ พระเดชพระคุณวิเคราะห์และสรุปจากที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวไว้ ต่อมาพระเดชพระคุณได้กล่าวถึงจุดกำเนิดของการศึกษาตามแนวพุทธ โดยระบุคำว่า “แรงจูงใจ” เช่นเดียวกัน ซึ่งมีทั้งอย่างหยาบและละเอียดรวม ๔ อย่าง โดยแบ่งแรงจูงใจอย่างหยาบไว้ ๓ ประการคือ (๑) ภยะ ความกลัว (๒)ตัณหา อยากได้ (๓)มานะ อยากดีอยากเด่น และแรงจูงใจอย่างละเอียด ๑ ประการ คือ ฉันทะ

แรงจูงใจอย่างหยาบทั้ง ๓ ประการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นธรรมชาติของสัตว์โลกโดยเฉพาะมนุษย์ คือมนุษย์ปุถุชนทุกคนมีด้วยกันทั้งนั้น ส่วนแรงจูงใจอย่างละเอียด คือ ฉันทะนั้นถือเป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง ฉันทะแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ (๑)ความใฝ่รู้ความจริง (๒)ความใฝ่ดี รวมเรียกว่า “ธรรมฉันทะ”

พระธรรมปิฎกได้ชี้ให้เห็นทัศนะที่เหมือนกันเกี่ยวกับจุดกำเนิดของการศึกษาทั้งตามแนวพระพุทธศาสนาและอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นั่นคือ ฉันทะ ความใฝ่รู้ความจริงและใฝ่ปรารถนาสิ่งดีงาม ซึ่งพระเดชพระคุณได้สรุปไว้เป็นศัพท์ทางวิชาการว่า “ธรรมฉันทะ” เป็นการจำกัดเนื้อหาเชิงวิเคราะห์ของคำนี้ไว้ในกรอบที่แน่นอน เมื่อพูดถึงคำว่า “ฉันทะ” อาจมีนัยหลายอย่าง แต่เมื่อพูดถึงคำว่า “ธรรมฉันทะ” นั่นหมายถึงความใฝ่รู้ความจริงและใฝ่ปรารถนาความดีงาม

 

๒. สารัตถะของการศึกษา

เนื้อหาที่สำคัญในบทที่ ๓ คือ เรื่องสารัตถะของการศึกษา พระธรรมปิฎกได้กล่าวถึงกระบวนการของการศึกษาทั้งระบบ ๓ ภาค คือ

๒.๑ ภารกิจของการศึกษา ในขั้นนี้เป็นเรื่องของผู้ให้การศึกษาทั้งระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ ต้องรู้จักแบ่งหน้าที่ของตัวเองออกเป็น ๒ ส่วน คือ (๑) หน้าที่ถ่ายทอดศิลปวิทยา ส่งเสริมเพิ่มพูนวิชาการและวิชาชีพ(๒) หน้าที่ในการชี้แนะให้ดำเนินชีวิตถูกต้องดีงาม และรู้จักพัฒนาตน นั่นคือ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ให้การศึกษา ต้องทำหน้าที่ ๒ ประการให้สมบูรณ์ คือ (๑)หน้าที่ให้ความรู้ เรียกว่า “สิปปทายก” (๒)หน้าที่ในฐานะเป็นเพื่อนที่ดีคอยช่วยเหลือนแนะนำสั่งสอนแนวทางดำเนินชีวิต เรียกว่า “กัลยาณมิตร”

พระธรรมปิฎกได้กล่าวเน้นให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการเกี่ยวกับการศึกษารู้ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์นั้น ไม่ใช่มุ่งเฉพาะความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ต้องมุ่งสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วย พระเดชพระคุณได้อ้างคำพูดของไอน์สไตน์อีกว่า “การสอนคนให้มีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษอย่างเดียวไม่พอ ถ้าทำอย่างนั้น คนก็จะกลายเป็นเครื่องจักรกลที่ประโยชน์ชนิดหนึ่ง” แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ไม่ใช่เครื่องจักรกล อาริสโตเติลก็ดี อิมมานูเอล ค้านท์ก็ดี ล้วนแต่เชื่อในทฤษฎีนี้ “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” และเมื่อมีเหตุผลก็ต้องพัฒนาได้ โดยพัฒนามาจากภายในนั่นแหละ ไม่ใช่ปฏิสังขรณ์เอาเครื่องอะไหล่ใส่เข้าไปใหม่เหมือนเครื่องจักร

๒.๒ ขั้นตอนของการศึกษา การศึกษาในระดับอุดมศึกษาทางโลก แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ (๑)ปริญญาตรี ศึกษาแบบกว้าง ๆ (๒)ปริญญาโท ศึกษาเจาะลึกลงไปในรายวิชา (๓)ปริญญาเอก ศึกษาเจาะลึกลงไปเฉพาะเรื่อง นี้เป็นปริญญาทางโลก

ส่วนปริญญาทางพระพุทธศาสนา ก็มี ๓ ขั้นเหมือนกันคือ (๑) ญาตปริญญา รู้จัก (๒)ตีรณปริญญา รู้ตรองเห็น (๓)ปหานปริญญา รู้ขั้นปฏิบัติการแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น

พระธรรมปิฎกได้จัดลำดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาใหม่ โดยจัดปริญญา ๓ ขั้นของทางโลกนั้นเป็นกลุ่มวิชาการ และจัดปริญญาทางพระพุทธศาสนาเป็นกลุ่มจรณะ พระเดชพระคุณได้อธิบายว่า ระบบปริญญา ๓ ขั้นทั้งตามแบบสถาบันการศึกษาทั่วไปและแบบพระพุทธศาสนาต่างช่วยเสิรมกันและกัน สรุปวิเคราะห์ได้จากตรงนี้ก็คือ ขณะที่เรียนวิชาการแขนงต่าง ๆ ก็เรียนไป รู้อะไรรู้ให้จริง เมื่อเห็นว่ารู้พอสมควรแล้วก็หันมาพัฒนาตนให้จิตนิ่งใจใส เพื่อนำความรู้วิชาการออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

๒.๓ วัตถุประสงค์ของการศึกษา พระพุทธศาสนาใช้คำว่า“วิชชาจรณสัมปันนะ” แปลว่า สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ คือ เมื่อศึกษาจบแล้วจะต้องมีทั้งความรู้ดีและประพฤติดี มีศัพท์ทางวิชาการอยู่ชุดหนึ่งที่พระเดชพระคุณได้นำมาใช้จนเป็นที่นิยมกันทั่วไปในวงวิชาการด้านการศึกษา คือ (๑)ภาวิตกาย (๒)ภาวิตศีล (๓)ภาวิตจิต (๔)ภาวิตปัญญา นั่นคือ คนที่ศึกษาจบไปแล้วต้องมีกายที่ได้รับการพัฒนา มีความประพฤติที่ได้รับการพัฒนา มีจิตที่ได้รับการพัฒนา และมีความรู้ที่ได้รับการพัฒนา

เฉพาะข้อ(๓)ภาวิตจิตนั้น พระเดชพระคุณจะเน้นอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสได้อธิบายต่อสังคม โดยจิตที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั้น ต้องเป็นที่มี (๑)คุณภาพ (๒)สมรรถภาพ และ(๓)สุขภาพ และจุดเน้นนี้ได้กลายเป็นภาษาระดับชาติไปแล้ว ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ตอนที่ว่าด้วยแผนพัฒนาจิต

นอกจากนี้ ในบทที่ ๓ นี้ พระเดชพระคุณยังได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษา ๒ แนว คือ (๑)จุดมุ่งหมายแนวตั้ง ได้แก่ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เบื้องหน้า และประโยชน์สูงสุด คือหมดกิเลส (๒) จุดมุ่งหมายแนวราบ ได้แก่ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น จุดมุ่งหมายในแนวตั้ง น่าจะหมายถึงสิ่งที่ผู้สำเร็จการศึกษาทางโลกทั่วไปต้องกำหนดไว้ ในขณะที่ดำเนินชีวิต ส่วนจุดมุ่งหมายในแนวราบ เป็นสิ่งที่ทั้งผู้สำเร็จการศึกษาทางโลกและผู้ฝึกตนทางธรรมจนหมดกิเลสแล้วต้องกำหนดไว้

สภาพปัญหาปัจจุบัน และวิธีการแก้ไข

๑. การขยายโอกาสทางการศึกษา

: สร้างความแปลกแยกจากสังคมหรือพัฒนาสังคม ?

ในตอนท้ายของบทที่ ๓ พระธรรมปิฎกได้กล่าวถึงเรื่อง “ความคิด” ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการศึกษา แต่ผู้เขียนเห็นว่าถ้าวิเคราะห์ในที่นี้ก็จะทำให้บทความยาวเกินไป จึงขอโอกาสละไว้ จะขอวิเคราะห์เนื้อหาตอนสุดท้ายของบทที่ ๔ เลยทีเดียว

มาตรา ๔๓ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดไว้ว่า

“บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ”

จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เอง ต่อไปนี้ รัฐจะต้องระดมสรรพกำลังมุ่งไปที่การขยายโอกาสทางการศึกษา ความจริงในอดีตก็ทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่เต็มที่เหมือนที่จะเกิดต่อไปในอนาคต ข้อนี้เป็นความหวังดีที่รัฐมีต่อคนในรัฐ แต่มนุษย์เราก็ลืมไปว่า “บางที ความหวังดีไม่ได้หมายถึงว่าจะเกิดผลดีเสมอไป” พระธรรมปิฎกเห็นด้วยกับการขยายโอกาสทางการศึกษาเพราะการศึกษาทำให้เกิดปัญญาซึ่งเป็นแกนนำของการพัฒนามนุษย์ แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง พระเดชพระคุณกล่าวไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับคำปรับทุกข์ของชาวนา ๒ คนว่า

... แต่ก่อนในสมัยของแกนั้น เมื่อเลิกเรียนมาแล้วก็มาช่วยพ่อแม่เลี้ยงควาย แต่ว่าเด็กสมัยปัจจุบันนี้กลับจากโรงเรียนแล้ว พ่อแม่ขอให้ช่วยทำนาบ้างก็ไม่ช่วย เด็ดจะอ้างว่าทางโรงเรียนมีการบ้าน จะต้องทำการบ้าน การที่จะไปทำนานั้นไม่ใช่หน้าที่ของเขา หน้าที่ของเขาคือการเรียนหนังสือ อันนี้ พ่อแม่ก็อาศัยลูกไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจแก่ชาวนาที่เป็นพ่อแม่ ...

นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชนบท เมื่อเด็กเข้ารับการศึกษา จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ปัญหาอย่างนี้ส่วนมากจะเกิดในหมู่เด็กที่เรียนระดับมัธยม เพราะเด็กชนบทที่เรียนมัธยมนั้นส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งแยกจากชาวนาทั่วไป ปัญหานี้เป็นเรื่องชาวโลกโดยเฉพาะ ยังไม่พูดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันพระพุทธศาสนา

ปัญหาที่เกิดขึ้นในชนบทอันเนื่องมาจากการขยายการศึกษานั้น อย่าว่าแต่การขยายการศึกษาภาคบังคับจาก ๖ ปีเป็น ๑๒ ปีเลย เมื่อก่อนนี้ แม้แต่ขยายจาก ๔ ปีเป็น ๖ ปีก็ยังกระทบไม่น้อย จริงอยู่ การศึกษานั้นเป็นการจัดให้เปล่า แต่เด็กไปโรงเรียนก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไร ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียน เมื่อก่อนเคยเสียใช้จ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้เพียง ๖ ปี ต่อไปต้องเสีย ๑๒ ปี นี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน

พระธรรมปิฎกกล่าวถึงปัญหานี้เหมือนกัน แต่กล่าวถึงในอีกลักษณะหนึ่ง พระเดชพระคุณกล่าวว่า

เมื่อรัฐขยายการศึกษาจากประถมสี่เป็นประถมหกประถมเจ็ด ปัญหาก็เกิดขึ้นโดยมีผลกระทบสำคัญต่อวงการคณะสงฆ์และสังคมไทย คือเด็กเหล่านี้จบการศึกษาเมื่อโตขึ้นแล้ว ความรู้สึกนึกคิดจิตใจก็เปลี่ยนไป คือเกิดมีแรงจูงใจในด้านที่จะทำงาน ... พวกนี้แทนที่ว่าจบประถมสี่แล้วจะเรียนต่อเคยบวชเณรเรียนในวัด หรือช่วยพ่อแม่ทำงานอาชีพในท้องถิ่นก็เลยเปลี่ยนมาเข้าโรงงานอุตสาหกรรมมาทำงานในเมืองหรือในกรุงไป ...

วิเคราะห์ต่อให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ถ้าเปิดโอกาสให้เด็กในชนบทได้บวชเรียน ผลดีที่เกิดแก่พ่อแม่เด็กซึ่งเห็นได้ชัด มี ๒ ประการ คือ (๑)ประหยัดค่าใช้จ่าย (๒)ลูกมีที่อยู่แน่นอนและมีคนดูแลรักษา โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นสำคัญที่สุด คนในชนบทไม่มีรายได้ประจำเหมือนคนในเมืองที่งานราชการหรือทำงานเอกชน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษานั้นต้องจ่ายทุกวันทุกเดือน นี้เป็นปัญหาสำคัญมากสำหรับคนในชนบทที่ไม่ค่อยมีใครหามาตรการแก้ไข แต่ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งที่พระธรรมปิฏกล่าวอยู่เสมอคือ “การศึกษาที่สร้างความแปลกแยกจากชุมชน การศึกษาที่เป็นการขุดทรัพยากรคนออกจากท้องถิ่นให้ค่อยๆ หมดไป” พระเดชพระคุณกล่าวไว้สรุปความได้ว่า

... ยิ่งเรียนไปยิ่งกลายเป็นคนนอกชุมชน กลายเป็นคนละพวกกับพ่อแม่ อยากจะออกไปแสวงหาความก้าวหน้าในสังคมภายนอก ถึงขนาดที่ว่า ดูถูกวิถีชีวิตของชุมชนของตนเอง และบางคนเมื่อเรียนจบไปแล้วไม่มีงานทำ กลายเป็นคนว่างง่าน จะกลับไปเข้าสังคมเดิมก็ไม่ได้ จะเข้าสังคมเมืองก็ไม่ได้ เพราะไม่มีงานทำ ...

ความจริง ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะในเด็กฆราวาสเท่านั้น แม้แต่เด็กที่บวชเรียนแต่เรียนไม่จบชั้นสูงสุดก็สร้างปัญหาในลักษณะนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะที่พวกที่บวชนานถึง ๕ ปี ๑๐ ปี ห่างเหินจากสังคมของตนเองมานาน ขาดประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ บางคนเมื่อสึกออกไปแล้วก็กลับเข้าสังคมเดิมได้ บางคนก็กลับเข้าไม่ได้ กลายเป็นคนหาสังคมไม่ได้

พระธรรมปิฎกได้ชี้สภาพปัญหาอย่างชัดเจนและตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน พระเดชพระคุณไม่ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้โดยตรง แต่กล่าวไว้โดยรวมว่า การศึกษาในชนบทต้องให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในชนบท ความจริง การชี้ให้เห็นป้ญหาอย่างชัดเจนก็เท่ากับการเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาอยู่ในตัวแล้ว ซึ่งผลที่ตามมาจะเห็นว่า คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ “การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ได้เสนอแนวคิดในการจัดการศึกษาในประเทศไทยต่อไปนี้ เด็กในแต่ละท้องถิ่นจะต้องรู้เรื่องของตัวเองด้วย เพื่อไม่ได้เกิดความแปลกแยกจากชุมชนของตนเอง คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็เอาแนวคิดนี้ไปบรรจุไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นักการศึกษาไทยที่ได้ยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติก็นำแนวคิดนี้ไปบรรจุไว้ในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ นี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการที่พระเดชพระคุณได้เสนอความคิดเกี่ยวกับการศึกษาแก่สังคมไทยเรื่อยมา

 

 

๒. แนวคิดในการยกระดับการศึกษา

: จุดเน้นควรอยู่ที่ผู้ให้การศึกษา หรือผู้รับการศึกษา ?

องค์ประกอบของการจัดการศึกษามี ๓ ประการ คือ (๑)ผู้ให้การศึกษา (๒)เครื่องมือในการจัดการศึกษา และ(๓)ผู้รับการศึกษา พระธรรมปิฎกเห็นว่า คุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับคุณภาพของครู นั่นคือผู้ให้การศึกษาโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติการสำคัญที่สุด พระเดชพระคุณกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

เราจะต้องมีการยกฐานะของครูทั้งในด้านคุณธรรม ความรู้ วิชาการ และยกฐานะในทางเศรษฐกิจและสังคมไปด้วย ปัจจุบันนี้ ฐานะของครูนั้นทรุดหมดเลย ทั้งด้านคุณธรรมและวิชาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะปล่อยไว้ไม่ได้...

ถามว่า “ปัจจุบัน ครูดีมีคุณภาพมีอยู่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาหรือไม่ ?”

คณะผู้ดำเนินงานโครงการ “การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “ความจริงของแผ่นดิน” บทที่ ๖ หน้า ๘๙-๙๘ พอสรุปความได้ว่า ประเทศไทยมีครูเก่งดีอยู่เต็มแผ่นดิน แต่เรายังขาดเครือข่ายที่จะเชื่อมโยงครูเก่งดีที่มีอยู่ทั่วทุกมุมของประเทศเข้าด้วยกัน วิธีการระดมครูดีให้รวมกลุ่มเพื่อสร้างพลังดีงามและกระแสดีงามส่งถ่ายแก่กันและก็คือการสร้างเครือข่ายให้ครูดีเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวก มีการแลกเปลี่ยนทัศนะและดูงานระหว่างกัน

พระธรรมปิฎกกล่าวถึงปัญหาในการผลิตครูที่มีคุณภาพทั้งด้านคุณธรรมและวิชาการพอสรุปความได้ว่า

การจัดสรรงบประมาณให้สถาบันการศึกษาของรัฐ ที่คิดตามจำนวนนักศึกษา ทำให้สถาบันอุดมศึกษาต้องรับนักศึกษา(ที่จะมาเรียนเป็นครู)จำนวนมาก เพื่อให้ได้งบประมาณมาก ๆ จำนวนนักศึกษาที่มากเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการผลิตครูที่มี คุณภาพ

พระเดชพระคุณได้เสนอวิธีแก้ปัญหาในเบื้องต้น คือ เปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณ โดยอาจไม่ต้องคิดตามจำนวนนักศึกษาก็ได้ ให้แต่ละสถาบันรับนักศึกษาที่จะเรียนเป็นครูเฉพาะทาง ไม่ซ้ำกัน จัดงบประมาณตามจำเป็นของสาขาวิชาที่เรียน การชี้ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการยกฐานะของครูนี้ พระเดชพระคุณชี้ได้ตรงประเด็นที่สุด กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ในปัจจุบันที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตครูอาจารย์ต่างมีนโยบายในลักษณะนี้ คือ มุ่งผลิตครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ

ความสรุป

ผลงานทางวิชาการทั้งหมดของพระธรรมปิฎก ไม่ใช่เฉพาะด้านการศึกษา ถือเป็นมรดกทางความคิดที่จะตกเป็นสมบัติของชาวโลกตราบชั่วนิรันดร์กาล กล่าวเฉพาะในปัจจุบัน ลูกหลานที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ศึกษาอยู่ในเมืองไทยหลายท่านก็ยังมัวหลงทางหางานเขียนที่จะใช้เป็นหัวข้อ “วิทยานิพนธ์”ให้ตัวเองไม่ได้ ในขณะที่อีกหลายท่านเช่นเดียวกันตื่นจากภวังค์แล้ว ได้หยิบเอางานของพระเดชพระคุณนี่แหละเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ และวิเคราะห์งานของพระเดชพระคุณนี่แหละ ทำให้สำเร็จการศึกษารับปริญญาสมใจ นี่ยังไม่พูดถึงหนังสือ “พุทธธรรม” ที่กลายเป็นคู่มือประกอบการศึกษาระดับปริญญาไปแล้ว ไม่ว่าจะศึกษาปริญญาระดับไหน ถ้าเป็นวิชาเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ทุกคนต้องอ่านพุทธธรรมทั้งนั้น

ผู้เขียนยังจำได้สมัยที่เรียนปริญญาโทที่บัณฑิตวิทยาลัย มจร. ขณะที่เรียนวิชา “พระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก” ซึ่งสอนโดยพระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยองค์ปัจจุบัน สมัยนั้นท่านอธิการบดีดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเมธีธรรมาภรณ์ นิสิตหลายท่านเมื่อพบว่าทฤษฎีทางตะวันตกหลายเรื่องมีลักษณะเหมือนกับทฤษฎีในพระพุทธศาสนา จึงถามอาจารย์สอนว่า “เพราะเหตุไร ทฤษฎีเหล่านี้จึงเหมือนกัน ?” พระเดชพระคุณผู้สอนได้พูดไว้ตอนหนึ่งว่า

วิชาการทุกสาขามีจุดกำเนิดร่วมกัน การศึกษาวิชาการทุกแขนงเปรียบเหมือนการขุดบ่อหาตาน้ำ ชาวชนบทในฤดูแล้ง ไม่มีน้ำกิน ต้องขุดบ่อหาน้ำ ตรงไหนเป็นแหล่งน้ำ ขุดเพียงตื้น ๆ ก็จะเจอตาน้ำ แต่ใช้อาบใช้ดื่มได้ไม่นาน น้ำนั้นก็จะหมด เพราะไม่ใช่ตาน้ำที่แท้จริง แต่ถ้าขุดลึกถึงระดับจริง ๆ แล้ว จะเจอตาน้ำจริง ใช้ อาบใช้ดื่มอย่างไรก็ไม่มีวันหมด วิชาการทุกแขนงก็เหมือนกัน ถ้าศึกษาให้ลึกถึงแก่นแท้จริง ๆ แล้ว และพบสารัตถะที่แท้จริงแล้ว จะเหมือนกับการพบตาน้ำที่แท้ จริง สามารถพูดได้อย่างไม่รู้จบ พูดโยงถึงกันได้ทุกแขนง

วิชาการของพระธรรมปิฎกก็มีลักษณะเดียวกัน พระเดชพระคุณได้ศึกษาลึกถึงแก่นแท้ของวิชาการโดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา จึงสามารถพูดเชื่อมโยงกันได้กับวิชาการทุกแขนง และพูดได้อย่างไม่รู้จบ ข้อนี้ถือเป็นแบบอย่างแก่บุคคลผู้ประสงค์จะก้าวขึ้นวิถีแห่งปราชญ์ในปัจจุบันและอนาคต

จุดเด่นในการนำเสนอเรื่องทางวิชาการของพระเดชพระคุณ ถือเป็นมาตรฐานที่นักวิชาการรุ่นใหม่ต้อถือเป็นแบบอย่างอย่างยิ่ง นั่นคือการเชื่อมโยงหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนาเข้ากับหลักวิชาการทางโลกอย่างกลมกลืน ไม่พูดถึงความแตกต่างหรือความขัดแย้งกันกันเพียงด้านเดียว แต่จะชี้ให้เห็นความเหมือนและความต่าง และจุดที่จะเชื่อมประสานกันได้ เช่น เรื่องปริญญาทางโลกกับปริญญาทางธรรม

ส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งก่อให้เกิดปัญหานั้น ผู้เขียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาของเด็กในชนบทที่บวชเป็นสามเณรเพื่อเรียนหนังสือ คนเหล่านี้ถ้าเรียนจบประโยค ๙ หรือจบปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต/ศาสนศาสตรบัณฑิต แม้จะอยู่เป็นพระภิกษุสามเณรต่อไปไม่ได้ สึกออกไปก็พอเอาตัวรอดได้ แต่พวกที่เรียนไม่จบขั้นสูงสุดแล้วสึกออกไปกลางคัน ผู้เขียนเรียกคนพวกนี้ว่า “มหาสุกก่อนห่าม” คนเหล่านี้น่าสงสาร จะกลับไปทำไร่ทำนาก็ไม่ได้ เพราะห่างเหินมานาน ไม่มีประสบการณ์ในการทำนา จะทำงานราชการบริษัทห้างร้านก็ไม่ได้ เพราะไม่มีปริญญา จะไปเป็นกรรมกรแบกหามก็ไม่ได้ เพราะบวชมานานไม่ค่อยได้ใช้กำลัง เป็นคนผมแห้งแรงน้อย เลยกลายเป็นว่าคนพวกนี้หาสังคมอยู่ไม่ได้

พระธรรมปิฎกจึงกล่าวอยู่เสมอเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาว่า “ชนบทก็หมดตัว ลูกชาวชนบทก็หมดทางไป” พระเดชพระคุณหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมชนบทตอนนี้แหละ แต่เน้นปัญหาทั่วไป ไม่ได้เน้นปัญหาของลูกชาวชนบทที่บวชเรียนหนังสือ ในขณะที่เรียนหนังสืออยู่ก็มุ่งเรียนอย่างเดียว ไม่ได้สนใจทำอย่างอื่น แต่ระยะเวลาของการเรียนจนจบหลักสูตรนั้น ใช้เวลาเป็นสิบปีขึ้นไป ต้องใช้ความอดทนมาก คนที่ทนไม่ได้จึงประสบปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่า ทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาของพระธรรมปิฎกนั้น ครอบคลุมทั้งระบบ ครอบคลุมองค์ประกอบทุกอย่างเกี่ยวกับการศึกษา พระเดชพระคุณนำเสนอทั้งในจุดเริ่มต้น กระบวนการดำเนินงานในท่ามกลาง และแนวทางในการแก้ปัญหากรณีที่เกิดปัญหาและแนวทางในการพัฒนาต่อไปกรณีที่ไม่เกิดปัญหา ภาษาธรรมะเรียกการนำเสนอแบบนี้ว่า “อาทิกัลยาณะ มัชเฌกัลยาณะ ปริโยสานกัลยาณะ” คือ งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด ปัจจุบัน พระเดชพระคุณได้กลายเป็นแม่แบบในการพัฒนาตนทางด้านวิชาการของลูกหลานทุกคนไปแล้ว โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ด้านพระพุทธศาสนา เมื่อใดก็ตามที่เกิดความท้อถอยในการฝึกฝนอบรมตนด้านวิชาการ ก็จะนึกถึงอุปการคุณของพระเดชพระคุณที่ได้สร้างสรรค์งานด้านวิชาการพระพุทธศาสนาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา โดยไม่ต้องลำบากไปค้นคว้าจากแหล่งอื่นบางท่านก็คัดลอกเอาตรง ๆ ทั้งหมด บางท่านก็ยกมาอ้างอิงเป็นตอน ๆ บางท่านก็หยิบยกขึ้นเพียงศัพท์เดียวแล้ววิเคราะห์วิจารณ์ แล้วแต่อุปนิสัยจิตใจและความจำเป็นของแต่ละคน

ด้วยความเคารพอย่างสูง...

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕