หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย ผศ.ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร » อารยันชาวพุทธ
 
เข้าชม : ๓๙๒๗๕ ครั้ง

''อารยันชาวพุทธ''
 
ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร (2548)

อารยันชาวพุทธ*

       

 เมื่อเห็นคำว่า “ชาวพุทธ” ปรากฏในชื่อบทความนี้ ก็คาดคะเนได้เลยว่าเรื่องราวต่อไปนี้ คงเต็มไปด้วยบรรยากาศเก่า คร่ำคร่าด้วยกาลเวลา  ถึงแม้ว่าเรื่องทำนองนี้มีปรากฏอยู่ดาษดื่นทั่วไปแล้ว ก็ยังต้องศึกษาหาข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งไม่รู้อีกด้วยว่าเมื่อไรจึงจะได้คำตอบที่น่าพอใจ 

 เวลานี้ ผู้ที่สนใจพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาสากลหรือพระพุทธศาสนาในสังคมไทย บางคนเริ่มศึกษาประวัติของพระศาสดาก่อน บางคนเริ่มจากคำสอนแล้วจึงไปศึกษารายละเอียดเรื่องอื่น ประวัติของผู้ก่อตั้งศาสนาส่วนใหญ่จะมีเรื่องแปลกประหลาดซึ่งไม่เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ทั้งเรื่องตำนาน พงศาวดาร และประวัติศาสตร์ เพราะต้องการจะยกย่องพระศาสดาให้มีลักษณะเด่นพิเศษเหนือกว่าคนธรรมดาสามัญ  แม้คนที่เกี่ยวข้องกับพระศาสดาก็พลอยมีลักษณะพิเศษแปลกไปด้วย เรื่องใดจริง เรื่องใดเสริมแต่ง วินิจฉัยได้ยาก สำหรับชาวพุทธ ถ้าเริ่มศึกษาและมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้วิเศษก็จะมีผลต่อการศึกษาเรียนรู้คำสอนต่อไป หรือถ้าเริ่มต้นแล้วมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนมีปัญญามากก็มีผลต่อการศึกษาเรียนรู้ต่อไปอีกเหมือนกัน 

ความเข้าใจเรื่องพระพุทธเจ้าที่ไม่ตรงกันนี่เอง ที่ทำให้เกิดนิกายต่าง   พระพุทธเจ้าทรงเป็นใครกันแน่ เรื่องในลักษณะนี้ พระพุทธศาสนาเถรวาทมีคำตอบอยู่แล้วในคัมภีร์ ยุคนี้ ถ้าเราไม่มีความสงสัยเสียเลยก็ดูจะเคร่งครัดอิงตำรามากจนเกินไป ถ้าหากมีความสงสัยอยู่บ้างอย่างน้อยก็จะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามกาลามสูตร รู้จักขบคิดวินิจฉัย ไม่ด่วนสรุป สมกับที่เป็นชาวพุทธยุคโลกาภิวัตน์  ในพระพุทธศาสนามีการวินิจฉัย ลักษณะ คือ วินิจฉัยตามความรู้  วินิจฉัยตามความอยาก วินิจฉัยตามความเห็น และวินิจฉัยตามความวิตก (วินิจฺฉโย ปน ญาณตณฺหาทิฏฺฐิวิตกฺกวเสน จตุพฺพิโธ) การศึกษาเรียนรู้  ถ้าฝืนทำโดยไม่มีวิจารณญาณก็มีโอกาสผิดพลาดด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อหรือความไม่เชื่อก็ตาม 

ใครคืออารยัน? เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร?

          . ความเป็นมาของอารยัน

          อารยัน  ตรงกับคำศัพท์ในพระพุทธศาสนา คือ อริยะ หรือ อริยกะ หมายถึง  ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐ ที่แปลตรง คือ อริยบุคคล หมายถึง ผู้บรรลุธรรมวิเศษมีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น คำนี้มีความหมายกว้าง  ในกาลอดีต คำว่า อารยัน (อริยะ,อริยกะ) ใช้เรียกกลุ่มคนผู้มีความก้าวหน้าทางเกษตรกรรม มีภูมิลำเนาอยู่ในกลางทวีปเอเซีย แถบทะเลแคสเปียน กระจัดกระจายแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าอยู่ในยุโรปก็มี ในเปอร์เซีย คือ   อิหร่าน และในอินเดีย ก็มี  ในอินเดีย อาศัยอยู่เขตทางเหนือ ในรัฐปัญจาบ  แคชเมียร์  คาบูล และคันธาระ  บางครั้งพวกอารยันในอินเดียชิงอำนาจกันเอง

เซอร์ มอร์เนีย วิลเลียม ให้ความหมายว่า อารยันเป็นชื่อเรียกเผ่าชนที่อพยพเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดีย เมื่อหลายพันปีมาแล้ว และรุกไล่ชนเจ้าถิ่นเดิมให้ถอยร่นลงไปทางใต้และป่าเขา พวกอารยันถือตัวว่าเป็นพวกเจริญ และเหยียดชนเจ้าถิ่นเดิมว่าเป็นพวกมิลักขะ คือ พวกคนป่าเถื่อน เป็นพวกทาส ต่อมาเมื่อพวกอารยันเข้าครอบครองถิ่นฐานมั่นคงและจัดหมู่ชนเข้าในระบบวรรณะลงตัวโดยให้พวกเจ้าถิ่นเดิมหรือพวกทาสเป็นวรรณะศูทร คำว่า อารยัน ก็หมายถึง คนวรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ และวรรณะแพศย์ ส่วนพวกศูทรและคนพวกอื่นไม่ใช่อารยัน

. ค่านิยมเรื่องความเป็นอารยัน

              เมื่อกล่าวถึง อารยัน หรืออริยะ รู้กันว่าเป็นคนวรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ และวรรณะแพศย์  กลุ่มคนที่ไม่จัดอยู่ใน วรรณะ จึงกลายเป็นอนารยะ ถูกดูหมิ่นดูแคลน แต่อีก วรรณะ กลับได้รับการยกย่อง มีการศึกษา มีความรู้ดี ผู้มีการศึกษาดีมักอยู่ในตระกูลที่ดี อารยัน (อริยะ) คำนี้มีนัยแฝงเร้น แบ่งแยก ดูแคลน ใครท่าทางดี ดูศิวิไลซ์ ยกย่องให้เป็นอารยัน ใครไม่เข้าท่าล้าหลัง จะถูกข่มเหงกดขี่ว่าไม่ศิวิไลซ์ ไม่ใช่อารยัน

              ในอดีต พราหมณ์แบ่งอารยันด้วยวิธีกำหนดอาณาเขตที่อาศัยอยู่และภาษาที่ใช้ จำกัดเขตอารยันว่าจะต้องเกิดในดินแดนที่ตนกำหนดไว้ คือ ทิศตะวันออกแถบภูเขาอาธรศะ  ทิศตะวันตกติดป่ากาลกะ ทิศใต้ติดภูเขาหิมาลัย ทิศเหนือติดภูเขาวินธัย   อาณาเขตที่ถูกกำหนด เป็นดินแดนไม่กว้างนักหากเทียบกับพื้นที่ชมพูทวีปทั้งสิ้น อยู่ภาคกลางขึ้นไปด้านเหนือ  

             ศาสดามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) ของศาสนาเชน ถือกำเนิดในวรรณะกษัตริย์ อินเดียตะวันออก เกิดนอกเขตอารยันที่พราหมณ์กำหนด ศาสดามหาวีระตำหนิการยึดถือวรรณะ ถือว่ามนุษย์จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตได้เพราะความเพียรพยามและความมีระเบียบวินัย  ศาสนาเชนแบ่งอารยันออก กลุ่ม ได้แก่  อารยันชั้นสูง กับอารยันทั่วไป แล้วแบ่งอารยันออกไปอีก (จัดโซนนิ่ง) กำหนดถิ่นที่อยู่อาศัย  ชาติกำเนิด เผ่าพันธุ์ หน้าที่  อาชีพการงาน ภาษา สติปัญญา และจิตสำนึก แยกกลุ่มคนป่า (มิลักขะ) ๔๔ เขต กลุ่มอารยัน ๒๖ เขต (เชนกำหนดเขตของอารยันครอบคลุมดินแดนของอารยันที่พราหมณ์กำหนดไว้ ดูแผนที่ชมพูทวีป หากสมมติว่าเป็นฟองไข่วางในแนวนอน วงไข่แดงคือเขตอารยันของพราหมณ์  เส้นรอบวงไข่ขาวคือเขตอารยันที่เชนกำหนด)

         .  ผู้นำอารยันชาวพุทธ

         พราหมณ์และเชนกำหนดความเป็นอารยันด้วยสถานที่ ภาษา ชาติกำเนิด และอาชีพการงาน ผู้เกิดในดินแดนที่พวกตนกำหนดไว้เท่านั้นจึงจะเป็นอารยัน ถ้าหากเกิดนอกถิ่นนั้นออกไปก็ไม่ใช่อารยัน  พราหมณ์และเชนมีความหวงแหน มีมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม ในสังคมที่ยกย่องความเป็นอารยัน จึงได้เกิดอารยันกลุ่มใหม่ เป็นอารยันชาวพุทธ มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำ พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านความยึดถือค่านิยมดังกล่าว ทรงให้นัยความเป็นอารยันในแนวใหม่ 

ผู้นำอารยันของชาวพุทธ พระองค์ทรงถือกำเนิดในชมพูทวีป อินเดียตอนเหนือ มีถิ่นกำเนิดใน     ศากยวงศ์ แคว้นสักกะ (เนปาล) อยู่ใต้อาณัติของแคว้นโกศล เป็นบ้านพี่เมืองน้องกับแคว้นโกลิยะ มีแม่น้ำโรหิณีกั้นเขต ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้รู้บางคนกล่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะมีเชื้อสายมองโกเลียน (Mongolian stock) สกุลโคตมะ  พระมารดาคือพระนางมายาเทวี มีความสัมพันธ์กับเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี  ซึ่งเป็นชนเผ่าเดียวกับศาสดามหาวีระ

ไม่มีข้อมูลว่า พระพุทธเจ้ากับนิครนถ์นาฏบุตร(ศาสดามหาวีระ) มีความสัมพันธ์กันอย่างไร พระศาสดาทั้งสองไม่เคยพบปะสนทนากันเลย ในประวัติศาสตร์ ศากยะกับลิจฉวีเป็นชนกลุ่มเดียวกัน ในกลุ่มมองโกลตะวันออก  จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่พระศาสดาทั้งสองเป็นพระญาติกันข้างฝ่ายมารดา  

ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธะ ซึ่งเป็นพระนามยิ่งใหญ่(อุคคตนาม)ที่หลายคนมักชอบอ้าง ในยุคนั้นมีค่านิยมว่า พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่รู้ความจริง มนุษย์ไม่อาจรู้ความจริง พระพุทธเจ้าทวนกระแสความเชื่อที่ว่านั้น ทรงประกาศพระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ คือ รู้ความจริงโดยชอบได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปพึ่งพิงพระเป็นเจ้าที่ไหนเลย  จึงปรากฏว่ามีผู้ไปท้าทดสอบความรู้ของพระองค์หลายต่อหลายครั้ง พระองค์ตั้งสังคมของชาวอารยัน คือ อริยสงฆ์ (อริยะ+ สังฆะ,  ได้นำระบบสังฆะที่มีอยู่แล้ว มานิยามความเสียใหม่) ประกาศทางสายกลาง  ผู้เดินตามทางสายกลางจะมีคุณสมบัติลดลั่นกัน การละกิเลสได้เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดความเป็นอารยันในสังคมใหม่ โดยมีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญ

              พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธค่านิยมหลายอย่าง เช่น “อย่าถามถึงชาติกำเนิด จงถามความประพฤติ”  “คนจะเป็นอารยันก็เพราะการกระทำของตนเอง” ทรงให้โอกาสคนทุกวรรณะเข้ามาสู่สังคมของอริยสงฆ์  เมื่อได้มาพัฒนาตนจะกลายเป็นอารยัน (อริยชาติ) มีหลักการดำเนินชีวิตสำหรับอารยัน วิธี (อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือ อารยอัษฎางคิกมรรค)  ความจริงสำหรับอารยัน อย่าง (จตุราริยสัจจ์)  การแสวงหาแบบอารยัน (อริยปริเยสนา) กฎระเบียบสำหรับอารยัน (อริยวินัย)  ทรัพย์สำหรับอารยัน (อริยทรัพย์)  เป็นต้น 

             ครั้นตรัสชวนผู้เข้ามาสู่สังคมใหม่ จะมีสำนวนว่า พระองค์ใช้ภาษาชัดเจน นำเสนอยักเยื้องหลายวิธี  พระดำรัสแจ่มชัดเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือ ส่องไฟในที่มืดให้คนตาดีมองเห็น ด้วยหวังให้เขามองเห็นรูปได้  ผู้ได้ฟังพระดำรัสแล้ว ย่อมฉลาดกว่าเมื่อยังไม่ได้ฟัง         

              พระองค์ได้ประกาศคำสอนในเมืองโกสัมพี  เมืองสาวัตถี  เมืองเวสาลีและเมืองราชคฤห์        อินเดียเหนือ ในช่วงปลายพุทธกาล เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์  เมืองสาวัตถี  เมืองสาเกต  เมืองโกสัมพี  และเมืองพาราณสี  มีบทบาทด้านการเมืองการปกครอง

.  มหาสติปัฏฐาน :  ธรรมเครื่องอยู่ของอารยัน (อริยวิหาร)

ความศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ การเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดไว้แน่นอนของพวกอาชีวก กิริยา   วาทะของนิครนถ์นาฏบุตร และวิภัชชวาทะของพระพุทธเจ้า เป็นความเชื่อที่มีกระแสแข่งขันอย่างเข้มข้น การสอนให้มีสติเท่าทันอารมณ์(มหาสติปัฏฐาน) ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมที่พวกพราหมณ์สอนว่า พรหมสร้างมนุษย์ สร้างพราหมณ์จากโอษฐ์  สร้างขัตติยะจากพาหา สร้างแพศยะจากโสณี สร้างศูทรจากเท้า  เมื่อพวกพราหมณ์สอนว่ามีผู้สร้างโลก จึงสร้างพิธีกรรมที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงผู้สร้าง คนอินเดียมักเชื่อว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ สรรพสิ่งถูกสร้างมาเพื่อการบูชายัญ

          พระพุทธเจ้าทรงพยายามลบล้างความเชื่อลัทธิบูชายัญ ทั้งระบบวรรณะที่กำหนดมนุษย์ไว้โดยชาติกำเนิด ทรงสอนเฉพาะสิ่งที่จะปฏิบัติได้และมีประโยชน์ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แม้เป็นจริงก็ไม่สอน  ช่วงชีวิตที่มีเวลาจำกัด เรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องทำคือการกำจัดทุกข์ที่เกิดขึ้น เปรียบคนถูกยิงด้วยลูกศร สิ่งที่ต้องรีบทำคือดึงลูกศรทิ้ง ไม่ใช่เที่ยวสาระวนหาตัวคนยิง หรือโอดครวญอยากรู้เหลือเกินว่าถูกยิงด้วยอะไร ใครเป็นต้นเหตุ

          เหตุที่ประกาศคำสอนท่ามกลางลัทธิอื่น ที่สอนให้หวังพึ่งสิ่งภายนอก ไม่สอนให้พึ่งตน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มองโลกอย่างเท่าทัน ศึกษาอย่างคนมีสติ  สอนให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  ชี้แนะวิธีแก้ไขปัญหาในร่างกายยาววาหนาคืบนี้นั่นเอง

          พระพุทธเจ้าทรงบอกให้มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงโดยรู้เท่าทัน ให้เข้าใจชีวิตตามเป็นจริง มองเห็นสิ่งที่ดูตรงกับที่ได้เห็น  เมื่อเห็นไม่ควรหลงติด เพราะถ้าติดย่อมพ้นไปไม่ได้    คำสอนของพระองค์ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ สิ่งนั้นก็เป็นความจริงอยู่อย่างนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ที่พระองค์จะไปบังคับข่มขู่ให้ใครเชื่อ ถึงแม้ไม่มีใครเชื่อ สิ่งที่สอนก็ไม่สาบสูญ คงพิสูจน์ทดสอบได้  เช่นที่สอนว่า คนมีสติจะพบแต่ความเจริญ  การดำเนินชีวิตอย่างมีสติรู้เท่าทันอารมณ์เป็นสิ่งพึงปรารถนา

          การสอนความจริงของชาวอารยัน (อริยสัจจ์) ทำให้รู้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเหมาะกับอารยันมากกว่าผู้ที่ไม่ใช่อารยัน ผู้ปฏิบัติตามได้จะเป็นอารยันหรืออริยะ พระองค์ทรงใช้คำสอนขัดเกลาอนารยชนให้เป็นอริยชน สิ่งที่สอนมีเหตุผล นำออกจากทุกข์  สงบระงับ เพราะทรงแนะนำสิ่งที่ทำให้เป็นคนฉลาด ให้รอบรู้ ให้เป็นอารยัน พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยกย่องพระพุทธเจ้าว่าทรงฝึกคนที่ใครฝึกไม่ได้ ทรงฝึกผู้ที่ใครจะทำให้สงบไม่ได้ให้สงบ ทรงทำคนที่ใครดับไม่ได้ให้ดับได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงมีอำนาจมีศัสตรา แต่ไม่สามารถฝึกผู้ใดได้  พระพุทธเจ้าไม่มีอำนาจ ไม่มีศัสตรา กลับฝึกได้

          พระองคุลิมาลสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วกล่าวว่า คนบางพวกฝึกสัตว์ด้วยอาชญาบ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง ท่านเองเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าผู้ไม่อาชญา ไม่มีศัสตรา ฝึกได้แล้ว

          อย่างไรก็ดี แม้คำสอนมีมากมายหลายระดับ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำ คือ สติ  เช่น  สติเป็นสิ่งที่จำต้องใช้ในที่ทุกสถาน สติเป็นเครื่องกั้นกระแสตัณหา รถคือร่างกาย มีสติเป็นดังสารถี ศรัทธาและปัญญาเป็นดังแอก ศีลเป็นดังเครื่องประดับ ฌานเป็นดังเพลา ความเพียรเป็นดังล้อ อุเบกขาเป็นดังทูบ ความไม่อยากเป็นดังประทุน  ธรรมทั้งปวงมีสติเป็นใหญ่  มีสติเป็นอธิปไตย  พึงมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ 

          การมีสติก็คือการรับรู้ความจริง รู้ว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ไม่ใช่ตกอยู่ใต้อำนาจของผู้สร้าง การมีสติจึงเป็นการสอนให้มองปัจจุบัน ไม่ต้องโทษสิ่งอื่น

. การฝึกกายและการฝึกจิตของชาวอารยัน

             พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ฝึกกายและฝึกจิต ถ้าหากไม่ฝึกกาย จิตก็ไม่ถูกฝึก ถ้าได้ฝึกกาย จิตจะได้รับการฝึกไปด้วย การฝึกกายเป็นกายภาวนา การฝึกจิตเป็นจิตตภาวนา การอบรมปัญญาเป็นปัญญาภาวนา จิตตภาวนาก็คือวิธีฝึกสติเพื่อรู้ว่ากำลังทำอะไร  จะได้รู้เท่าทันอารมณ์ อย่าห่วงพะวงอำนาจอย่างอื่น ถ้าหากฝึกจนถึงที่สุด ย่อมรู้เห็นเอง ทุกคนมีสติ จึงไม่ต้องไปหาสติจากที่ไหน ทุกคนมีสติ ต่างกันที่แต่ละคนมีสติไม่เท่ากัน  คนที่มีสติไพบูลย์จะมีก็แต่พระอรหันต์เท่านั้น              

          - สติปัฏฐานคือโพธิปักขิยธรรม

          ธรรมที่เกื้อหนุนต่อการบรรลุนิพพาน เป็นฝ่ายตรัสรู้  คือ โพธิปักขิยธรรม ในโพธิปักขิยธรรม   สติปัฏฐาน (มหาสติปัฏฐาน) เป็นองค์ธรรมหมวดหนึ่ง

          - มหาสติปัฏฐานกับกัมมัฏฐาน

           สติปัฏฐาน ต่างจาก  กัมมัฏฐาน

          สติปัฏฐาน คือ การใช้สติเหนี่ยวอารมณ์ เป็นภาเวตัพพธรรม หมายถึง ธรรมที่พึงภาวนา หรือทำให้เกิดขึ้น บางทีเรียกว่า วิชชาภาคิยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นส่วนแห่งความรู้  ที่เรียกชื่อเป็นสติปัฏฐาน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งสติ   

          กัมมัฏฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน ในมัชฌิมนิกาย มีคำว่า  ฆราวาสกมฺมฏฺฐานํ  แปลว่า การงานของฆราวาส  อาชีพของฆราวาส  กสิกมฺมฏฺฐานํ แปลว่า งานกสิกรรม  คำว่า ฆราวาสกมฺมฏฺฐานํ,  ฆราวาสกิจฺจํ,  และ ฆราวาสกมฺมํ  หมายถึงการงาน หรือ หน้าที่สำหรับฆราวาส  ในอังคุตตรนิกาย มีคำว่า กมฺมฏฺฐาเนน ใช้เป็นคุณศัพท์ของกสิกรรม  พาณิชยกรรม งานของช่างศร  งานรับราชการ และงานอื่น

          ในฎีกามีคำว่า วณิชฺชกมฺมฏฺฐานํ แปลว่า การค้าขาย และ ปพฺพชฺชกมฺมฏฺฐานํ แปลว่า การบวช        คำว่า กมฺมฏฺฐานํ, กิจฺจํ, กมฺมํ  จึงหมายถึง การงาน หรือ กิจธุระ ดังนั้น กัมมัฏฐาน จึงไม่ใช่งานของผู้ครองเรือนเท่านั้น ทั้งไม่ใช่งานสำหรับบรรพชิตฝ่ายเดียว  แต่กัมมัฏฐานเป็นงานทั้งของผู้ครองเรือนและของบรรพชิต

          กัมมัฏฐาน อย่าง ได้แก่ สมถกัมมัฏฐาน การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ และวิปัสสนากัมมัฏฐาน  การฝึกอบรมปัญญาให้รู้แจ้งเห็นตามเป็นจริง

          สมถกัมมัฏฐาน เปรียบเหมือนนายทหารใหญ่  วิปัสสนากัมมัฏฐานเปรียบเหมือนมหาอมาตย์

          กัมมัฏฐาน อย่าง แม้มีหลักปฏิบัติต่างกัน แต่เกื้อกูลส่งเสริมกัน สมถะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดวิปัสสนา  สมถะเป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนา 

          การสอนให้มีสติ ก็คือ ให้มีชีวิตอยู่โดยไม่ประมาท ซึ่งเป็นคำสอนที่สรุปกุศลธรรมทุกอย่าง       

มหาสติปัฏฐาน เรียกว่า  อานาปานสติ ก็ได้  กายคตาสติ ก็ได้  อสุภกัมมัฏฐาน ก็ได้ สติปัฏฐาน ก็ได้

          - ที่มาของมหาสติปัฏฐาน

          เมื่อประทับอยู่ นิคมกัมมาสธัมมะ  แคว้นกุรุ  พระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน

          ครั้งพุทธกาล แคว้นกุรุไม่มีบทบาททางการเมือง แต่มีความอุดมสมบูรณ์ พลเมืองมีสุขภาพอนามัยดี เฉลียวฉลาด  พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาลุ่มลึก (มหานิทานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร) ที่แคว้นนี้ เพราะปรารภเรื่องที่ชาวนิคมกัมมาสธัมมะสนใจสติปัฏฐาน ไม่ว่าทาส กรรมกรหรือบริวารชนต่างรู้วิธีการเจริญสติ  ใครไม่รู้จักสติปัฏฐาน จะถูกมองว่ามีชีวิตอยู่เหมือนคนตาย  คนที่สมบูรณ์วัดกันที่การเจริญสติ

          กุรุ เป็นมหาชนบท ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตกรุงเดลี และเขตอื่น ได้แก่ จังหวัดมีรัต ในอุตตรประเทศ และพื้นที่อยู่ทางเหนือขึ้นไป เรียกว่า กุรุเกษตร หรือ ฐาเนศวระ ในเขตโสนปัต ปานีปัต และกรนาละ ในรัฐหรยานะ

          พระอรรถกถาจารย์เล่าตำนานคำว่ากัมมาสธัมมะ ไว้ว่า สมัยพระเจ้าจักรพรรดิมันธาตุ     ชาวปุพพ      วิเทหะ ชาวอมรโคยานะและชาวอุตตรกุรุ รู้กันดีว่า ชมพูทวีปเป็นทวีปอุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่เกิดของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ จึงมาอยู่ที่ชมพูทวีป พร้อมด้วยพระเจ้ามันธาตุ  พระเจ้ามันธาตุตรัสถามขุนพลแก้ว ว่า มีสถานที่อื่นไหม ที่น่าอภิรมย์ยิ่งกว่าโลกมนุษย์ ขุนพลแก้วกราบทูลว่า มีเทวโลกอยู่ในภพดาวดึงส์ พระเจ้ามันธาตุจึงเสด็จไปเทวโลกพร้อมด้วยชาวปุพพวิเทหะ ชาวอมรโคยานะ และชาวอุตตรกุรุ เสวยทิพยสมบัติอยู่ในดาวดึงส์หลายปี ท้าวสักกะจุติถึง ๓๖ องค์ พระองค์ก็ยังไม่อิ่มด้วยกามคุณ  ต่อมา จุติจากเทวโลก ดำรงอยู่ในพระราชอุทยานของพระองค์นั่นเอง ทรงมีพระวรกายถูกลมถูกแดดจึงสวรรคต ผู้ที่ตามมาจากปุพพวิเทหะ อปรโคยานะ และอุตตรกุรุ ไม่รู้จะไปอยู่ที่แห่งใด จึงเข้าไปหาขุนพลแก้ว เอ่ยปากขอที่อาศัย ขุนพลแก้วจึงบอกให้คนเหล่านั้นแยกไปอยู่ในชนบทต่าง

          ผู้อพยพจากปุพพวิเทหทวีปไปอยู่ในวิเทหรัฐ ผู้อพยพจากอปรโคยานทวีปไปอยู่ในอปรันตชนบท ผู้อพยพจากอุตตรกุรุทวีปไปอยู่ในแคว้นกุรุ

          เทพนิยาย (เทพปกรณัม) เป็นประวัติศาสตร์ของอินเดีย ในสมัยโบราณ อินเดียเหนือเป็นถิ่นที่เจริญรุ่งเรือง ความเป็นมาของนิคมกัมมาสธัมมะโยงกับชยัททิสชาดกและมหาสุตโสมชาดก ส่วนดินแดน ทวีป ได้แก่ ปุพพวิเทหทวีป คือ ดินแดนในตุรกีตะวันออก ติดต่อกับจีนตอนเหนือ อปรโคยานทวีป คือ  ดินแดนในตุรกีตะวันตก อุตตรกุรุทวีป คือ ดินแดนในเขตไซบีเรีย

          นิทานพื้นบ้าน ชีวิตในชุมชน วินัยและชาดกก็เป็นแหล่งประวัติศาสตร์อินเดียด้วยเช่นกัน

          - ความสำคัญของมหาสติปัฏฐาน

          คนที่ฝึกสติอยู่เสมอ จะพบแต่ความเจริญ เพราะระวังอยู่ตลอดเวลา การฝึกสติช่วยรักษาตนเอง ขณะเดียวกันก็รักษาคนอื่นไปด้วย เปรียบเหมือนนักกายกรรม คนที่เล่นกายกรรมร่วมกัน ต่างฝ่ายทรงตัวเพื่อรักษาตนเอง ขณะเดียวกันก็รักษาอีกฝ่ายหนึ่งไปด้วย    

          - จุดประสงค์ที่แสดงมหาสติปัฏฐาน      

           พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องไตรลักษณ์ ทรงสอนว่า ทุกอย่างผันแปรตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่โดยไม่ผันแปร ความผันแปร เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์   เมื่อขันธ์ รวมกันเข้าจึงมีคน ขันธ์ เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์  ไตรลักษณ์ถูกบดบังมองเห็นได้ยาก ความสืบเนื่องบดบังอนิจลักษณะ อิริยาบถบดบังทุกขลักษณะ ฆนสัญญาบดบังอนัตตลักษณะ วิธีช่วยให้มองเห็นไตรลักษณ์ก็คือ กำหนดรู้การเคลื่อนไหวร่างกายและพฤติกรรมของร่างกาย

          ในคำสอนของพระพุทธเจ้า (ผู้นำอารยันของชาวพุทธ) ไม่มีเรื่องอื่นที่จะพ้นไปจากการสอนให้มีสติ สอนว่า ร่างกายหรือขันธ์   คือโลก เป็นแดนรับรู้อารมณ์  แดนรับรู้อารมณ์นี้ผันแปรอยู่ตลอด  ครั้นอารมณ์ผันแปร โลกก็ผันแปร จึงไม่มีสิ่งใดคงที่อย่างถาวร การรู้เท่าทันอารมณ์จะต้องมีสติ ต้องแยกสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นจริง ทำสิ่งที่ดูให้ตรงกับสิ่งที่เห็น  

          การกำหนดความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของร่างกาย ช่วยให้มองเห็นความผันแปร เห็นไตรลักษณ์  ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการที่ว่า ไม่มีสิ่งที่มีอัตตา ทั้งสิ่งที่มีอยู่ก็ไม่ใช่อัตตา

          พระพุทธเจ้าตรัสมหาสติปัฏฐาน เพื่อไม่ให้มีความเห็นผิด (วิปลาส) เพราะเห็นว่างาม                  (สุภวิปลาส) เห็นว่าเป็นสุข (สุขวิปลาส) เห็นว่าเที่ยงแท้ (นิจจวิปลาส) และเห็นว่ามีตัวตน (อัตตวิปลาส)  มีจุดประสงค์เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสรรพสัตว์   เพื่อข้ามความโศกและความคร่ำครวญ  เพื่อระงับความทุกข์โทมนัส  เพื่อบรรลุญายธรรม และเพื่อทำให้แจ้งนิพพาน 

          สติปัฏฐาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง คือ เอกายนมรรค หมายถึง ทางสายเดียว ทางเอกสายหนึ่งเดียว เป็นทางที่พึงดำเนินไปโดยลำพังผู้เดียว ผู้ปฏิบัติจะต้องปลีกตัวอยู่อย่างสงบวิเวก

          ที่ชื่อว่าเป็นทางสายหนึ่งสายเดียว เพราะเป็นทางดำเนินของท่านผู้เป็นเอก คือ ผู้ประเสริฐที่สุด หมายถึงพระพุทธเจ้า ถึงแม้มีคนอื่นเดินตามทางสายเอก แต่ทางนี้เป็นทางของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ  สติปัฏฐานมีอยู่ในสังคมของชาวอารยันเท่านั้น 

- หลักการของมหาสติปัฏฐาน

          หลักการในมหาสติปัฏฐาน คือ การมีสติ  ชีวิตมนุษย์มีจุดที่ควรใช้สติคอยกำหนด แห่ง ได้แก่ () ร่างกายและพฤติกรรมของร่างกาย () เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ต่าง () ภาวะแห่งจิตที่เป็นไปต่าง () ความคิดนึกไตร่ตรอง

          อาการต่าง ที่จะต้องมีสติกำกับ เรียกว่า

          .  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การพิจารณาเห็นกายในกาย  การใช้สติตามดูกาย

          . เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา  การใช้สติตามดูเวทนา

          . จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การพิจารณาเห็นจิตในจิต   การใช้สติตามดูจิต

          . ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การพิจารณาเห็นธรรมในธรรม  การใช้สติตามดูธรรม

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นทางสำหรับคนที่มีตัณหาจริตอย่างอ่อน

          เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นทางสำหรับคนที่มีตัณหาจริตอย่างแรงกล้า

          จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นทางสำหรับคนที่มีทิฏฐิจริตอย่างอ่อน

          ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นทางสำหรับคนที่มีทิฏฐิจริตอย่างแรงกล้า

แท้จริงแล้ว  สติปัฏฐาน อย่างนี้ มีหนึ่งเดียวเท่านั้น ว่าโดยอารมณ์จึงมี อย่าง เหมือนเมืองที่มีประตูในทิศทั้ง  

          นิพพานเหมือนเมือง  มรรคมีองค์ เหมือนประตูเมือง กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนทิศ

          อริยชนผู้ปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน ย่อมดำเนินไปสู่ปลายทางเดียวกัน คือนิพพาน

          ในกายานุปัสสนามีอานาปานสติ ซึ่งเป็นยอดกัมมัฏฐาน เป็นทางของการบรรลุคุณวิเศษและเป็นธรรมเครื่องอยู่ของชาวอารยัน 

          . อารยัน เหมือนคนตกน้ำแต่ไม่จม

การดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม เมื่อประสบกับความทุกข์ แต่ละคนมีท่าทีแตกต่างกัน หากเป็นปุถุชนผู้ไม่เคยศึกษาไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย ประสบทุกข์เข้าก็ได้แต่โอดครวญพร่ำรำพรรณไปต่าง นานา  แต่ถ้าเคยสดับตรับฟัง เคยเรียนรู้ศึกษามาก่อน เป็นอริยสาวก ย่อมจะรู้เท่าทัน ปรับอารมณ์ได้ ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นได้ แทนที่จะทุกข์มากก็ไม่เป็นเช่นนั้น ทุกข์มากกลายเป็นทุกข์น้อย จึงมีสำนวน “ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อริยสาวกผู้สดับ” บอกสภาพของผู้สดับคำสอนกับผู้ที่ไม่เคยสดับคำสอน เมื่อประสบปัญหาในชีวิตก็จะแก้ไขไปตามภูมิหลังของตน

เปรียบลักษณะคนในโลกนี้ เหมือนคนตกน้ำ จำพวก ได้แก่

 

บางคน จมครั้งเดียวก็ยังจมอยู่ตามเดิม  หมายถึง  ปุถุชนผู้ทุศีล

                   บางคน โผล่ขึ้นแล้วกลับจมลงอีก  หมายถึง  ปุถุชนผู้มีปัญญาง่อนแง่น

                   บางคน โผล่ขึ้นแล้วหยุดชะงัก  หมายถึง  ปุถุชนผู้มีศรัทธามั่นคง

                   บางคน โผล่ขึ้นแล้วเหลียวมองดูไปรอบ   หมายถึง  พระโสดาบัน

                   บางคน โผล่ขึ้นแล้วลุยข้ามไปหาฝั่ง  หมายถึง  พระสกทาคามี

                   บางคน โผล่ขึ้นแล้วลุยไป ได้ที่พึ่งพิง  หมายถึง  พระอนาคามี

                   บางคน โผล่ขึ้นแล้วลุยข้ามไปจนถึงฝั่ง  หมายถึง  พระอรหันต์

              ชุมชนอารยัน   จำพวกนี้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง และปฏิบัติสมควร 

          .  บันทึกของอารยัน ; พระไตรปิฎก

         สมัยพุทธกาล มีผู้รู้หลายสำนัก ชอบโต้แย้งมุ่งเอาชนะ วางท่าทางดังขมังธนู บางคนมีทรรศนะตรงกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านความเชื่อถืออย่างมิจฉาทิฏฐิ  ทรงสอนความจริง พร้อมปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง  เมื่อมีผู้ปฏิบัติตามมากขึ้น จึงปรากฏเป็นสถาบัน  จนเป็นศาสนามาจนถึงทุกวันนี้

         ศาสนาของชาวอารยัน (พระพุทธศาสนา) มีความเก่าแก่  เปรียบดังต้นไม้ที่มีอายุกว่าสองพันปี เรื่องตำนานและพงศาวดาร เป็นดังเปลือกห่อหุ้มลำต้น ผู้ศึกษาต้องแยกสิ่งที่เป็นเปลือกหรือว่าที่เป็นลำต้น   บางคนสงสัยว่า ทำไมมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย เช่นที่บอกว่า ก่อนประสูติ พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต  ชี้ให้ชัดได้ไหมว่า สวรรค์ชั้นดุสิตอยู่ที่ไหน เรื่องทำนองนี้ ถ้าหากว่ากันตามอักษรก็ต้องบอกว่าสวรรค์มีเป็นลำดับชั้น แต่ถ้าหากศึกษาเรื่องนั้นจากแหล่งปฐมภูมิ ย่อมจะพบว่าต่างออกไป  

ที่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ไม่ปรากฏในแหล่งปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎก

ในทีฆนิกาย  “พราหมณ์โปกขรสาติทราบข่าวว่า ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยะตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคะ” หรือ “ชาวบ้านขาณุมัตได้ฟังข่าวว่า ท่านพระสมณ โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยะตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ”

ในมัชฌิมนิกาย “พรหมายุพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยะตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นวิเทหะ” 

แหล่งปฐมภูมิ มีเพียงว่า  พระพุทธเจ้าเป็นศากยบุตร   ไม่มี “เสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต”

(ในมหาปทานสูตรกับอัจฉริยัพภูตธัมมสูตร มีเหตุการณ์ว่าด้วยกฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์      (โพธิสตฺตธมฺมตา) พึงศึกษาต่อไปอีกว่าเรื่องนี้มีอยู่แล้วแต่เดิมหรือรับมาจากนิกายอื่น)

แล้วความที่ว่านั้นมาจากไหน ไปตรวจสอบในทุติยภูมิ คือ คัมภีร์อรรถกถา พบข้อความดังกล่าว จึงได้รู้ว่า ความที่ว่านั้นมาจากแหล่งทุติยภูมิคืออรรถกถา ไม่มีอยู่ในปฐมภูมิ (เว้นโพธิสตฺตธมฺมตา)

เหตุใดความเชื่อในทุติยภูมิ ที่เน้นเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ จึงแพร่หลายยิ่งกว่าในปฐมภูมิ เรื่องนี้ต้องโยงไปยังสังคมหลังพุทธกาล  การเกิดนิกาย รวมทั้งโลกทรรศน์ของผู้เขียนอรรถกถาอีกด้วย

             ในครั้งนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้จดไว้เป็นตัวหนังสือ พระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยภาษาท้องถิ่น ที่สื่อเข้าใจง่าย ครั้นพระองค์เสด็จดับขันธปริพพาน อริยสาวกต้องการให้คำสอนมีหลักการที่แน่นอน ได้ประชุมเรียบเรียงคำสอนจากภาษาพูดง่าย เป็นภาษาหนังสือ เพื่อสะดวกต่อการจำ แล้วแบ่งหน้าที่กันท่อง ทว่าพระสาวกทั้งหมดก็ใช่ว่าจะรู้สิ่งที่ตรัสไว้ เพราะไม่ได้ติดตามพระองค์อยู่ประจำ จึงต้องคัดเลือกผู้ที่เห็นว่ามีความใกล้ชิดติดตามพระองค์มากกว่าคนอื่น  จึงได้พระอานนท์ เพราะพระอานนท์เคยเป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า และมีชีวิตมาจนถึงภายหลังพุทธปรินิพพาน พระอานนท์กล่าวในที่ประชุมว่า “ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้” (เอวมฺเม สุตํ) ที่ประชุมได้วิพากษ์วิจารณ์หารายละเอียดในเรื่องนั้น ๆ ตามที่พระอานนท์กล่าวถึง วิธีนี้เรียกว่า สังคายนา คือ เรียบเรียงคำสอน  ครั้นได้เรียบเรียงภาษาพูดเป็นภาษาหนังสือแล้ว  จึงมีบทมีสำนวนมีโวหารไว้ท่อง  กลายเป็นวรรณคดีบาลี ท่องจำสืบกันมา การเรียบเรียงครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ยังไม่ได้เขียนเป็นหนังสือ  ผู้รู้บางคนกล่าวว่า คำสอนบางส่วนเขียนไว้แล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่อินเดีย  ส่วนมติทั่วไปคือ การเขียนพระไตรปิฎกมีครั้งแรกที่อาลุวิหาร  เกาะลังกา

               การรับช่วงคำสอน จากรุ่นสู่รุ่น เหมือนการผลัดส่งไม้ จึงต้องคัดเลือกผู้รับช่วงที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะกวี มีทั้งจินตากวี สุตกวี อัตถกวีและปฏิภาณกวี เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจถ้าหากได้พบสำนวนกวีในบันทึกของชาวอารยัน (พระไตรปิฎก)

               ผู้รู้แบ่งเหตุการณ์ในพระไตรปิฎกไว้  ยุค คือ พระเจ้าพิมพิสาร  พระเจ้ากาลาโศก  พระเจ้าอโศกมหาราช (ในอินเดีย)  พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ และพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย (ในเกาะลังกา)

             อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องลึกลับ(รหัสยนัย)  บันทึกของอารยันยุคแรก แม้ไม่มีเรื่องลึกลับ ต่อเมื่อผู้รับช่วงรับอิทธิพลความเชื่อในท้องถิ่น จึงเสริมเรื่องลึกลับเข้าไป ด้วยเจตนาดีมากกว่าหวังทำลาย

           เอ็ช. วูล์ฟกัน ชูมานน์  ชาวเยอรมัน กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงกำเนิดในสมัยเดียวกับทาเลส           อเนกซิมานเดอร์ ไพธากอรัส และเล่าจื้อ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรงกับเหตุการณ์ในสงครามเปอร์เซีย  และ เฮอร์แรกคลิตัส พาร์มีนิเดส และขงจื้อ  

            การศึกษาประวัติของบุคคลสำคัญในทางศาสนา พระศาสดาไม่ได้เขียนประวัติไว้ด้วยพระองค์เอง  คนรุ่นต่อมาเป็นผู้เขียนไว้  เราจึงพบความพิสดารหลากหลาย (อรรถกถาบางเล่ม ผู้เขียนคนเดียวกันแต่เขียนขัดแย้งกัน ก็มี)  แต่จะเหมาว่าทุกอย่างแต่งเสริมก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ชีวประวัติของบุคคลคลาดเคลื่อนได้     สัจธรรมเป็นอกาลิกะ การศึกษาเรื่องอดีต ยิ่งถ้าได้ค้นกลับไปได้มากเท่าไร ก็เป็นแรงส่งไปข้างหน้าได้มากเท่านั้น ดังสุภาษิตที่ว่า ถ้าจะยิงลูกศรให้ไกลไปข้างหน้า  เราต้องน้าวสายธนูถอยไปเท่านั้น ถ้าน้าวกลับไปไม่ได้ไกล ลูกศรมันจะไม่สามารถพุ่งไปข้างหน้าได้ไกล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องรู้เรื่องในอดีต  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

ธนิต อยู่โพธิ์. วิปัสสนานิยม ว่าด้วยทฤษฎี และการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน.  กรุงเทพ : มูลนิธิธรรมนูญ   สังคาลวานิช, ๒๕๒๖.

พระธรรมปิฎก(.. ปยุตฺโต). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ พิมพ์ครั้งที่ . กรุงเทพ : โรงพิมพ์    

             มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ผู้จัดทำ). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.      

              กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

Chatterjee, A.K. Political History of Pre-Buddhist India. Calcutta : Indian Publicity Society, 1980.

Deshpande, Madhav M. Sanskrit & Prakrit Sociolinguistic Issues. Delhi :  :Motilal        

            Banarsidass,1993.

Hazra, Kanai Lal. Constitution of the Buddhist Sangha. Delhi : B.R. Publishing,1932.

Khosla, S.Lalitavistara  and The Evolution of Buddha Legend. New Delhi : Galaxy    

            Printers,1991.

Law,B.C. Ksatriya Clans in Buddhist India. Delhi : Nav Parbhat Printing Press,1993.

Mahajan, V.D. Ancient  India. New Delhi : S. Chanda,1995.

Mehta, R. Pre-Buddhist India. Delhi : Anmol Publications,1985.

Misra, Y. ed., Homage to Vaisali. Vaisali : Research Institute of Prakrit, Jainology and

            Ahimsa, 1985.

Sarao, K.T.S. Urban Centres and Urbanisation as Reflected in the Pali Vinaya and Sutta           Pitaka. Delhi : Vidyanidhi, n.d.

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


* ดร. สมิทธิพล  เนตรนิมิตร  .. ,  .., พธ. ., พธ., Ph.D. อาจารย์ประจำบัณิตวิทยาลัย มจร.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕