ในชีวิตปุถุชนคนมีกิเลสเช่นเรา ก็มีบ้างล่ะ ที่ทำดีและทำชั่วคละเคล้าปะปนกันไป ไม่มีใครหรอกที่จะทำแต่ความดีจนไม่มีความชั่วเลย และไม่มีใครหรอกที่จะทำแต่ความชั่วจนไม่มีดีอะไรให้เห็นเลย อย่างน้อยก็ต้องมีดีให้เห็นบ้าง แต่ทุกคนก็มุ่งที่จะอยากได้ดี อยากให้เขารู้ว่า เราดี ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา จึงพยายามทำให้คนอื่นสรรเสริญตัวเราเองว่า เป็นคนดี ให้ได้ไม่เช่นนั้นมันจะอับอายขายขี้หน้า และยิ่งอยู่ในสังคม สหัสวรรษใหม่ ซึ่งมีความเจริญทางด้านวัตถุรุดหน้าไปไกลและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประยุกต์วิทยา (technology) ที่ทันสมัยหลายอย่าง มีสิ่งที่คอยบำเรอความสุขของคนเราทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดูไปแล้วคนเราน่าจะมีความสุขและความสบายมากกว่าแต่ก่อน ตรงกันข้าม มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจในรูปแบบต่างๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความคับข้องใจ เป็นต้น ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตอ่อนแอ ทรุดโทรมหรือแปรปรวนจนเกิดเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย จึงต้องหา ทางออก ของชีวิต
คำว่า ทาง แปลว่า ทำให้เตียน ทำให้สะอาด ถ้าเป็นชื่อของธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องดำเนินไปสู่พระนิพพาน หรือทางที่บุคคลผู้ต้องการพระนิพพาน ควรดำเนินไป
ทาง นั้น จำแนกออกเป็น ๒ คือ ปกติมัคโค ๑ ปฏิปทามัคโค ๑
๑. ปกติมัคโค ทางปกติ ได้แก่ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น สำหรับคนและสัตว์เดิน
๒. ปฏิปทามัคโค ทางปฏิบัติ ได้แก่ บุญบาปที่คนทำ สำหรับกาย วาจา ใจ เดิน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้ว่า
เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย, ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย, ายสฺส อธิคมาย, นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย, ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺานา.
แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ๑ เพื่อระงับความโศก ๑ เพื่อระงับความคร่ำครวญ ๑ เพื่อดับทุกข์ ๑ เพื่อดับโทมนัส ๑ เพื่อบรรลุอริยมรรค ๑ เพื่อเห็นแจ้งพระนิพพาน ๑ ทางเดียวนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔
ในเมื่อปุถุชนคนธรรมดาสามัญทั้งหลายยังมีกิเลส เช่น รัก โกรธ และหลง เป็นต้นอยู่ คนทั้งหลายจึงทำสิ่งที่เป็นความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ประทุษร้ายสัตว์ ลักขโมยทรัพย์ และพูดเท็จ เพราะผลแห่งความชั่วเหล่านี้ เขาเหล่านั้นจึงต้องรับทุกข์อยู่ในอบายภูมิทั้ง ๔ ถ้าแม้มีผลของการทำดีบางอย่างอยู่บ้าง เขาเหล่านั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้รับทุกข์ทั้งหลาย เช่น ตายในเวลาไม่สมควร มีความป่วยไข้และความยากจน กิเลสเหล่านี้ เป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นเกิดแล้วเกิดเล่า และด้วยเหตุนี้ จึงประสบความทุกข์ เช่น ความแก่ ความเจ็บไข้และความตาย ถ้าคนเราปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องพยายามทำตนเอง ให้บริสุทธิ์จากกิเลส
การที่คนเราจะทำตนเองให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลาย ก็มีอยู่ทางเดียว เท่านั้นคือทางแห่งสติปัฏฐาน ที่ผู้ปฏิบัติตามดูสิ่งซึ่งดำเนินอยู่ในใจ และในกายของตนเอง ถ้าคนเราปรารถนาจะกำจัดกิเลส เช่น โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ให้ออกไปจะต้องดำเนินตามเส้นทางสติปัฏฐานนี้ทางเดียว คำว่า เอกายโน หมายความว่า ทางเดียว คือ ไม่มีทางอื่น ไม่มีทางเลือกสายอื่น ถ้าเดินตรงไปตามทางสายเดียวนี้ จะไม่ไปผิดทาง เพราะไม่มีทางเบี่ยง และมั่นใจได้ว่า จะบรรลุถึงเป้าหมาย โดยวิธีเดียวกัน ถ้าฝึกฝนตัวเองในทางสติปัฏฐาน ในที่สุด จะบรรลุพระอรหันต์ซึ่งเป็นสภาวะอันประเสริฐสุดของความเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงโดยทันทีและโดยสิ้นเชิง เพราะพระศาสดาพุทธเจ้าตรัสสอนให้ดำเนินตามทางแห่งสติปัฏฐานนี้ เพื่อทำกิเลสเครื่องหมองทั้งหลายทั้งปวงให้สิ้นไป
เอกายนํ ชาติขยนฺตทสฺสี
มคฺคํ ปชานาติ หิตานุกมฺปี
เอเตน มคฺเคน ตรีสุ ปุพฺเพ
ตริสฺสเร เจว ตรนฺติ โจฆํ
แปลความว่า
เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงเห็น (พระนิพพาน คือ) ความสิ้นและความสุดแห่งความเกิด มีพระหฤทัยอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ ทรงตรัสรู้ (สติปัฏฐาน) มรรค คือ ทางดำเนินทางเดียว พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ได้ปฏิบัติทางสติปัฏฐานนี้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์ และบรรลุพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดทุกข์ทั้งปวง ในกาลอนาคตก็เป็นเช่นกัน มหาบุรุษทั้งหลายก็ดี ในกาลก่อนทุกพระองค์ทุกท่านได้ปฏิบัติทางสติปัฏฐานนี้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์และบรรลุพระนิพพานซึ่งเป็นที่สิ้นสุดทุกข์ทั้งปวง จักข้ามโอฆะสงสารบรรลุพระนิพพาน ในโลกปัจจุบันนี้เช่นเดียวกัน พระโคตมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายของพระองค์ก็ทำตนเองให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลาย และข้ามโอฆะสงสารบรรลุพระนิพพาน โดยดำเนินทางสติปัฏฐานนี้
ความจริง ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลเรื่องนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ทรงรับรองและตรัสสอนแก่พวกเรา ประชาชนทั้งหลาย ต่างเศร้าโศกและคร่ำครวญเพราะการสูญเสียสามีภรรยาของตน สูญเสียบุตรธิดา สูญเสียมารดาบิดาของตน สูญเสียคนใกล้ชิดและคนรักของตน ๆ อีกทั้งต่างพากันเศร้าโศก เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง ความสูญเสียทั้งหลายนี้ เป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัว ถ้าไม่มีสิ่งน่าสะพรึงกลัวทั้งหลายเช่นกล่าวนี้ จะพึงมีความสุขสงบสักเพียงไร เพราะฉะนั้น ควรพยายามทำสิ่งเป็นทุกข์โศกทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุดไป แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงทุกข์โศกทั้งหลายเหล่านั้นโดยเพียงแต่สวดมนต์ วิงวอนต่อเทวดาทั้งหลายใด ๆ ที่คิดว่ามีอยู่ จะสามารถทำทุกข์ยากทั้งหลายทั้งปวงให้สิ้นสุดได้ก็ด้วยการฝึกหัดปฏิบัติในทางสติปัฏฐานนี้เท่านั้น
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีสตรีผู้หนึ่งมีนามว่า ปฏาจารา ได้สูญเสียสามีและลูกชายอีก ๒ คน และสูญเสียมารดาบิดาพี่ชาย กับทั้งคนใกล้ชิดและคนที่รักของเธอ ได้ถูกความโศกเศร้าท่วมทับจนทำให้เธอเป็นบ้า ครั้นวันหนึ่ง ได้เข้ามาในพระวิหาร ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม ครั้นได้สดับพระธรรมของพระบรมศาสดา เธอก็กลับได้ปฏิบัติสติปัฏฐานภาวนา และทำความเศร้าโศกและความคร่ำครวญให้หมดสิ้นไป นางก็ได้รับความสงบใจตลอดกาลชั่วนิรันดร์
ในกาลทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ได้มีผู้คนสูญเสียลูกชายลูกสาว สูญเสียสามีภริยา สูญเสียมารดาบิดา และถูกทับถมด้วยความเศร้าโศก จนไม่เป็นอันกินอันนอน ต่างก็พากันหาทางปลดเปลื้องความโศกเศร้า
การปฏิบัติสติปัฏฐาน จะนำคนเราไปสู่การระงับความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ มิใช่เฉพาะในชาตินี้ แต่ตลอดไปในชาติหน้าด้วย ดังนั้น ถ้าต้องการทำความเศร้าโศกและความคร่ำครวญเหล่านี้ให้สุดสิ้น จะต้องเริ่มดำเนินตามทางสติปัฏฐานภาวนานี้
ยิ่งกว่านั้น ทุกคนในโลกนี้ต่างได้รับทุกข์ เพราะทุกข์ทั้งหลายมีอยู่ทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ใจ ถ้าสามารถกำจัดทุกข์กายและทุกข์ใจทั้งหลายนี้ออกไป ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขกายสบายใจ ทุกข์ทางกาย ก็คือ ความเจ็บป่วยในร่างกายซึ่งเนื่องมาจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ถูกคนอื่นประทุษร้ายเป็นเหตุ เนื่องด้วยสภาพของดินฟ้าอากาศเป็นเหตุให้ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป เนื่องด้วยอุบัติเหตุ เช่น ลื่นไถล, ถูกหนามตำ, พลัดตก, หกล้ม เป็นต้น ทางใจ ก็เช่น ความทุกข์ความโศก เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความสูญเสียคนรัก สูญเสียทรัพย์สมบัติหรือประสบอันตราย หรือปรารถนาแล้วไม่สมหวัง ไม่มีผู้ใดใครอื่นสามารถจะช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์กายและทุกข์ใจทั้งหลาย มีหลายกรณีที่บุคคลเกิดกลัดกลุ้มใจ เนื่องด้วยธุรกิจการงานของตนล้มเหลวลง แต่ได้ประสบความสงบทางใจด้วยการปฏิบัติสติปัฏฐาน อย่างไรก็ตาม การกำจัดความทุกข์หลายทั้งทางกายและทางใจ ได้ทันทีและโดยสิ้นเชิงนั้น จะทำได้เฉพาะพระอรหันต์ เมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทั้งทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ ตลอดกาลแห่งชีวิต
เพราะฉะนั้น ขอเชิญชวนท่านทั้งหลานดำเนินตามทางสติปัฏฐาน ดังกล่าวนี้ เพื่อแก้ปัญหาหรือดับทุกข์
คนเราที่ยังเวียนว่ายตายเกิดและได้รับทุกข์ คือ ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย ก็เพราะยังมีกิเลสอยู่ในตนเอง เช่น โลภ โกรธ และหลง เป็นต้น กิเลสเหล่านี้ซึ่งเป็นเหตุก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายนั้น สามารถกำจัดได้ด้วยอริยมรรคเท่านั้น และการที่คนเราสามารถบรรลุอริยมรรคได้ ก็โดยปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานทางเดียว ยิ่งไปกว่านั้น พระนิพพานซึ่งเป็นสุขอันสุดยอด และเป็นที่สิ้นสุดแห่งกองทุกข์ทั้งปวงก็สามารถบรรลุได้แต่โดยทางสติปัฏฐานนี้เท่านั้น การที่จะบรรลุอริยมรรคซึ่งทำกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไป และได้บรรลุพระนิพพาน ซึ่งหมายถึงการระงับดับทุกข์ทั้งปวงนั้น เราทั้งหลายจะต้องดำเนินตามทางสติปัฏฐาน
มาทางนี้
ทางแห่งสติปัฏฐาน
สติปัฏฐาน ๔ คืออะไรบ้าง
(๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ (ปัญญา) ความรู้ตัว ติดตามดูกายในกายอยู่ ย่อมกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก คือ อัตตภาพร่างกายเสียได้
(๒) เป็นผู้มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ (ปัญญา) ความรู้ตัว ติดตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ย่อมกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกคืออัตตภาพร่างกายเสียได้
(๓) เป็นผู้มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ (ปัญญา) ความรู้ตัวติดตามดูจิต (ความคิด) ในจิตอยู่ ย่อมกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกคืออัตตภาพร่างกายเสียได้
(๔) เป็นผู้มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ (ปัญญา) ความรู้ตัว ติดตามดูธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกคืออัตภาพร่างกายเสียได้
สติปัฏฐาน มี ๔ ทาง ได้แก่
๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การเอาสติเข้าไปตั้งติดตามดูกาย
๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การเอาสติเข้าไปตั้งติดตามดูเวทนาทั้งหลาย
๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การเอาสติเข้าไปตั้งติดตามดูจิต (ความคิด)
๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การเอาสติเข้าไปตั้งติดตามดูธรรม (อารมณ์)
บรรดาสติปัฏฐาน ๔ ทางนั้น ได้แก่
๑. กายานุปัสสนา การติดตามดูกาย
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติเข้าไปตั้งติดตามดูกองรูป (รูปขันธ์) ซึ่งเรียกว่า กาย ได้แก่การติดตามดูกาย ๑๔ ทาง คือ
ทางที่ ๑ ได้แก่ อานาปานสติภาวนา คำว่า อานาปานะ หมายถึง ลมหายใจเข้าและออก ทุกครั้งที่หายใจเข้าและหายใจออก ลมจะผ่านรูจมูก ผู้ปฏิบัติพึงทำการกำหนดลมหายใจเข้าและออก ด้วยการกำหนดตามอาการนั้นจะทำให้ฌานสมาธิเกิดยิ่ง ๆ ขึ้น และจากฌานสมาธินี้ ผู้ปฏิบัตินั้นจะทำให้เกิดวิปัสสนาญาณ หยั่งเห็นธรรมชาติที่ไม่เที่ยงของปรากฏการณ์ทางใจและทางกาย
ทางที่ ๒ ได้แก่ การติดตาม การเดิน การยืน เป็นต้น
ทางที่ ๓ ได้แก่ การติดตามดูด้วยสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) ๔ อย่าง
ทางที่ ๔ ได้แก่ การติดตามดูส่วนทั้งหลาย (อาการ ๓๒) ของกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เมื่อทำฌานสมาธิให้เกิดยิ่ง ๆ ขึ้น ด้วยการติดตามดูส่วนทั้งหลายเหล่านี้ ผู้ปฏิบัติก็สามารถทำวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นจากฌานสมาธินั้น
ทางที่ ๕ ได้แก่ การเจริญวิปัสสนา ด้วยการติดตามดูธาตุทั้ง ๔
การติดตามดูกาย ซึ่งเรียกว่า กายานุปัสสนา อีก ๙ ทางที่เหลือ (คือตั้งแต่ทางที่ ๖ ถึงทางที่ ๑๔) เป็นการเปรียบเทียบร่างกายของตนเองกับร่างกายคน ที่ตายแล้ว เพื่อปลุกใจให้เกิดความเห็นว่า ไม่งาม น่าเกลียดน่าชัง
ในทางปฏิบัติตามทางสติปัฏฐานนั้น ท่านสอนให้กำหนดรูปก่อน เพราะรูปเป็นสิ่งที่ปรากฏชัด เห็นได้ง่าย ถ้ากำหนดอรูปคือนามนั้น จะไม่ปรากฏชัด เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียด เห็นได้ยาก หมายความว่า พึงกำหนดรูปก่อน กำหนดนามทีหลัง ดังในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่าด้วยทิฏฐิวิสุทธินิทเทส แสดงไว้ว่า
หากโยคาวจรกำหนด รูป โดยมุขนั้นๆ แล้ว กำหนด อรูป (นาม) อยู่ แต่ อรูป ยังไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะอรูปเป็นของละเอียดสุขุม โยคาวจรผู้นั้น ไม่ควรละความพยายามในการกำหนด ควรพิจารณากำหนดรูปนั่นแหละบ่อย ๆ ทุกขณะ เพราะว่า รูป ของโยคาวจรที่ชำระล้างดีแล้ว สะสางดีแล้ว บริสุทธิ์ดีแล้ว ด้วยอาการใด ๆ สิ่งที่เป็น อรูป ทั้งหลายซึ่งมี รูป นั้นเป็นอารมณ์ก็จะปรากฏขึ้นมาเอง ด้วยอาการนั้นๆ[๘]
ในสติปัฏฐานสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงอิริยาปถปัพพะใหญ่และสัมป-ชัญญปัพพะย่อยไว้โดย ทางวิปัสสนา และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็แสดงไว้ว่า อิริยาปถปัพพะ (หมวดอิริยาบถใหญ่ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน) สัมปชัญญปัพพะ (หมวดอิริยาบถย่อย คู้ เหยียด ก้ม เงย ฯลฯ) และธาตุมนสิการปัพพะ (หมวดพิจารณาธาตุ) ทั้ง ๓ หมวดนี้ แสดงไว้โดยเป็นเส้น ทางสู่วิปัสสนา
การปฏิบัติวิปัสสนาตามทางสติปัฏฐาน ๔ นั้น เริ่มแรกผู้ปฏิบัติจะยังกำหนดทุกอิริยาบถทั้งในอิริยาบถใหญ่ และ อิริยาบถย่อย ไม่ได้ ท่านจึงกำหนดให้นำเอาอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มาปฏิบัติก่อน และในอิริยาบถ ๔ นั้น ให้นำเอาอิริยาบถ ๒ คือ อิริยาบถเดิน เรียกว่า เดินจงกรม และอิริยาบถนั่ง เรียกว่า นั่งสมาธิ มาเป็นหลักในการปฏิบัติ และถือเป็นอินทรีย์หลักคู่หนึ่งในอินทรีย์ ๕ คือ วิริยะ กับสมาธิ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เป็นคำถามคำตอบใน อปัณณกสูตร ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้ ในกลางวัน ทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ และอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำบังใจ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการ
นั่งสมาธิ (รวมทั้งยืน) ในเวลากลางคืน ก็ทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์และอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำบังใจ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งสมาธิ ตลอดปฐมยาม (ยามต้น) ครั้นถึงมัชฌิมยาม (ยามกลาง) ในเวลากลางคืนก็สำเร็จ สีหไสยาสน์เอาข้างขวาลง (นอนตะแคงขวา)วางเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำไว้ในใจกำหนดจะลุกขึ้น ครั้นถึงปัจฉิมยาม (ยามสุดท้าย) ในคืนนั้นก็ลุกขึ้น ทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์และอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำบังใจ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรในการทำตนให้ตื่นอยู่เสมอ ด้วยวิธีการปฏิบัติอย่างนี้แล
การติดตามดูกาย ทางที่ ๒ ได้แก่ อิริยาบถ ๔ คือ
(๑) คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ.
ภิกษุเดินอยู่ ก็กำหนดรู้ว่า เดินอยู่
(๒) โต วา โตมฺหี ติ ปชานาติ.
หรือ ยืนอยู่ ก็กำหนดรู้ว่า ยืนอยู่
(๓) นิสินฺโน วา นิสินฺโนมฺหีติ ปชานาติ.
หรือ นั่งอยู่ ก็กำหนดรู้ว่า นั่งอยู่
(๔) สยาโน วา สยาโนมฺหีติ ปชานาติ.
หรือ นอนอยู่กำหนดรู้ว่า นอนอยู่
อิริยาบถยืน
การกำหนดอิริยาบถยืนหรือยืนกำหนด (Standing Meditation) ให้ยืนตัวตรงและศีรษะตั้งตรง วางเท้าทั้งสองเคียงคู่กันให้ปลายเท้าเสมอกันและให้ห่างกันเล็กน้อย มือทั้งสองประสานกันเอาไว้ข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้มองไปหรือทอดสายตา(ลืมตา)ไปข้างหน้าประมาณ 2 เมตร หรือ 1 วา มีความเพียร (อาตาปี) มีความระลึก (สติมา) ก่อนจะเดิน จะนั่ง จะนอน จะคู้ จะเหยียด ฯลฯ มีความรู้ตัว (สัมปชาโน) ขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด ฯลฯ แล้วตั้งสติกำหนดหรือภาวนา (นึกในใจไม่ต้องออกเสียง) ว่า ยืนหนอๆๆ (Standing Standing Standing ) 3 ครั้ง ข้อนี้เป็นการกำหนดตามอิริยาปถปัพพะกายานุปัสสนาแห่งสติปัฏฐานสูตรที่ว่า เมื่อยืนอยู่ก็กำหนดรู้ว่ายืนอยู่ (ฐิโต วา ฐิโตมฺหีติ ปชานาติ)
อิริยาบถเดิน
เดินจงกรม หรือ เดินกำหนด (Walking Meditation)นั้น ตามหลักในการปฏิบัติวิปัสสนา ท่านมิได้กำหนดให้เดินจงกรมทุกระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 6 ในคราวเดียวกัน เพราะกำลังของอินทรีย์ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ยังไม่แก่กล้า ฉะนั้นท่านจึงกำหนดให้เดินจงกรม 1 ระยะ ก่อน
เมื่อกำหนด ยืนหนอ ๆๆ แล้วให้เอาสติตั้งไว้หรือเก็บไว้ที่เท้า ให้ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าๆ พอประมาณ (จะก้าวเท้าขวาก่อนหรือเท้าซ้ายก่อนก็ได้ ) คือต้องให้เป็นปัจจุบัน หมายถึงคำกำหนดกับเท้าที่ก้าวไปต้องไปพร้อมกัน มิให้ก่อนหรือหลังกัน เช่น จงกรม 1 ระยะ (ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ) ขณะที่ยกเท้าขวาก้าวไปจนถึงวางเท้าลงกับพื้น (ให้ยกเท้าขึ้นห่างจากพื้นประมาณ 1 ฝ่ามือตะแคงของผู้ปฏิบัติเอง)โดยให้ตั้งสติกำหนดตั้งแต่เริ่มยกเท้าว่า ขวาย่างหนอ เมื่อเท้าเหยียบถึงพื้นก็ลงคำ หนอ พอดี ขณะยกเท้าซ้ายก้าวไปจนถึงวางเท้าลงกับพื้นก็ให้กำหนดเช่นเดียวกับเท้าขวาว่า ซ้ายย่างหนอ ทุกครั้งและทุกก้าวให้กำหนดต่อเนื่องกันไป อย่าหยุดเอาเท้าข้างไว้ และอย่ากำหนดแยกคำกันว่า ขวา........ย่าง.......หนอ ซ้าย.....ย่าง.....หนอ จะไปซ้ำกับจงกรม 3 ระยะ อย่างนี้เรียกว่า จงกรม 1 ระยะ
วิธีกำหนดอารมณ์อื่นที่มีมาแทรกขณะปฏิบัติ
ในขณะเดินจงกรมเมื่อมีเวทนาต่างๆ เกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน มึนชา
เป็นต้น ให้หยุดเดินก่อนแล้วไปกำหนดเวทนาว่า เจ็บหนอ เมื่อรู้สึกเจ็บ ปวดหนอ เมื่อรู้สึกปวด เมื่อยหนอ เมื่อรู้สึกเมื่อย คันหนอ เมื่อรู้สึกคัน ชาหนอ เมื่อรู้สึกชา หรือ สบายหนอ เมื่อรู้สึกสบายไม่สบายหนอ เมื่อรู้สึกไม่สบาย ดีใจหนอ เมื่อรู้สึกดีใจ เสียใจหนอ เมื่อรู้สึกเสียใจ เฉยหนอ เมื่อรู้สึกเฉยๆ จนกว่าความรู้สึก (เวทนา) นั้นจะหายไป และเมื่อเวทนานั้นหายไปแล้ว จึงกลับมากำหนดอารมณ์เดิม (Original Objects) คือ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ต่อไป
เมื่อจิตคิดถึงเรื่องต่างๆ หรือคิดไปที่อื่น ให้กำหนดว่า คิดหนอ เมื่อจิตยินดีในอารมณ์ ยินดีหนอ เมื่อจิตอยากได้ในอารมณ์ อยากได้หนอ เมื่อจิตโกรธโกรธหนอ เมื่อจิตหลง หลงหนอ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิสงบหนอ เมื่ออารมณ์เหล่านั้นหายไปแล้วจึงกลับมากำหนดอารมณ์เดิมต่อไป ข้อนี้ เป็นการปฏิบัติตามจิตตา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน แห่งสติปัฏฐานสูตร ที่ว่า เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ (สราคํ วา จิตฺตํ จิตตนติ ปชานาติ) เมื่อจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ (สโทสํ วา จิตตํ สโทสํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ) มื่อจิตหลงก็รู้ว่าจิตหลง หรือ เมื่อจิตคิดก็เห็นว่าคิด (จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ) การมีสติตามดูจิตดังที่กล่าวมานี้ เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เมื่อมีนิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น ถ้ารู้สึกพอใจ (กามฉันทะ) กำหนดว่า พอใจหนอ หรือ กามฉันทะหนอ ถ้าคิดร้าย (พยาบาท) กำหนดว่า ไม่พอใจหนอ หรือ พยาบาทหนอ ถ้าง่วงหนอหดหู่ ท้อแท้ (ถีนมิทธะ) กำหนดว่า ง่วงหนอ หดหู่หนอ ท้อแท้หนอ หรือ ถีนมิทธะหนอ ถ้าฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ (อุทธัจจกุกกุจจะ) กำหนดว่า ฟุ้งหนอ หงุดหงิดหนอ รำคาญหนอ หรือ อุทธัจจกุกกุจจะหนอ ถ้าลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) กำหนดว่า ลังเลหนอ สงสัยหนอ หรือ วิจิกิจฉาหนอ ข้อนี้เป็นการปฏิบัติตามนีวรณฺปัพพะ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานแห่งสติปัฏฐานสูตร ที่ว่า เมื่อพอใจในกามคุณก็รู้ (กามฉนฺโทติ ปชานาติ) เมื่อคิดร้ายก็รู้ (พยาปาโทติ ปชานาติ) เมื่อหดหู่และเซื่องซึมก็รู้ (ถีนมิทฺธนฺติ ปชานาติ) เมื่อฟุ้งซ่านและร้อนใจก็รู้ (อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจนฺติ ปชานาติ) เมื่อลังเลสงสัยก็รู้ (วิจิกิจฺฉาติ ปชานาติ)
เมื่ออายตนะภายในและภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น ขณะเห็นรูป (สี) ต่างๆ กำหนดว่า เห็นหนอ ขณะได้ยินเสียงต่างๆ กำหนดว่า ได้ยินหนอ ขณะได้กลิ่นต่างๆ กำหนดว่า กลิ่นหนอ ขณะได้รสต่าง ๆ กำหนดว่า รสหนอ ขณะถูกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำหนดว่า ถูกหนอ ขณะรู้ธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด) กำหนดว่า รู้หนอ ข้อนี้เป็นการปฏิบัติตามอายตนปัพพะธัมมานุปัสสนาสติปักฐานแห่งสติปัฏฐานสูตร ที่ว่า รู้ตาและรู้รูป (จกฺขุญฺจ ปชานาติ, รูเป จ ปชานาติ) รู้หูและรู้เสียง (โสตญฺจ ปชานาติ, สทฺเท จ ปชานาติ) รู้จมูกและรู้กลิ่น (ฆานญฺจ ปชานาติ, คนฺเธ จ ปชานาติ) รู้ลิ้นและรู้รส (ชิวฺหญฺจ ปชานาติ) รู้กายและรู้ถูก (กายญฺจ ปชานาติ, โผฎฺฐพฺเพ จ ปชานาติ) รู้ใจและรู้ธรรมารมณ์(มนญฺจ ปชานาติ, ธมฺเม จ ปชานาติ) การมีสติตามดูธรรมทั้งหลายดังที่กล่าวมานี้เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
วิธีปฏิบัติขณะหันตัวกลับ
เมื่อเดินจงกรมไปสุดสถานที่แล้วให้หยุดยืนวางเท้าเคียงคู่กันกำหนดว่า ยืน
หนอๆๆ 3 ครั้ง เมื่อจะกลับตัว ผู้ปฏิบัติจะกลับทางขวาหรือทางซ้ายก็ได้ แล้วค่อยๆ หันตัวกลับช้าๆ พร้อมกับกำหนดว่า กลับหนอๆๆ (Turningๆๆ) กลับ 3 คู่ กำหนด 6 ครั้ง (ประมาณ 60 องศา) เมื่อหันกลับเสร็จแล้ว ก่อนจะเดินก็กำหนดว่า ยืนหนอๆๆ เหมือนครั้งแรก แล้วจึงเดินจงกรมและกำหนดต่อไปว่า ขวาย่างหนอ (Right goes thus) ซ้ายย่างหนอ ( Lift goes thus) จงกรมและกำหนดกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ เพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่กับอิริยาบถเดิน จนกว่าจะครบตามเวลาที่กะไว้ เช่น 30 นาที หรือ 40 นาที หรือ 50 หรือ 1 ชั่วโมง
การเดินจงกรมและการมีสติกำหนดรู้ตัวอยู่เสมอดังนี้ เป็นวิธีปฏิบัติตามสติปัฏฐานสูตรในอิริยาปถปัพพะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ว่า เมื่อเดินอยู่ก็รู้ว่าเดินอยู่ (คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ) หรือว่า เมื่อยืนอยู่ก็รู้ว่ายืนอยู่ (ฐิโต วา ฐิโตมฺหีติ ปชานาติ) และเมื่อกลับพร้อมกับกำหนดรู้ตัวอยู่เสมอ ก็เป็นการปฏิบัติตามในสัมปชัญญปัพพะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแห่งสติปัฏฐานสูตรที่ว่า เป็นผู้ทำความรู้ตัวอยู่เสมอในการก้าวกลับหลัง (ปฏิกฺกนฺเต สมฺปชานการี โหติ)
อิริยาบถนั่ง (นั่งสมาธิ)
การนั่งสมาธิหรือนั่งกำหนดนี้ (Sitting Meditation) ในสติปัฏฐานสูตรพระพุทธ
องค์ตรัสไว้ว่า นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา, อุชุกายํ ปณิธาย ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา แปลความว่า นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรง(ตั้ง)สติไว้เฉพาะหน้า
ตามหลักในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านแนะนำให้นั่งขัดสมาธิราบแบบ
พระพุทธรูป ตั้งตัวตรง ตั้งลำคอและศรีษะตรง วางเท้าขวาทับลงบนเท้าซ้าย วางมือขวาทับลงบนมือซ้ายหรือจะวางไว้ที่หัวเข่าทั้งสองก็ได้ หลับตาตั้งสติไว้ที่อารมณ์กรรมฐานโดยการกำหนดเป็นระยะ เริ่มด้วยกำหนด 2 ระยะ ก่อน
นั่งกำหนด 2 ระยะ : พองหนอ ยุบหนอ
นั่งกำหนด 3 ระยะ : พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ
(ถ้านอนอยู่ก็กำหนด : พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ)
นั่งกำหนด 4 ระยะ : พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ
(ถ้านอนอยู่ก็กำหนด : พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ)
ตามปรกติคนเราเมื่อเวลาหายใจเข้า ท้องจะพองขึ้น และเมื่อเวลาหายใจออก ท้องจะยุบลงเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป ฉะนั้นผู้ปฏิบัติพึงตั้งสติกำหนดตามอาการที่ท้องพองขึ้นและยุบลง อย่าไปบังคับหรือตะเบ็งเกร็งท้อง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่จะเอาฝ่ามือมาวางทาบไว้ที่หน้าท้องของตนเองก่อนก็ได้ ก็จะรู้ถึงอาการเคลื่อนไหวของท้องชัดเจน เมื่ออาการพอง - ยุบ ชัดเจนแล้ว จึงนำเอามือออก ขณะที่ท้องพองขึ้น กำหนดว่า พองหนอ และขณะที่ท้องยุบลงกำหนดว่า ยุบหนอ (นึกในใจไม่ต้องออกเสียง)
ข้อสำคัญคือต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบันและมิให้กำหนดตามลมหายใจหรือมิให้กำหนด ที่คำพูด แต่ให้กำหนดอาการเคลื่อนไหวของท้อง ซึ่งเป็นอัสสาสะปัสสาสะวาโยธาตุ (ธาตุที่มีอาการเคลื่อนไหว) เพราะอัสสาสะปัสสาสะนี้ เป็นกาย-ปฏิพัทธ์เกี่ยวเนื่องกับหนังท้อง จึงเป็น วาโยโผฏฐัพพรูป (รูปที่ลมถูกกระทบ) เป็นกายสังขาร (คือลมหายใจเข้าและลมหายใจออก) และอาการพอง อาการยุบ พร้อมกับกำหนดรู้อยู่เสมอดังนี้ เป็นการปฏิบัติในอิริยาปถปัพพะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแห่งสติปัฏฐานสูตร เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ (นิสินฺโน วา นิสินฺโนมฺหีติ ปชานาติ) เฝ้าตามดูกายในกาย (กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ) หรือ หายใจเข้าก็มีสติอยู่ หายใจออกก็มีสติอยู่ (โส สโตว อสฺสสติ สโต ปสฺสสติ)
การนั่งกำหนดเป็นบัลลังก์
อนึ่งการนั่งกำหนดครั้งหนึ่งๆนี้ในคัมภีร์อรรถกถาท่านเรียกเป็นที่หมายรู้กันว่า บัลลังก์หนึ่ง คือนั่งกำหนดครั้งหนึ่งเรียกว่า บัลลังก์หนึ่ง เช่น 30 นาที 40นาที 50 นาที หรือ 1 ชั่วโมง
นจะต
สำหรับในการปฏิบัติวิปัสสนา ท่านพระวิปัสสนาจารย์จะกำหนดให้เดินจงกรมและนั่งสมาธิใช้เวลาเท่ากัน เช่น เดิน 30 นาที นั่ง 30 นาที, เดิน 1 ชั่วโมง นั่ง 1 ชั่วโมง, ยกเว้นผู้ปฏิบัติบางคนจำเป็นจะต้องให้เดินมากกว่านั่งหรือให้นั่งมากกว่าเดินเพื่อเป็นการปรับอินทรีย์ (คือ วิริยะกับสมาธิ ให้สม่ำเสมอกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระวิปัสสนาจะเป็นผู้พิจารณาเห็นสมควร
นนผ้นกาขณะนั่งกำหนดเมื่อมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เช่น เวทนาต่างๆ ความนึกคิด
ต่างๆ และธรรมทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็มีวิธีกำหนดเช่นเดียวกับการเดินจงกรม ต่างกันแต่อารมณ์หลักคือ พองหนอ-ยุบหนอ เป็นอารมณ์หลัก ในการนั่งสมาธิ จงกรมแต่ละระยะ (ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ) เป็นอารมณ์หลักในการเดินจงกรม เมื่อมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้ละหรือหยุดการกำหนดอารมณ์หลัก (หากเดินจงกรมอยู่ให้หยุดเดินเสียก่อน) แล้วไปกำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นหายไปหรือดับไป จึงกลับมากำหนดอารมณ์หลักต่อไป
วิธีปฏิบัติในอิริยาบถนอน
การกำหนดในอิริยาบถนอน หรือนอนกำหนด มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
ขณะที่เอนตัวลงจะนอน พึงกำหนดตามอิริยาอาการ ท่าทางและลักษณะของกาย จนกว่าจะนอนเป็นที่เรียบร้อย ต่อจากนั้นก็ให้กำหนด พองหนอ--ยุบหนอ จนกว่าจะหลับ ข้อนี้เป็นการปฏิบัติตามอิริยาปถปัพพะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแห่งสติปัฏฐานสูตรที่ว่า เมื่อนอนอยู่ก็กำหนดรู้ว่านอนออยู่ (สยาโน วา สยาโนมฺหีติ ปชานาติ)
วิธีปฏิบัติในอิริยาบถย่อย
ต่อไปนี้เป็นการปฏิบัติในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สัมปชัญญปัพพะ แห่งสติปัฏฐานสูตร คือ
(1) ขณะก้าวไปข้างหน้า กำหนดว่า ก้าวหนอ หรือ ไปหนอ
เมื่อก้าวไปข้างหน้าหรือถอยหลังกลับ ย่อมกำหนดรู้อยู่ (อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต สมฺปชานาการี โหติ)
(2) ขณะเหลียวซ้ายและแลขวา กำหนดว่า เหลียวหนอ เมื่อเหลียวซ้ายแลขวา ย่อมกำหนดรู้อยู่ (อาโลกิเต วิโลกิเต สมฺปชานการี โหติ)
(3) ขณะคู้เข้าและเหยียดออก กำหนดว่า คู้หนอ เหยียดหนอ เมื่อคู้หรือเหยียดย่อมกำหนดรู้อยู่ (สมฺมิญฺชิเต ปสาริเต สมฺปชานการี โหติ)
(4) ขณะจับสิ่งของต่างๆ เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม บาตร จีวร ถ้วย โถ โอ จาน เป็นต้น กำหนดว่า ถูกหนอ จับหนอ มาหนอ เมื่อครองจีวร (นุ่งห่ม) ถือบาตร พาดสังฆาฏิ ย่อมกำหนดรู้อยู่ (สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ สมฺปชานการี โหติ)
(5) ขณะบริโภคอาหาร ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม กำหนดว่า ไปหนอ จับหนอ ยกหนอ อ้าหนอ ถูกหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ เมื่อกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ย่อมกำหนดรู้อยู่ (อสิเต ปีเต ขายิเต สายิเต สมฺปชานการี โหติ)
6. ขณะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ กำหนดว่า ถ่ายหนอ เมื่อถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะ ย่อมกำหนดรู้อยู่ (อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม สมฺปชานการี โหติ)
7. ขณะเดิน ยืน นั่ง หลับ (จะหลับ) ตื่น พูด นิ่ง กำหนดว่า เดินหนอ ยืนหนอ นั่งหนอ (อยาก) หลับหนอ ตื่นหนอ (อยาก)พูดหนอ นิ่งหนอ เมื่อไป ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง ก็ย่อมกำหนดรู้อยู่ (คเต ฐิเต นิสฺสนฺเน สุตฺเต ชาคริเต ภาสิเต ตุณฺหีภาเว สมฺปชาการี โหติ)
ข้อสังเกต ในการปฏิบัติวิปัสสนา ขณะเดินจงกรมเป็นระยะ เมื่อมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้หยุดยืนเสียก่อน แล้วจึงไปกำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เมื่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นหายไปหรือดับไปแล้ว ก็ให้กลับมากำหนดอารมณ์กรรมฐานเดิม คือ จงกรมต่อไป
ส่วนในการนั่งกำหนด ก็มีวิธีปฏิบัติโดยทำนองเดียวกันนี้ คือเมื่อมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็ให้ละหรือหยุดการกำหนด พองหนอ ยุบหนอเอาไว้แล้วไปกำหนดอารมณ์นั้น เมื่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นหายไปหรือดับไปแล้วจึงกลับมากำหนดอารมณ์เดิม คือ พองหนอ-ยุบหนอ ต่อไป
ความเข้าใจเรื่องพอง-ยุบ และหนอ
คำว่า พอง-ยุบ นี้ ผู้ที่ไม่เคยเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบนี้ หรือแม้แต่ผู้ที่เคยเข้าปฏิบัติมาแล้วบางคนอาจสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติอย่างไร? เพราะเป็นคำตื้นๆพื้นๆ ไม่น่าจะนำเอามาใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสูงสุดในพระพุทธศาสนา เมื่อสงสัยเช่นนี้ก็เลขเห็นเป็นเรื่องแปลก ไม่น่าเชื่อ บางคราวถึงกับนำเอาไปกล่าวล้อเล่นในทำนองชวนหัว เป็นเรื่องขบขันก็มี นั่นก็เพราะเขาไม่รู้ความจริง จึงขออธิบายดังนี้
ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การเจริญวิปัสสนาตามพุทธประสงค์ ก็คือการกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ ถ้าผิดจากการกำหนดรูปนามเสียแล้ว ก็หาใช่วิปัสสนากรรมฐานไม่ นี้เป็นกฎตายตัวที่ใครจะโต้เถียงไม่ได้ เพราะการกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เฉพาะการกำหนดรูป ถ้ากำหนดรูปใหญ่ไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยที่สุด ท่านก็สอนให้กำหนดรูปที่ละเอียด รูปที่ละเอียดก็ได้แก่รูปที่ลมหายใจถูกต้อง คือลมหายใจเข้าออกไปถูกที่ใดก็ให้กำหนดที่นั้น สถานที่ที่ลมหายใจถูกต้องอยู่เสมอนั้นมีอยู่ 2 แห่ง คือที่จมูกและที่บริเวณท้อง ซึ่งที่จมูกจะกำหนดได้ชัดเจนก็เพียงแต่ในระยะเริ่มแรกที่หายใจ ครั้นนานเข้าเมื่อลมละเอียดลงจะปรากฏไม่ชัดเจน ส่วนที่บริเวณท้องที่มีอาการ พอง - ยุบ นั้น กำหนดได้ชัดเจนสม่ำเสมอ ถึงจะนานเท่าใดก็กำหนดได้ และแสดงสภาวะได้แจ้งชัดกว่าที่จมูกมาก ในเรื่องนี้ผู้ที่ทำการปฏิบัติแล้วย่อมจะทราบได้ดีทุกคน ฉะนั้น รูปที่ลมถูกต้องที่บริเวณท้อง คืออาการพองขึ้นและยุบลง จึงเหมาะอย่างยิ่งแก่การตั้งสติกำหนดเพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งต้องอาศัยการกำหนดรูปนามเป็นสำคัญที่กล่าวมาแล้วนี้เรียกว่าเป็นสภาวยุตติ (อธิบายให้เข้าใจเรื่องสภาวะล้วนๆ ) ต่อไป อาคมยุตติ (ยกพระบาลีอรรถกถาฎีกาขึ้นมารับรองเป็นพยานหลักฐานของสภาวยุตติ) มีอยู่ว่า บริเวณท้องนั้น พองก็ดี ยุบก็ดี ที่มีอาการเคลื่อนไหวชัดเจนอยู่นั้น เรียกว่า วาโยโผฏฐัพพรูป ฉะนั้น พองหนอ ยุบหนอ ซึ่งกำหนดอยู่นั้น โยคาวจรบุคคลรู้อยู่แต่ปรมัตถสภาวะวาโยธาตุที่มีอาการเคลื่อนไหว
ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้ในพระบาลีสังยุตตนิกายว่า รูปํ ภิกฺขเว โยนิโส มนสิกาโรถ รูปานิจฺจตญฺจ ยถาภูตํ สมนุปสฺสถ
แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้มีโยนิโสมนสิการตั้งสติกำหนดที่รูป ถ้ามีสมาธิแล้ว รูปนั้น อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ย่อมเห็นได้ชัดเจนแน่นอน
อนึ่ง พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้ในพระบาลีว่า โผฏฺฐพฺเพ อนิจฺจโต ชานโต ปสฺสโต อวิชชา ปหียติ อวิชฺชา อุปฺปชฺชติ
แปลความว่า โยคาวจรบุคคลที่โผฏฐัพพารมณ์ถูกต้องสัมผัสนั้น ตั้งสติกำหนดรู้เห็นอยู่ว่าไม่เที่ยง บุคคลนั้นอวิชชาหายไป วิชชาญาณปรากฏ
ดังนั้น โยคีบุคคลที่กำหนด อาการพอง อาการยุบ อยู่นั้น รู้อยู่แต่วาโยโผฏฐัพพรูป เช่นนี้แสดงว่าสัมมาทิฏฐิ วิชชาญาณเกิดขึ้น มิจฉาทิฏฐิ อวิชชา หายไปและสามารถบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน ได้เหมือนกัน
อนึ่ง พระศาสดาทรงเทศนาไว้ในสติปัฏฐานพระบาลีว่า ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต โหติ ตถา ตถา นํ ปชานาติ ฯ
แปลความว่า ร่างกายของโยคีบุคคลนั้นตั้งอยู่ในอาการใดๆ ก็ตาม ตั้งสติกำหนดรู้ในอาการนั้นๆในที่นี้ อรรถกถาจารย์แก้ว่า ยถา ยถา วา ปนสฺส เป็นต้น บาลีนี้เป็น สัพพสังคาหิกวจนะ คือเอาทั้งหมด หมายความว่า ร่างกายของโยคีบุคคลนี้ อาการเดินอยู่ก็ตั้งสติกำหนดว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ถ้าอาการยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ก็ตั้งสติกำหนดอยู่ว่า ยืนหนอ นั่งหนอ นอนหนอ ถ้าหากกำลังกำหนดเดินอยู่ก็ดี กำลังยืนอยู่ก็ดี กำลังนั่งอยู่ก็ดี กำลังนอนอยู่ก็ดี มีอาการอย่างไรเกิดขึ้นก็ตั้งสติกำหนด เช่น ตัวยืนอยู่ก็กำหนดว่า ยืนหนอ ตัวเอน เอนหนอ ก้มหนอ เงยหนอ (ตัว)สั่นหนอ คู้หนอ เหยียดหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ ปวดหนอ ถ้าท้องพองขึ้น ก็กำหนดพองหนอ ยุบลง ก็กำหนดยุบหนอ เป็นต้น อาการเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องกำหนดด้วย เพราะอาการเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นถ้าไม่ได้กำหนด ก็จะเข้าใจผิดยึดถือว่า เป็น นิจจะ สุขะ อัตตะ ถ้ากำหนดก็ได้เห็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อันเป็นอาการของรูปนามตามความเป็นจริง.
จำลอง ดิษยวณิช, พริ้มเพรา ดิษยวณิช. ภาวะสุขภาพจิตกับการเจริญ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน. (อนุสรณ์พระวิปัสสนาจารย์ รุ่นที่ ๒๒ , บริษัทบุญศิริการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๔๗), หน้า ๕๖. ที.ม.อ. ๓๗๑/๓๖๑.
ที.ม. (บาลี) ๑๐ / ๓๗๖, ม.มู. (บาลี) ๑๒ / ๑๐๙ / ๗๙.
|