หัวใจพุทธศาสนาคืออะไร ว่ากันไปหลายอย่าง ถูกทั้งนั้น อันไหนก็ได้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า "หัวใจพระพุทธศาสนา" เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่ายๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลี คือ "โอวาทปาฎิโมกข์" หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่ายๆ สั้นๆ ว่า "เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์" ภาษาพระหรือภาษาบาลีว่า.....
" สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ " แปลให้เต็มเลยว่า "การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เพรียบพร้อม การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
คำลงท้ายว่า "นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ทำให้เราคิดว่านี่แหละเป็นคำสรุป แสดงว่าเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ เราก็เลยเรียกว่า "หัวใจ" มาเป็นจุดเริ่มต้น แต่กระนั้นชาวพุทธผู้ได้ฟังพระสอนมามากๆ พระอาจารย์หรือพระเถระผู้ใหญ่บางท่านพูดถึงหลักการอื่นว่า อันโน้นสิ อันนี้สิ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา บางทีโยมก็ชักงง จึงขอยกเอาเรื่องนี้มาพูดว่าอะไรกันแน่ที่เรียกว่าเป็น หัวใจพระพุทธศาสนา
บางท่านบอกว่า "อริยสัจสี่" เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมอยู่ในอริยสัจสี่ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
.. พระองค์ตรัสพุทธพจน์ตอนหนึ่ง มีความว่า ตราบใดที่เรายังไม่ (จตูสุ อริยสจฺเจสุ ติปริวฎฺฎํ ทวาทสาการํ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ) มีญาณทัศนะที่มีปริวัฎ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจสี่ เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่า ได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อเรามีญาณทัศนะนั้น จึงปฏิญาณได้ว่า ตรัสรู้ หมายความว่า ตรัสรู้อริยสัจสี่ครบ ๓ ด้าน คือรู้ว่าคืออะไร แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่ออริยสัจสี่แต่ละอย่างนั้นคืออะไร และรู้ว่าได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจนั้นแล้ว เวียนไปทุกข้อเรียกว่า ๓ ปริวัฎ
อธิบายว่า..... รู้ในอริยสัจสี่แต่ละอย่างเริ่มตั้งแต่รู้ว่าทุกข์คืออะไร เราจะต้องทำอะไรต่อทุกข์ แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่อทุกข์นั้นเราได้ทำแล้ว ถ้ายังไม่รู้อริยสัจด้วยญาณทัศนะครบทั้ง ๓ ในแต่ละอย่าง (รวมทั้งหมดเป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒) ก็ยังไม่สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ
ต่อเมื่อได้ตรัสรู้อริยสัจ โดยมีญาณในอริยสัจแต่ละข้อครบทั้ง ๓ รวมเป็น ๑๒ จึงปฏิญาณได้ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ และการตรัสรู้อริยสัจสี่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อริยสัจสี่จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
บางท่านไปจับเอาที่พระไตรปิฎกอีกตอนหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้กระทัดรัดมากว่า..... "ปุพฺเพจาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกขสฺส จ นิโรธํ " ภิกษุทั้งหลายทั้งในกาลก่อนแลบัดนี้ เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าจับตรงนี้ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนทั้งหมดนั้น หลักการของพระพุทธศาสนาก็มีเท่านี้ คือ ทุกข์และความดับทุกข์
ท่านพุทธทาสกล่าวถึงหลักอีกข้อหนึ่งให้ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือ..... "สพฺเพ ธฺมมา นาลํ อภินิเวสาย " แปลว่า "ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น" ..... คำว่า "นาลํ" แปลว่าไม่ควร หรือ ไม่อาจ ไม่สามารถ คำว่า "ไม่ควร " ในที่นี้หมายความว่า เราไม่อาจไปยึดมั่นมันได้ เพราะมันจะไม่เป็นไปตามใจเราแน่นอน เมื่อมันไม่อาจจะยึดมั่น เราก็ไม่ควรจะยึดมั่นมัน อันนี้ท่านถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เมื่อได้พังอย่างนี้ ก็ทำให้เราสงสัยกันว่าจะเอาหลักอันไหนดีเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ก็เลยขอให้ความเห็นว่าอันไหนก็ได้ ......
|