อาจารย์ประจำหลักสูตร โครงการปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
Peace study, Graduate School, Mahachulalongkornrajavidyalaya University
บทคัดย่อ
บทความนี้พยายามที่จะสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตเรื่องปัญหาวินัยจราจร ความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรที่ส่งผลต่อความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินทั้งต่อครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้องและยังมีผลต่อประเทศชาติในการสูญเสียงบประมาณและการสูญเสียโอกาสทรัพยากรบุคลากรในการพัฒนาประเทศปัญหาการไม่เคารพในวินัยจราจรสะท้อนให้เห็นถึงวินัยของชาติ หรือศีลธรรมของคนในชาติ แนวทางในการแก้ปัญหาที่ผู้เขียนนำเสนอคือ การปลุกจิตสำนึกในการเคารพวินัยจราจรด้วยพุทธวิธีอันได้แก่ การรักษาศีล ความละอายเกรงกลัวในความผิด และสร้างความเห็นถูกต้องในคุณค่าและความสำคัญของวินัยจราจร
Abstract
This article seeks to reflect the critically on the traffic discipline.Any loss from traffic accidents that affect the loss of life and property, both the families involved, and also affects the nation losses budget andthe humans resource.Problem of do not respect traffic discipline reflects the discipline of the Nation or morals of the Nation.To solve the problem, the authors offer to raise awareness of traffic with respect to discipline by Buddhist method namely:The precepts, The moral shame and The moral dread and to be Right Understanding the value and importance of traffic discipline.
บทนำ
อุบัติเหตุทางจราจรปรากฏเห็นแทบทุกวันในหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุของความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเหตุการณ์เรื่องราวของครอบครัวเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ต้องสูญเสียทั้งหัวหน้าครอบครัว และลูกน้อยที่กลายเป็นผู้พิการ สาเหตุมาจากการขับรถด้วยความเร็วสูง หรือกรณีของแพทย์หญิงท่านหนึ่ง ต้องมาจบชีวิตเพราะความไม่พอใจของคู่กรณีที่ต้องเลื่อนรถเพราะขวางทางเข้าออก และยังมีข่าวเกี่ยวกับหนุ่มใหญ่แทงผู้เฒ่าวัย ๖๓ เสียชีวิตเหตุเพราะไม่พอใจที่ขับรถปาดหน้า ความสูญเสียเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะครอบครัวของคู่กรณีเท่านั้น แต่นำพาประเทศชาติต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่เป็นอนาคตและกำลังของชาติ อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนทางด่วนกรณีนักศึกษาหญิงขับรถด้วยความเร็วสูง พุ่งชนรถตู้ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๙ ศพ หนึ่งในนั้นมีทั้งผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกผู้ที่เป็นความหวังของครอบครัว และจะมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากปัญหาคนไทยขาดวินัยจราจรและมารยาทที่จะใช้ถนนร่วมกัน สอดคล้องกับผลการสำรวจของ เอแบคโพลพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่พบพฤติกรรมขับรถยอดแย่ อันดับ ๑ ได้แก่ ขับรถเกินความเร็วที่กำหนด ปาดซ้ายปาดขวา ประมาท หวาดเสียวรองลงมาอันดับที่ ๒ได้แก่ ขับรถย้อนศรอันดับที่ ๓ได้แก่ ขับรถบนไหล่ทาง อันดับที่ ๔ ได้แก่ ขับรถมาทีหลัง แต่แซงคิว และอันดับที่ ๕ได้แก่ ขับรถใจแคบแล้งน้ำใจ (วอยส์ทีวี, สืบค้นเมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔) สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจราจรทางบกได้ระบุถึงสาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นมาจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรองลงมาคือ การขับรถตัดหน้ารถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด,การขับรถตามหลังรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด, การขับรถแซงอย่างผิดกฎหมายการฝ่าฝืนสัญญาณ /เครื่องหมายจราจรและ ขับรถขณะเมาสุรา ตามลำดับ (กรมขนส่งทางบก, ๒๕๕๔)
ถ้ามองอย่างผิวเผินจากเหตุการณ์ความสูญเสียที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าว อาจเห็นเป็นเรื่องความขัดแย้งหรือความไม่พอใจส่วนตัวหรือความประมาทในการใช้รถใช้ถนนแต่ถ้าสังคมได้พิจารณา จะเห็นว่าความอดทนของผู้ขับขี่เริ่มน้อยลงและเกิดโทสะมากจนเป็นเหตุนำไปสู่การฆ่าและทำร้ายกันทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของมูลเหตุเหล่านี้ และยิ่งต้องตั้งคำถามให้มาก เพราะไทยเป็นประเทศที่ขนานนามว่าเป็นเมืองพุทธคนในประเทศส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา เกิดอะไรขึ้นกับสังคมชาวพุทธของเรา การให้อภัยกันยังมีอยู่หรือไม่ การไม่เบียดเบียนกันและการให้ความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันของเราหายไปไหน ที่กล่าวเช่นนี้ผู้เขียนมองผ่านเรื่องเหล่านี้จากการใช้รถใช้ถนน หรือวินัยจราจรของคนกรุงเทพฯ ซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นและเป็นปัญหาระดับต้น ๆ ในสังคมเมืองกรุง
ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางจราจร มี ๓ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ๑) สาเหตุจากบุคคล(ผู้ขับขี่และผู้เดินเท้า)มักมาจากเรื่องของสภาพร่างกายไม่พร้อมเช่นร่างกายอ่อนเพลียเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ ง่วงนอน ขับรถด้วยความประมาทด้วยฤทธิ์จากการดื่มสุรา หรือสารเสพติดต่างๆ นอกจากนี้ความบกพร่องของจิตใจและอารมณ์ เช่นการความกลัดกลุ้มใจ วิตกกังวล อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวมีความตึงเครียดทางอารมณ์รวมถึงการขาดความรู้ความชำนาญ ในเรื่องลักษณะของยวดยานที่ใช้ขับ ไม่รู้กฎจราจร ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับ๒) สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สภาพผิวจราจรหลุมเป็นบ่อมีโคลนตม มีเครื่องกีดขวางมากๆ หรือถนนที่แคบถนนที่ลื่น มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ สภาพแสงสว่างบนถนนหรือไม่มีไฟส่องสัญญาณทางแยก บนท้องถนนมืดไม่มีไฟฟ้าไม่มีแสงสว่างทำให้มองไม่เห็นทางหรือมองไกลไม่ได้๓) สาเหตุจากการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ ขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนทราบกฎระเบียบข้อบังคับและบทลงโทษหรือค่าปรับยังไม่เหมาะสมทำให้มีการฝ่าฝืนกฎจราจรหรือกฎระเบียบต่าง ๆ อยู่เสมอ การที่กฎหมายในการอนุญาตใบขับขี่ยานยนต์ มิได้กำหนดเพศอายุสูงสุดของผู้ขับขี่ รวมทั้งการศึกษาขั้นต่ำของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ ก็อาจ ทำให้เกิดการผิดกฎจราจรและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จราจรก็ยังขาดการกวดขัน จับกุมหรือยังไม่จริงจังหรือเข้มงวดในการพิจารณาดำเนินคดีหรือจับกุมผู้กระทำผิดเป็นสาเหตุให้ขับรถหรือใช้รถใช้ถนนอย่างเสรี ตามอำเภอใจซึ่งมักทำให้เกิดอุบัติเหตุ (สุพิชชา, ๒๕๕๔)
ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาวินัยจราจร นอกจากต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายฝ่ายและมีองค์ประกอบที่ต้องได้รับการแก้ไขหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความชัดเจนของสัญญาณไฟหรือเครื่องหมายจราจร สภาพพื้นผิวของถนนเช่นถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ควรรีบทำการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย การบังคับกฎจราจรและบทลงโทษที่เข้มงวด รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษากฎหรือตำรวจจราจรต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการปลูกจิตสำนึกวินัยของคนไทยให้มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและส่วนตนในเรื่องการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความเมตตากรุณาต่อกันมีขันติหรือความอดทนต่อการถูกเบียดเบียนในการจราจร มีสติระงับโทสะที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจในขณะขับรถ และมีความเกรงกลัวละอายหรือหิริโอตตัปปะ ที่จะเคารพกฎจราจรแม้ว่าจะมีโอกาสทำผิดจราจรก็ห้ามตนเองไว้ได้วินัยจราจรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ ดังคำว่า“วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” เพราะแท้จริงแล้ววินัยมีคำที่ใช้คู่กันคำหนึ่งคือ “ศีล” พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต กล่าวว่า ผู้มีศีลคือผู้ที่อยู่ในวินัยหรือการตั้งอยู่ในกฎระเบียบ ระบบที่มนุษย์บัญญัติไว้ เมื่อประพฤติปฏิบัติตามวินัยนั้นก็จะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติเกิดคุณสมบัติส่วนตนขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเรียกว่า ศีล (๒๕๕๐:๑๔)
ศีลและวินัยจึงเป็นสิ่งที่คู่กัน ถ้าเรากล่าวว่าวินัยจราจรสะท้อนวินัยชาติ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าวินัยจราจรนอกจากสะท้อนวินัยชาติแล้ว ชาติไทยหรือประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ วินัยจราจรจึงไม่ได้สะท้อนเพียงแต่วินัยชาติ แต่แท้จริงแล้ววินัยจราจรยังสะท้อนถึงศีลของชาวพุทธ ในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการนำหลักของศีลและธรรมที่เกื้อหนุน เป็นพุทธวิธีที่ใช้สร้างวินัยจราจรเพื่อการพัฒนาคนและพัฒนาสังคมชาติไทยให้สมกับคำว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ
๑. ความหมายของวินัย
คำว่าวินัยเป็นคำที่กว้าง ความหมายทั่วไป วินัย หมายถึง ระเบียบแบบแผนและข้อบัง, ข้อปฏิบัติ (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒: ๑๐๗๗)สำหรับพระพุทธศาสนา วินัย แปลว่า การกำจัด, การเลิกละ, ข้อนำไปให้แจ้ง, ข้อนำไปให้ต่าง (จำรูญ ธรรมดา, ๒๕๔๔: ๒๓๙)และพระธรรมกิตติวงษ์ ให้ความหมาย วินัย คือระเบียบสำหรับกำกับความประพฤติให้เป็นระเบียบเดียวกัน ได้แก่ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นข้อห้ามวางไว้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยดีงามในหมู่คณะ เป็นเครื่องมือสำหรับบริหารหมู่คณะ (๒๕๕๔, อัดสำเนา)
นอกจากนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต กล่าวว่า ในพระพุทธศาสนามีคำที่คู่กับวินัย นั่นคือธรรม อันเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงแล้วนำมาเผยแพร่ ความจริงที่ทรงค้นพบคือความจริงของธรรมชาติ เป็นกฎแห่งเหตุปัจจัยการนำกฎธรรมชาติมาจัดวางเป็นระบบระเบียบเรียกว่า ธรรม จากกฎในธรรมชาติก็ก้าวมาสู่กฎในหมู่มนุษย์ จึงกล่าวได้ว่า กฎของธรรมชาติเรียกว่า ธรรม ส่วนกฎของมนุษย์เรียกว่า วินัย ทั้งธรรมและวินัยต่างก็สัมพันธ์กัน วินัย ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรม และกฎระเบียบที่ได้วางไว้ก็เพื่อให้ได้ผลตามธรรม (๒๕๕๐: ๖-๗) เมื่อเข้าใจอย่างนี้เราจะเห็นว่า วินัย เป็นกฎของมนุษย์เป็นสิ่งสมมุติ ในขณะที่กฎธรรมชาติเป็นความจริงแท้ และทั้งสองมีความสัมพันธ์กันซึ่งวินัยนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมและจะมีผลจริงก็ต่อเมื่อคนมีธรรม ถ้าคนไม่มีธรรมวินัยจะกลายเป็นเรื่องที่อยากจะเลี่ยง ไม่พอใจที่จะปฏิบัติตาม วินัย ในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ระเบียบแบบแผนสำหรับฝึกฝนควบคุมความประพฤติของบุคคลให้มีชีวิตที่ดีงามเจริญก้าวหน้าและควบคุมหมู่ชนให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อยดีงาม เป็นบทบัญญัติข้อกำหนดสำหรับควบคุมความประพฤติไม่ให้เสื่อมเสียและฝึกฝนให้ประพฤติดีงามเป็นคุณเกื้อกูลยิ่งขึ้น (พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต, ๒๕๕๓: ๓๗๑)พระสิริมังคลาจารย์พระนักปราชญ์ ชาวล้านนาได้แบ่งพระวินัยออกเป็น๒ กล่าวคือ ๑) อนาคาริยวินัย วินัยของผู้ไม่ครองเรือน คือ วินัยของบรรพชิต หรือวินัยของพระสงฆ์ ได้แก่ การไม่ต้องอาบัติทั้ง ๗ หรือโดยสาระ ได้แก่ ปาริสุทธิศีล ๔๒) อาคาริยวินัย วินัยของผู้ครองเรือน คือ วินัยของชาวบ้าน ได้แก่ การงดเว้นจาก อกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยนัยก็คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ (ประพันธ์ ศุภษร: ๑๔)
สำหรับวินัยจราจร มีคำศัพท์สองคำที่เกี่ยวข้องคือคำว่าวินัย และคำว่าจราจรหรือการจราจร พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ให้ความหมายของการจราจรหมายถึง การใช้ทางของผู้ขับขี่คนเดินเท้า คนที่ขี่ จูงหรือไล่ต้อนสัตว์ ถ้ามองจากมุมนี้การจราจรจึงไม่ได้หมายถึงแค่เฉพาะผู้ขับขี่เท่านั้น เมื่อนำวินัยมาเติมหน้า วินัยจราจร จึงมีความหมายว่า กฎกติกาข้อควรประพฤติปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการใช้ทางรถหรือใช้ถนนร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าวด้วยมุ่งหวังไม่ให้เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ด้วยการสร้างทางแห่งกรรมที่เป็นกุศลหรือทางทำดี โดยมีกฎหมายจราจรเป็นตัวบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิดกฎจราจร
๒.ธรรมและวินัยในพระไตรปิฎกที่มาและความสำคัญ
มหาปรินิพพานสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไปก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” (พระไตรปิฎก, เล่ม ๑๐ ข้อ ๒๑๖:๑๖๔)แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับพระธรรมและพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงประกาศดังนั้น และภายหลังที่พุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว ๓ เดือน พระมหากัสสปะสังฆวุฒาจารย์ในฐานะประธานที่ประชุมสงฆ์ ได้ซักถามพระอรหันต์ผู้เข้าร่วมสังคายนาและที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทำการสังคายนาพระวินัยก่อนโดยยกเหตุผลว่า “วินโย นาม พุทฺธสาสนสฺส อายุ วินเย เต พุทฺธสาสนํตํโหติ”“พระวินัยจัดเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่”(พระไตรปิฎก, เล่ม ๗ ข้อ ๔๓๗-๔๔๐: ๒๗๔-๒๗๘) พระวินัย จึงถือได้ว่าเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา
จูฬสงคราม คัมภีร์ปริวาร (เล่ม ๑๙ ข้อ ๔๘: ๔๑-๔๒)มีใจความสำคัญที่พระองค์ตรัสไว้ถึงจุดมุ่งหมายของพระวินัย แท้จริงแล้ว วินัยมีไว้เพื่อความสำรวม(สังวร) ความสำรวมมีเพื่อความไม่เดือดร้อน(อวิปปฏิสาร) ความไม่เดือดร้อนมีเพื่อความปราโมทย์(ปาโมชชะ) ความปราโมทย์มีเพื่อความอิ่มใจ(ปีติ) ความอิ่มใจมีเพื่อความสงบใจ(ปัสสัทธิ) ความสงบใจมีเพื่อความสบายใจ(สุข) ความสุขใจมีเพื่อความตั้งใจมั่น(สมาธิ) ความตั้งใจมั่นมีเพื่อให้มีความรู้เห็นตามเป็นจริง(ยถาภูตญาณทัสสนะ) ความรู้เห็นตามความเป็นจริงมีเพื่อความเบื่อหน่าย(นิพพิทา) ความเบื่อหน่ายมีไว้เพื่อความสำรอกกิเลส(วิราคะ) ความสำรอกกิเลสมีเพื่อความหลุดพ้น(วิมุตติ) ความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นว่าหลุดพ้น(วิมุตติญาณทัสสนะ) ความรู้เห็นว่าหลุดพ้นมีเพื่อความดับสนิทหาเชื้อมิได้(อนุปาทาปรินิพพาน)
การตั้งสิกขาบท หรือ วินัยต่างๆ พระพุทธองค์ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ คือมองเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญและทรงใช้พระธรรมด้วยความเมตตาเป็นเครื่องตัดสินบัญญัติและบทลงโทษต่าง ๆ ทั้งตรัสอานิสงส์แห่งการสำรวมระวัง กล่าวได้ว่าพระวินัยเป็นที่รวมคำสอนซึ่งเป็นข้อบัญญัติและธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ อันมีหลักการเพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความดีงามในหมู่สงฆ์ เพื่อให้หมู่คณะอยู่ร่วมกันอย่างอิสระและปลอดภัย ตลอดถึงเพื่อความบริสุทธิ์ทางกายและวาจาอันจะนำพาให้บรรลุธรรมได้โดยไม่ยาก ทำให้เราสามารถเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการบุคคลและการอยู่ร่วมกันในองค์กรสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันโดยเฉพาะปัญหาวินัยจราจร
๒.๑ ความเกี่ยวข้องของวินัยและศีล
เมื่อกล่าวถึงเรื่องของศีลมาเกี่ยวข้องกับวินัยได้อย่างไร จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของศีลกันก่อน ศีล ตามความหมายที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ไว้ หมายถึง ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ,มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่าอธิสีลสิกขา (๒๕๕๓:๒๙๑)และอธิสีลสิกขาเป็นชื่อเรียกพระวินัย เป็นปหานวินัยคือพระวินัยที่ละอกุศลธรรมทั้งหลาย (ประพันธ์ ศุภษร: ๑๓) อันเป็นความหมายอีกนัยหนึ่งและเป็นข้อศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อปรับกายและวาจาให้สะอาดบริสุทธิ์สำหรับรองรับคุณพิเศษที่สูงขึ้นไป แบ่งเป็นจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ดังนั้นวินัยและศีลเป็นคำที่คู่เคียงกันอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากใน โสนวรรค พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระภิกษุที่บุพพารามใกล้เมืองสาวัตถีถึงเรื่องสาวกของพระองค์เสียชีพไม่เสียศีลวินัยกับศีลจึงเป็นเรื่องเดียวกันแต่การใช้คำแตกต่างกันอาจเป็นเพราะเมื่อเรากล่าวถึงศีลเรามักใช้ในความหมายที่แคบแท้จริงแล้วความมีวินัยนั่นคือความหมายของศีล (พุทธทาสภิกขุ, ๒๕๓๙: ๓๓๐)
วินัยเป็นสิ่งที่มองเห็นได้จากพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกต่อเมื่อพฤติกรรมนั้นได้กระทำจนเป็นพฤติกรรมตามปกติ หมายความว่าไม่ต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับมากำหนดสามารถสำนึกได้เองสิ่งนี้เราเรียกว่าศีลเป็นสิ่งที่อยู่ภายในโดยผ่านการแสดงออกด้วยการรักษาวินัย เพราะวินัยเป็นคำกว้าง เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับหรือข้อบัญญัติต่าง ๆ แต่ถ้านำมาแยกเป็นข้อ ๆ แต่ละข้อเรียกว่า สิกขาบท แปลว่าข้อศีล ข้อวินัยที่ต้องศึกษาเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของ สาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณีตามลำดับ (พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต, ๒๕๕๓: ๔๔๘) อันสิกขา ๓ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ ได้แก่ อธิสีลสิกขาทรงประกาศด้วยศีล อธิจิตตสิกขาทรงประกาศด้วยสมาธิอธิปัญญาสิกขาทรงประกาศด้วยปัญญา (วิสุทธิมรรค: ๖) เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการฝึกฝนตนในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา สำหรับการฝึกศีลของปุถุชนเรียกว่าสีลสิกขา สำหรับพระอริยะเรียกอธิสีลสิกขา (วิสุทธิมรรค: ๔) ถ้าจะกล่าวว่าวินัยเป็นเรื่องของการฝึกคนให้มีศีล การฝึกคนให้มีวินัยก็เป็นการฝึกคนให้มีศีลนั่นเอง ดังนั้น การจะเสริมสร้างให้คนไทยมีวินัยจราจรต้องเริ่มด้วยการพัฒนาเรื่องศีลซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและวาจา เพื่อพัฒนาต่อไปในระดับสมาธิจนถึงปัญญา จึงจะเป็นการพัฒนาหรือศึกษาครบถ้วนกระบวนความอันเป็นหนทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
๒.๒ วินัยจราจรกับศีลของชาวพุทธ
วินัยเป็นคำที่มีความหมายเชิงบวก เพราะเป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมที่กำลังเผชิญอยู่เป็นไปในทางที่ดี โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ปัญหารถติดการจราจรคับคั่ง การไม่เคารพกฎจราจรเป็นปัญหาที่สร้างความหงุดหงิดใจหรือความรำคาญ และเริ่มเป็นความเคยชินของคนที่ใช้รถใช้ถนนที่ต้องทำผิดกฎจราจร ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าปัญหาวินัยจราจรจัดว่าเป็นอันตรายเงียบแฝงไว้ด้วยการลดคุณค่าของศีลธรรมจากคนไทย (จากเหตุการณ์ความรุนแรงตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่าง ๆ) แม้ว่าการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อยซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เป็นไร ใคร ๆ ก็ทำกันนั้น พฤติกรรมการขับรถแทรกเข้ามาในเลนทั้ง ๆ ที่เป็นเส้นทึบ เพียงเพราะต้องการความเร่งด่วน ผลที่ตามมาคือสร้างความรำคาญและความไม่พอใจให้กับเพื่อนผู้ใช้ถนนร่วมกับเราและบางครั้ง บางท่านอาจมีคำกล่าวที่ไม่สุภาพตามมา เป็นการสร้างมโนกรรมและวจีกรรม หรือบางท่านไม่เคารพซึ่งกันและกันโดยขับรถปาดหน้ากัน นั่นหมายถึงการแสดงความอาฆาต เกิดกายกรรมทุจริต สาเหตุเหล่านี้ที่เราพบเห็นทุกวันทำให้จิตของเราเข้าสู่อกุศลจิตมีมิจฉาทิฏฐิ เป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง นอกจากนี้ประเด็นที่ผู้เขียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบผู้ที่กระทำผิดกฎจราจรด้วยกันเองโดยการให้เหตุผลว่าใคร ๆ ก็ทำกันนั้น การกระทำผิดทั้ง ๆ ที่รู้ เป็นการสะท้อนให้เห็นความเชื่อหรือความศรัทธาต่อจิตสำนึกที่ดีในการใช้รถใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น เพราะการกระทำใด ๆ ที่เราประพฤติบ่อย ๆ จะกลายเป็นนิสัยและความเคยชิน
เมื่อการใช้รถใช้ถนนในชีวิตประจำวันของเราเริ่มจากการเบียดเบียน การใช้วาจาหยาบคายต่อกันแสดงออกด้วยสีหน้าท่าทางที่ไม่น่ามองนั้น เป็นเครื่องหมายที่กำลังบ่งบอกหรือเป็นดัชนีชี้วัดเรื่องศีลของคนไทยกำลังลดลงหรือไม่ ความอดทนที่จะทำตามวินัยจราจรเป็นตัวหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้ ดังนั้น วินัยจราจรจึงเป็นปัญหาที่สำคัญและไม่อาจมองข้ามเพราะวินัยจราจรของคนไทยนับวันมีแต่เสื่อมถอย
๒.๓ ประโยชน์ที่มุ่งหมายของวินัยจราจรมองผ่านมุมพระวินัยปิฎก
ทั้งนี้เพื่อให้เห็นจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของการมีวินัยจราจร ผู้เขียนจึงได้แสดงการเปรียบเทียบประโยชน์ที่มุ่งหมายของวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแถลงก่อนบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ประการ (พระไตรปิฎก, เล่ม ๑ ข้อ ๓๙: ๒๘-๒๙) กับประโยชน์ของวินัยจราจรตามทัศนะของผู้เขียนดังนี้
พระวินัย
|
ทรงบัญญัติเพื่อ
|
วินัยจราจร
|
๑. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์
|
เพื่อประโยชน์
แก่ส่วนรวม คือสงฆ์
|
๑. เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันของผู้ใช้รถใช้ถนนสร้างความดีงามให้ปรากฏ
|
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
|
๒. เพื่อความผาสุกและความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน
|
๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
|
เพื่อประโยชน์
แก่บุคคล
|
๓. เพื่อเป็นตัวบทลงโทษผู้กระทำผิด
|
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
|
๔. เพื่อความสุขและปลอดภัยของผู้ที่มีวินัยจราจร
|
๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบัน
|
เพื่อประโยชน์
แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
|
๕. เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นขณะขับขี่
|
๖. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะมีในภายหลัง
|
๖. เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการไม่เคารพวินัยจราจร
|
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
|
เพื่อประโยชน์
แก่ประชาชน
|
๗. เพื่อทำให้ผู้ที่ไม่เคารพวินัยจราจรให้เกิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะเคารพในวินัยจราจร
|
๘. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่เลื่อมใสแล้ว
|
๘. เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวินัยจราจรมีขวัญและกำลังใจที่จะรักษาวินัยที่ดีต่อไป
|
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม
|
เพื่อประโยชน์
แก่พระศาสนา
|
๙. เพื่อให้วินัยจราจรที่ดีเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขสงบ
|
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัยเพื่อเชิดชูค้ำจุนประคับประคองพระวินัย ๔อย่าง คือ สังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย
|
๑๐. เพื่อส่งเสริมให้การใช้รถใช้ถนนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยมากขึ้น
|
ในการจะตั้งสิกขาบทใดพระพุทธเจ้าทรงใช้กระบวนการ คือ ๑) มีผู้ได้กระทำผิดแล้ว ๒) มีผู้มาร้องเรียนให้ทรงตัดสินความ ๓) มีการวินิจฉัยและประกาศเป็นที่ยอมรับท่ามกลางสงฆ์สาวก แต่สำหรับในกรณีวินัยจราจรนั้นมีความแตกต่างออกไปเนื่องจากในพระธรรมวินัยนั้นจุดมุ่งหมายพุ่งตรงสู่พระนิพพาน แต่วินัยจราจรอยู่ภายใต้การควบคุมด้วยกฎหมายเป็นคำสั่งหรือระเบียบข้อบังคับ ที่ผู้มีอำนาจในรัฐบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติ และให้ประชาชน ปฏิบัติตามหากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกบังคับให้เสียสิทธิหรือทรัพย์สิน หรือต้องได้รับโทษที่กำหนดไว้ ในปี ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกของไทยขึ้นและมีผลบังคับใช้ในปีถัดมาพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนด ให้เจ้าของรถจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย“จราจร” (Traffic) เริ่มใช้ในครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยกรมตำรวจได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบกต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้ออกเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชน โดยที่ขณะนั้นรถจำพวกต่าง ๆ ได้เริ่มเพิ่มมากขึ้น เช่น รถแท็กซี่ขนาดเล็กและยังมีการสร้างสะพานพุทธยอดฟ้า เชื่อมระหว่างจังหวัดพระนคร-ธนบุรี ทำให้พื้นที่เพื่อการจราจรกว้างขวางขึ้นมีผู้นิยมใช้รถมากกว่าเดิม พ.ต.อ. ซี.บี.ฟอลเล็ตเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบกขึ้นโดยอาศัยหลักกฎหมายจราจรของประเทศอังกฤษมาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพของประเทศไทยและได้ผ่านการพิจารณาจาก สภาผู้แทนราษฎรให้ใช้เป็นกฎหมายได้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ จากนั้นมาคำว่า “จราจร” ก็ได้เริ่มแพร่กระจายออกไปถึงประชาชนการจราจรนั้นหมายถึง คน สัตว์ และยวดยานที่สัญจรไปมาถนนหลวงโดยเคลื่อนด้วยแรงคนหรือเครื่องจักร หรือ ลากจูงไปด้วยสัตว์พาหนะ แต่การจราจรในประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐แล้ว ขณะนั้นมีรถยนต์ไม่เกิน ๑,๐๐๐คันมีถนนที่รถเดินได้สะดวกเพียงไม่กี่สาย และเมื่อถึงราว พ.ศ. ๒๕๐๒เป็นต้นมา การจราจรในเมืองหลวงก็เริ่มเติบโตขึ้น เพราะมีรถชนิดต่าง ๆ มากมายหลายหมื่นคันจนเกิดเป็นปัญหาต่อมาปัจจุบันเราใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พระราชบัญญัติจราจร, สืบค้นเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๔)
วินัยจราจร จึงเป็นเรื่องของการไม่ทำผิดกฎจราจรภายใต้พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเห็นว่าการประกาศหรือพิจารณาปรับแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้อยู่ในแวดวงจำกัดคือการเข้าสู่สภานิติบัญญัติ นำเสนอร่างผ่านกฤษฎีกาโดยผ่านมติ ค.ร.ม.และได้รับการโปรดเกล้าฯ จึงประกาศให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบปฏิบัติตาม มีคำถามว่าประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ได้ร่วมรับทราบที่มาของการตั้งกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่สภากำหนดขึ้น ประเด็นนี้ถ้ามองผ่านกระบวนการตั้งบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าดังที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นนั้น พระองค์ทรงวางรากฐานธรรมาธิปไตยโดยการประกาศสิกขาบทให้หมู่สงฆ์ได้รับทราบ พร้อมชี้แจงโทษภัยที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งต่อตนเอง ประชาชน และความมั่นคงของศาสนา ในทัศนะของผู้เขียนแนวทางนี้สามารถนำมาใช้ในการกำหนดวินัยจราจรโดยการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ด้วยการแสดงให้สาธารณชนรับทราบและเห็นด้วยถึงการหาวิธีที่จะใช้จัดการกับปัญหาจราจร ก่อนที่จะประกาศเป็นกฎหมาย ตัวอย่างเช่น การตรวจจับปรับผู้ที่เมาแล้วขับ การจะให้เกิดการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นภาครัฐหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอาศัยผ่านช่องทางสื่อสาธารณชนต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องที่ประชาชนต้องรู้และมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการใช้รถใช้ถนน สื่อจึงมีส่วนสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐผู้ออกกฎหมายบังคับใช้และประชาชนผู้ที่ต้องรักษาและปฏิบัติตาม
เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่จะขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆ บนท้องถนนมีความรู้เรื่องวินัยจราจรและเครื่องหมาย สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อความปลอดภัย จึงต้องมีการทดสอบความรู้ผู้ขับขี่ทั้งภาคปฏิบัติและความรู้ด้านจราจร ก่อนที่จะออกใบอนุญาต สำหรับประเทศไทยการให้ความสำคัญต่อการได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ความเข้าใจของคนสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติ ขาดความเข้มงวดในการสอบวัดความรู้ เพราะผู้สอบเองก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจความรู้ที่ได้ขอเพียงสอบให้ผ่าน ถ้าสอบไม่ผ่านก็จะมีการทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตขับขี่ เป็นความผิดทั้งผู้สอบและการละเลยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ถ้าย้อนต้นตอของกฎจราจรที่เราอาศัยกฎหมายจราจรจากประเทศอังกฤษมาวางรากฐานให้กับประเทศไทย จะเห็นได้ว่าเราเอาแต่บทลงโทษมา โดยไม่ได้ศึกษาว่าการจะได้ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศอังกฤษนั้นเป็นเรื่องที่ยากเกือบเท่ากับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะนอกจากต้องอบรมตามหลักสูตรแล้วผู้เป็นอาจารย์สอนจะเข้มงวดในการสอบภาคปฏิบัติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เขาจะเข้มงวดอย่างมากในเรื่องของความปลอดภัย การไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว การจอดรถ การเปลี่ยนเลนด้วยความระมัดระวัง ถ้าทดสอบแล้วมีพลาดสักจุดหนึ่งก็อาจสอบตกได้และต้องไปเริ่มต้นกระบวนการอบรมใหม่และมีระยะเวลากำหนดในการสอบใหม่ การเข้มงวดเรื่องใบอนุญาตการขับขี่ทำให้ผู้ที่ได้รับมาต้องรักษาและหวงแหนไม่ให้ถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ เพราะอังกฤษมีการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างจริงจังการติดสินบนเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ยากและเป็นความผิดร้ายแรง
ดังนั้นผู้ที่จะสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือจักรยานยนต์และเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของความซื่อสัตย์และความเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีความรู้เรื่องจราจรพร้อมด้วยสำนึกในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน
๓. หิริโอตตัปปะ: สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎจราจร
คำถามว่าทำอย่างไรจึงจะปลุกจิตสำนึกหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง (ทั้งหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตขับขี่ยานยนต์และเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรรวมถึงผู้ที่ใช้รถใช้ถนนซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้ขับขี่เท่านั้น รวมไปถึงผู้เดินทางเท้าด้วย) กับปัญหาการขาดวินัยจราจรนี้ สิ่งที่ต้องเห็นพ้องต้องกันก่อนคือวินัยจราจรนั้นเกิดขึ้นมานอกจากเป็นข้อบังคับทางกฎหมายแล้ว เป้าประสงค์หลักที่สำคัญคือการทำให้ท้องถนนการจราจรเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของตนเองและผู้อื่น ดังนั้น คงต้องมาตั้งหลักค้นหาคำตอบจากพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา ธรรมที่ทรงแสดงเป็นเครื่องคุ้มครองโลก หรือ "ธรรมโลกบาล" คือ หิริโอตตัปปะ
หิริ หมายถึง ความละอายแก่ใจ คือละอายต่อความชั่ว (พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต, ๒๕๕๓: ๔๗๑)
โอตตัปปะ หมายถึง ความกลัวบาป ,ความเกรงกลัวต่อทุจริต ความเกรงกลัวความชั่ว เหมือนกลัวอสรพิษ ไม่อยากเข้าใกล้พยายามหลีกให้ห่างไกล (พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต, ๒๕๕๓: ๕๗๙)
พระเฉลิมพล จนฺทปญฺโญ (๒๕๕๓: ๔๒๓-๔๒๔) ได้แสดงเหตุที่ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ ซึ่งผู้เขียนได้นำมาประยุกต์ใช้กับวินัยจราจร มีดังนี้
๓.๑ เหตุที่ทำให้เกิด หิริ
๑. คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล : การระลึกถึงคุณค่าของการได้เกิดเป็นมนุษย์ ชาติกำเนิดของมนุษย์นั้นสูงกว่าสัตว์ การฆ่ากันไม่ใช่วิสัยของผู้ที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้นการขับรถถ้าผู้ใช้รถใช้ถนนหมั่นระลึกได้อย่างนี้ ทำให้เกิดความระมัดระวังและเคารพกฎจราจร ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หรือเสียหายทรัพย์สินด้วยความประมาท การฆ่าผู้อื่นเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบบันดาลโทสะ หรือเป็นเพราะกลัวความผิดและความรับผิดชอบที่ตามมา (ผู้กระทำผิดกฎจราจรบางกลุ่มมีความเชื่อว่าถ้าชนคนแล้วตายรับผิดชอบน้อยกว่าชนแล้วคู่กรณีเกิดบาดเจ็บหรือพิการ) เพียงแค่ใช้เวลาหยุดคิดสักนิดว่า มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่สามารถมีปัญญา มีจิตใจสูง ไม่เข่นฆ่ากันเองเหมือนสัตว์เดรัจฉาน และมั่นพิจารณาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าถึงเหตุที่ทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ต้องหมั่นประกอบด้วยบุญกุศลอย่างไรก็จะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถระงับอารมณ์ ความรู้สึกที่อยากทำร้ายผู้อื่นให้ผ่อนคลายลง ด้วยเพราะมองเห็นคุณค่าความยากลำบากในการได้เกิดมาเป็นมนุษย์
๒. คำนึงถึงอายุ : ประโยชน์ของการได้ทบทวนอายุของตัวเอง ๑) ทำให้มองเห็นสังขารของตัวเองความพร้อมของร่างกายในการขับรถ เช่นปัญหาเรื่องสายตา ๒) เป็นเรื่องของตัวอย่างที่ดีและความน่าเชื่อถือ ถ้าเราอายุอย่างนี้แล้วยังทำผิดจราจรให้ลูกหลานเห็นเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว เรื่องอื่นถ้าเราสอนเขาแล้วเขาจะเคารพเชื่อฟังหรือไม่ ๓) เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเข้าใจผู้อื่น โดยการนำอายุมาพิจารณา ว่าในอดีตตอนเราอายุเท่านี้ก็มีความรู้สึกเช่นนี้ คือใจร้อน ต้องการความเร็ว คิดได้ดังนี้จิตจะไม่เกิดอกุศลให้ปรุงแต่งต่อ จิตใจมีแต่จะเมตตา ถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นน้ำเย็น ต่อให้อีกฝ่ายร้อน ประเดี๋ยวอีกฝ่ายก็จะนิ่งไปเอง หากปฏิบัติได้ดังนี้คงไม่มีข่าวคดีที่โต้เถียงกันจนเป็นเหตุให้ฆ่ากันตายให้เห็นในสังคม สำหรับในมุมกลับกันผู้ที่มีอายุน้อยก็ให้หมั่นพิจารณาว่า ความแก่ชราเป็นเรื่องที่ไม่สามารถล่วงพ้นไปได้เมื่อวันหนึ่งเราทุกคนก็ต้อง แก่ชรา สายตา ประสาทรับสัมผัสไม่ดีเหมือนก่อน สมรรถนะในการขับขี่ของเราก็ช้าลง ไม่แตกต่างจากรถคันที่เห็นว่าขับช้าน่ารำคาญ
๓. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ : สำหรับผู้ที่เคารพกฎจราจรมาโดยตลอด จะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง แม้จะไม่มีใครรู้ แต่ความภูมิใจความศรัทธาในตนเองนี้เป็นสิ่งที่คงอยู่ในจิตใจตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อจะกล่าวว่าหรือตำหนิผู้ใดว่ากระทำผิดกฎจราจร สามารถพูดได้อย่างเต็มที่และมั่นใจ และการหมั่นคำนึงถึงเรื่องความเชื่อมั่นในความดีความเคารพกฎจราจรเป็นสิ่งที่ดี หากบางโอกาสหรือสถานการณ์ที่อาจทำให้อยากละเมิดกฎจราจร คุณความดีและความภาคภูมิใจในอดีตที่สะสม จะเป็นตัวฉุกคิดว่าคุ้มหรือไม่ที่เราทำดีมาตลอดแล้วจะมาเสียในครั้งนี้ สุดท้ายเราก็ไม่ได้ดีไปกว่าผู้ที่เราเคยตำหนิติเตียน
๔. คำนึงถึงความเป็นพหูสูตหรือความรู้ที่ร่ำเรียนมา : หากกล่าวว่าผู้ที่ไม่รู้ย่อมไม่ผิด ไฉนเลยเราเองก็มีการศึกษามีภูมิความรู้การศึกษา ควรหรือไม่ให้ผู้อื่นต่อว่าเราเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ไร้การอบรมที่ดี สะท้อนไปถึงการเลี้ยงดูสั่งสอนจากบุพพการี ถ้าหากเราเป็นผู้ที่มากการศึกษารู้กฎระเบียบวินัยจราจรต่าง ๆ แต่เราก็ยังทำผิดโดยไม่ละอายอีก อาจกล่าวได้ว่าสู้ผู้ที่ร่ำเรียนมาน้อยแต่รู้จักเคารพกฎกติกาบ่งบอกการมีการศึกษา รู้จักมารยาทในการอยู่ร่วมกัน
๕. คำนึงถึงพระศาสดา : เรื่องนี้สำหรับทุกศาสนาก็สามารถนำคำสอนของศาสดาตนมาใช้ได้ เพราะทุกศาสนา ศาสดาสอนให้ละความชั่ว สร้างกรรมดี สิ่งที่ผิดหรือขัดกับความถูกต้องเหมาะสมก็ไม่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนควรหมั่นนึกถึงหัวใจคำสอนของพระพุทธองค์ในโอวาทปาติโมกข์“สพฺพปาปสฺสอกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทาสจิตฺตปริโยทปนํเอตํพุทฺธานสาสนํ” การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เพียบพร้อมการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ข้อนั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย (พรไตรปิฎก, เล่ม ๑๐ ข้อ ๙๐: ๕๐) การระลึกถึงคำสอนจะช่วยเตือนใจและประคองจิตของตัวเองไม่ให้เกิดมัวหมอง คิดทำถูก ไม่คิดทำผิด คิดทำดี ไม่คิดทำชั่ว คิดให้ระวัง ไม่ประมาท
๖. คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา: หลายครั้งที่ปรากฏให้เห็นถึงการนำสติ๊กเกอร์สถาบันมาติดด้านหลังรถ ด้วยความรู้สึกสำนึกรักสถาบันที่ตนได้ศึกษาเหล่าเรียน แต่ถ้ามองให้ดีอาจเป็นดาบสองคมได้ เพราะถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่จบการศึกษาสถาบันนี้ แต่พฤติกรรมที่เราใช้รถใช้ถนน ไม่อยู่ในวินัยจราจรที่ดี ทำผิดกฎจราจรหรือเบียดเบียนผู้ขับขี่เพื่อนผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน อย่างนี้อาจสะท้อนให้ผู้อื่นเห็นว่า สถาบัน ไม่ได้ให้การอบรมหรือสั่งสอนที่ดี รวมไปถึงครูอาจารย์ที่อบรมสั่งสอน ถ้าเรามองว่าตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สถานศึกษา หรือครูอาจารย์ได้รับเกียรติและมีความภาคภูมิใจในการสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีของสังคม พฤติกรรมที่ในการขับขี่ของเรา ต้องมีการไตร่ตรองและระมัดระวังให้ดี เพราะถ้าเกิดมีเรื่องราวเป็นกรณีขึ้นมา นอกจากตัวเราเป็นหนึ่งในผู้เสียหายแล้วยังส่งผลต่อสถานศึกษาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่และผู้ปกครองยินยอมให้ขับรถไปเรียนได้ ควรต้องคิดถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของสถาบันศึกษา ด้วยการขับขี่ตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและมีความระมัดระวัง
กล่าวได้ว่า หิริ เป็นความละอายต่อความชั่วทั้งปวง ไม่ว่าจะมีผลต่อตนเองหรือผลกระทบต่อผู้อื่น เป็นการมองแบบรอบด้านด้วยการตระหนักรู้ว่าเราเป็นใคร
๓.๒ เหตุที่ทำให้เกิด โอตตัปปะ
๑. กลัวคนอื่นตำหนิ : การที่เราเกรงมีผู้ตำหนิหรือต่อว่า เป็นเพราะเรากลัวคนอื่นรู้เห็นความผิดของเรา อาจทำให้ชื่อเสียงคุณความดีที่อุตสาห์สร้างมาก็ต้องมามัวหมองจากเรื่องนี้ ดังที่เราเห็นตามหน้าข่าว ผู้มีชื่อเสียง มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี ต่างก็อาจตกเป็นข่าวทำให้เสียชื่อเสียง โดยเฉพาะเรื่องเมาแล้วขับนอกจากทำให้ผิดกฎหมายแล้วยังทำให้ภาพพจน์ส่วนตัวเสียหาย คุ้มหรือไม่ควรตรองให้ดี เรื่องนี้เป็นการคิดให้ดีก่อนทำเพราะผลที่เกิดขึ้นไม่มีใครคาดเดาได้อาจรุนแรงเป็นผลเสียอย่างร้ายแรง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้
๒. กลัวการลงโทษ: เพียงแต่เราทราบว่าผลของการไม่ละเมิดกฎจราจรนอกจากต้องเสียทรัพย์สินเป็นตัวเงินหรือค่าปรับแล้ว สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ความจริงคือ นอกจากเสียค่าปรับแล้วยังมีตัวบทลงโทษด้วยการหักแต้ม และสุดท้ายปรับสูงสุดคือ ถอนใบอนุญาตใบขับขี่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่๗)พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๓ มีบทลงโทษสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดให้โทษหรือสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตในหรืออาจทำให้เสียชีวิต มีตัวบทลงโทษตามกฎหมายที่ตามระดับความผิดโดยจำคุกและปรับหรือทั้งจำและปรับ รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตใบขับขี่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ครอบคลุมไปถึงการขับรถในขณะมึนเมามีแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดเพื่อเป็นการตักเตือนกรณีที่เจ้าหน้าจราจรตรวจพบว่ากระทำผิดกฎจราจรตัวอย่าง เช่นเมาแล้วขับ มีการปรับโทษด้วยการให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากจะถูกจับปรับยึดใบอนุญาตขับขี่ (สูงสุดไม่เกิน ๖๐วัน) หรือหากหนักหนาสาหัสก็อาจถูกพักใบอนุญาตขับขี่ (สูงสุดไม่เกิน ๙๐วัน)จะถูกบันทึกคะแนนและการทำผิดไว้ข้างหลังใบอนุญาตขับขี่หรือคอมพิวเตอร์ในระบบ POLIS ของสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ โดยมีการแบ่งความผิดเป็น ๑๙ฐานความผิดและมีการหักคะแนนเป็น ๔ระดับตั้งแต่ ๑๐-๔๐คะแนนไล่ตามอัตราความรุนแรงในการทำความผิดบนท้องถนน (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ๒๕๕๔) ผลของการทำผิดในบัญญัติ ๑๙ประการจะต้องเสียค่าปรับแล้ว เจ้าพนักงานยังมีสิทธิยึดใบอนุญาตขับขี่ซึ่งมีกำหนดครั้งละไม่เกิน ๖๐วัน เพื่อดำเนินการตามมาตรการการบันทึกคะแนนและหากภายใน ๑ปี กระทำความผิดเดิมซ้ำตั้งแต่ ๒ครั้งขึ้นไปต้องเข้ารับการอบรม ๓ช.ม. ซึ่งเกี่ยวกับกฎหมายจราจรสาเหตุและการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร ความผิดทางแพ่งและอาญาของผู้ขับขี่และมารยาท คุณธรรมและความมีน้ำใจในการขับขี่รถเมื่ออบรมสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรต้องทดสอบความรู้ความเข้าใจตามแบบทดสอบให้ผ่านเกณฑ์คะแนนมากกว่าร้อยละ ๕๐แต่ถ้ายังไม่ผ่านเกณฑ์ถือว่าสอบตกต้องอบรมและสอบใหม่แต่ถ้าถูกจดคะแนนถึง ๖๐ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่แปลว่าห้ามขับรถตามระยะเวลาที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตซึ่งสุดสุดครั้งละไม่กิน ๙๐วัน หรือ ๓เดือน จากกรณีนี้การตัดคะแนนโดยแบ่งตามระดับความผิดโดยเฉพาะความผิดที่จะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินทั้งของตนเองและผู้อื่นจะถูกหักคะแนนมากจนไปถึงการเพิกถอนใบอนุญาตการขับขี่ ถ้าเราทราบและกลัวการลงโทษจากการกระทำผิดเราก็จะไม่ฝ่าฝืน พร้อมที่จะกระทำตามด้วยความเกรงกลัวในบทลงโทษดังกล่าว
๓. กลัวการเกิดในทุคติ: การเกรงกลัวต่อผลที่ตามมาซึ่งไม่ใช้เพียงแต่ในชาตินี้ แต่อาจส่งผลต่อไปยังชาติหน้าและชาติต่อ ๆ ไป การเกรงกลัวต่อบาปกรรม อันเสริมให้เราไปเกิดในแดนนรกภูมิหรืออสุรกาย ภูมิ ด้วยการผลของกระทำผิดทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างเช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่ การลุแก่โทสะ ทำให้ทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ความตาย หรือ ต้องพิการสูญเสียอนาคตที่ดี สิ่งนี้จะทำให้เรามีการผูกจองเวรจากผู้ที่สูญเสียติดตามกันไปทุกภพทุกชาติ ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงล้อของกงเกวียนกำเกวียนไปได้ การเกรงกลัวผลที่ร้ายแรงแม้ไม่ใช่ชาตินี้ แต่คุ้มหรือไม่กับผลนี้ส่งไปถึงภพหน้า มีหลายกรณีที่ขับรถด้วยความประมาทและเกิดความทะเลาะวิวาท จนไปถึงขั้นต้องฆ่าให้ตายเพื่อให้หายแค้น แต่สุดท้ายก็ต้องรับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายและกฎแห่งกรรม
โอตตัปปะ เป็นเรื่อง จิตสำนึกภายนอกที่ต้องเกรงกลัวต่อการลงโทษภายนอกหรือการเสียทรัพย์ โทษภายในที่เป็นเรื่องการถูกขุมขังและโทษที่อยู่ในใจอันจะส่งไปถึงภพภูมิหน้า
กล่าวได้ว่า กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมความประพฤติผิดทางกายกับวาจาเท่านั้น หาได้ไปควบคุมถึงใจซึ่งเป็นตัวควบคุมกายกับวาจาความผิดทางกฎหมายจะเกิดขึ้นตามเงื่อนไขของกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อการกระทำผิดเช่นนั้น จะต้องฟัง และฟังได้ว่าเป็นความผิดตามกฎหมายมีประจักษ์พยานหลักฐาน มากพอที่จะถือว่าเป็นความผิดได้จึงตัดสินได้ว่าเป็นความผิดแต่สำหรับหิริโอตตัปปะ เป็นการพิจารณา ชาติตระกูล อายุ จิตใจที่เข้มแข็ง การศึกษาเสียงครหาจากคนอื่น ความรู้สึกตำหนิตนเองโทษทางบ้านเมือง การตกนรกหลังจากตาย เป็นต้นความรู้สึกสำนึกเหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อคนสำนึกเห็นถึงคุณค่า ความงดงาม อันเกิดขึ้นจากการมีความละอายแก่ใจและความสะดุ้งกลัวต่อบาป และผลบาปหากว่าความสำนึกว่าอะไรผิดอะไรถูก เกิดจากหิริโอตตัปปะแล้วไม่จำเป็นจะต้องมีคนเห็นหรือไม่เห็น ผู้ที่มีหิริโอตตัปปะจะสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า อะไรควรเว้นอะไรควรกระทำ ในด้านสร้างความดีก็เช่นกัน ผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ พร้อมที่จะทำความดีโดยไม่จำเป็นว่าใครจะเห็นหรือไม่ก็ตามเมื่อเป็นความดีก็พร้อมที่จะกระทำ อย่างที่พูดกันว่า “ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”หากคนในสังคมมีหิริโอตตัปปะเป็นหลักใจแล้ว กฎหมายต่าง ๆ ไม่มีความเป็นอะไรเลยเพราะการละเมิดสิ่งที่กฎหมายกำหนดว่า ผิดกฎหมายจะไม่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่ากฎหมายห้ามไว้อย่างไร หรือไม่ก็ตาม
๔. สัมมาทิฏฐิ: เครื่องมือปฏิรูปวินัยจราจร
๑)ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น) เป็นการได้ยินได้ฟัง คำบอกเล่า ข่าวสาร คำชี้แจง อธิบาย การแนะนำชักจูง การสั่งสอน การถ่ายทอด การได้เรียนรู้จากผู้อื่น (พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตฺโต, ๒๕๔๔: ๒๖๓) การจะรับฟังผู้อื่นนั้นต้องเริ่มต้นที่ศรัทธา อันเป็นการมุ่งหมายด้วยหลักที่เรียก กัลยาณมิตตตา คือความมีกัลยาณมิตร คำว่า กัลยาณมิตร มิได้หมายถึงเพียงแค่เพื่อนที่ดีอย่างที่เรารู้อย่างทั่วไป แต่กัลยาณมิตร ยัง หมายถึง บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชักจูง ช่วยเหลือ บอกช่องทาง ให้ดำเนินในมรรคาแห่งการฝึกศึกษาอย่างถูกต้อง ดั่งเช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันตวาวก ครู อาจารย์ และท่านผู้เป็นพหูสูตรทรงปัญญา สามารถสั่งสอนแนะนำเป็นที่ปรึกษาได้ แม้จะอ่อนวัยกว่า (วิสุทธิมรรค: ๑๒๓-๑๒๕)
สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยจราจรหรือการเคารพกฎจราจรนั้น นอกจากผู้ที่ใช้รถใช้ถนนต้องมีสามัญสำนึก รู้จักความละอายและเกรงกลัวต่อผลที่ตามมาแล้วผู้ทำงานสื่อ นับว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากในการส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องวินัยจราจร กล่าวคือ การให้ข่าวสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นธรรม สะท้อนให้สังคมเห็นโทษภัยของการขับรถผิดกฎจราจร หรือ การใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสินความขัดแย้งที่พบเจอบนท้องถนน นอกจากสื่อต้องเสนอข่าวสาร ใคร ทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร ประเด็นหนึ่งที่สำคัญและมิอาจมองข้ามคือ การนำเสนอเนื้อหาสาระความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะวินัยจราจร ควรนำเสนอข้อกำหนดจราจรที่ประชาชนควรทราบและตัวบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เรื่องนี้ต้องทำทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะถือว่าเป็นการให้ข้อมูลความรู้ได้อย่างตรงประเด็นและเข้าถึงประชาชนได้ตรงที่สุด ทั้งนี้ผู้นำเสนอเองก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องวินัยจราจร หรือ อาจนำเสนอข่าวนี้พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลจราจร เป็นผู้ให้ความรู้ต่อกฎจราจรต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการณคำแนะนำและกระตุ้นให้สังคมเห็นคุณค่าของความดี การเป็นผู้ประพฤติตามกฎจราจร การยกย่องสรรเสริญผู้ที่ทำความดีมีวินัยบนท้องถนน สื่อคงต้องนำเสนอสอดแทรกไปด้วย เพราะการทำข่าวด้านลบอย่างเดียว ไม่ได้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ให้กับผู้รับข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวที่ผู้กระทำผิดมียศ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน มีอิทธิพลต่อการจับกุมหรือติดตามมาลงโทษนั้น ถ้าสังคมรับทราบว่ามีการเลือกปฏิบัติมีสองมาตรฐานแล้วไซร้ การจะออกกฎหมายบังคับใช้เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะประชาชนขาดศรัทธา ทั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนที่ดูแลรับผิดชอบอย่างเช่นตำรวจจราจร และเจ้าหน้าที่ระดับสูงกลับนิ่งนอนใจเสียเองในการเอาจริงเอาจังกับผู้กระทำผิดแม้ว่าจะมียศตำแหน่งหรือสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น สื่อก็ดี เจ้าหน้าที่จราจร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ดี ต่างต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับประชาชนในด้านการให้ความรู้ การกระตุ้นเตือนให้คิด การตอกย้ำในเรื่องวินัยจราจร ทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายต่างก็ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังโดยอาศัยหลักกัลยาณมิตรธรรม กล่าวไว้ว่า เมื่อคนสังคมมีบุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นกัลยาณมิตรคอยชี้นำให้เห็นถึงคุณค่าของให้วินัยจราจร อันเป็นองค์ประกอบภายนอกที่สร้างศรัทธาให้กับประชาชน จะทำให้การแก้ปัญหาวินัยจราจรก้าวสู่การพัฒนาองค์ประกอบภายใน หรือโยนิโสมนสิการคือการนำความเข้าใจที่ได้ตามแนวศรัทธาไปเป็นพื้นฐานในการใช้ความคิดอย่างอิสระ คือการตัดสินใจด้วยตัวเองในการประพฤติปฏิบัติตามกฎจราจร หรือวินัยจราจร
๒. โยนิโสมนสิการหมายถึง “การทำในใจให้แยบคาย” เป็นการพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า การใช้ความคิดสืบสาวตลอดสาย การคิดอย่างมีระเบียบ การรู้จักคิดพิจารณาด้วยอุบาย การคิดแยกแยะออกดูตามสภาวะของสิ่งนั้น ๆ โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหาอุปาทานของตนเข้าจับความสำคัญของโยนิโสมนสิการมีหลายประการ ตัวอย่างหนึ่งในพุทธพจน์ พระองค์ตรัสไว้ว่า “เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเหมือนโยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย)นี้” เมื่อมนสิการโดยแยบคาย กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป (พระธรรมปิฏกป.อ.ปยุตฺโต๒๕๔๔: ๒๖๓)
ขอบเขตของโยนิโสมนสิการ กินความกว้างครอบคลุมตั้งแต่ความคิดในแนวทางของศีลธรรมการคิดตามหลักความดีงามและหลักความจริงต่าง ๆ ที่ตนได้ศึกษาหรือรับการอบรมสั่งสอนมา มีความรู้ความเข้าใจดีอยู่แล้ว เช่น คิดในทางที่จะเป็นมิตรคิดรักคิดปรารถนาดีมีเมตตา คิดที่จะให้หรือช่วยเหลือเกื้อกูล คิดในทางที่จะเข้มแข็ง ทำการจริงจังไม่ย่อท้อ เป็นต้น ซึ่งไม่ต้องใช้ปัญญาลึกซึ้งอะไรตลอดขึ้นไปจนถึงการคิดแยกแยะองค์ประกอบและสืบสาวหาสาเหตุปัจจัยที่ต้องใช้ปัญญาละเอียดประณีตเนื่องด้วยโยนิโสมนสิการมีขอบเขตกว้างขวางอย่างนี้ปกติชนทุกคนสามารถใช้โยนิโสมนสิการได้(ธำรง บัวศรี, ๒๔๖: ๓๑-๔๓) พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต ได้นำเสนอวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการไว้ ๑๐ ประการ หนึ่งในวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ได้แก่ วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรมเป็นวิธีคิดที่ส่งเสริมชักนำไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์เป็นการขัดเกลาและบรรเทาปัญหาพระธรรมปิฎกอธิบายว่าในเหตุการณ์หรือประสบการณ์เดียวกันคนหนึ่งอาจคิดปรุงแต่งไปในทางดีงามเป็นประโยชน์อีกคนหนึ่งอาจปรุงแต่งไปในทางดีงาม เป็นประโยชน์อีกคนหนึ่งอาจปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งามเป็นโทษทั้งนี้เนื่องมาจากการฝึกฝนอบรมและประสบการณ์ที่ได้สะสมมานอกจากนี้แม้แต่บุคคลเดียวกันมองของอย่างเดียวกันหรือมีประสบการณ์เดียวกันแต่ต่างขณะต่างเวลาก็อาจคิดแตกต่างออกไปครั้งละอย่างได้คราวหนึ่งร้ายคราวหนึ่งดีทั้งนี้โดยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ววิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรมหรือโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลในที่นี้จึงมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้น ๆและในแง่ที่ช่วยแก้ไขนิสัยเคยชินร้าย ๆของจิตที่ได้สะสมไว้แต่เดิมพร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกัน
ในกรณีที่ความคิดอกุศลเกิดขึ้นแล้วพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ยกตัวอย่างพุทธวิธีในการแก้ความคิดอกุศลไว้ ๕ ขั้น คือ ๑) คิดนึกใส่ใจเรื่องอื่นที่ดีงามเป็นกุศล เช่น นึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดเมตตาแทนเรื่องที่ทำให้เกิดโทสะ เป็นต้นถ้ายังไม่หาย๒) พึงพิจารณาโทษของความคิดที่เป็นอกุศลเหล่านั้นว่า ไม่ดีไม่งามก่อผลร้ายนำความทุกข์อย่างไรมาให้ ถ้ายังไม่หาย๓) พึงใช้วิธีต่อไปคือไม่คิดถึง ไม่ใส่ใจในความชั่วร้ายที่เป็นอกุศลนั้นเลย ถ้ายังไม่หาย๔) พึงพิจารณาสังขารสัณฐานของความคิดเหล่านั้น ว่าความคิดนั้นเป็นอย่างไรเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรถ้ายังไม่หาย๕) พึงขบฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน อธิษฐานจิตคือตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ข่มใจระงับความคิดนั้นเสีย
การคิดแบบโยนิโสมนสิการนี้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกเวลาผู้ใดก็ตามเมื่อเข้าใจหลักการนี้แล้วอาจใช้โยนิโสมนสิการแก้ได้แม้แต่ทัศนคติและจิตนิสัยไม่ดีที่สร้างมาเป็นเวลานานจนชิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสัยการไม่มีวินัยจราจรทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนที่เกี่ยวข้อง การนำเมตตา(พรหมวิหารธรรม) การพิจารณาความทุกข์(อริยสัจ ๔) การวางเฉยต่อเหตุการณ์นั้น (อุเบกขา) การใช้ปัญญาไตร่ตรอง (สมถะและวิปัสสนา) และสุดท้ายคือ ความอดทน (ขันติ) วิธีคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่เร้าให้เกิดกุศลธรรมเช่นความรู้สึกเมตตากรุณาและความเสียสละเป็นต้นอันจะเป็นผลดีแก่ความเจริญงอกงามของตน มีลักษณะเป็นการเสริมสร้างพลังหรือปริมาณฝ่ายดีขึ้นมากดข่มทับหรือบังฝ่ายชั่วไว้ให้ผลขึ้นแก่การชั่วคราวหรือเป็นเครื่องตระเตรียมหนุนเสริมความพร้อมและสร้างนิสัยที่นำไปสู่โลกียสัมมาทิฎฐิเพื่อการพัฒนาตนต่อไป
เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้วด้วยอาศัยโยนิโสมนสิการและกัลยาณมิตร ย่อมเป็นหนทางเจริญไปสู่จุดหมายการรู้การเห็นประจักษ์ในที่สุด ด้วยการอุดหนุนองค์ธรรมต่างๆ ได้แก่ ศีล (ความประพฤติดีงาม สุจริต) สุตะ (ความรู้จากการสดับฟัง เล่าเรียน อ่านตำรา และการแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม), สากัจฉา (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้) สมถะ (ความสงบ การไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ การเจริญสมาธิ), วิปัสสนา (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่าง ๆตามสภาวะที่เป็นจริง)
๕. บทสรุป
วินัยเป็นเครื่องมือสำคัญขั้นแรกที่ใช้ในฝึกและพัฒนามนุษย์และสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญในการฝึกเคารพกฎจราจร หรือมีวินัยจราจรซึ่งเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคม สืบเนื่องไปจนถึงการสร้างวินัยในตนเองสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน การมีวินัย คือการที่สังคมมีข้อตกลงและจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนสำหรับการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงปลอดภัยของผู้ที่ใช้รถใช้ถนนและประโยชน์สูงสุดของการมีวินัยจราจร คือการฝึกฝนพัฒนาตนของคนในชาติ ข้อปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข ทำให้กิจการต่าง ๆ ดำเนินไปด้วย นั่นคือ ศีล ๕ ได้แก่การเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เว้นจากการทำร้ายทำลายชีวิต การละเมิดทรัพย์สิน การกระทำผิดทางเพศและละเมิดต่อคู่ครองผู้อื่น การพูดเท็จให้ร้ายหลอกลวง และการเว้นจากเสพสุรายาเสพติด ทำลายสติสัมปชัญญะ นำไปสู่กรรมชั่วอื่น เริ่มตั้งแต่คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้ร่วมสังคม เพื่อประโยชน์ต่อคนหมู่มาก วินัยจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนามนุษย์เป็นกระบวนการพื้นฐานในการฝึกพฤติกรรมที่ดี และเป็นการจัดสรรสภาพแวดล้อมที่จะป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์ พร้อมทั้งฝึกคนให้คุ้นกับพฤติกรรมที่ดีจนพฤติกรรมเคยชินที่ดีนั้นกลายเป็นวิถีชีวิตของตน ก็เกิดเป็นศีล วิธีที่จะฝึกวินัยจราจรที่ดีจึงต้องเริ่มจากสำนึกในการละอายและเกรงกลัวต่อการทำผิด ด้วยการส่งเสริมจากกัลยาณมิตรไม่ว่าจะเป็นสื่อ เจ้าหน้าที่จราจร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอบรมให้ความรู้กับประชาชนเรื่องของวินัยจราจร พร้อมกับการรู้จักคิดแบบโยนิโสมนสิการด้วยการทบทวนหลาย ๆ ด้านหลายมุมมองอย่าเพียงแต่รับฟังอย่างเดียวต้องคิดเป็นด้วยเหตุและผลที่ถูกต้องเพราะหลายครั้งอาจไม่ได้เป็นเรื่องของผิดกฎจราจร แต่บางครั้งก็ต้องพิจารณาด้านมนุษยธรรม ศีลธรรม สัมมาทิฏฐิเกิดจากจุดนี้ สุดท้ายแล้วไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมที่จะเห็นคนไทยมีวินัยจราจรที่ดีด้วยการเห็นถูกผิดด้วยตนเองไม่ต้องอาศัยพึ่งพิงแต่เพียงกฎหมาย นั่นหมายถึงเราพัฒนาตนก้าวเหนือกว่าการกลัวบทลงโทษทางกฎหมาย แต่ทำด้วยความพร้อมใจยินดีเป็นนิสัยด้วยใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เมตตาต่อกัน การให้อภัยกัน ไม่เบียดเบียนกันทั้งทางกาย วาจา ใจ เป็นภาพสะท้อนของความเป็นผู้มีศีลสำหรับพุทธศาสนิกชนไทยและเป็นการคืนความสุขให้กับสังคม
อ้างอิง
หนังสือ
พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต.(๒๕๔๖).พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
______.(๒๕๕๐).พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์.พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
______. (๒๕๕๓).พจนานุกรม ฉบับประมวลศัพท์.พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพมหานคร: บริษัทสหธรรมิจำกัด.
______.(๒๕๕๐).วินัยเรื่องใหญ่กว่าที่คิด. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พิมพ์สวย จำกัด.
พุทธทาสภิกขุ.(๒๕๔๙).พุทธประวัติจากพระโอษฐ์.พิมพ์ครั้งที่ ๑๕.กรุงเทพมหานคร: บริษัท ตถาตา
พับลิเคชั่น จำกัด.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ผู้จัดทำ.(๒๕๓๙). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๖).พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.กรุงเทพฯ:นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์:
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. การบันทึกคะแนนทำผิดไว้หลังข้างหลังใบขับขี่ สนง.ตำรวจแห่งชาติ.สืบค้นเมื่อ ๑๐
สิงหาคม ๒๕๕๔. จากhttp://www.south21-00.com/index.php?option=com_kunena.
วอยส์ทีวี. ABAC โพล เผย ประชาชนกว่าร้อยละ๗๘.๘ มีพฤติกรรมขับรถยอดแย่.สืบค้นเมื่อ ๑ ตุลาคม
๒๕๕๔. จาก http://news.voicetv.co.th/thailand/7894.html
ดร.ธำรง บัวศรีสารานุ.โยนิโสมนสิการในทัศนะของพระธรรมปิฏก.โดยกรมศึกษาคณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.สืบค้นเมื่อ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔.จาก http//www.swuaa.com
สาเหตุจราจรทางบก.สืบค้นเมื่อ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔จาก http://www.ipesp.ac.th/ learning /supitcha
/html/E4-2-1.html.
|