หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ » พระพุทธศาสนากับมังสวิรัติ
 
เข้าชม : ๒๘๔๓๙ ครั้ง

''พระพุทธศาสนากับมังสวิรัติ''
 
พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2546)


          สมัยหนึ่ง ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ พระเทวทัตพร้อมด้วยพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตร และพระสมุทททัตต์ เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการ ดังนี้ (๑) ภิกษุควรอยู่ป่าตลอดชีวิต (๒) ภิกษุควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต (๓) ภิกษุควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต (๔) ภิกษุควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต (๕) ภิกษุไม่ควรฉันปลาและเนื้อ
พระพุทธตรัสห้ามว่า
            อย่าเลยเทวทัตต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ บ้าน ภิกษุใดปรารถนาก็จงเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีการ นิมนต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีผ้า คฤหบดี เราอนุญาตรุกขมูล(การอยู่โคนไม้)ตลอด ๘ เดือน(นอกฤดูฝน) เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ (๑)ไม่ได้เห็น (๒)ไม่ได้ยิน (๓)ไม่ได้รังเกียจ

          เรื่องนี้ปรากฏในคัมภีร์พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ และมีกรณีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ สีหเสนาบดี เดิมนับถือศาสนาเชน เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรม บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารในเรือนพวกนิครนถ์(เชน)เที่ยวกล่าวหาว่า สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์มาทำเป็นอาหารถวายพระสงฆ์ พระสมณโคดมก็ฉันเนื้อสัตว์นั้น ครั้นสีหเสนาบดีทราบคำกล่าวหาก็ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง
          พระพุทธเจ้าทรงทราบข้อกล่าวหาของพวกนิครนถ์ จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามฉันเนื้อหาสัตว์ที่เขาฆ่าทำถวาย เจาะจงภิกษุ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุที่ฉันเนื้อสัตว์ที่เขาเจาะจงฆ่าทำถวาย ในขณะเดียวกันก็ทรงอนุญาตให้ฉันปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ (๑) ไม่ได้เห็น (๒)ไม่ได้ฟัง (๓)ไม่ได้นึกรังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อให้ตนบริโภค เรื่องนี้ปรากฏในคัมภีร์พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ เล่ม ๕


          จากกรณีตัวอย่าง ๒ เรื่องนี้ สรุปได้ในว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามภิกษุฉันปลาและเนื้อ ถามว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเนื้อส้ตว์หรือไม่ ? มีเนื้อความแห่งสิกขาบทที่ ๙ ในโภชนวรรค พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ เล่มว่า สมัยหนึ่ง พระฉัพพัคคีย์(กลุ่มภิกษุ ๖ รูป)ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงตำหนิแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
            ก็ภิกษุใดออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์
          ต่อมามีกรณีภิกษุเป็นไข้ ไม่กล้าออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน จึงไม่หายจากอาการไข้ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงอนุญาตให้ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันได้ ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้เป็นอนุบัญญัติว่า
            อนึ่ง ภิกษุไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนย ข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
          คำว่า ปลา ในสิกขาบทนี้ ได้แก่ สัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ คำว่า เนื้อ ในสิกขาบทนี้ ได้แก่ เนื้อของสัตว์บกที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ นั่นคือเป็นเนื้อที่เหมาะสม ภิกษุที่ไม่เป็นไข้ ออกปากขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ครั้งที่ขอ ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จะฉันของที่ได้มา ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน ถามว่า ภิกษุออกปากขอโภชนะอันประณีต(โดยเฉพาะกรณีปลาและเนื้อ)มาเพื่อตนแล้วฉัน ในกรณีไหนที่ไม่ต้องอาบัติ ? มี ๙ กรณีไม่ต้องอาบัติ(ไม่ผิดพระวินัย) คือ (๑) ภิกษุเป็นไข้ (๒) ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอมาแล้วหายเป็นไข้จึงฉัน (๓) ภิกษุฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุไข้ (๔) ภิกษุออกปากขอจากญาติ (๕) ภิกษุออกปากขอจากคนปวารณา (๖) ภิกษุออกปากขอเพื่อภิกษุอื่น (๗) ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน (๘) ภิกษุวิกลจริต (๙) ภิกษุต้นบัญญัติ
          กรณีของภิกษุก็มีลักษณะเหมือนกับภิกษุ แต่ต้องอาบัติต่างกัน กล่าวคือ ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ออกปากขอเนื้อมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ แต่ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีที่เป็นไข้ออกปากขอเนื้อมาฉันได้

          ในเบื้องต้นต้องแยกประเด็นออกให้ชัดเจนว่า ภิกษุฆ่าสัตว์ผิดพระวินัยหนักบ้าง เบาบ้างแล้วแต่กรณี คฤหัสถ์ฆ่าสัตว์ผิดศีลข้อปาณาติบาตแน่นอน เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า ภิกษุฉันเนื้อผิดพระวินัยหรือไม่ ? หมายถึงฉันเนื้อที่คนอื่นนำมาถวาย
          ประเด็นที่ว่า ภิกษุฉันเนื้อผิดพระวินัยหรือไม่ ? ภิกษุฉันเนื้อมีทั้งที่ผิดพระวินัยและไม่ผิดพระวินัยดังกล่าวแล้ว เพื่อความชัดเจน ต้องแยกประเด็นอภิปราย ดังนี้
  • ประเด็นที่ ๑ พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุฉันเนื้อ ๑๐ อย่าง คือ (๑)เนื้อมนุษย์ (๒)เนื้อช้าง (๓)เนื้อม้า (๔)เนื้อสุนัขบ้าน (๕)เนื้องู (๖)เนื้อราชสีห์หรือสิงโต (๗)เนื้อเสือโคร่ง (๘)เนื้อเสือดาว (๙)เนื้อหมี (๑๐)เนื้อสุนัขป่า
              ภิกษุฉันเนื้อต้องห้าม ๑๐ อย่างดังกล่าว ผิดพระวินัยหนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่กรณี เช่น ภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุฉันเนื้อช้าง ต้องอาบัติทุกกฏ ฉันเนื้อเสือโคร่ง ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นต้น
  • ประเด็นที่ ๒ ภิกษุฉันเนื้อชนิดอื่นนอกเหนือจากที่ทรงห้ามไว้ ๑๐ อย่างนั้น ถ้าเป็นการฉันเนื้อที่เขาเจาะจงฆ่าทำมาถวาย กล่าวคือ ภิกษุรู้เห็น หรือได้ยิน หรือนึกรังเกียจสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อให้ตนบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ
  • ประเด็นที่ ๓ ภิกษุฉันเนื้อชนิดอื่นนอกเหนือจากที่ทรงห้ามไว้ ๑๐ อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าเป็นการฉันโดยไม่พิจารณาก่อน ต้องอาบัติทุกกฏ
  • ประเด็นที่ ๔ ภิกษุไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ(นอกเหนือจากเนื้อต้องห้าม ๑๐) นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
  • ประเด็นที่ ๕ ภิกษุฉันเนื้อชนิดอื่นนอกเหนือจากที่ทรงห้ามไว้ ๑๐ อย่างนั้น เป็นเนื้อที่บริสุทธิ์โดยเงื่อนไข ๓ อย่าง คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง และไม่นึกรังเกียจ และฉันโดยพิจารณาก่อน ไม่ต้องอาบัติ
          ทั้งนี้ ต้องอยู่ในกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้ (๑) ภิกษุเป็นไข้ ออกปากขอจากผู้อื่นมาเพื่อตนแล้วฉัน (๒) ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอมาแล้วหายเป็นไข้จึงฉัน (๓) ภิกษุออกปากขอจากญาติ (๔) ภิกษุออกปากขอจากคนปวารณา (๕) ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
          สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ภิกษุณีอุบลวรรณาอยู่ในกรุงสาวัตถี เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตเข้าไปพักผ่อนในป่าอันธวัน ขณะนั้นพวกโจรลักโค ฆ่าชำแหละเอาเนื้อ ย่างสุกแล้วคัดเลือกเนื้อดี เอาใบไม้ห่อแขวนไว้ใกล้ภิกษุณีอุบลวรรณา โดยมีเจตนาจะถวาย ภิกษุณีอุบลวรรณารู้เจตนาจึงถือเอาเนื้อนั้นเหาะไปยังพระเวฬุวันวิหาร ฝากเนื้อไว้กับพระอุทายี เพื่อน้อมนำไปถวายพระพุทธเจ้า


          เกณฑ์ในการตัดสินว่ามีการล่วงละเมิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่ มีอยู่ ๕ ประการ คือ (๑) สัตว์มีชีวิต (๒)รู้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต (๓)มีจิตคิคจะฆ่า (๔)มีความพยายามฆ่า (๕)สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
          เมื่อองค์ประกอบครบ ๕ อย่างนี้ ถือว่าผิดศีลหรือล่วงละเมิดศีลข้อนี้ ถ้าไม่ครบก็ถือว่ายังไม่ล่วงละเมิด แต่ชื่อว่าทำให้ศีลข้อนี้ทะลุ(ขาดตรงกลาง) ทำศีลข้อนี้ให้ด่าง ทำให้ศีลข้อนี้พร้อย เพราะฉะนั้น ต่อถามที่ว่า กินเนื้อสัตว์ผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่ ? จึงตอบได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ (๑) ฆ่ากินเองผิดศีลข้อปาณาติบาต (๒)กินเนื้อสัตว์ที่คนอื่นฆ่าไว้แล้ว ไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาต แต่จะเหมาะสมหรือไม่ เป็นประเด็นที่จะอภิปรายต่อไป

          (๑) ประเด็นทั่วไป
          คำว่า "ถูกต้อง" กับคำว่า "เหมาะสม" มีนัยต่างกัน "ถูกต้อง" หมายถึงไม่ผิดบทบัญญัติด้านพระวินัยหรือศีลธรรม ส่วนประเด็นเกี่ยวกับความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ต้องอภิปรายคำว่า "สุจริต" กับคำว่า "ยุติธรรม" ก่อน ซึ่งทั้ง ๒ คำนี้มีนัยต่างกัน คำว่า "สุจริต" มีนัยบ่งถึงความถูกต้องเชิงศาสนา เช่น พระพุทธศาสนาแสดงกายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ กล่าวเฉพาะกายสุจริต ๓ คือ (๑)เว้นจากการฆ่าสัตว์ (๒)เว้นจากการลักฉ้อ (๓)เว้นจากการประพฤติผิดในกาม จะเห็นว่า กายสุจริตข้อหนึ่งคือเว้นจากการฆ่าสัตว์ คนที่มีกายสุจริตอย่างหนึ่งคือเว้นจากการฆ่าสัตว์ รักษาศีลข้อปาณาติบาตบริสุทธิ์บริบูรณ์
          ส่วนคำว่า "ยุติธรรม" มีนัยบ่งถึงความเหมาะสม ยอมรับกันทุกฝ่าย หรือเป็นจุดจบของปัญหา ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องในบางกรณี เช่น ในกระบวนการยุติธรรมทางศาล การตัดสินคดีบางอย่างอาจถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องยอมรับว่าในบางคดีอาจไม่ถูกต้องนัก คนที่ทำผิดมากอาจผิดน้อยขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน คนที่ผิดน้อยอาจผิดมาก ถ้าหาเหตุผลมาแสดงความบริสุทธิ์ไม่ได้


          (๒) ประเด็นเฉพาะ

          ๒.๑ คฤหัสถ์กินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้ฆ่าเอง ย่อมไม่ผิดศีลทุกกรณี
          ๒.๒ พระภิกษุฉันเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นเนื้อต้องห้าม ๑๐ อย่าง ผิดพระวินัย แม้จะเป็นเนื้อชนิดอื่นจากเนื้อต้องห้าม ถ้าไม่บริสุทธิ์ด้วยเงื่อนไข ๓ อย่างดังกล่าว ถือว่าผิดพระวินัยเช่นเดียวกัน
          มีคำอยู่ ๓ คำที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อตอบคำถามที่ว่า กินเนื้อสัตว์เหมาะสมหรือไม่ คือ (๑)ศีลธรรม หรือวินัย หรือกฎหมาย (๒)สุจริต (๓)ยุติธรรม เรื่องของศีลธรรมหรือวินัย หรือกฎหมาย เป็นเรื่องของหลักการ ผิดก็คือผิด มีบทกำหนดโทษชัดเจน ถ้าเป็นศีลธรรมหรือวินัยของพระภิกษุสามเณรก็เป็นทางใจ โทษทางสังคม ถ้าเป็นกฎหมายบ้านเมืองก็ทางแพ่งทางอาญาแล้วแต่กรณี เรื่องที่สุจริตหรือไม่สุจริต เป็นเกณฑ์ความประพฤติที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามหลักธรรมทางศาสนา ส่วนเรื่องยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ
          ส่วนที่ ๑ เป็นข้อเท็จจริง เช่น กรณีการอ้างสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งได้สิทธิ ย่อมมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเสียสิทธิ การได้สิทธิถือเป็นความยุติธรรมสำหรับกลุ่มที่ได้สิทธิ แต่ถามว่า ยุติธรรมสำหรับกลุ่มที่เสียสิทธิหรือไม่ ? หรือกรณีการกินเนื้อสัตว์ เมื่อมีการกินเนื้อสัตว์ ย่อมมีการฆ่าสัตว์ ผู้ที่กินอาจคิดว่า สัตว์อื่นเกิดมาเป็นอาหารของเขา เป็นสิทธิของเขาที่จะกินอะไรก็ได้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า ชีวิตของสัตว์จำนวนมากถูกทำลายไป นี่เป็นข้อเท็จจริง
          ส่วนที่ ๒ เป็นความรู้สึก เช่น กรณีการเลื่อนขั้นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีตำแหน่งเท่ากัน ทำงานในกลุ่มเดียวกัน แต่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนไม่เท่ากัน นาย ก. ทำงานดีเอาใจใส่ต่องาน มีประสิทธิภาพในการทำงาน ประสิทธิผลของงานดีกว่า จึงได้รับการเลื่อนเงินเดือนมากกว่า นาย ก.รู้สึกมันยุติธรรมสำหรับตัวเองแล้วที่ได้ทุ่มเทมาตลอดทั้งปี นาย ข. ไม่เอาใจใส่ต่องาน ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ ประสิทธิผลของงานก็ต่ำ จึงได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนต่ำกว่า แต่นาย ข. รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมสำหรับตัวเอง เพราะตัวเองมีตำแหน่งเท่ากันนาย ก. และทำงานเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับนาย ก. นี่เป็นความรู้สึก
          สรุปได้ว่า คฤหัสถ์กินเนื้อสัตว์ถ้าไม่ได้ฆ่าเอง ย่อมไม่ผิดศีล และเป็นพฤติกรรมสุจริต แต่ไม่ยุติธรรมแน่นอน พระภิกษุฉันเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ผิดเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ย่อมไม่ผิดพระวินัย และเป็นพฤติกรรมสุจริต แต่ไม่ยุติธรรมเช่นเดียวกัน ถามว่า "เพราะเหตุไร จึงไม่ยุติธรรม ?"
          สามัญสำนึกบอกให้ทราบว่า "สัตว์ทุกตัวตนรักสุข เกลียดทุกข์ สัตว์ทุกชนิดรักชีวิต รักตัวกลัวตาย" การกินเนื้อสัตว์ทำให้เกิดการฆ่าสัตว์ แม้ผู้กินจะไม่ได้ฆ่าเอง แต่การกินทำให้เกิดการฆ่าทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อาจมีคำโต้แย้งว่า "ถึงเราไม่กิน คนอื่นก็กิน สัตว์ต่าง ๆ ก็กินกันและกันเป็นอาหาร สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าอยู่นั่นเอง" คำโต้แย้งนี้ไม่เป็นสากล เราน่าจะถามในประเด็นอื่น ๆ บ้าง เช่น
          (๑) มนุษย์กินอาหารประเภทอื่นที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ สามารถมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่ ?
          (๒) การกินเนื้อสัตว์ ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่าเอง แต่ก็มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการฆ่าสัตว์ เหมือนกรณีรัฐบาลทุ่มงบประมาณซื้อมันสำปะหลัง ถึงแม้รัฐบาลจะไม่ได้ปลูกเอง แต่ก็มีส่วนส่งเสริมให้มีการปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ใช่หรือไม่ ?
          (๓) ทุกคนรู้ว่าการดื่มกาแฟมีผลเสียต่อสุขภาพ ไม่อยากจะให้มีการผลิตกาแฟ แต่ทุกคนก็ยังดื่มกาแฟ การที่ทุกคนดื่มกาแฟ มีผลทำให้ยังมีการผลิตกาแฟอยู่ใช่หรือไม่ ?



          พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ชีวิตมาก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของสัตว์ประเภทไหนล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันก็ยอมรับความจริง ๒ ระดับ คือ (๑)ระดับโลกิยะ (๒)ระดับโลกุตตระ
          ในระดับโลกิยะ พระพุทธศาสนาเห็นว่ามีความบกพร่องมาก มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่พระภิกษุสามเณรในครั้งพุทธกาลพูดอยู่เสมอ เมื่อเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือคำพูดที่ว่า "ไม่ใช่ความผิดของท่าน ไม่ใช่ความผิดของผม แต่เป็นความผิดของวัฏฏะ" คำว่า วัฏฏะ ก็คือสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นเอง เมื่อคราวตรัสรู้ไม่นาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
            เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่พบได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีความ เกิดเป็นอเนก ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป เราได้พบนายช่างผู้ทำเรือนแล้ว เจ้า จักทำเรือน(คืออัตภาพของเรา)ไม่ได้อีกต่อไป ซี่โครงทั้งหมดของ เจ้า เราหักเสียแล้ว ยอดเรือน(คืออวิชชา)เรารื้อแล้ว จิตของเราได้ถึง นิพพานมีสังขารไปปราศแล้ว เราได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว
          พระพุทธพจน์นี้ทำให้สรุปได้ว่า การเกิดมาในโลกในระดับโลกิยะ มีปัญหาติดตัวมามาก สัตว์บางตนเกิดมาอยู่ในฐานะเป็นอาหารของสัตว์อื่น เช่น หมู ปลา ไก่ สัตว์บางตนเกิดมาอยู่ในฐานะต้องกินสัตว์เป็นอาหารอย่างเดียว โดยที่ตัวเองมีเนื้อเป็นพิษสำหรับสัตว์อื่น แม้แต่มนุษย์ที่ชอบกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร เนื้อของมนุษย์เองก็เป็นอาหารของสัตว์อื่นบางจำพวก นี่คือสังสารวัฏ
          ชาวประมงมีพาอาชีพหาปลาขาย ฆ่าปลาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน พวกเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่พวกเขาทำผิดหลักธรรมข้อสุจริต ล่วงละเมิดศีลข้อปาณาติบาต และวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ยุติธรรมสำหรับปลา แม้กระนั้นชาวประมงก็ยังต้องดำรงชีพโดยการจับปลาขายต่อไป เกษตรกรเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาก็อยู่ในฐานะเดียวกัน คนที่มีอาชีพฆ่าหมูเพื่อชำแหละเนื้อออกขายในท้องตลาดก็อยู่ในฐานะเดียวกัน นี่คือข้อจำกัดหรือโทษของสังสารวัฏ
          ในระดับโลกุตตระ วิถีชีวิตบริสุทธิ์จากข้อจำกัดเหล่านี้ สัมมาอาชีวะหรือสัมมาอาชีพซึ่งเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ จึงหมายถึง การดำรงชีพที่ชอบเว้นจากอาชีพที่เป็นการเบียดเบียนชีวิต เช่น การค้าอาวุธแม้จะถูกต้องตามกฎหมาย การค้าแรงงานมนุษย์ การค้ายาพิษ การค้าน้ำเมา
          ประเด็นเกี่ยวกับมังสวิรัติก็เช่นเดียวกัน การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ประเด็นสำคัญคืออย่าฆ่าสัตว์ เมื่อพระเทวทัตต์เข้าไปเฝ้ากราบทูลขออนุญาตวัตถุ ๕ ประการ วัตถุข้ออื่น ๆ พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเทวทัตต์ "อย่าเลยเทวทัตต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงทำไปเถิด เช่น ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า"
           ส่วนข้อที่เกี่ยวกับการฉันปลาและเนื้อ พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระเทวทัตต์ว่า "เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ (๑)ไม่ได้เห็น (๒)ไม่ได้ยิน (๓)ไม่ได้รังเกียจ" จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงใช้คำว่า "ผู้ใดปรารถนาก็จงฉันปลาและเนื้อ" พระพุทธดำรัสนี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ถามว่า "อะไรคือนัยสำคัญแห่งพระพุทธดำรัสนี้ ?"
          พระพุทธดำรัสว่า "เราอนุญาตและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง ..." หมายถึง ไม่ได้ตั้งข้อกำหนดไว้ วางไว้เป็นกลาง ๆ ไม่ได้กำหนดแม้แต่จะบอกว่า "ผู้ใดปรารถนาก็จง ..." เพราะฉะนั้น เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นกลาง ๆ อย่างนี้ ในทางปฏิบัติ จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม จะถูกหรือผิด พระภิกษุต้องเทียบเคียงกับหลักที่เรียกว่า "มหาปเทศ" ๒ ข้อ คือ
          (๑) สิ่งใดที่ไม่ได้ห้ามไว้ว่า "สิ่งนี้ไม่ควร" ถ้ามีแนวโน้มหรือจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งที่ไม่ควร แย้งกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
          (๒) สิ่งใดที่ไม่ได้ห้ามไว้ว่า "สิ่งนี้ไม่ควร" ถ้ามีแนวโน้มหรือจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งที่ควร แย้งกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร
          เมื่อพระภิกษุเทียบเคียงถือปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมไม่ผิดพระวินัย แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า วิถีชีวิตระดับโลกิยะ มีโทษมาก มีข้อบกพร่องมาก เช่นกรณีการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเป็นเนื้อที่ไม่ต้องห้าม ต้องพิจารณาก่อนฉัน ถ้าไม่พิจารณาย่อมผิดพระวินัย ซึ่งต้องการให้พระภิกษุหรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่พระภิกษุสำนึกอยู่เสมอว่า การกินเนื้อสัตว์แม้จะไม่ได้ฆ่าสัตว์ก็ถือว่มีส่วนทำให้ชีวิตถูกทำลาย ถ้าไม่กินจะดีกว่าหรือไม่ ? ส่วนวิถีชีวิตระดับโลกุตตระนั้น ย่อมบริสุทธิ์จากอกุศลเจตนาทุกประการ พระพุทธศาสนาสรุปชัดเจนในประเด็นว่า ฆ่าสัตว์ผิดศีลผิดวินัย บางกรณีผิดกฎหมายบ้านเมือง กินเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ไม่ผิด ถ้าเป็นพระภิกษุฉันผิดเงื่อนไข ผิดพระวินัย ถ้าไม่ผิดเงื่อนไข ไม่ผิดพระวินัย นั่นเป็นเรื่องของศีลของคฤหัสถ์และพระวินัยของพระภิกษุ แต่อย่าลืมว่า ฆ่าสัตว์กับกินเนื้อสัตว์เป็นคนและประเด็น กินเนื้อสัตว์ในกรณีที่แม้จะไม่ผิดศีลหรือพระวินัย แต่ส่งผลต่อคน/สัตว์รอบข้างและอุปนิสัยจิตใจของผู้กินแน่นอน ในลังกาวตารสูตรแสดงเหตุผลที่ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ สรุปได้ว่า "ในสังสารวัฏ คนที่ไม่เคยเป็นบิดามารดา ไม่เคยเป็นพี่น้องกัน ไม่มี สัตว์ทุกตัวตนมีความสัมพันธ์ทั้งสิ้นไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง" เพราะฉะนั้น กินเนื้อสัตว์วันนี้ เราอาจกำลังกินเนื้อของสัตว์ที่เคยเป็นบิดามารดาของเราในชาติที่แล้วมาหรือในอีก ๕ ชาติข้างหน้าก็ได้ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงผลเสียของการกินเนื้อสัตว์ไว้ เช่น ทำให้เป็นที่หวาดกลัวของสัตว์ต่าง ๆ ทำให้กลิ่นตัวเหม็น ทำให้ชื่อเสียงไม่ดีกระจายไป

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕