หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » สันติคาม (Peace Village): จากหมู่บ้านสันติสุขสู่สันติสุขของสังคมไทย
 
เข้าชม : ๑๐๓๔๓ ครั้ง

''สันติคาม (Peace Village): จากหมู่บ้านสันติสุขสู่สันติสุขของสังคมไทย''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2556)

โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา
www.ps.mcu.ac.th

 

 
http://www.komchadluek.net/detail/20131031/171772.html

  

       สันติภาพ (Peace) ที่เรามักจะกล่าวถึงในปัจจุบันมี ๒ ประการ คือ “สันติภาพภายใน” (Inner Peace) และ “สันติภาพภายนอก” (Outer Peace)  แนวทางการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นประการหนึ่งว่า "รากฐานของสันติภาพในระดับประเทศ หรือระดับโลกต้องเริ่มต้นจากหมู่บ้าน" ซึ่งหมู่บ้าน (Village) เป็นชุมชนที่ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประการคือ “บ้าน วัด และโรงเรียน” ฉะนั้น คำถามที่สำคัญในการพัฒนาคือ เราจะพัฒนาองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ในเชิงบูรณาการอย่างไร จึงจะทำให้การพัฒนาหมู่บ้านไปสู่ “การเป็นสันติคาม” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข” ให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีภูมิต้านทาน


 
      จากคำถามดังกล่าว โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  จึงมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพัฒนา “หมู่บ้านต้นแบบ” ขึ้นมา โดยเลือก “บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ” เป็นต้นแบบในการพัฒนา “สันติคาม” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข”  ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ จนถึงปัจจุบัน  จากการลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมพัฒนากิจกรรม และโครงการต่างๆ รวมไปถึงการเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกับภัยพิบัติ (Disaster) อันเกิดจากอุทกภัย และร่วมฟื้นฟูหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ ๑๙ จนปัจจุบัน ทำให้พบกรอบในการพัฒนา “สันติคา” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข”  ภายใต้ ๔ ยุทธศาสตร์หลัก  คือ

        (๑) ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงกายภาพ (Physical Development)  การสร้างสันติภาพนอกนอกเข้าสู่ภายในจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยภายนอกให้เอื้อดำรงชีวิตของมนุษย์ จากตัวแปรดังกล่าว รูปแบบการการพัฒนาของประเทศจีนจึงพยายามย้ำเน้นว่า “อาหารมาก่อน พูดคุยกันคราวหลัง” (Food First Speech Later) สอดรับกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เน้นในประเด็นเดียวกันว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” จะเห็นว่า ความหิวโหยหรือความยากจนเป็นตัวแปรสำคัญที่รัฐจะต้องบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความอยู่รอดทางกายภาพ มิฉะนั้น ประเด็นนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคม เช่น การปล้นจี้ หรือขโมยเพื่อความอยู่รอดในเชิงกายภาพ


 
      ตั้งแต่ช่วงแรกของดำเนินโครงการจนถึงการประสบอุทกภัย โครงการฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รวมไปถึงมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์  ได้ร่วมกันพัฒนาความพร้อมด้านกายภาพของหมู่บ้านโดยการมอบอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพในช่วงที่ประสบอุทกภัย  การเข้าไปช่วยซ่อมแซมถนนเส้นหลักที่เป็นทางเข้าหมู่บ้าน และเชื่อมกับจังหวัดสุรินทร์ซึ่งขาดจากการภัยน้ำท่วมให้สามารถใช้การได้เช่นเดิม  การขอการสนับสนุนจากโรงพยาบาลปรางค์กู่ และหน่วยงานสาธารณสุขอำเภอปรางค์กู่ เข้ามาให้การช่วยเหลือด้านสุขอาณามัย และเปิดพื้นที่ให้พัฒนาการอำเภอได้เข้ามาให้คำปรึกษาด้านอาชีพพื้นบ้าน เพื่อรองรับชาวบ้านซึ่งได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากน้ำท่วมข้าวเสียหายทั้งหมู่บ้าน  โครงการในปัจจุบันที่กำลังเข้าไปช่วยประสานงาน และดำเนินการคือ “การพัฒนาประปาประจำหมู่บ้าน” ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านมีแท้งน้ำประปาเก่าที่ใช้การไม่ได้ หากซ่อมแซมปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางประการจะทำให้กลับมาใช้งานได้ดีเช่นเดิม




        (๒) ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงพฤติภาพ (Behavior Development)  “ศีล ๕ จัดได้ว่าเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการเสริมสร้างสันติภาพในหมู่บ้าน”  เพราะศีล ๕ จัดได้ว่าเป็น “อภัยทาน”  ที่กระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติ และกลุ่มคนต่างๆ ไม่หวาดระแวง และหวาดกลัวซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ เราจะเริ่มต้นทำให้หมู่บ้านเป็น “เขตอภัยทาน”  ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นหมู่บ้านแห่ง “การให้อภัย” คือ “การไม่หวาดกลัวซึ่งกันและกัน”  เพราะเป็นการอยู่ร่วมกันที่เน้นความรัก เคารพ ให้เกียรติเพื่อนร่วมบ้าน การเคารพในทรัพยากรของบุคคล การเคารพในคู่ครอง การมีสัมมาวาจา และการมีสติไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุข


 

       โครงการฯ ได้เข้าไปกระตุ้นให้หมู่บ้านได้เห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านท่าคอยนางด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม โดยการนิมนต์วิทยากร “กลุ่มรักษ์ธรรม”  ไปช่วยกระตุ้นนักเรียน และชาวบ้านผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในวัด และนอกวัด  เพื่อย้ำเตือนให้ชาวบ้านนำ “ศีล ๕” ไปปฏิบัติในฐานะเป็น “วิถีชีวิต”  อันจะก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตต่อไป และเกิดความพร้อมเพรียงกันของชาวบ้านในกิจกรรมต่างๆ 


 

         (๓) ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงจิตภาพ (Mental Development)   โครงการฯ ยึดมั่นในหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่า “จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้”  และเมื่อจิตที่ได้รับการฝึกฝนและพัฒนาจะนำไปสู่ “สันติภายใน” ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” จากหลักการนี้  จึงนำไปสู่การจัดกิจกรรมการพัฒนาจิตใจของชาวบ้าน ทั้งผู้นำ ครู ชาวบ้าน และนักเรียน  เพื่อพัฒนาจิตของชาวบ้านให้มีคุณภาพจิตดี สุขภาพจิตดี และสมรรถภาพจิตดี โดยจัดกิจกรรมพัฒนาจิตของนักเรียนในโรงเรียนผ่านค่ายจริยธรรม และจัดกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” โดยการทำวัตรสวดมนต์เพื่อสันติ ภาวนาเพื่อสันติภายในวัด รวมไปถึงการแจกบทสวดมนต์เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคน


 
      การดำเนินการพัฒนาจิตดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านปรับตัว และปรับใจให้สอดรับกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถนำอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มาเป็นเครื่องมือพัฒนาทัศนคติเชิงบวก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป  ภายหลังที่ชาวบ้านได้ร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ ในการพัฒนาจิตอย่างต่อเนื่องมา ๑ ปีกว่า ทำให้พบว่า ชาวบ้านมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการดำเนินชีวิต และวิถีชีวิตที่สามารถปรับตัว และแก้ไขปัญหาและอุปสรรคได้ดีมากยิ่งขึ้น

 
      (๔) ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงปัญญาภาพ (Intellectual Development)  ในขณะที่พระพุทธศาสนาเน้นว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก”  จากหลักการดังกล่าว โครงการฯ ได้นำนิสิตปริญญาเอก สาขาพระพุทธศาสนาที่เรียนในรายวิชา “สัมมนาพระพุทธศาสนากับสันติวิธี” และนิสิตปริญญาโท สาขาสันติศึกษา รวมถึงกลุ่มอาสาสมัคร จำนวนกว่า ๕๐ รูป/คน เข้าไปร่วม “สันติสนทนา” เพื่อรับฟังความทุกข์ ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินชีวิต  รวมไปถึงการกระตุ้นถามชาวบ้านว่า ชาวบ้านต้องการที่จะเห็นบ้านท่าคอยนางพัฒนาไปทิศทางใดจึงจะสามารถตอบโจทย์การเป็น “สันติคาม” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข”   การการดำเนินการที่ผ่านมานั้นสอดรับกับการเป็น “สันติคาม” ได้มากน้อยเพียงใด


 

        จากการประเมินเบื้องต้น โครงการฯ ได้รับคำตอบที่หลากหลาย ซึ่งคำตอบเหล่านั้นจะได้รับการจัดกลุ่ม การจัดลำดับความสำคัญ และโครงการฯ จะนำประเด็นเหล่านั้นไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมพัฒนาบ้านท่าคอยนางให้เป็น “สันติคาม” ในความหมายที่แท้จริง  ทั้งนี้ การที่จะบรรลุผลได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทักษะด้านปัญญา ผ่าน “สันติสนทนา” พูดจาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการกับชาวบ้านในคุ้มต่างๆ ทั้ง ๕ คุ้ม  เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจต่อการที่จะก้าวเดินไปสู่การเป็น “สันติคาม” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข” ในพุทธศตวรรษที่ ๒๖


 

        จากกรอบในการพัฒนา “สันติคาม” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข”  ภายใต้ ๔ ยุทธศาสตร์หลัก  คือ (๑) ยุทธศาสตร์ด้านกายภาพ (๒) ยุทธศาสตร์ด้านพฤติภาพ (๓) ยุทธศาสตร์ด้านจิตภาพ และ (๔) ยุทธศาสตร์ด้านปัญญาภาพ  ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น สะท้อนว่า “สันติคาม” เป็นหมู่บ้านสันติสุขที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาทั้ง “สันติภายใน” และ “สันติภายนอก” ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาในลักษณะแนวราบ (Horizontal) ไม่ได้เน้นแนวดิ่ง (Vertical)  

        โครงการฯ มั่นใจว่า จะสามารถพัฒนาให้ “บ้านท่าคอยนาง” เป็น “ต้นแบบแห่งสันติคาม” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข” ในอนาคตอันใกล้ ความมั่นใจดังกล่าวมาจากตัวแปรทั้งสามประการ คือ “บ้าน วัด และโรงเรียน”  ที่กำลังร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง บนฐานของการศึกษา เรียนรู้ เข้าใจ เติบโต และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความรัก การมีจิตสาธารณะ การแบ่งปัน การเคารพ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน  และการยึดมั่นในวัฒนธรรมสันติวิธี

        สันติภาพในสังคมไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่สามารถพัฒนาสันติภาพให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนกว่า “๗๔,๙๕๖”  ด้วยเหตุนี้ “สันติภาพในสังคมจึงเริ่มต้นจากสันติภาพในหมู่บ้าน”  โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมุ่งมั่นและพยายามอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนส่งเสริมโดยการพัฒนา “สันติคาม” หรือ “หมู่บ้านสันติสุข” ให้เกิดขึ้นบนพื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  เพื่อให้ “สันติคาม” แห่งนี้ได้กลายเป็นตัวแบบอีกหนึ่งทางเลือกที่จะร่วมพัฒนาสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และสังคมโลกต่อไป

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕