การศึกษาอบรมและพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน
ให้ดำเนินชีวิต อย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม
Training and development of the school risky youth
for a proper living in line with the Buddha dhamma
พระมหาไกรสร โชติปญฺโญ
พธ.บ.(สังคมศึกษา), ร.บ.(เทคนิคและทฤษฎีฯ),
ร.ม.(สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น)
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรม และเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม ในการวิจัยได้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานกิจการนักเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวน ๕ แห่ง ในอำเภอเมืองลำพูน
จากผลการศึกษาพบว่า การศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรมเป็นกระบวนการที่บุคลากรในโรงเรียนได้ตระหนักต่อสภาพปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงด้านยาเสพติดในโรงเรียน นับว่าเป็นปัญหาที่จะต้องอาศัยสถาบันทางสังคมโดยเฉพาะสถาบันทางพระพุทธศาสนาได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษา กระบวนการศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินการ ได้แก่ นโยบายของผู้บริหาร บริบทของโรงเรียน และการมีส่วนร่วมเพื่อหาแนวทางป้องกัน แก้ไขและพัฒนาเยาวชน ในส่วนการดำเนินงานพบประเด็นปัญหาในกระบวนการศึกษาเยาวชนได้แก่ ครอบครัวในการยอมรับพฤติกรรมของบุตรหลาน และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการศึกษา ส่วนของแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม ประการสำคัญในส่วนของบุคลากรในโรงเรียนจะต้องมีการศึกษาวัฒนธรรมย่อยของเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และกระบวนวิธีในการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กระบวนวิธีละมุนละมอม วิธีรุนแรง และวิธีปล่อยไห้เป็นตามระเบียบกติกาของสังคม แนวทางการพัฒนาเยาวชนจะต้องดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการมีส่วนร่วมป้องกัน แก้ไขและพัฒนาเยาวชน และบทบาทของพระสงฆ์มีความสำคัญในการดำเนินการภายใต้กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องในการปลูกฝังและขัดเกลาเยาวชนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม เป็นคนดีมีศีลธรรม จริยธรรมและคุณธรรมต่อไป
Abstract
The purposes of this research was to study the process of training and development of the school risky youth in living was against the line with Buddha Dhamma, and for studying the way how to train and develop the school risky youth for a proper living in line with the Buddha Dhamma. In working this research by using the quanlity research procedure, by collecting the data from doing a profound interview the school activity personal of five secondaries level school in Amphur Moung Lamphun.
The results of studying problems are the training and development of the school risky youth in living are against the line with Buddha Dhamma, Thase are the personal processes in the school have realized to the drugs risky youth problems conditions in school. They are the problems that should have to depend on the social institution, especially the Buddhism institution should have been interested in the educational process. The risky youth educational process have an element to the work proceeded in orderly, such as the policy of the administers, the objective of school, and the co-operating to find the way how to protect and develop the youth. In working have some problems in the youth educational process such as the family in accepted behavior of their children, and the efficiency instrument in educational. The way how to develop the school risky youth for a proper living in line with the Buddha Dhamma. The main fractions, the personals in school would have to study the minor culture of the risky youth, such as gentle means processing, harsh means process, and the way how to let them go along the social system. The trend of the youth development would have to work together with the co-operating of the social institute especially, the family is the main institute in protecting and youth development, also the role of the monks. Are the main part in working under the Buddhism activity to be succeeded in youth implant character in appropriate living in the line with Buddha Dhamma, They would be good conduct and good virtue in living.
บทนำ
กระแสความเปลี่ยนแปลงแห่งโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้เยาวชนสังคมไทยขาดคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม ทั้งที่สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันทางพุทธศาสนามาช้านาน สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ มิติทางวัฒนธรรม และศีลธรรม ถูกทำลายไป อันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังขาดวัคซีนด้านพุทธธรรมที่ช่วยป้องกันให้บรรดาเยาวชนมีความปลอดภัยในเรื่องศีลธรรม สถานการณ์เยาวชนในสังคมไทยจึงเป็นวิกฤตเยาวชน เป็นปัญหาระดับชาติในการฟื้นฟูให้เยาวชนไทยกลับมาเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม ที่นับว่าเป็นอนาคตของการพัฒนาประเทศและความสันติสุขของสังคมไทย จำเป็นต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาวิกฤติเยาวชน ความร่วมมือระหว่างสถาบันสงฆ์กับสถาบันการศึกษานับว่าเป็นแนวทางสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตเยาวชนไทยให้เป็นคนมีศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรม การแก้ปัญหาวิกฤตเยาวชนขาดศีลธรรมในด้านการละเว้นยาเสพติด จำเป็นอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษาและพระสงฆ์ในการหาแนวทางในการป้องกัน แก้ไขและพัฒนาเยาวชนที่เกิดขึ้น ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งมีกระบวนการในการศึกษาปัญหาเยาวชนและแก้ไขปัญหาเยาวชนขาดศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมให้ดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสถานศึกษาบางแห่งก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเยาชนได้ สถานศึกษาในฐานะเป็นสถาบันหนึ่งในการเป็นส่วนสำคัญในการแก้วิกฤตเยาวชน หากสถานศึกษาแต่ละแห่งมีกระบวนการอย่างเป็นระบบในการศึกษา แก้ปัญหาและพัฒนาเยาวชนให้ดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นแนวทางเดียวกัน ปัญหาเยาวชนขาดศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมในโรงเรียนจะลดลด ทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเยาวชนไทยมีศีลธรรมกลับคืนมา
การศึกษาวิจัยเรื่องนี้เกิดมาจากผู้วิจัยในฐานะบทบาทของพระสงฆ์มีความสนที่จะศึกษาและพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนระดับมัธยม ในอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เนื่องด้วยบริบทบริบทของชุมชนในอำเภอเมืองลำพูนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ หน่วยงานองค์กรภาครัฐมียุทธศาสตร์การพัฒนาและขยายแหล่งอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงทำให้เกิดการอพยพและย้ายแรงงานจากจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนอำเภอเมืองลำพูน นอกจากนั้นแล้วเกิดการขยายพื้นที่บริการด้านความบันเทิงไปทั่วอำเภอเมืองลำพูน จึงเป็นแหล่งมั่วสุมของแรงงานและเยาวชนในจังหวัดลำพูน ซึ่งจะศึกษาถึงกระบวนการศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรม และศึกษาแนวทางการพัฒนาเยาชนกลุ่มเสี่ยงเหล่านั้นให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอแนวทางถึงกระบวนการศึกษา ป้องกัน แก้ไขและพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน ที่เป็นองค์ความรู้ในการนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมของสถาบันการศึกษาและสถาบันทางสังคมอื่น เพื่อให้เยาวชนดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
เครื่องมือและวิธีการวิจัย
ในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่ใช้วิธีการเก็บรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลในเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับการศึกษา โดยมีวิธีการศึกษาใน ๒ รูปแบบ คือ ๑) การศึกษาในเชิงเอกสารเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวข้องกับการศึกษาและพัฒนานักเรียน(เยาวชน)ในโรงเรียนเพื่อดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม รวมทั้งแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ๒) การศึกษาภาคสนามจากการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi - structured Interview ) โดยแยกประเด็นในการสัมภาษณ์เป็น ๒ ประเด็น คือ ประเด็นของกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนด้านยาเสพติด และประเด็นแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม บุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานกิจกรรมนักเรียนในโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อทราบถึงกระบวนการศึกษาอบรมและแนวทางการพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนนั้น ๆ
ประชาการและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คณะผู้ศึกษาวิจัยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ โรงเรียนที่สังกัดกรมสามัญศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการ “โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน” จำนวน ๕ โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนจักรคำคณาทร, โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์, โรงเรียนบ้านแป้นวิทยาคม, โรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม และโรงเรียนเมธีวุฒิกร ส่วนประชากรในการศึกษาครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานกิจกรรมนักเรียน
ผลการวิจัย
จากผลการศึกษากระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรม พบว่า กระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรม หรือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น บุคลากรในโรงเรียนมีแนวคิดต่อกระบวนการศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เนื่องด้วยสภาพปัญหาของเยาวชนที่มีแนวโน้มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพขยายวงกว้างมากขึ้น เป็นปัญหาสำคัญทุกสถาบันการศึกษา การรับผิดชอบต่อสภาพปัญหาเยาวชนกลุ่มในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรมในด้านเบญจศีลเบญจธรรมในเรื่องการละเว้นต่อสิ่งเสพติดทุกชนิด สถาบันทางสังคมจำเป็นต้องรับผิดชอบร่วมกันในมิติ บ้าน วัด โรงเรียน เพราะในปัจจุบันค่านิยมทางสังคมทีทัศนคติให้สถาบันการศึกษาเป็นศูนย์การป้องกัน แก้ไข และพัฒนาเยาวชน เป็นการผลักภาระรับผิดชอบให้สถานศึกษาหรือโรงเรียน ในการดูแลและช่วยเหลือนักเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินชีวิตของเยาวชนในโรงเรียนเป็นเพียงแค่หนึ่งในสามของการดำเนินชีวิตในสังคม ครอบครัวจึงเป็นสถาบันแรกที่จะต้องเปิดพื้นที่ในการรับผิดชอบต่อปัญหาเยาวชน ซึ่งในส่วนของสถาบันการศึกษาภายใต้การดำเนินงานของบุคลากรในสถานศึกษา มีจรรยาบรรณในวิชาชีพครูในการมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวัง บุคลากรในสถานศึกษายังได้ดำเนินการภายใต้โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมาโดยตลอด และแนวคิดของบุคลากรที่มีมุมต่อพระพุทธศาสนาในกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในด้านการบูรณาการของกิจกรรมทางศาสนา เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการศึกษาและพัฒนาเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนยังต้องดำเนินการภายใต้นโยบายของสถานศึกษา ซึ่งความเป็นจริงแล้วบทบาทของสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว นโยบายของสถานศึกษายังขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้บริหาร เพราะนโยบายจะเป็นแผนการดำเนินงานและกรอบการดำเนินงานของบุคลากรในโรงเรียน จากนโยบายของผู้บริหารที่เป็นปัจจัยในกระบวนการศึกษาแล้ว บริบทของสถานบันการศึกษาในด้านขนาดและจำนวนบุคลากรยังเป็นปัจจัยต่อกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยง สถานศึกษาที่มีขนาดใหญ่จำนวนนักเรียนที่มากกว่าจำนวนการรับผิดชอบของบุคลากร จะทำให้กระบวนการศึกษามีประสิทธิน้อยลง กระบวนการศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนจึงได้ดำเนินการภายใต้โครงการระบบดูและช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งดำเนินการตามขั้นตอนตั้งแต่ การรู้จัก การคัดกรอง การส่งเสริม การป้องกันแก้ไขปัญหาและการส่งต่อ การดำเนินงานของสถานศึกษาจึงกระบวนการศึกษาในเชิงงานวิจัย
กระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนได้ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของงานกิจการนักเรียน งานกิจการนักเรียนจะเป็นเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินผลและหาแนวทางในการศึกษาต่อไป การเป็นศูนย์กลางของงานกิจการนักเรียนจะมีการแบ่งภาระหน้าที่หลักของบุคลากรในโรงเรียนในการรับผิดชอบนักเรียนเพื่อดำเนินงานของกระบวนการศึกษา นับว่าบุคลากรในโรงเรียนทุกท่านได้ดำเนินงานศึกษาภายใต้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน ที่พยายามศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อร่วมหาแนวทางป้องกัน แก้ไขและพัฒนาเยาวชนในโรงเรียน เครื่องมือที่บุคลากรต่างให้ความสำคัญคือการจัดกิจกรรมในสถานศึกษาจะเป็นเครื่องมือที่สามารถศึกษาและพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนได้ เพราะการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียนจะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลสามารถอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านพฤติกรรม และจิตใจของเยาวชน
การวิเคราะห์และการประเมินผลนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน บุคลากรในสถานศึกษาจึงมีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกมิติของเยาวชนที่ดำเนินชีวิตทั้งในสถานศึกษาและสังคมภายนอก การเก็บรวบรวมข้อมูลจากกระบวนการศึกษาเยาวชนยังต้องดำเนินการในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่บุคลากรในโรงเรียนมีความสนใจมากที่สุดคือการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจะทำให้เป็นแนวทางในการป้องกันและพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน
บุคลากรในสถานศึกษาจึงมีมุมมองเกี่ยวกับประโยชน์จากการดำเนินของกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากกระบวนการศึกษาเหล่านี้จะทำให้บทบาทของครูกับนักเรียนมีความใกล้ชิดกัน ครูจะสามารถดำเนินการวิเคราะห์ ป้องกัน แก้ไขและพัฒนาได้ด้วยตนเอง และกระบวนการศึกษาเยาวชนยังเป็นประโยชน์ต่อแผนงานของนโยบายสถานศึกษา ที่จะดำเนินการอย่างไรให้เกิดการพัฒนาเยาวชนและพัฒนาโรงเรียนภายใต้วิสัยทัศน์ของสถานศึกษา จากการดำเนินกระบวนการศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน พบว่าปัญหาที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อการดำเนินงาน ได้แก่บริบทของสถานศึกษา สถานศึกษาระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล มีกระบวนการคัดกรองนักเรียนเข้ารับการศึกษาที่ต่างกันทำให้เป็นปัจจัยต่อปัญหาในการดำเนินงาน ปัญหาปัจจัยด้านครอบครัวในการยอมรับพฤติกรรมของบุตรหลานยังเป็นปัญหาที่สถานศึกษาต้องหาวิธีการในการสร้างความเข้าใจ และปัญหาปัจจัยด้านเครื่องมือและวิธีการของกระบวนการศึกษาจะต้องมีการศึกษาและหาแนวทางในการสร้างเครื่องมือและวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพราะจะทำให้กระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีประสิทธิยิ่งขึ้น
การศึกษาในด้านแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม การศึกษาพบว่า แนวทางเบื้องต้นของการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน บุคลากรในสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องต้องศึกษาและทำความเข้าใจต่อสภาพปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง จะต้องศึกษาวัฒนธรรมย่อยของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงอย่างลุ่มลึกและรอบด้านทั้งพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น แนวทางการศึกษาวัฒนธรรมกลุ่มย่อยของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจะต้องมีการสำรวจข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ผล เนื่องจากสภาพปัญหาในเรื่องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การศึกษาวัฒนธรรมย่อยและการสำรวจข้อมูลจากซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนา ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีประสิทธิต่อการพัฒนาต้องสร้างความเข้าใจต่อบุคลากรในสถานศึกษาตั้งแต่การกำหนดนโยบายจากผู้บริหารของสถานศึกษา การวางแผนงาน การวางกรอบและมีมาตรฐานในการดำเนินงาน นอกจากนั้นยังต้องสร้างความเข้าใจโดยการสร้างองค์ความรู้ของบุคลากรจากผู้เชี่ยวชาญนอกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ
แนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรมหรือการละเว้นจากยาเสพติดนั้น กระบวนการดำเนินงานเพื่อป้องกัน แก้ไขและพัฒนามีแนวทางโดยจะต้องดำเนินการตามมิติต่าง กล่าวคือ การดำเนินงานด้านการพัฒนาในมิติเยาวชนที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงพฤติกรรมเสี่ยงกับตัวเยาวชนโดยตรงภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประคับประคองเยียวยา การสร้างคุณค่าในตนเอง การสร้างจุดหมายให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น การดำเนินงานด้านการพัฒนาในมิติปัจจัยเสี่ยง ที่จะต้องดำเนินการโดยตรงยังสถานที่ พื้นที่หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้อให้เยาวชนมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ภายใต้การดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูสร้างพลังแก่สถาบันทางสังคม การสร้างกลไกทดแทนสถาบันสังคมที่ล้มเหลว และการดำเนินการลดควบคุมพื้นที่เสี่ยง การดำเนินงานด้านการพัฒนาในมิติรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ที่จะต้องมีภาคีทางสังคมในการมีส่วนร่วมอาศัยการรณรงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ต่อบุคลากรในสถานศึกษา นอกสถานศึกษาและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อแนวทางการดำเนินงานอย่างถูกต้อง
กระบวนวิธีในการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม เป็นแนวทางในการพัฒนาเยาวชนอีกประเด็นหนึ่งเพราะกระบวนวิธีในการพัฒนาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งกระบวนวิธีประกอบด้วย กระบวนวิธีละมุนละม่อมที่สามารถขัดเกลาจิตใจเยาวชนให้เปลี่ยนพฤติกรรมโดยการปลูกฝังแนวคิดแก่เยาวชน กระบวนวิธีรุนแรงคือการใช้บทลงโทษของกฎระเบียบมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเยาชน กระบวนวิธีปล่อยไปเป็นตามระเบียบกติกาของสังคมคือการดำเนินงานป้องกัน แก้ไขและพัฒนาแล้วไม่สามารถทำให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงดีขึ้นจำเป็นต้องมีการส่งต่อเพื่อให้กฎระเบียบทางสังคมเข้ามาจัดการดูแล
การมีส่วนร่วมของครอบครัว วัด หน่วยงาน องค์กรและโรงเรียน เป็นแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยการดำเนินงานที่อาศัยเครื่องมือในการประเมินพฤติกรรมต่าง ๆ ของเยาชน นอกจากบุคลากรในสถานศึกษาครอบครัว และสถาบันทางสังคมจะเป็นจะต้องมีเครื่องมือเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาหาแนวทางร่วมกัน เช่นการสังเกตพฤติกรรมของเยาวชนในครอบครัว หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น นอกจากการมีส่วนร่วมในการใช้เครื่องมือเพื่อศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงแล้ว การจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสถาบันสังคม ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมในสถานศึกษาจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาแนวทางพัฒนาร่วมกัน การมีส่วนร่วมของครอบครัวต่อการพัฒนาเยาวชนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ครอบครัวจำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับพฤติกรรมของบุตรหลานตนเอง เพื่อเปิดพื้นที่ในการศึกษาและพัฒนาร่วมกันระหว่างครอบครัวและโรงเรียน นอกจากนั้นองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเกี่ยวข้องหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนตั้งแต่การศึกษาและพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง สถานศึกษามีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน ในการเป็นแนวทางการพัฒนาอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะพระสงฆ์ถือว่าเป็นบุคลากรขององค์กรพระพุทธศาสนาที่มีความเชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องต่อการปลูกฝังและขัดเกลาจิตใจเยาวชนมาโดยตลอด ปัจจุบันบทบาทพระสงฆ์ส่วนหนึ่งไปดำเนินการเชิงรุกเพื่อจัดกิจกรรมและจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน แนวทางที่พระสงฆ์จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเยาวชนคือการบูรณาการกิจกรรมทางพุทธศาสนาเข้าไปดำเนินการในโรงเรียน และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประเพณีวัฒนธรรมในโรงเรียนที่ทำให้เยาวชนสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อศาสนา เมื่อพระสงฆ์พร้อมที่จะมีบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาในโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนจำต้องมีโนบายและแผนงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนของการดำเนินงานจากบุคลากรทางสถาบันศาสนา เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนให้ดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรม
อภิปรายผล
การศึกษาพบว่า กระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรมเป็นกระบวนการที่อาศัยแนวคิดและองค์ความรู้ของบุคลากรในโรงเรียน โดยเฉพาะการมีจรรยาบรรณวิชาชีพและแนวคิดต่อปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงด้านยาเสพติดเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในโรงเรียน ทั้งยังมีแนวคิดต่อสถาบันทางสังคม บ้าน วัด โรงเรียน ที่เป็นส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วมของกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชน แต่สถานศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการของกระบวนการศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง นโยบายของผู้บริหารโรงเรียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ และยังมีปัจจัยอื่น ๆ รองลงมา เช่น บริบทของโรงเรียนในด้านขนาดและจำนวนบุคลากร ปัจจัยในด้านการดำเนินงานภายใต้โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว การดำเนินงานภายใต้การควบคุมดูแลงานกิจการนักเรียนยังเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชน เพราะบุคลากรในโรงเรียนเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการศึกษาหรือการดำเนินงานวิจัยนักเรียนในโรงเรียนที่มีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการศึกษาเยาวชน เพื่อที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อรายงานงานกิจการนักเรียนในการวิเคราะห์ ประเมินผลเพื่อหาแนวทางป้องกัน แก้ไขและพัฒนาเยาวชน กระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนจึงมีมุมมองต่อการวิเคราะห์และการประเมินผล เนื่องจากบุคลากรในโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกมิติของเยาวชนที่ดำเนินชีวิตทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน การวิเคราะห์และการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพจึงต้องมีส่วนร่วมของบุคลากรในรูปแบบสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผลการศึกษาเยาวชน กระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงนับว่ามีประโยชน์ต่อบุคลากรในโรงเรียนที่มีความใกล้ชิดต่อนักเรียนและสามารถป้องกัน แก้ไขและพัฒนาได้ด้วยตนเอง ทั้งยังมีประโยชน์ต่อนโยบายของโรงเรียนและการกำหนดทิศทางในการพัฒนาโรงเรียนได้เป็นดี แต่การดำเนินงานของกระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนยังพบประเด็นปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ บริบทของโรงเรียนในด้านการคัดกรองนักเรียนเข้ารับการศึกษา ครอบครัวในการยอมรับพฤติกรรมของบุตรหลาน และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ประเด็นปัญหาเหล่านี้เกิดจากการดำเนินการของกระบวนการศึกษาอบรมที่จะต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงต่อไป
กระบวนการศึกษาอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนที่ดำเนินชีวิตขัดต่อหลักพุทธธรรม เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม แนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงพบว่าแนวทางเบื้องต้นต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจต่อสภาพปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ การศึกษาวัฒนธรรมย่อยของเยาวชนกลุ่มเสี่ยง การสำรวจข้อมูลจากการศึกษาวัฒนธรรมย่อยของเยาวชนกลุ่มเสี่ยง การสร้างความเข้าใจต่อบุคลากรในโรงเรียนตั้งแต่นโยบายของโรงเรียนตลอดจนการวางกรอบที่มีมาตรฐานของโรงเรียน และการสร้างความเข้าใจของบุคลากรในโรงเรียนต่อการศึกษาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากประเด็นรูปแบบของแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง กระบวนวิธีในการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงยังเป็นแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้ดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรมได้ ได้แก่กระบวนวิธีละมุนละมอม กระบวนการวิธีรุนแรง และกระบวนวิธีปล่อยไปเป็นตามระเบียบกติกาของสังคม ซึ่งเป็นกระบวนวิธีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ นอกจากปัจจัยของกระบวนการวิธีที่เป็นแนวทางการพัฒนา การมีส่วนร่วมของครอบครัว วัด หน่วยงาน องค์กรอื่นและโรงเรียน ที่จะต้องดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมที่อาศัยเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง การมีส่วนร่วมของสถาบันทางสังคมยังรวมไปถึงการจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ปัจจัยสำคัญที่จำดำเนินการตามแนวทางการพัฒนานี้ได้ยังต้องอาศัยการเปิดพื้นที่ของครอบครัวที่จะยอมรับพฤติกรรมของเยาวชนที่เป็นบุตรหลายของตนเอง เพื่อให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไขและพัฒนา มุมมองของโรงเรียนต่อแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม ให้ความสำคัญต่อบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาเยาวชน ที่จะมีแนวทางการดำเนินงานภายใต้กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และเป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประเพณีวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในโรงเรียน เมื่อพระสงฆ์เข้ามามีบทบาทการประสานความร่วมมือในการพัฒนาเยาวชน นโยบายผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาเยาวชนให้ดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ข้อเสนอแนะ
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงกระบวนการศึกษาอบรมและแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม ผู้ศึกษาวิจัยจึงขอเสนอแนะ ดังนี้
๑. การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงกระบวนการศึกษาอบรมและแนวทางในการพัฒนาเยาวชน พบว่ากระบวนศึกษาอบรมมีความสำคัญในการแก้ปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน การศึกษาวิจัยพบว่า นโยบายและโครงสร้างของสถานศึกษาเป็นปัจจัยแรกที่จะสามารถดำเนินการของกระบวนพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม การแก้ปัญหาและการพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรให้ความสำคัญของการกำหนดนโยบาย และการวางแผนงานของการดำเนินกระบวนพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนต่อไป
๒. การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์บุคลากรในโรงเรียนจำนวน ๕ โรงเรียน ทำให้ผลการวิจัยในประเด็นและแนวทางต่าง ๆ ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนต่าง ๆ ดังนั้นสถานศึกษาต่าง ๆ สามารถนำกระบวนการและแนวทางการพัฒนาของการวิจัยครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้
๓. การศึกษาวิจัยถึง กระบวนการศึกษาอบรมและพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม พบว่าการมีส่วนรวมของสังคมมีส่วนสำคัญในการดำเนินการ และสถาบันทางพุทธศาสนาภายใต้บุคลาการ (พระสงฆ์ )เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดในการแก้ปัญหาและพัฒนาเยาวชน ดังนั้นควรมีการศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ต่อการนำหลักพุทธธรรมในการพัฒนาเยาวชน เพื่อจะได้ทราบถึงจุดเด่น จุดด้อย และแนวทางการเสริมสร้างสถาบันทางพระพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพต่อไป
กิตติกรรมประกาศ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นทุนสนับสนุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ภายใต้แผนงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งานวิจัยนี้ได้รับการดำเนินการวิจัยโดยผู้วิจัย จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ในการนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษากระบวนการศึกษาอบรมและแนวทางการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียนให้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามหลักพุทธธรรม ของโรงเรียนมัธยมในเขตอำเภอเมืองลำพูน
ผู้วิจัยขอขอบคุณคณะกรรมการวิจัยแห่งสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ที่ได้พิจารณาให้ทุนอุดหนุนการวิจัยเรื่องนี้ ขอขอบคุณผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ที่ได้ให้โอกาสให้เกิดการวิจัยครั้งนี้ ขอขอบคุณที่ปรึกษางานวิจัยที่ได้ให้คำแนะนำและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานวิจัย ขอขอบคุณบุคลากรในโรงเรียนมัธยมศึกษาทุกท่าน ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในการให้ข้อมูลการวิจัยในครั้งนี้ จากการให้ความร่วมมือในการทำงานของทุกฝ่ายทำให้งานวิจัยครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดี และผู้วิจัยหวังว่าจะได้รับข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษางานวิจัยต่อไป
เอกสารอ้างอิง
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ). ยุวธรรมสำหรับยุวชน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๕๐.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ ๙, กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.
ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร. วาทะธรรมว่าด้วยศีลธรรม(พุทธทาสภิกขุ). กรุงเทพมหานคร: บริษัท ออฟเซ็ท ครีเอชั่น จำกัด, ๒๕๔๙.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. บาลีไวยากรณ์ วจีวิภาค ภาคที่ ๒. พิมพ์ครั้ง ที่ ๔๘, กรุงเทพมหานคร: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน. ๒๕๕๐.
สำนักนายกรัฐมนตรี. พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖. ประกาศเมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๖.
|