หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ » การวิเคราะห์ทัศนคติการอยู่ก่อนแต่งงานของประชาชน:กรณีศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น
 
เข้าชม : ๒๕๖๒๔ ครั้ง

''การวิเคราะห์ทัศนคติการอยู่ก่อนแต่งงานของประชาชน:กรณีศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น''
 
โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ และคณะ (2556)

 

การวิเคราะห์ทัศนคติการอยู่ก่อนแต่งงานของประชาชน:

กรณีศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น

An Analysis of Viewpoint of People’s Cohabitation:

A Case Study of Khon Kaen Municipality

 

โสวิทย์ บำรุงภักดิ์

พธ.บ, M.A.(Buddhist Studies), พธ.ด.

พุทธชาติ คำสำโรง

ปธ.๗ พธ.บ.(ศาสนา), M.A.(Philosophy)

 

บทคัดย่อ

 

               การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามุมมองของพระพุทธศาสนาในเรื่องการอยู่ก่อนแต่งงาน  ศึกษาความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการเกี่ยวกับการอยู่ก่อนแต่งงาน และ วิเคราะห์ทัศนคติการอยู่ก่อนแต่งงานตามความคิดเห็นของนักวิชาการฝ่ายศาสนา ฝ่ายวัฒนธรรม และฝ่ายสังคม การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเอกสาร งานวิจัย และการสัมภาษณ์      

               ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนการอยู่ก่อนแต่งงาน พฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่งงานเป็นการผิดศีลห้าข้อที่สามคือกาเมสุมิจฉาจาร เพราะไปละเมิดต่อสิ่งอันเป็นที่รักหรือที่หวงห้ามของบิดามารดา อีกทั้งบุตรธิดาได้ชื่อว่าเป็นพันธะทางศีลธรรมของระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา

               สำหรับประชาชนและนักวิชาการด้านศาสนา ด้านวัฒนธรรมและด้านสังคมมีความคิดเห็นว่า การอยู่ก่อนแต่งงานเป็นการเปลี่ยนแปลงของความคิด ความเชื่อหรือความเข้าใจของคนในสมัยปัจจุบัน ที่ชอบทำอะไรตามใจปรารถนาของตนแบบง่าย ๆ มีสภาพจิตเปราะบาง รักง่ายหน่ายเร็ว ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากครอบครัว คือพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก ปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง การให้ลูกไปเช่าหอพักเพื่อเรียนหนังสือ สังคมรอบกายเด็กทั้งที่โรงเรียนและชุมชนไม่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาจิตใจให้ดีงาม วัฒนธรรมรอบกายเด็กมีทั้งแบบทุนนิยมและแบบบริโภคนิยม ซึ่งเป็นการเลียนแบบทางวัฒนธรรมที่ขาดความเข้าใจ จึงเกิดปัญหาทางสังคมอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้

               ส่วนทางออกของปัญหามีอยู่ว่า บ้าน โรงเรียน ชุมชนและวัดจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างเป็นระบบ มีนโยบาย มีแผนงาน มีโครงการที่สามารถปฏิบัติการได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะเรื่องเด็กเยาวชนเป็นของทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เปิดตาเปิดใจรับรู้ ยอมรับความจริง และพูดความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชน  จุดสำคัญของเรื่องคือให้ผู้ที่กำลังคิดจะทำเรื่องนี้ให้หยุดคิด หยุดความอยาก หยุดความปรารถนา หยุดความต้องการของตนเองไว้ แล้วพิจารณา ตรึกตรอง ใคร่ครวญให้ดี อย่าปรุงแต่งจิตตนให้มากเกินความจริงที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แล้วจะพบกับทางออกตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล

 

Abstract

 

The objectives of this research are: to study of Buddhist views on the case of cohabitation, to study the opinions of the scholars and people regarding to cohabitation, and to analysis the viewpoint of cohabitation according to the opinions of the concerned persons religion, culture, and sociology scholars. This research was studied from documents, research work and interview.

            The result of the study found that Buddhism does not support cohabitation.  The behavior of cohabitation was considered to violate the five precepts in committing sexual misconduct (kamesumicchajariya), because these children were under the protection of their parents in the relation between parents and offspring.

            For people and cultural social religious scholars had opinions that cohabitation was thinking change, belief or understanding of the modern society which they like to do indulge whatever they need. It was, they had mild mind easily love and easily boring. The main causes come from their family, parents had no time to look at them and let their children lived alone by living in the renting house for studying. The surroundings, school and communities were not suitable to mental develop, there were two cultures a round the children i.e. capitalism and consumerlism. Its cultural emulation without incorrect understanding and it was social problems present.

So, the solution for these problems: home, school, communities and temples have to co-operate by doing their duties systematically. They must have policy, plan, project to do together. The youth problem were social problem, everyone should take responsibility together by opening their eyes, heart to know and to speak true about children and youth. The main point of story was the one who is thinking to do this problem stop to think, desire then consider and think over. They should not more speculative mind than the truth appeared. They will find out the way to solve regarding to the individual factors.

 

บทนำ

 

               การเปลี่ยนแปลงเป็นปรากฏการณ์ปกติของสรรพสิ่ง สังคมและวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จะเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมของคนส่วนใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา และเป็นสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยได้ผ่านกระบวนการพัฒนาการ หรือการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว ๓ ยุด คือ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคข้อมูลข่าวสาร ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชีวิตได้อย่างมากมาย เหนือสิ่งอื่นใดทำให้ชีวิตและสังคมกลายเป็นชีวิตและสังคมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “สังคมยุคโลกาภิวัตน์” (Globalization) ซึ่งหมายถึงการแพร่กระจายไปทั่วโลก หรือการที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง อันเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสรสนเทศเป็นต้นเป็นโลกที่มีการเชื่อมโยงถึงกันได้ทั้งหมด[1] ทำให้การเปิดรับกระแสความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากสังคมในอดีต ชีวิตและสังคมในปัจจุบันจึงเปิดกว้างรับเอากระแสวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น ด้านวัตถุหรือเทคโนโลยีและในด้านจิตใจ แนวคิด คติความเชื่อ พฤติกรรมของบุคคลในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ (บางส่วน) ที่เป็นผู้ได้รับวัฒนธรรมแบบยุคโลกาภิวัตน์ เน้นอิสรเสรีและสิทธิหน้าที่ของบุคคลเป็นสำคัญ แต่ให้ความสำคัญต่อจารีตประเพณีวัฒนธรรมน้อยลง ที่เห็นปรากฏชัดได้แก่ การแสดงออกถึงความรัก การมีเพศสัมพันธ์ และการสมรส เป็นต้น

               สังคมไทยในอดีตเมื่อชายหนุ่มหญิงสาวเกิดความรักใคร่ชอบพอกัน ก็จะปฏิบัติตามประเพณีและวัฒนธรรมทางสังคม โดยมีการส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอและหมั้นหมาย จากนั้นทั้งสองคนก็จะสร้างชีวิตและครอบครัวใหม่ เป็นต้น ไม่ว่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากความรักของชายหนุ่มหญิงสาวเอง หรือมาจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็ตาม การสมรสหรือการแต่งงานมักจะดำเนินไปตามครรลองจารีตประเพณีของสังคม นอกจากนี้ การสมรสยังถือว่าความบริสุทธิ์ของคู่สมรส แต่เมื่อสังคมไทยได้วิวัฒนาการมาสู่ยุคปัจจุบัน ได้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ขึ้นที่เรียกว่า เพศวิถี (Sexuality)[2] หมายถึงระบบความคิดความเชื่อเรื่องเพศเป็นกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมที่กำหนด จัดการ กำกับ ควบคุม รวมทั้งการแสดงออกเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ หรืออีกนัยหนึ่ง เพศวิถีก็คือวิถีทางเพศของคนทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับสังคม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสังคมจะมีการสร้างบรรทัดฐานชุดหนึ่งที่ยอมรับ หรือให้ความชอบธรรมกับเพศวิถีที่กำหนดขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างขอเพศวิถีที่กล่าวถึงก็คือมีชายหญิงที่อยู่กินฉันท์สามีภรรยา หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะแต่งงานมีปรากฏให้เห็นมากขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติของสังคมปัจจุบัน

               จากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น สื่อให้ทราบว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมมีทัศนคติเกี่ยวกับการแต่งงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ความบริสุทธิ์ของคู่สมรสมีความสำคัญน้อยลง ในขณะเดียวกันปรากฏการณ์นี้ได้แผ่ขยายกว้างขวางมากยิ่งขึ้นสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งอยู่ในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อยู่ในวัยเรียน และยังอยู่ในความดูแลของบิดามารดา ดังในกรณีผลการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักวิยัเอแบคโพลล์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจ “พฤติกรรมและความคิดในการดำเนินชีวิตของเยาวชนอายุ ๑๒ – ๑๘ ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร” พบว่า “วัยรุ่นร้อย ๒๖.๓ มีทัศนคติเรื่องครอบครัวว่า อยากอยู่ก่อนแต่ง” และจากการประมวลสถานการณ์ปัญหาเด็กในมิติวัฒนธรรมของสถาบันรามกิตติ ร่วมกับ ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม พบว่า ปัญหาและผลกระทบ (การอยู่ก่อนแต่ง) ในเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กมีปัจจัยที่สนับสนุนอยู่หลายประการ ได้แก่ มิติด้านครอบครัว กระแสบริโภคนิยม สุขนิยม อิสระนิยม ผนวกกับปัญหาการหย่าร้างของครอบครัวไทยมีอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ

               แต่อัตราการจดทะเบียนสมรสกลับลดลงอย่างมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว จากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเล็ก จึงทำให้เด็กเหินห่างครอบครัวมากขึ้น ถูกปล่อยให้เผชิญปัญหาตามลำพัง และตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรู้เท่าไม่ทันเหตุการณ์ ความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตจึงเกิดขึ้นกับเด็ก ความละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ใช้ชีวิตคล้อยตามกระแสแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม และให้ความสำคัญเรื่องเสรีภาพมากกว่าเรื่องอื่น ถือสิทธิเสรีภาพที่สามารถกระทำได้ และที่สำคัญถือว่า การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเป็นการทดลองทำหน้าที่สามีภรรยา เพื่อเรียนรู้อุปนิสัยใจคอและดูใจกันและกัน ก่อนที่จะตกลงปลงใจแต่งงานร่วมชีวิตสร้างครอบครัวขึ้นใหม่ ประเด็นเรื่องนี้ถือว่ามีผลกระทบ ๒ ด้าน (double effect) คือมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเป็นการเปิดโอกาสให้ชายหญิงได้เรียนรู้นิสัยใจคอ การปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิดไปจากจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมไทย ที่ให้ความสำคัญกับพิธีแต่งงาน การรักนวลสงวนตัวของผู้หญิง และรวมถึงอาจเกิดปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม การเลิกร้างกันไปโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกผิดหวังเสียใจ พฤติกรรมดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความคิดเห็นโต้แย้งระหว่างคนที่มีความคิดแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ อารมณ์ ความรู้สึกมากกว่าจารีตประเพณีและศาสนา กับผู้ที่ยังมีความคิดอยู่ในกรอบของประเพณีและศาสนา ก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมขึ้นว่า “พฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่งงานของคนสมัยใหม่บางส่วนนี้ เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ ? พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย มีทัศนะต่อพฤติกรรมดังกล่าวอย่างไร ? และมีหลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินพฤติกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการด้านศาสนา วัฒนธรรมและสังคมมีทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร”

               จากรายละเอียดที่กล่าวมา ผู้วิจัยจึงนำมาเป็นประเด็นปัญหาสำหรับการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์การอยู่ก่อนแต่งงานของประชาชน: กรณีศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น” ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามุมมองของพระพุทธศาสนาในเรื่องการอยู่ก่อนแต่งงาน เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการเกี่ยวกับการอยู่ก่อนแต่งงาน และเพื่อวิเคราะห์ท่าทีและมุมมองการอยู่ก่อนแต่งงานของนักวิชาการด้านศาสนา ด้านวัฒนธรรมและด้านสังคม มีการกำหนดขอบเขตการวิจัยไว้ ๒ ด้าน คือ ด้านเนื้อหาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับหลักการทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการอยู่ก่อนแต่ง ความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการเกี่ยวกับการอยู่ก่อนแต่งงาน และวิเคราะห์ท่าทีและมุมมองการอยู่ก่อนแต่งงานของนักวิชาการด้านศาสนา ด้านวัฒนธรรมและด้านสังคม และด้านประชากร และด้านประชากรโดยแบ่งเป็นประชากรทั่วไป ได้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๓ คู่  จำนวน ๖ คน นักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน ๕ คู่  จำนวน ๑๐ คน ประชาชนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน ๕  คู่  จำนวน ๑๐ คน ชาวต่างประเทศ จำนวน ๓  คู่  จำนวน ๖ คน และประชากรเฉพาะคือนักวิชาการด้านศาสนาแบ่งเป็นบรรพชิต จำนวน ๕ รูป คฤหัสถ์ จำนวน ๕ คน ด้านวัฒนธรรม จำนวน ๕ คน และด้านสังคมแบ่งเป็นฝ่ายการศึกษา จำนวน ๒ คน ฝ่ายปกครอง จำนวน ๒ คน ฝ่ายจิตวิทยา จำนวน ๒ คน ฝ่ายพยาบาล จำนวน ๒ คน ซึ่งมีสมมติฐานว่าเมื่อวิจัยแล้วจะทราบข้อเท็จจริงและความจริงของพฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่งงาน ทราบสาเหตุที่แท้จริงและทางออกของปัญหาดังกล่าว โดยนิยามศัพท์เฉพาะว่า ทัศนคติ หมายถึงท่าทีและมุมมองของนักวิชาการต่อชายหญิงที่ใช้ชีวิตคู่ในลักษณะอยู่ก่อนแต่งที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น การอยู่ก่อนแต่งงาน หมายถึงการที่ชายและหญิงมีความรักหรือมีความพึงพอใจต่อกัน แล้วได้มาใช้ชีวิตในห้องพักหรือบ้านพักในลักษณะเช่าหรือเช่าซื้อ มีการหลับนอนด้วยกัน มีเพศสัมพันธ์ต่อกัน และอยู่กินร่วมกันอย่างสามีภรรยา โดยไม่ได้ประกอบพิธีการแต่งงานตามจารีตประเพณีของชุมชนและสังคม ประชาชน หมายถึงชายหญิงทั้งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาศึกษาตอนปลาย นักศึกษาระดับปริญญาตรี ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และนักวิชาการ หมายถึงนักปราชญ์หรือผู้รู้ด้านศาสนา (ในที่นี้หมายเอาพระพุทธศาสนา) ด้านวัฒนธรรม และด้านสังคม

                

วิธีการวิจัย

 

            การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาในรูปแบบคุณภาพ (Quality Research) โดยการกำหนดประชากรซึ่งเป็นประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน ๑๖ คู่ ๓๒ คนเป็นกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนผู้มีพฤติกรรมอยู่ก่อนแต่งงาน ในการทำงานภาคสนามมีอาจารย์พุทธชาติ คำสำโรง ผู้ร่วมวิจัยได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพิจารณาคัดเลือกประชากรกลุ่มตัวอย่าง ทั้งที่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษาระดับปริญญาตรี ประชาชนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และชาวต่างประเทศ สำหรับเครื่องมือในการเก็บข้อมูลคือแบบสัมภาษณ์ (ที่อยู่ในลักษณะเป็น Guideline เพื่อสะดวกต่อการสัมภาษณ์) ในการสัมภาษณ์ผู้วิจัยจะไม่ขอทราบชื่อและนามสกุลจริง และในการลงคำสัมภาษณ์ในงานวิจัยจะใช้ชื่อสมมติแทน ซึ่งเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ของกลุ่มตัวอย่าง

 

ผลการวิจัย

 

            เมื่อได้ทำการวิจัยตามวิธีการวิจัยดังกล่าวแล้ว ทำให้ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยได้ค้นพบคำตอบตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยเริ่มจากวัตถุประสงค์ข้อที่หนึ่งที่มุ่งศึกษามุมมองทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการอยู่ก่อนแต่งงาน ผลการวิจัยพบว่าพระพุทธศาสนามีมุมมองที่ไม่สนับสนุนการอยู่ก่อนแต่งงาน ซึ่งพฤติกรรมหรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการอยู่ก่อนแต่งงาน เป็นการผิดศีลห้าข้อที่สามคือกาเมสุมิจฉาจาร เพราะไปละเมิดต่อสิ่งอันเป็นที่รักหรือที่หวงห้ามของบิดามารดา อีกทั้งบุตรธิดาได้ชื่อว่าเป็นพันธะทางศีลธรรมของระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ส่วนทางออกพระพุทธศาสนาได้เสนอว่าให้ทุกคนมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่หมกมุ่นหลงใหลไปตามอารมณ์ที่มากระทบ ระมัดระวังจิตของตน พยายามยกจิตให้มีภาวะที่อิสระที่ดีกว่า สะอาดกว่า บริสุทธิ์กว่าภาวะปกติ หากทำได้อย่างนี้ชีวิตทั้งที่เป็นอยู่ตัวคนเดียว (โสด) และชีวิตคู่ในวันนี้และวันหน้าก็จะอยู่รอดปลอดภัยตลอดไป

               สำหรับประชาชนและนักวิชาการด้านศาสนา ด้านวัฒนธรรมและด้านสังคม (ตอบวัตถุประสงค์ข้อที่สอง) มีความคิดเห็นว่า พฤติกรรมหรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการอยู่ก่อนแต่งงานเป็นการเปลี่ยนแปลงของความคิด ความเชื่อหรือความเข้าใจของคนในสมัยปัจจุบัน ที่ชอบทำอะไรตามใจปรารถนาของตนแบบง่าย ๆ มีสภาพจิตเปราะบาง รักง่ายหน่ายเร็ว ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากครอบครัว คือพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก ปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง การให้ลูกไปเช่าหอพักเพื่อเรียนหนังสือ สังคมรอบกายเด็กทั้งที่โรงเรียนและชุมชนไม่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาจิตใจให้ดีงาม วัฒนธรรมรอบกายเด็กมีทั้งแบบทุนนิยมและแบบบริโภคนิยม ซึ่งเป็นการเลียนแบบทางวัฒนธรรมที่ขาดความเข้าใจ จึงเกิดปัญหาทางสังคมอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้

               ส่วนทางออกของปัญหาการอยู่ก่อนแต่งงาน (ตอบวัตถุประสงค์ข้อที่สาม) มีอยู่ว่า บ้าน โรงเรียน ชุมชนและวัดจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างเป็นระบบ มีนโยบาย มีแผนงาน มีโครงการที่สามารถปฏิบัติการได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะเรื่องเด็กเยาวชนเป็นของทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เปิดตาเปิดใจรับรู้ ยอมรับความจริง และพูดความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชน จุดสำคัญของเรื่องคือให้ผู้ที่กำลังคิดจะทำเรื่องนี้ให้หยุดคิด หยุดความอยาก หยุดความปรารถนา หยุดความต้องการของตนเองไว้ แล้วพิจารณา ตรึกตรอง ใคร่ครวญให้ดี อย่าปรุงแต่งจิตตนให้มากเกินความจริงที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แล้วจะพบกับทางออกตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล

 

วิจารณ์

 

            จากการวิจัยเรื่องวิเคราะห์การอยูก่อนแต่งงานของประชาชน: กรณีศึกษาเทศบาลนครขอนแก่นจึงทำให้ทราบว่า เรื่องราวการอยู่ก่อนแต่งงานเป็นพฤติกรรมและการกระทำที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยปัจจุบัน เมื่อทราบว่าเป็นอยู่จริง มีอยู่จริง และจะต้องเป็นไปอย่างนี้ในสังคมปัจจุบัน ผู้วิจัยจึงได้แสวงหาคำตอบในเชิงพรรณนาความจากมุมมองทางพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธศาสนายืนยันในหลักการว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดต่อศีลห้าในข้อที่สาม แม้ว่าชายหญิงคู่นั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม เหตุผลเพราะไปผิดหรือล่วงละเมิดต่อสิ่งอันเป็นที่รักหรือเป็นที่หวงแหนของบิดามารดา ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ที่มีความคิดเห็นว่า การอยู่ก่อนแต่งงานเป็นปรากฏการณ์ใหม่ (new phenomena in thai society) ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น ในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอก็เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งยอมรับไม่ได้และไม่เห็นด้วยอย่างมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นจริงและมีอยู่จริงจึงมีความเห็นว่า สังคมหลัก ๔ สังคมคือ สังคมบ้าน สังคมโรงเรียน สังคมชุมชน และสังคมวัดจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างเป็นระบบ มีนโยบาย มีแผนงาน มีโครงการที่สามารถประสานและร่วมกันปฏิบัติการได้ โดยตั้งเป้าว่าเมื่อทำงานร่วมกันอย่างจริงแล้วคงจะช่วยบรรเทาพฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่งลูกหลานให้ลดลง แม้ว่าจะไม่ทำให้หมดไปจากสังคมก็ตาม

 

ข้อเสนอแนะ

 

               จากการอภิปรายผลการวิจัยจึงทำให้ทราบประเด็นที่ผู้วิจัยและคณะยังมีข้อสงสัยและมีความอยากรู้เพิ่มจากพฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่ง ซึ่งมีอยู่ประเด็กที่ควรเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไปไว้ ๒ ประเด็น คือ วิเคราะห์ความรักในใจของชายกับหญิงใครรักจริงกันแน่ ?ซึ่งเป็นประเด็นในเชิงคำถาม และอีกประเด็นหนึ่งคือ คุณค่าและความสำคัญของการประกอบพิธีแต่งงานตามประเพณีไทยในทัศนะของชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับคุณค่า ประโยชน์ และความสำคัญของประเพณีไทยเกี่ยวกับการประกอบพิธีการแต่งงาน ตั้งแต่การหมั้นหมาย การสู่ขอ ตลอดจนถึงการประกอบพิธีทางสงฆ์และชาวบ้านหรือหมู่ญาติ เป็นต้น

 

กิตติกรรมประกาศ

 

งานวิจัยฉบับนี้ สำเร็จได้ด้วยความอนุเคราะห์จากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ให้การสนับสนุนทุนการวิจัย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ศาสตราจารย์บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ และคณะ ที่ได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะการทำวิจัยในระหว่างการฝึกอบรมทำวิจัย  และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย พระมหาหรรษา   ธมฺมหาโส, รศ.ดร., รศ.ดร.ภานุวัฒน์  สุริยฉัตร และ ผศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง ที่ได้ให้คำแนะนำและปรับแก้การทำวิจัยให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และอาจารย์พุทธชาติ คำสำโรง อาจารย์ประจำสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา ซึ่งเป็นคณะผู้ร่วมวิจัยที่ได้ออกไปสัมภาษณ์กลุ่มประชากร ทั้งในส่วนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการด้านศาสนา ด้านวัฒนธรรม และด้านสังคม

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

๑. หนังสือ

ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒.  กรุงเทพมหานคร: นานมีบุคส์พับลิเคชั่น, ๒๕๔๖.

 

๒. วิทยานิพนธ์

ธัญญา สังขพันธานนท์, บรรณาธิการ.  สองฟากฝั่งของแม่น้ำ.  ขอนแก่น: หจก.ขอนแก่นการพิมพ์, ๒๕๕๕.

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต).  พุทธวิธีการสอน.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙.

พรเทพ  แพรวขาว.  ประสบการณ์ชีวิตทางด้านสุขภาพทางเพศของชายรักเพศเดียวกันในชุมชนอีสาน.  วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๒๕๕๑.

มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  ศิลปินมรดกอีสาน สืบสานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ๒๕๕๕.  เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ๒ เมษายน ๒๕๕๕, (ขอนแก่น :  หจก.ขอนแก่นการพิมพ์, ๒๕๕๕.



[1] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒, (กรุงเทพมหานคร: นานมีบุคส์พับลิเคชั่น, ๒๕๔๖), หน้า ๑๐๔๔.

[2] พรเทพ  แพรวขาว, ประสบการณ์ชีวิตทางด้านสุขภาพทางเพศของชายรักเพศเดียวกันในชุมชนอีสาน”, วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๒๕๕๑), หน้า ๑๘๒.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕