บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์การใช้เหตุผลในพระไตรปิฎกมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของการใช้เหตุผลในพระไตรปิฎกเพื่อศึกษาวิเคราะห์การใช้เหตุผลในพระไตรปิฎกและเพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลที่เกิดจากการใช้เหตุผล
ผลการวิจัยพบว่า ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการใช้เหตุผลกระจายอยู่หลายลักษณะ เช่น การใช้เหตุผลในการค้นหาความจริง การใช้เหตุผลตอบปัญหาเรื่องกรรมเป็นอนัตตา และมโนกรรมมีโทษมากกว่ากายกรรมและวจีกรรม การใช้เหตุผลในการถามตอบปัญหาเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ การใช้เหตุผลในกระบวนการปฏิจจสมุปบาทตอบปัญหาเรื่องวิญญาณแก่สาติภิกษุ การแสดงธรรมตามแนวอริยสัจ ๔ ที่มีลักษณะบอกเหตุและผล คือทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ และในคัมภีร์กถาวัตถุ มีการตอบปัญหาเรื่องบุคคล ขันธ์ ๕ เป็นต้น ทั้งในแง่สมมติบัญญัติและปรมัตถ์บัญญัติ คัมภีร์นี้นักวิชาการทางพระพุทธศาสนายอมรับกันว่าเป็นคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้เหตุผลอีกแบบหนึ่ง
การใช้เหตุผลมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ ๑)การใช้เหตุผลแบบจำแนกนามรูปจากจุดเล็กขยายไปสู่จุดใหญ่ เช่น การจำแนกองค์ประกอบของชีวิตออกเป็นธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นต้น ว่าตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ วิธีการนี้อาจเรียกสั้น ๆ ว่าการใช้เหตุผลแบบวิภัชชวาท วิธีนี้จะมีปฏิจจสมุปบาทเป็นฐานรองรับ ๒)การใช้เหตุผลในเชิงเปรียบเทียบ คือการอ้างเหตุผลโดยการใช้สื่อประกอบเพื่อเพิ่มความเข้าใจหลักนามธรรม จึงยกอุปมาอุปไมยมาแสดงให้เข้าใจ เช่น การเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ว่ารูปเปรียบเหมือนกลุ่มฟองน้ำ เวทนาเปรียบเหมือนฟองน้ำ สัญญาเปรียบเหมือนพยับแดด สังขารเปรียบเหมือนต้นกล้วย และวิญญาณเปรียบเหมือนมายากล ๓)การใช้เหตุผลแบบอนุมานตนเองกับผู้อื่น เป็นการใช้ตรรกสำหรับตรวจสอบคุณธรรมของตนและผู้อื่น เช่น การอนุมานว่า บุคคลที่มีความปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในความปรารถนาที่เป็นบาป ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นบุคคลเช่นนั้น เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่นเช่นเดียวกัน เป็นต้น ๔)การใช้เหตุผลแบบสมมติภาพเหตุการณ์ เป็นการใช้เหตุผลอธิบายธรรมโดยยกตัวอย่างหรือนิทาน เรื่องเล่าในอดีตมาประกอบให้เข้าใจคำสอนเช่น ในอุปาลิวาทสูตร ๕)การใช้เหตุผลแบบขยายธรรมวิจิตร หรือเทศนาวิจิตร เป็นวิธีการอธิบายเรื่องจิต เจตสิก ให้พิสดาร หรือการเล่าประวัติศาสตร์อันยืดยาว วิธีนี้จะใช้กับกลุ่มบุคคลผู้มากด้วยทิฏฐิมานะว่าตนมีปัญญามาก ไม่ยอมรับฟังทัศนคติหรือความคิดเห็นของใครง่าย เช่น พระพุทธเจ้าทรงกำราบความถือตัวของอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งถือตัวว่าเป็นคนมีความรู้มาก ในที่สุดเมื่อได้ฟังประวัติเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตนจากพระพุทธองค์ เขาก็ยอมรับเพราะตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ชาติกำเนิดของตนทั้งหมด๖)การใช้เหตุผลแบบกลับความหมายของคำ เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้านำคำที่คนในพื้นที่หรือชุมชนใช้พูดหรือเรียกกันซึ่งมีความหมายที่คนในพื้นที่หรือชุมชนนั้นเข้าใจหรือมีความเชื่อตรงกันเช่น คำว่า อรหันต์ พราหมณ์ ภิกษุ อริยะ สภามาใช้อธิบายให้ความหมายใหม่ที่ให้แง่คิดปรับทัศนะที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแก่คนในพื้นที่หรือชุมชนนั้น ๆ ไม่ต้องมีความเชื่อผิด ๆ อีกต่อไป ๗)การใช้เหตุผลแบบกระบวนการ เป็น็น็ฌรวิธีการตอบปัญหาแบบตรรกนัย ประกอบด้วยหลักการ ๕ อย่าง คือ (๑) อนุโลมปัญจกะ การถามตามลำดับ (๒) ปฏิกัมมจตุกกะ การโต้กลับของฝ่ายที่ถูกถาม (๓) นิคคหจตุกกะ การกล่าวข่มโดยฝ่ายถูกถาม (๔) อุปนยนจตุกกะ การรับรองวิธีการนิคคหะที่ตนทำคือวิธีการที่ ๓ ว่าถูกต้อง และวิธีการของฝ่ายถามคืออนุโลมปัญจกะนั้นผิด (๕) นิคคมจตุกกะ การสรุปการโต้ตอบว่า ฝ่ายถามทำนิคคหะไม่ถูกต้อง ส่วนฝ่ายตนทำถูกต้องทุกกระบวนการ คือทำปฏิกัมมะ นิคคหะ อุปนยนะ และนิคคมะ เมื่อฝ่ายถูกถามทำการโต้กลับทุกประเด็นแล้ว ก็เป็นฝ่ายถามก่อนบ้าง ขั้นแรกเรียกว่า (๑) ปัจจนีกานุโลมะ และขั้นที่ ๒-๕ ก็มีชื่อเรียกอย่างเดียวกัน โดยฝ่ายถูกถามโต้กลับและสรุปว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้อง การถามและโต้ตอบกันในคัมภีร์กถาวัตถุทั้งหมดก็จะดำเนินการด้วยหลัก ๕ อย่างนี้
ผลที่เกิดจากการใช้เหตุผลคือ ผลที่เกิดสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑) ผลที่เกิดขึ้นแก่เหล่าสาวก ๒) ผลที่เกิดขึ้นแก่เหล่าเดียรถีย์หรือนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา ผลที่เกิดขึ้นแก่เหล่าสาวกคือ ทำให้พระสาวกเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรม ไม่เคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัยและปัญหานั้น ๆ เกิดศาสนทายาท และทำให้พระสัทธรรมเจริญตั้งมั่น คงทนต่อการพิสูจน์เสมอ สำหรับผลที่เกิดแก่เหล่าเดียรถีย์คือ เดียรถีย์ทั้งหลายเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา ไม่กล่าวร้ายพระรัตนตรัย ที่สำคัญสาวกของเจ้าลัทธิบางพวกประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
คำหลัก: ตรรกวิทยา, การใช้เหตุผลในพระพุทธศาสนา
Abstract
The objectives of this dissertation are (1) to study theUsage of Logicin general science and in the Buddhism (2) to analytical study the Usage of Logic in the Tipitaka (3) to study the The Usage of Logic can result intheTipitaka.
This study has found that the Usage of Logic doctrines deliberating by Buddha and his followers are significantly intermingled in the Tipitaka. As shown in the VinayaPiṭaka, or Discipline Basket, the usage of logic is witnessed in the disciplinary canon for sustainability the religious over a prolonged period of times. Its usages can be considered for keeping all parties usefulness; explaining logical metaphor, passing on the disciplinary canon through logic language and asking permission for becoming a bhikkhuni. In SuttaTipitaka, or Sermons Basket, the Usage of Logic can be seen in various ways which are using as a tool for truth findings; discussing Karma dogma as Anutta(non-self); explaining five aggregates as parts of the three signs of being; answering the logically consciousness through the Dependent Origination toward Sati-bhikku; the Four Noble Truths sermon so causes, including suffering and the cessation of suffering, and effects, including the cause of suffering and the path leading to the cessation, can be described in Katha-Vatthu doctrines (Subjects for talk among the monks). In AbhidhammaPitaka, the Usage of Logic is detailed in the affirmative process of traditional Buddhist doctrines; for instance, five aggregates in the aspect of ultimate truth and conventional truth. The Abhidhamma doctrine itself is well-known accepted as the most systematic logical usage by Buddhist scholars.
The Usage of Logic has seven characteristics. These include (1) a classification of Mind and Matter from small to large and reverse from large to small so as it can be related to life classification into five aggregates in order to understand the Three Signs of Being by having Paticcasamuppada as supported base (2) a comparative logic by using media or metaphor for better understanding of abstract meaning (3) a self-assuming to others for self-moral/others-moral evaluation (4) a story telling for better understanding of dharma as appeared in Upalivadasuttra (5) an exquisite dharma or sermon for explaining mind and mental concomitants this will be suitable to person who considered oneself with more knowledge than others (6) a word transition from negative to positive meaning for supporting good attitude; for example, a “person with no taste” is related to “Buddha who can refrain of senses based” (7) a process logic answer of (7.1) Anulomapanjaka – consecutively questioning (7.2) Patikammajatuka – counterattack by respondent (7.3) Niggahajatuka – disgrace from the respondent(7.4)Upanayajatuka – certifying that Niggahajatuka is correct but Anulomapanjaka is incorrect (7.5)Niggamajatuk – concluding that Niggahajatuka is incorrect but Niggamajatuk is all correct including Patikamma, Niggaha, Upanaya and Niggama. When the respondent has already responded back in every issues, he/she will start to question step by step so called Panjanikalaloma. The question and answer will be proceeded to gain knowledge of (1) The ultimate truth (2) Practical guideline (3) Buddhist doctrines understanding (4) Conceit refrain (5) Mutual Understanding among religious
The Usage of Logic can result in (1) the four assemblies of the Buddhist devoutand (2) an adherent of another religion; heretical teacher. The four assemblies can be referred to Bhikku, Bhikkuni, male & female devotee who pursuit for Buddhist wisdom in order to understand the ultimate truth and will not skepticism on Buddhist Doctrines or uncertainty of the triple gems. The dhamma learning can be testified as needed under the fully supported by these laypeople. And also the Usage of Logic can build up good attitude toward an adherent of another religious by having more understanding of the Buddhist doctrines as it showed during the time of the Buddha that some adherent of another religious had proclaimed oneself as Buddhist layman whom holding firmly respect to the triple gems for the rest of life.
Key word: Logic, the Usage of Logic in the Buddhism
บทนำ
การศึกษาวิจัยเรื่องนี้เกิดจากความสนใจใคร่รู้ว่าในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในคัมภีร์พระไตรปิฎกมีการใช้เหตุผลในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาหรือไม่อย่างไร การใช้เหตุผลมีลักษณะอย่างไร แตกต่างจากตรรกวิทยาของชาวตะวันตกอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ได้องค์ความรู้ด้านการใช้เหตุผลมาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป และเพื่อสนองความต้องการตำรา หนังสือที่ขาดแคลนด้านนี้ด้วย ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของการใช้เหตุผลในพระไตรปิฎกเพื่อศึกษาวิเคราะห์การใช้เหตุผลในพระไตรปิฎกและเพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลที่เกิดจากการใช้เหตุผล
เครื่องมือและวิธีการวิจัย
การทำวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยจัดเป็นขั้นตอน คือ
ขั้นที่หนึ่ง ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เหตุผลจากเอกสารปฐมภูมิคือพระไตรปิฎก และทุติยภูมิคืออรรถกถา ฎีกา โดยจะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีและภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นหลัก ส่วนข้อมูลทุติยภูมิจะใช้อรรถกถา ฎีกาฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนี้จะศึกษาจากหนังสือ ตำรา งานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผล ทั้งของนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ
ขั้นที่สอง วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนที่หนึ่ง โดยจัดกลุ่มเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย
ขั้นที่สาม วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อตอบปัญหาการวิจัยในประเด็นที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้
ขั้นที่สี่ เรียบเรียงและนำไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบและรับรองอย่างน้อย ๒ท่าน
ขั้นที่ห้า สรุปและนำเสนอผลการวิจัยต่อสถาบันเพื่อจัดพิมพ์รูปเล่ม
ผลการวิจัย
ผลการศึกษาพบว่า ในพระไตรปิฎกปรากฏการใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้า ๒ ลักษณะ คือ ๑) การใช้เหตุผลในการค้นหาความจริง ซึ่งการใช้เหตุผลช่วงนี้ถือว่าเป็นเหตุผลแบบโลกียปัญญา เป็นเหตุผลทีพระพุทธเจ้ายังมีกิเลสาสวะอยู่ ยังไม่หมดความสงสัย ๒) การใช้เหตุผลหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เรียกว่าเป็นเหตุผลแบบโลกุตตรปัญญา ความสงสัยของพระพุทธองค์สิ้นไปแล้ว โดยการใช้เหตุผลแบบโลกียปัญญา มีร่องรอยการใช้มาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โดยเจ้าชายได้ทรงสดับภาษิตของพระนางกีสาโคตมีแล้วทรงดำริว่า “พระนางกีสาโคตมีนี้ตรัสอย่างนี้ว่า หทัยของมารดา หทัยของบิดา หทัยของปชาบดี ดูเห็นอัตภาพเห็นปานนี้อยู่ ย่อมดับทุกข์ได้ เมื่ออะไรหนอดับ หทัยจึงชื่อว่าดับทุกข์ได้” จากนั้น พระโพธิสัตว์ทรงดำริต่อไปว่า เมื่อไฟคือราคะดับ ขึ้นชื่อว่าความดับทุกข์ก็มีได้ เมื่อไฟคือโทสะดับ ขึ้นชื่อว่าความดับทุกข์ก็มีได้ เมื่อไฟคือโมหะดับ ขึ้นชื่อว่าความดับทุกข์ ก็มีได้ เมื่อความเร่าร้อนคือกิเลสทั้งปวงมีมานะและทิฏฐิเป็นต้น ดับแล้วขึ้นชื่อว่าความดับทุกข์ก็มีได้ พระนางให้เราได้ฟังคำที่ดี ความจริงเราก็กำลังเที่ยวแสวงหานิพพานอยู่ เราควรจะทิ้งฆราวาสออกไปบวชและแสวงหานิพพานเสียวันนี้ทีเดียว
และการใช้เหตุผลแบบโลกุตตรปัญญา เริ่มมาตั้งแต่ครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ซึ่งในเบื้องต้นเป็นการใช้เหตุผลในระดับความคิด โดยพระองค์พิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาทแบบอนุโลมและปฏิโลม การพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้เป็นการคิดในเชิงเหตุผล โดยที่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร และสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ... จนกระทั่งถึงชาติเป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส การพิจารณาปฏิจจสมุปบาทแบบอนุโลมทำให้ทราบสาเหตุแห่งทุกข์ตลอดสาย ในการพิจารณาแบบปฏิโลม พิจารณาว่า เพราะอวิชชาดับไม่เหลือด้วยวิราคะ(มรรค) สังขารจึงดับ เรื่อยไปจนถึงเพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ
การใช้เหตุผลแบบโลกุตรปัญญานี้ เป็นการใช้เพื่อตอบปัญหาเรื่องกรรมเป็นอนัตตา และมโนกรรมมีโทษมากกว่ากายกรรมและวจีกรรม การใช้เหตุผลในการถามตอบปัญหาเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ การใช้เหตุผลในกระบวนการปฏิจจสมุปบาทตอบปัญหาเรื่องวิญญาณแก่สาติภิกษุ การแสดงธรรมตามแนวอริยสัจ ๔ ที่มีลักษณะบอกเหตุและผล คือทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ และในคัมภีร์กถาวัตถุ มีการตอบปัญหาเรื่องบุคคล ขันธ์ ๕ เป็นต้น ทั้งในแง่สมมติบัญญัติและปรมัตถ์บัญญัติ คัมภีร์นี้นักวิชาการทางพระพุทธศาสนายอมรับกันว่าเป็นคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้เหตุผลอีกแบบหนึ่ง
ลักษณะของการใช้เหตุผลในพระไตรปิฎก สามารถประมวลสรุปได้ ๖ อย่าง ดังนี้
๑) การใช้เหตุผลแบบจำแนกนามรูปจากจุดเล็กขยายไปสู่จุดใหญ่และจากจุดใหญ่สู่จุดเล็ก เช่น การจำแนกองค์ประกอบของชีวิตออกเป็นธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นต้น ว่าตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ วิธีการนี้อาจเรียกสั้น ๆ ว่าการใช้เหตุผลแบบวิภัชชวาท วิธีนี้จะมีปฏิจจสมุปบาทเป็นฐานรองรับ และการพิจารณาเกี่ยวกับสังสารวัฏอันยาวไกล ซึ่งเป็นการมองแบบนอกตัวผู้ฟังแล้วย้อนเข้ามาสู่ผู้ฟังซึ่งเป็นจุดเล็ก หรือเป็นเสี้ยวหนึ่งของสังสารวัฏ
๒) การใช้เหตุผลในเชิงเปรียบเทียบ คือการอ้างเหตุผลโดยการใช้สื่อประกอบเพื่อเพิ่มความเข้าใจหลักนามธรรม จึงยกอุปมาอุปไมยมาแสดงให้เข้าใจ เช่น การเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ว่ารูปเปรียบเหมือนกลุ่มฟองน้ำ เวทนาเปรียบเหมือนฟองน้ำ สัญญาเปรียบเหมือนพยับแดด สังขารเปรียบเหมือนต้นกล้วย และวิญญาณเปรียบเหมือนมายากล
๓) การใช้เหตุผลแบบอนุมานตนเองกับผู้อื่น เป็นการใช้ตรรกสำหรับตรวจสอบคุณธรรมของตนและผู้อื่น เช่น การอนุมานว่า บุคคลที่มีความปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในความปรารถนาที่เป็นบาป ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นบุคคลเช่นนั้น เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่นเช่นเดียวกัน เป็นต้น
๔) การใช้เหตุผลแบบสมมติภาพเหตุการณ์ เป็นการใช้เหตุผลอธิบายธรรมโดยยกตัวอย่างหรือนิทาน เรื่องเล่าในอดีตมาประกอบให้เข้าใจคำสอนเช่น ในอุปาลิวาทสูตร
๕) การใช้เหตุผลแบบขยายธรรมวิจิตร หรือเทศนาวิจิตร เป็นวิธีการอธิบายเรื่องจิต เจตสิก ให้พิสดาร หรือการเล่าประวัติศาสตร์อันยืดยาว วิธีนี้จะใช้กับกลุ่มบุคคลผู้มากด้วยทิฏฐิมานะว่าตนมีปัญญามาก ไม่ยอมรับฟังทัศนคติหรือความคิดเห็นของใครง่าย เช่น พระพุทธเจ้าทรงกำราบความถือตัวของอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งถือตัวว่าเป็นคนมีความรู้มาก ในที่สุดเมื่อได้ฟังประวัติเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตนจากพระพุทธองค์ เขาก็ยอมรับเพราะตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ชาติกำเนิดของตนทั้งหมด
๖) การใช้เหตุผลแบบกลับความหมายของคำ เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้านำคำที่คนในพื้นที่หรือชุมชนใช้พูดหรือเรียกกันซึ่งมีความหมายที่คนในพื้นที่หรือชุมชนนั้นเข้าใจหรือมีความเชื่อตรงกันเช่น คำว่า อรหันต์ พราหมณ์ ภิกษุ อริยะ สภา มาใช้อธิบายให้ความหมายใหม่ที่ให้แง่คิดปรับทัศนะที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแก่คนในพื้นที่หรือชุมชนนั้น ๆ ไม่ต้องมีความเชื่อผิด ๆ อีกต่อไป
๗) การใช้เหตุผลแบบกระบวนการ เป็น็น็ฌรวิธีการตอบปัญหาแบบตรรกนัย ประกอบด้วยหลักการ ๕ อย่าง คือ (๑) อนุโลมปัญจกะ การถามตามลำดับ (๒) ปฏิกัมมจตุกกะ การโต้กลับของฝ่ายที่ถูกถาม (๓) นิคคหจตุกกะ การกล่าวข่มโดยฝ่ายถูกถาม (๔) อุปนยนจตุกกะ การรับรองวิธีการนิคคหะที่ตนทำคือวิธีการที่ ๓ ว่าถูกต้อง และวิธีการของฝ่ายถามคืออนุโลมปัญจกะนั้นผิด (๕) นิคคมจตุกกะ การสรุปการโต้ตอบว่า ฝ่ายถามทำนิคคหะไม่ถูกต้อง ส่วนฝ่ายตนทำถูกต้องทุกกระบวนการ คือทำปฏิกัมมะ นิคคหะ อุปนยนะ และนิคคมะ เมื่อฝ่ายถูกถามทำการโต้กลับทุกประเด็นแล้ว ก็เป็นฝ่ายถามก่อนบ้าง ขั้นแรกเรียกว่า (๑) ปัจจนีกานุโลมะ และขั้นที่ ๒-๕ ก็มีชื่อเรียกอย่างเดียวกัน โดยฝ่ายถูกถามโต้กลับและสรุปว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้อง การถามและโต้ตอบกันในคัมภีร์กถาวัตถุทั้งหมดก็จะดำเนินการด้วยหลัก ๕ อย่างนี้
เป้าหมายของการใช้เหตุผลมี ๔ อย่าง คือ(๑) การได้หลักคิดและการบรรลุสัจธรรมสูงสุด(๒)การได้ความรู้และแนวทางในการปฏิบัติ (๓) การเข้าใจหลักธรรมตามแนวพุทธ (๔) การลดมานะและทิฏฐิ (๕) ความเข้าใจกันระหว่างศาสนา
ผลที่เกิดจากการใช้เหตุผลมี ๒ ลักษณะ คือ (๑) ผลที่เกิดขึ้นแก่บริษัท ๔ (๒) ผลที่เกิดขึ้นแก่เหล่าเดียรถีย์หรือนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา ผลที่เกิดขึ้นแก่บริษัท ๔ คือ ทำให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรม ไม่เคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัยและปัญหานั้น ๆ เกิดศาสนทายาท และทำให้พระสัทธรรมเจริญตั้งมั่น คงทนต่อการพิสูจน์เสมอ สำหรับผลที่เกิดแก่เหล่าเดียรถีย์คือ เดียรถีย์ทั้งหลายเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา ไม่กล่าวร้ายพระรัตนตรัย ที่สำคัญยังทำให้สาวกของเจ้าลัทธิบางพวกประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
ข้อเสนอแนะ
๑. ข้อเสนอแนะในการนำไปประยุกต์ใช้
การศึกษาเกี่ยวกับการใช้เหตุผลสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี กล่าวคือสามารถนำไปเป็นหลักคิดและตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น เกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของการทำกรรมและผลของกรรม การใช้เหตุผลในการบัญญัติพระวินัยเพื่อความมั่นคงแห่งศาสนา สามารถประยุกต์ใช้ได้กับองค์กร โดยพิจารณาที่ระเบียบ กฎกติกาขององค์กร หากองค์กรใดไม่มีกฎระเบียบในการปฏิบัติที่ดี องค์กรนั้นจะไม่สามารถเจริญมั่นคงได้ การนำหลักเหตุผลเรื่องการกลับความหมายของคำที่เป็นเชิงลบให้เป็นเชิงบวก การอนุมานตนเองกับผู้อื่น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการที่ถูกคนอื่นดูหมิ่นในทำนองไม่สร้างสรรค์ ก็พยายามมองในมุมมองที่สร้างสรรค์ได้ หากถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี เราก็ถือโอกาสปรับปรุงพิจารณาส่วนที่ไม่ดี แล้วปรับปรุงให้ตนเองดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับได้
๒. ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาวิจัย
การใช้เหตุผลในพระไตรปิฎกยังมีแง่มุมที่ผู้วิจัยไม่สามารถศึกษาได้ครบถ้วน และสามารถนำไปศึกษาค้นคว้าได้อีกหลายเรื่อง เช่น อิทธิพลของการใช้เหตุผลในคัมภีร์กถาวัตถุต่อคัมภีร์ชั้นอรรถกถาในยุคต่อมา เช่น มิลินทปัญหา ว่าได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์นี้มากน้อยเพียงใด และขยายแนวคิดไปสู่คัมภีร์ของฝ่ายมหายานหรือไม่ ซึ่งหากมีการศึกษาเชิงลึกก็จะทำให้ได้เห็นพัฒนาการตรรกของพระพุทธศาสนาอย่างละเอียด
เอกสารอ้างอิง
๑. ภาษาบาลี-ไทย
๑.๑ ข้อมูลปฐมภูมิ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี. ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, ๒๕๐๖.
________ . พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
________. มิลินฺทปญฺหปกรณํ. ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๐.
________. มิลินฺทปญฺหอฏฐกถา. ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๑.
________. มิลินฺทปญฺหฏีกา. ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๑.
________. ธมฺมปทฏฺฐกถา ปฐโม-ทุติโย ภาโค. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙.
_________. มงฺคลตฺถทีปนีปฐโม -ทุติโย ภาโค. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.
๑.๒ ข้อมูลทุติยภูมิ
๑.๒.๑ หนังสือ
ปรีชา ช้างขวัญยืนและคณะ. การใช้เหตุผล: ตรรกวิทยาเชิงปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ ๙,
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๐
สมภาร พรมทา. คิดอย่างไรให้มีเหตุผล. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๕๑.
๒. ภาษาอังกฤษ
Stcherbatsky, F.Th. Buddhist Logic.Vol 1-2. Delhi: Low Price Publication, 1999.
|