หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ดร.อธิเทพ ผาทา » กุศโลบาย: ศึกษาการใช้ปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
 
เข้าชม : ๑๒๑๑๑ ครั้ง

''กุศโลบาย: ศึกษาการใช้ปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท''
 
ดร.อธิเทพ ผาทา (2556)

 

บทคัดย่อ

 

ในงานวิจัยฉบับนี้ผู้วิจัยมุ่งที่จะศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องกุศโลบาย: ศึกษาการใช้ปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทโดยผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๒ ประการ (๑) เพื่อศึกษาบริบทแนวคิดเรื่องกุศโลบายในคัมภีร์ของพุทธศาสนาเถรวาท  (๒) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้กุศโลบายเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต

ผลการวิจัยพบว่า 

แนวคิดเรื่องกุศโลบายที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นกรอบแนวคิดว่าด้วยการนำเทคนิคและวิธีการบางอย่าที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยคำว่ากุศโลบายนั้นหมายถึงวิธีการที่เหมาะสมมีบ่อเกิดมาจากการคิดหรือสติปัญญาที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการและความต้องการที่ออกจากปัญหาโดยวิธีการคิดที่จัดว่าเป็นกุศโลบายนั้นมีอยู่ ๑๐ วิธีที่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้ ๒ ระดับคือปัญหาระดับชาวบ้านและปัญหาระดับพระสงฆ์ โดยการใช้กุศโลบายจะได้ผลนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญาของผู้ใช้ด้วย ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเห็นว่าการใช้กุศโลบายนั้นจะต้องรู้จักการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเวลาและโอกาส และมีกระบวนการที่นำไปใช้ที่เป็นระบบจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ในสังคมไทยปัจจุบันนั้นเราสามารถที่จะนำกรอบแนวคิดเรื่องกุศโลบายไปปรับประยุกต์ใช้ทั้งในส่วนของการแก้ไขปัญหาและการปรับประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาชีวิตและสังคม โดยการประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิตนั้นในระดับชาวบ้านทั่วไปก็ได้แก่การนำไปใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาความโกรธ หรือความขัดแย้งและการขาดความสามัคคี หรือการขาดความอดทนอันจะนำไปสู่ความล้มเหลวในชีวิต ส่วนในระดับพระสงฆ์นั้นสามารถนำไปใช้เพื่อการอำนวยประโยชน์เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีและการบรรลุธรรมอันเป็นเป้าหมายสูงสุดได้

 

Abstract

 

This Research  is  to  analytically  study  the  story  of  the strategic skillfulness : To utilize the wisdom for solving the crisis regarding to the Theravada Buddhist Scripture.  It is of 3 objectives, namely:-  1. To study the strategic skillfulness in the Theravada Buddhist Scripture. 2.To study An Applying the strategic skillfulness to solve the problem in daily life.

The result of the study indicate that:

The concept of  the strategic skillfulness that appears in Buddhist scripture  is a conceptual frame about techinque to lead and some methodology to solve the problem, by the word that, strategic skillfulness means the good methodology is appropriate that  origin from the thinking or, intelligence namely critical reflection (Yoniso manasikara) and the requirement that depart a problem. by the analytical thinking  that are regarded as strategic skillfulness has 10, that can solve the human problem into 2 level such as (1)  the level of villagers and (2) the level of the Buddhist priest,  And How to  using strategy will that effective should depend on the intelligence of the user, In the Buddhist teaching to using that strategy will must know the filtration uses is appropriate the time and a chance, and have the procedure to apply systematic then can solve that problem,

In the present Thai society, we can take the concept of the strategic skillfulness to apply for sove the problems into 2 ways (1) To solve the daily life problem and (2) To apply for life and social development. To solving the daily life, in the level of villagers is using for solve the hatred  problem, or  conflict,  schism, tolerance depletion which  bring to the failure in the life, the level of the Buddhist priest  level can apply for beneficial which caused of the unity and to attain enlightenment that is the goal achievement.

 

บทนำ

 

             ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

พระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นกลุ่มความคิดหลักทางด้านศาสนากลุ่มหนึ่งที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ  ,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมาในประเทศอินเดีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นดินแดนแห่งศาสนาหรือเป็นดินแดนที่มีเสรีภาพทางความคิดมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะความมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางศาสนา อันเป็นผลมาจากการค้นคว้าทดลองปฏิบัติของบรรดานักคิดนักปรัชญาทั้งหลาย  ซึ่งในบรรดานักคิดและนักปรัชญาเหล่านั้น ล้วนเป็นผู้มีปัญหาและพยายามแสวงหาคำตอบให้แก่ปัญหาของตนเองโดยได้อาศัยวิธีการหรือการวางกุศโลบายต่าง ๆ ที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมและสามารถนำตนเองและบรรดาผู้เคารพศรัทธาทั้งหลายให้ก้าวไปสู่การหลุดพ้น หรือประสบกับความสุขได้ตามความเชื่อของตนนั้น ซึ่งการแสวงหาวิธีการหรือการวางกุศโลบายนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับใช้เป็นแนวทางเพื่อก้าวไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตนเองมุ่งหวัง ดังนั้น ศาสนาทุกศาสนาจึงมักจะมีการกำหนดกุศโลบายหรือวิธีการ (Methodology) ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน เช่น การทรมานตนเองบ้าง การเสพกามจนถึงที่สุดบ้าง การปฏิบัติตามความเชื่อด้วยการไม่นุ่งห่มเสื้อผ้าบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อที่ว่า การทำเช่นนั้นเป็นวิธีการที่จะทำให้ตนเองบรรลุความหลุดพ้นได้

จะพบว่าพระพุทธศาสนายอมรับว่า  ในโลกนี้มีอุบายอยู่ ๒ ประเภท คือ กุศโลบาย และอกุศโลบาย และในอุบายทั้งสองนั้น สัตว์ทั้งหลายล้วนผูกพันหรือติดยึดอยู่กับอุบายในทางอกุศล หรืออกุศโลบายโดยมาก ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า

 

โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทาน และอภินิเวส แต่พระอริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัยอันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่าทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับ พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย [1]

                                

                 ซึ่งการที่มนุษย์ยังติดอยู่กับอุบายอันไม่เป็นกุศลนั้นก็เป็นเหตุทำให้เดือดร้อนและติดอยู่กับวัฏฏะคือการเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์มาโดยตลอด ซึ่งการติดอยู่แนวทางดังกล่าวนั้นก็เพราะความไม่รู้ยิ่งในเหตุที่เกิด ไม่รู้ยิ่งในเหตุที่ดับ ไม่รู้ยิ่งในคุณ ไม่รู้ยิ่งในโทษ และไม่รู้ในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากสิ่งที่ตนเองยึดติดอยู่ ซึ่งโดยนัยก็คือ การไม่รู้ไม่เข้าใจในกุศโลบายอันแสดงให้เห็นว่า กุศโลบายหรืออุบายกุศลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลายในฐานะที่เป็นเสมือนหนึ่งทางรอดหรือวิธีการแก้ไขปัญหาจากการตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ซึ่งความสำคัญดังกล่าวนั้นพระพุทธองค์ทรงเห็นว่ากุศโลบาย เป็นหลักการที่สำคัญของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวัง และใช้เป็นกรอบในการยืนยันความเป็นพุทธภาวะของพระองค์ต่อสาธารณชน        นอกจากนั้นทรงนำเอากรอบของอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์ หรือกุศโลบายนั้นมาใช้ในการสอนหรือชี้แนวทางให้เหล่าสาวกให้นำไปปฏิบัติโดยทรงเสนอว่า กุศโลบาย หรืออุบายกุศลนั้นมี ๓ ลักษณะ คือ

                 () เป็นวิธีการหรือทฤษฎีเรียกว่า อุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์ ซึ่งถือว่าเป็นอุบายที่สำคัญและเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงบรรลุนิพพาน และทรงเป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้าก็เพราะทรงค้นพบกุศโลบายประเภทนี้[2]

                 () เป็นคำสอนที่ทรงประยุกต์จากหลักกุศโลบายที่ทรงค้นพบแล้วนำมาสอน แนะนำให้เหล่าสาวกปฏิบัติให้บรรลุถึงนิพพาน หรือการสลัดออกจากทุกข์อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประยุกต์ใช้กับเหล่าสาวก ในลักษณะที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม เรียกว่าอุบายเป็นที่ฝึกฝน[3] โดยทรงวางกรอบสำหรับการปฏิบัติตามกุศโลบายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิตไว้เป็น ๒ ประการ คือ  ) การกำหนดปัญหา ทรงอธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ไม่อาจจะหลุดพ้นไปได้เพราะมนุษย์ยังยึดติดอยู่กับปัญหาหรือสิ่งห่อหุ้มจิตไว้ ดังนี้คือ () การติดอยู่ในเรื่องของกาม (กามโยคะ) () การติดอยู่ในเรื่องของภพ (ภวโยคะ) () การติดอยู่ในเรื่องของความเห็น (ทรรศนะ) เรียกว่า ทิฏฐิโยคะ และ () การติดอยู่ในความไม่รู้คือผัสสายตนะ ๖ มีรูป เป็นต้น เรียกว่า อวิชชาโยคะ[4] เมื่อมนุษย์ไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้ตามเป็นจริงก็จะไม่หลุดพ้น ดังนั้นผู้หวังการหลุดพ้นจะต้องรู้ปัญหาก่อน  ) การกำหนดแนวทางที่เป็นวิธีการดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น ทรงอธิบายว่า เมื่อมนุษย์กำหนดปัญหาแล้ว ประเด็นต่อมาก็ต้องรู้ว่าวิธีการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องทำอย่างไร ซึ่งทรงได้เสนอวิธีแก้ไขไว้ดังนี้ () ต้องรู้ในปัญหา () ต้องรู้ในเหตุเกิดของปัญหา () ต้องรู้ในเหตุดับของปัญหา () ต้องรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับของปัญหา () ต้องรู้ทั้งคุณและโทษของสิ่งที่เป็นปัญหา และสุดท้าย () ต้องรู้ในอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากปัญหานั้น (กุศโลบาย) เช่น การรู้ว่าจะกำจัดแก้ไขปัญหาและดำเนินไปสู่การแก้ไขปัญหานั้น จะต้องใช้อุบายอย่างใด

                 () ผลของการใช้กุศโลบาย  ทรงอธิบายว่า เมื่อมนุษย์รู้และปฏิบัติเพื่อจะแก้ไขปัญหา  ก็จะสามารถหลุดพ้นจากปัญหานั้นได้ด้วยการเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจากสิ่งนั้น ๆ อันถือเป็นประโยชน์สูงสุดของชีวิตที่ได้มาจากการใช้กุศโลบายนั้น โดยรูปแบบที่ทรงอธิบายเกี่ยวกับการนำกุศโลบายเพื่อการหลุดพ้นนั้นว่า

ดูกรอานนท์ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ  มีจิตอันกิเลสมีสักกายทิฏฐิ  เป็นต้น กลุ้มรุม ครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อกิเลสมีสักกายทิฏฐิเป็นต้น เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง [5]                                                                                                                                                          

การที่กุศโลบายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาดังกล่าวมานั้น พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำว่า การที่มนุษย์ไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์หรือกุศโลบาย ย่อมก่อให้เกิดโทษคือย่อมไม่ประสบกับประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ถ้ารู้ในอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์แล้ว ก็จะทำให้ประสบกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนเองประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายได้[6] ดังนั้น กุศโลบายจึงมีความสำคัญต่อแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

                 อย่างไรก็ตาม หากมนุษย์ถูกกิเลสคือ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพัตตปรามาส     กามราคะและพยาบาทครอบงำแล้ว ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะพบกุศโลบายได้ เนื่องจากเหตุเหล่านั้นเป็นกิเลสที่จะปกปิดหรือทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ปัญญาคือกุศโลบายได้[7] ดังนั้น  ผู้ที่ต้องการค้นพบทางรอดคือกุศโลบายที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น ก็จะต้องศึกษาเรียนรู้และกำจัดกิเลสดังกล่าวมาให้หมดไปจากจิตใจของตน จึงจะสามารถพบกุศโลบายดังกล่าว  เพราะในชีวิตมนุษย์ถ้าไม่รู้ ไม่ฉลาด ในกุศโลบายหรือเทคนิควิธีในการแก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิตก็จะทำให้ตนเองผู้อื่นและสังคมเดือดร้อน[8]  หรือในมิติด้านการปฏิบัติธรรมพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า ถ้าจิต (ของผู้ปฏิบัติ) ไม่มีกุศโลบายย่อมจะถูกลูกศรคือกิเลสตรึงไว้อย่างมั่นคงทำให้ชีวิตเกิดปัญหาหลายประการ[9]

อนึ่ง เราจะพบว่าไม่ใช่แต่เฉพาะเป้าหมายสูงสุดคือการหลุดพ้นอันจัดได้ว่าเป็นทางรอดในระดับโลกุตตระเท่านั้น ในการดำเนินชีวิตตามแนวทางของปุถุชนโดยทั่วไป พระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงการนำกุศโลบายไปใช้หรือแสดงว่า กุศโลบายมีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตดังนี้

. ในการเมืองการปกครอง ทรงอธิบายว่า การที่ผู้นำ (กษัตริย์) จะปกครองประชาชนในรัฐได้อย่างมีความสุขจะต้องเป็นผู้ฉลาดในอุบาย (กุศโลบาย) เมื่อครองราชย์สมบัติก็ทรงดำเนินตามกุศโลบายการปกครองคือใช้หลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเป็นแบบแผน ประชาชนก็จะอยู่เป็นสุข[10]

. ในด้านเศรษฐกิจ ทรงวางรากฐานการประกอบกิจเนื่องด้วยการเป็นอยู่ด้วยการเป็นผู้ฉลาดในกุศโลบายคือไม่ขายของมีพิษและสิ่งมอมเมาต่าง ๆ เป็นต้น

. ในด้านการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคม ทรงเน้นว่า จะต้องดำเนินชีวิตโดยใช้กุศโลบายที่เหมาะสม (อันแยบคาย) ในการประกอบกิจการต่าง ๆ ซึ่งจะไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อนในภายหลัง[11] มีการไม่หลงมัวเมาในอบายมุขต่าง ๆ เป็นต้น หรือในกรณีการดำเนินชีวิตหรือการครองเรือน ภรรยาจะต้องฉลาดในกุศโลบายจึงจะสามารถดูแลครอบครัวและทำให้สามีรักและเมตตา[12]

จะเห็นได้ว่ากรอบแนวความคิดเรื่องกุศโลบายในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการบรรลุคุณธรรมทุกชั้น  ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จะต้องแสวงหากุศโลบายเท่านั้น  หากเกิดมาในโลกนี้แล้วไม่สามารถที่จะค้นพบกุศโลบายได้ มนุษย์ก็จะถูกห่อหุ้มด้วยอกุศโลบายที่มีมากมายเกลื่อนกลาดและเป็นสิ่งที่ล่อให้ผู้ไม่มีปัญญาต้องตกไปในอำนาจของอุบายอันเป็นอกุศลเหล่านั้นได้   ดังเช่นสมัยพุทธกาลจะพบว่า พระพุทธองค์ทรงใช้กุศโลบายที่ทรงค้นพบในการเผยแผ่หลักธรรมในการประกาศพระศาสนา ทรงใช้วิธีการหรือกุศโลบายในการเผยแผ่ในระดับต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างบุคคล เวลา และสถานที่ โดยเราสามารถแบ่งลักษณะการใช้กุศโลบายเป็น ๒ ประเภท คือ () ทรงใช้กุศโลบายในระดับโลกุตตระ ได้แก่ทรงมุ่งใช้วิธีการที่เป็นการแสดงหลักธรรมล้วน ๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับเนื้อหาสาระของหลักธรรมเพื่อการบรรลุเป้าหมาย โดยกุศโลบายที่ทรงสอนก็มี ๒ ประการคือ () การสอนหลักทฤษฎีได้แก่ หลักธรรมต่าง ๆ () ทรงสอนหลักปฏิบัติได้แก่ สมถวิปัสสนา เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าถึงธรรมได้ ซึ่งการสอนแบบนี้ถือว่าเป็นการใช้กุศโลบาย (Skilful means) เพื่อที่จะชักจูง และช่วยเหลือผู้อื่น[13]        () ทรงใช้กุศโลบายในระดับโลกิยะ ได้แก่ทรงมุ่งใช้กุศโลบายในการแสดงธรรมแก่คนธรรมดาด้วยการใช้วิธียกตัวอย่างเล่านิทานหรือแสดงปาฏิหาริย์ เพื่อชักจูงให้คนเข้าสู่กระแสของธรรมอันเป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งการใช้อุบายในระดับนี้ บางครั้งต้องใช้อกุศลเป็นตัวกระตุ้นเพื่อเป็นการจูงใจด้วย เช่น กรณีการเสนอเงื่อนไขให้พระนันทะเข้ามาบวชเพื่อต้องการนางฟ้าที่สวยกว่านางชนบทกัลยาณี [14] หรือกรณีของหลานชายอนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ซึ่งการใช้กุศโลบายดังกล่าวแม้จะยอมรับว่า มีการนำเอาอกุศลมาใช้บ้าง  แต่ก็เป็นการมุ่งหวังผลในระยะสั้น  แต่ผลที่แท้จริงก็คือการบรรลุเป้าหมาย  ซึ่งเป็นผลในระยะยาวมากกว่า ซึ่งการใช้กุศโลบายดังกล่าวนักวิชาการบางท่านเห็นว่า เป็นการใช้อกุศลให้เป็นอุปการะแก่กุศล[15] นอกจากนั้นเราจะพบว่านับตั้งแต่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มานั้น  เริ่มแรกทรงเห็นว่า ไม่อาจถ่ายทอดหลักธรรมที่เป็นอุบายกุศลในทางโลกุตตระ ที่ทรงค้นพบนั้นให้แก่ประชาชนได้  จนกระทั่งได้รับการอาราธนาจากพรหมจึงทรงเห็นช่องทาง[16] และทรงใช้อุบายในการสั่งสอนธรรมรวมถึงการจัดตั้งองค์กรการปกครองเพื่อความมั่นคงของคณะสงฆ์ขึ้นมา โดยทรงวางรากฐานในเรื่องศีลไว้เพื่อเป็นการจัดแบ่งระดับของการประพฤติธรรม ซึ่งศีลนั้นก็จัดเป็นพื้นฐานของการใช้กุศโลบายอย่างหนึ่ง[17] ที่มุ่งจะจัดการศึกษาเพื่อให้สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายในแต่ละระดับได้

นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังทรงใช้กุศโลบายในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านการบริหารปกครอง และทรงจัดการปกครองโดยการประยุกต์ใช้รูปแบบการปกครองของรัฐสามัคคีธรรม ซึ่งทรงเห็นว่า รูปแบบดังกล่าวมีความสอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนามากที่สุด      หรือทรงใช้กุศโลบายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและชาวโลกทั้งปวง

จะเห็นได้ว่า การศึกษาแนวคิดเรื่องกุศโลบาย ย่อมทำให้เราทราบถึงความหมาย บ่อเกิด ลักษณะ ประเภท และเป้าหมายของการใช้กุศโลบาย หรือทำให้เราทราบถึงคุณค่าที่แท้จริงจากการนำกรอบแนวคิดเรื่องกุศโลบายไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้อย่างไรเป็นต้น        ซึ่งผู้วิจัยจึงเห็นว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าวจะต้องมีการนำเอากรอบแนวคิดมาศึกษาวิจัย เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงที่จะเป็นประโยชน์แก่การพระพุทธศาสนาได้ในอีกมิติหนึ่งหรือรวมไปถึงการให้ประโยชน์แก่ผู้ศึกษาค้นคว้าในโอกาสต่อไปได้

             วัตถุประสงค์ของการวิจัย

. เพื่อศึกษาบริบทแนวคิดเรื่องกุศโลบายในคัมภีร์ของพุทธศาสนาเถรวาท

. เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้กุศโลบายเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต

             ขอบเขตของโครงการวิจัย

             ๑. ศึกษาเอกสารปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนา และสัมภาษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกภูมิภาคในประเทศไทย นักวิชาการด้านศาสนา  และนักสิทธิมนุษยชน 

๒. ช่วงเวลาในการศึกษาวิจัย ระหว่างเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ ถึง  ธันวาคม  ๒๕๕๒

             ทฤษฎี สมมุติฐาน และกรอบแนวความคิด(Conceptual Framework) ของโครงการวิจัย

งานวิจัยนี้ได้กำหนดทฤษฎีหรือกรอบแนวคิดในการวิจัยไว้ ดังนี้

                 ๑. ศึกษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องกุศโลบายที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

๒. ศึกษารูปแบบและกระบวนการใช้ปัญญา (กุศโลบาย) ในการแก้ไขปัญหาชีวิตที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

๓. รวบรวมทัศนะจากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอันเป็นแหล่งความรู้ที่ได้มาจากการวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องกุศโลบายในการใช้ปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาชีวิตอันจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์เนื้อหาหลักที่ปรากฎในคัมภีร์

วิธีการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้จะใช้แนวทางและวิธีการในการดำเนินการวิจัยที่สำคัญดังนี้

. การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เป็นการศึกษา ค้นคว้าและ เก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) จากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และเอกสารวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องคือหนังสือ บทความ งานวิจัยต่าง ๆ โดยได้ใช้แหล่งข้อมูลในการค้นคว้าที่สำคัญคือ สำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรีและบรรดาหอสมุดที่สำคัญ ๆ ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

. จัดลำดับข้อมูลตามขั้นตอนที่ค้นคว้ามาให้มีความสัมพันธ์กับเนื้อหาให้เป็นระบบแล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาศึกษาวิเคราะห์แล้วนำไปสรุปผลเพื่อนำเสนอเป็นผลงานวิชาการต่อไป

 

ผลการวิจัย

                                

                 จากการศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องกุศโลบายในทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาทมาสามารถที่จะสรุปเพื่อให้เห็นกรอบสาระสำคัญของแนวคิดเรื่องกุศโลบาย ได้ดังนี้

                 ) ในด้านบริบทของแนวความคิดเรื่องกุศโลบายนั้นเราจะพบว่า คำว่า กุศโลบาย มิใช่เป็นคำดั้งเดิมที่มีการใช้ในคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎกเลย ทั้งนี้เพราะในพระไตรปิฎกและอรรถกถานั้นจะใช้เพียงคำว่า อุบายโกศล หมายถึง ความเป็นผู้ฉลาดในการใช้อุบายหรือวิธีการที่จะเอาชนะอุปสรรค ซึ่งถือว่า ความฉลาดในอุบายหรือว่าวิธีการดังกล่าวนั้นจัดได้ว่าเป็นการใช้ปัญญาชนิดหนึ่ง ในลักษณะของการตัดสินใจหรือนำวิธีการที่เหมาะสมมาใช้ทั้งในด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษ ทั้งนี้เพื่อที่จะใช้ไปเพื่อการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดำเนินไปด้วยดี ต่อมาเมื่อมีการนำเอาศัพท์นี้มาใช้ในภาษาไทยก็มีการปรับเปลี่ยนจากคำว่า อุบายโกศล เป็น กุศโลบาย ซึ่งก็อาจจะทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปบ้าง เพราะเมื่อนำมาใช้ในรูปแบบของคำศัพท์ดังกล่าว ความหมายในภาษาไทยก็มีนัยของการใช้วิธีการหรือเล่ห์กลต่าง ๆ เพื่อเอาชนะอุปสรรคหรือศัตรูเป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาจากกรอบความหมายดังกล่าวย่อมจะมีความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิมที่ปรากฏในคัมภีร์ดั้งเดิมคือพระไตรปิฎก แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อนำศัพท์นี้มาใช้ในการวิจัยก็คงมุ่งที่จะใช้ในความหมายที่มีปรากฏในคัมภีร์ดั้งเดิมนั้น

                 ) ในด้านของหลักธรรมอันเป็นสาระของกรอบแนวคิดเรื่องกุศโลบายเราจะพบว่า แนวคิดในเรื่องกุศโลบายนี้มีความเกี่ยวข้องกับหลักธรรมข้ออื่น ๆ ที่เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุหรือเข้าถึงเป้าหมายซึ่งก็ได้แก่หลักการสร้างสรรค์ปัญญาตามแนวคิดเรื่องโยนิโสมนสิการ คือการคิดโดยอุบายอันแยบคาย ซึ่งหลักโยนิโสมนสิการนั้นถือได้ว่า เป็นหลักเกณฑ์สำคัญของการสร้างปัญญาให้เกิดและการนำสติปัญญานั้นออกมาใช้ เพราะการนำกุศโลบายไปใช้นั้นจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ไม่ได้เลย หากขาดวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการเฉพาะวิธีคิดแบบแยกแยะ (วิภัชชวาท) วิธีคิดแบบแก้ไขปัญหาหรืออริยสัจ ๔ หรือวิธีคิดแบบแยกให้เป็นความดี ชั่ว เป็นต้น ซึ่งวิธีเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการใช้กุศโลบายเพื่อการแก้ไขปัญหาแล้วก็จะพบว่า มีความสอดคล้องกันเสมือนหนึ่งเหรียญสองด้าน

                 ) ในการศึกษาพบว่า  ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์นั้นทรงนำกุศโลบายไปใช้ตลอดเวลา ดังปรากฎในวรรณกรรมดั้งเดิมคือพระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่า พระพุทธองค์ทรงนำกรอบแนวคิดเรื่องกุศโลบายไปใช้ทั้งใด้าน () การเผยแผ่พระพุทธศาสนา () ด้านการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยเมื่อพิจารณาจากภาพรวมจะพบว่า พระพุทธองค์ทรนทำแนวคิดเรื่องกุศโลบายไปใช้กับบุคคลหลายประเภท ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ ทรงนำไปใช้กับ () พระภิกษุ () ภิกษุณี () อุบาสก () อุบาสิกา () เดียรถีย์ นอกพระศาสนา    โดยการใช้กุศโลบายกับบุคคลทุกประเภทนั้นสามารถสรุปลักษณะการใช้กุศโลบายเป็น ๒ ลักษณะ คือ

                     . ลักษณะที่ทรงใช้เฉพาะกับบุคคล โดยกุศโลบายที่ทรงนำมาใช้กับบุคคล ทั้ง ๕ ประเภท นี้แบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ () กรณีการใช้กับพระภิกษุ ภิกษุณี มุ่งเพื่อการเข้าถึงธรรมคือ การบรรลุพระอรหันต์ หรือคุณธรรมจริยธรรมด้านอื่น ๆ () กรณีที่ทรงใช้กับอุบาสก อุบาสิกา นั้น มุ่งที่จะให้เขามีศรัทธาในพระศาสนาเพียงเพื่อความเป็นคนดีที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันจะเอื้อต่อการพัฒนาไปสู่การเข้าถึงธรรมในขั้นสูงต่อไป () กรณีที่ทรงใช้กับเดียรถีย์นั้น ทรงมุ่งที่จะใช้เพื่อจุดประสงค์หลัก ๒ ประการคือ () เพื่อโต้ตอบหักล้างวาทะหรือทิฏฐิที่เขามี อันจะเป็นการยืนยันหรือประกาศจุดยืนของพระพุทธศาสนาให้ชัดเจน () เพื่อปรับเปลี่ยนให้เขามีศรัทธาเพื่อจะได้ก้าวเข้ามาสู่การศึกษาในแนวทางของพระพุทธศาสนาซึ่งเราจะพบว่า ในกรณีที่ ๒ นี้ ทรงได้ดำเนินการไปพร้อมกับ กรณีที่ ๑

                     . ลักษณะที่ทรงใช้ในรูปแบบของวิธีการหรือเครื่องมือที่ทรงนำมาใช้ ในการใช้           กุศโลบายในแต่ละครั้งพบว่า การใช้กุศโลบายทรงใช้วิธีการดังนี้ () ใช้ฤทธิ์ () ใช้การเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปมัย () ใช้ความจริง (สัจจะ) () ใช้ตัวแทน () ใช้เล่านิทาน (6) ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว ซึ่งแนวทางการใช้กุศโลบายทั้ง 6 ประการ นี้ ทรงนำมาใช้และจะทรงเลือกที่จะนำมาใช้เป็นการเฉพาะสำหรับบุคคล  ไม่ทรงใช้โดยทั่วไป ทั้งนี้ก็เพราะทรงคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีปัญหาหรือเข้ามาเพื่อสนทนากับพระองค์

                 )  ในการนำกุศโลบายไปประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตและสังคมนั้นจากการศึกษาพบว่า ในสังคมไทยปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมในด้านต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้เราสามารถที่นำเอากุศโลบายของพระพุทธศาสนานั้นไปประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมได้ ซึ่งการพัฒนานั้นพบว่า มีการใช้กรอบในการพิจารณา ๒ ด้านคือ () ด้านการแก้ไขและพัฒนาชีวิตและสังคมของชาวบ้านพบว่า ชาวบ้านนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องนำกรอบแนวคิดเรื่องกุศโลบายไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองและสังคมในด้านต่าง ๆ ได้ () ด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมของพระสงฆ์  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พระสงฆ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงสถานะและบทบาทหน้าที่จากสมัยพุทธกาลมาสู่ปัจจุบันทำให้พระสงฆ์มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องนำเอาทรรศนะเรื่องกุศโลบายไปแก้ไขและพัฒนาชีวิตและสังคมเพื่อที่จะทำให้ตนเองได้บรรลุหรือก้าวไปสู่การพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นไป

 

ข้อเสนอแนะ

                                   

                 ผู้วิจัยเห็นว่าสมควรที่จะมีการนำเอากรอบของการวิจัยนี้ไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

                 () ควรนำกรอบแนวคิดเรื่องกุศโลบายในทรรศนะของพระพุทธศาสนาไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรอบแนวคิดเรื่องอุบายวิธีของพระพุทธศาสนามหายานทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงกรอบแนวคิดทั้ง ๒ ว่า มีมุมมองหรือทรรศนะที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

                 () ควรนำเอากรอบแนวคิดนี้ไปเปรียบเทียบกับกรอบแนวคิดในเชิงปฏิบัติการทางโลก เช่น กรณีการใช้กลยุทธ์ทางการค้าหรือกลยุทธ์ในทางสงครามว่า กุศโลบายกับกลยุทธ์นั้นมีความแตกต่างในทางจริยศาสตร์อย่างไรรวมถึงสามารถที่จะก่อให้เกิดคุณค่าแก่สังคมและทางวิชาการได้อย่างไร

                 () ควรนำผลการวิจัยนี้ไปศึกษาเพิ่มเติมในคัมภีร์อื่น ๆ ชั้นหลัง เช่น อรรถกถาฎีกา       อนุฎีกาว่า มีการอธิบายความเรื่องกุศโลบายนี้ไว้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เป็นต้น

 

กิตติกรรมประกาศ

 

การดำเนินการวิจัยเรื่องกุศโลบาย: ศึกษาการใช้ปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทในครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับแรงกระตุ้นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ ก็คือพระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้กระตุ้นให้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ในทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่ชอบ

ขอกราบขอบพระคุณพระโสภณวิหารการ (พิศิษฐ์ สุวีโร ธรรมโรจน์) เจ้าคณะอำเภอเมืองหนองคาย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย(พระอารามหลวง) จังหวัดหนองคาย และพระครูสุกิจธรรมสุนทร (จันดี โคตปิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหม่ทองเสน เกียกกาย กรุงเทพมหานคร พระอาจารย์ทั้งสองที่ได้ดูแลและให้กำลังใจผู้วิจัยในการดำเนินการวิจัยมาโดยตลอด

ขอขอบคุณพระมหาสุทิตย์ อาภากโร ดร. อดีตหัวหน้าภาควิชาพระพุทธศาสนา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่เอื้ออนุเคราะห์และเข้าใจในกระบวนการทำงานของผู้วิจัยมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มเข้ามาทำงานที่คณะพุทธศาสตร์ร่วมกัน

ขอขอบพระคุณ ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์ที่สั่งสอนวิชาพระไตรปิฏกให้กับผู้วิจัยมาตั้งแต่ครั้งศึกษาในระดับมหาบัณฑิตมาจนกระทั่งปัจจุบันอาจารย์ก็ยังเป็นที่พึ่งและคอยสั่งสอนแนะนำในเรื่องการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์พระไตรปิฏกให้กับผู้วิจัยมาโดยตลอด

ขอกราบขอบพระคุณคุณพ่อลอง คุณแม่คำปังงี ผาทา บิดามารดาที่คอยเป็นกำลังใจให้กับผู้วิจัยมาโดยตลอด ขอขอบคุณคุณณัฏฐรัตน์ ผาทา ภรรยาคู่ชีวิตที่ร่วมสุขร่วมทุกข์มาโดยตลอดเวลาที่ได้ทำงานอีกทั้งเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณกร ตรวจพิสูจน์อักษรด้วยความอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง  

    คุณค่า และประโยชน์ของงานวิจัยฉบับนี้ ขอมอบถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่องค์หลวงพ่อพระใส พระคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดหนองคาย และหลวงปู่จันลา ปภสฺสโร และพญาสิทธินาคราชบรรดาเหล่าพญานาคทั้งหลายผู้รักษาพระพุทธศาสนาทุกองค์ รวมถึงพระอุปัชฌาย์ บูรพาจารย์ ปิยชนผู้มีพระคุณทุกท่าน พร้อมทั้ง ขอมอบองค์ความรู้ที่พึงเกิดพึงมีจากการวิจัยครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสาน และจรรโลงพระพุทธศาสนา ให้วัฒนาถาวรสืบไป

 

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

๑. ข้อมูลปฐมภูมิ

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ  ๒๕๐๐. 

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

_________. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

_________. อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฎฺฐกถา.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๓๓.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.  พระไตรปิกกพร้อมอรรถกถา แปล ชุด ๙๑ เล่ม.  กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

 

๒. ข้อมูลทุติยภูมิ

๒.๑ หนังสือ

พระธรรมปิฎก (..ปยุตฺโต).  พุทธธรรม ฉบับขยายความ.  กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘

มหามกุฏราชวิทยาลัย,.   พระธัมมปทัฎฐกถาแปล ภาค ๑.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, กรุงเทพมหานคร:มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.

 

๒. ภาษาอังกฤษ        

Domien Keown.  Contemporary Buddhist Ethics.  London: Curzon Press, 2000.

Richard A Gard (Edited).  Buddhism.  New York: George Braziller, 1962.   


 


      [1] สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๒๙๕/๓๗๑.

      [2] ขุ.อิติ.  (ไทย)๒๖/๓๙๘/๔๕๓.

      [3] ขุ.อป. (ไทย)๓๓/๒๒๖/๔๗๖. 

      [4] อง.จตุกก. (ไทย)๒๑/๕๔๓/๓๒๐.

      [5] สํ.นิ. (ไทย)๑๖/๗๒/๑๓๕.

      [6] สํ.. (ไทย)๑๙/๒๒๓/๒๘๗. 

      [7] สํ. . (ไทย) ๑๙/๖๕/๑๘๔.

      [8] ขุ.เถร. (ไทย) ๒๖/๒๒๓/๒๖๗. 

      [9] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๔๙๒/๓๙๕. 

      [10] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๕๕๒/๔๒๐. 

      [11] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๓๓๑/๒๑๖. 

      [12] อง.สตฺตก. (ไทย)๒๒/๘๗/๙๕.

      [13] Richard A. Gard,  Buddhism, p. 165.

      [14] มหามกุฎราชวิทยาลัย, พระธัมมปทัฎฐกถาแปล ภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, (กรุงเทพฯ:  มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐), หน้า ๑๕๐-๑๑๒.

      [15] พระธรรมปิฎก (..ปยุตฺโต),  พุทธธรรม ฉบับขยายความ, (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า๑๔๗.

      [16] วิ.. (ไทย) ๔//๑๑.

      [17] Domien Keown, Contemporary Buddhist Ethics, (London: Curzon Press, 2000.), p.138.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕