หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระศรีคัมภีรญาณ » การศึกษาวิเคราะห์หลักจริยศาสตร์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
 
เข้าชม : ๑๕๔๑๒ ครั้ง

''การศึกษาวิเคราะห์หลักจริยศาสตร์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา''
 
พระศรีคัมภีรญาณ, รศ.ดร. (2556)

 

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๔ ข้อคือ (๑) เพื่อสำรวจสถานการณ์และแนวคิดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางจริยธรรมซึ่งปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา () เพื่อศึกษาพุทธธรรมที่มีเนื้อหาเชิงจริยศาสตร์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา () เพื่อศึกษาเกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมตามกรอบแห่งพุทธจริยศาสตร์ () เพื่อศึกษาเป้าหมายแห่งพุทธจริยศาสตร์ โดยวิธีการรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท วิเคราะห์และจัดระบบข้อมูล ผลการศึกษาโดยย่อดังนี้

เนื้อหาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นประเด็นทางจริยธรรมแทบทั้งสิ้น ในยุคต้นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก พระพุทธองค์ยังไม่ได้บัญญัติศีลสิกขาบทเป็นข้อ ๆ แยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากเหมือนกับที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน พระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์จึงมีสาระทั้งที่เป็นศีลและธรรมรวมอยู่ด้วยกันดังเช่นเนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าความดีในสมัยนั้นก็คือการละชั่วทำดีตามกรอบแห่งจูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงสร้างบทบัญญัติที่เรียกว่าปาติโมกข์ขึ้นมาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภิกษุและภิกษุณี ทรงจัดระบบศีลที่มีอยู่เดิมแล้วสร้างบทบัญญัติที่เรียกว่าเบญจศีลขึ้นสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จัดระบบเป็นอุโบสถศีลสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนแต่ประสงค์จะถือปฏิบัติเคร่งครัดขึ้นมาอีก และจัดระบบเป็นทศศีลสำหรับสามเณร โดยมีสาระของจูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีลเป็นฐาน อย่างไรก็ตาม หลักพุทธจริยศาสตร์มีเนื้อหาส่วนที่เป็นศีลและส่วนที่เป็นธรรมรวมกันอยู่ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจนว่าเนื้อหาส่วนไหนเป็นศีล เนื้อหาส่วนไหนเป็นธรรม จึงพอสรุปได้ในชั้นนี้ว่า พุทธจริยศาสตร์มีทั้งส่วนที่เป็นคุณธรรมและจริยธรรม เช่น ข้อธรรมในกุศลกรรมบถ ๑๐ ข้อธรรมในทศบารมี ข้อธรรมในมงคล ๓๘ ประการ หลักการของพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมดเป็นชื่อเรียกคุณสมบัติภายในจิตด้วย เป็นแนวปฏิบัติ (ข้อธรรม) อันเป็นการแสดงออกถึงคุณสมบัติภายในจิตนั้นด้วย เป็นจริยธรรม(ศีลสิกขาบท)สำหรับถือปฏิบัติเพื่อละชั่วทำดีด้วย ประมวลพุทธจริยศาสตร์นี้คือการตอบคำถามว่า "ความดีคืออะไร ?" 

ปัญหาว่า "อะไรคือเกณฑ์ตัดสินความดี ?" พุทธจริยศาสตร์ในส่วนที่เป็นจริยธรรม             มีบทบัญญัติและมีเกณฑ์ตัดสินการละเมิดบทบัญญัติชัดเจน เช่น ศีลข้อปาณาติบาตมีเกณฑ์ตัดสินการล่วงละเมิดคือ (๑) สัตว์มีชีวิต (๒) รู้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต (๓) มีเจตนาจะฆ่า (๔) มีความพยายามฆ่า (๕) สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น จึงไม่ปรากฏปัญหาในการตีความบทบัญญัติมากนัก เกณฑ์ตัดสินในแต่ละบทบัญญัติเป็นอย่างไรก็เป็นข้อยุติตามนั้น บางบทบัญญัติมีข้อยกเว้น เช่น บทบัญญัติว่า "ภิกษุก่อไฟผิงต้องอาบัติปาจิตตีย์ ยกเว้นแต่มีเหตุจำเป็น" บางบทบัญญัติก็ไม่มีข้อยกเว้น เมื่อมองจากมุมมองของทฤษฎีปรัชญาตะวันตกบางสำนัก เช่น พวกสุขนิยม ประโยชน์นิยม มีประเด็นโต้แย้งกันบ้างเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินในบางสิกขาบท เช่นกรณีการพูดความจริงที่ไม่มีประโยชน์กับการพูดเท็จที่มีประโยชน์  แต่ประเด็นที่โต้แย้งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความสับสนในการตีความและถือปฏิบัติพุทธจริยศาสตร์ เพราะข้อธรรมในระบบพุทธจริยศาสตร์มีความชัดเจนตั้งแต่นิยามเกี่ยวกับความดี เกณฑ์ตัดสินความดี มีความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างความดี เกณฑ์ตัดสินความดีกับเป้าหมายของความดี(หรือของชีวิต) บุคคลผู้ถือปฏิบัติตามข้อธรรมในพุทธจริยศาสตร์ย่อมได้รับอานิสงส์ (ประโยชน์) ระดับวิถีชีวิตในสังสารวัฏคือสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์เป็นอันมาก กิตติศัพท์อันงาม (ชื่อเสียง) ย่อมขจรไป มีความแกล้วกล้าไม่เก้อเขินเมื่ออยู่ในท่ามกลางมหาสมาคม ไม่หลงลืมสติตาย หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติ เมื่อบุคคลยึดมั่นถือปฏิบัติตามข้อศีลธรรมอย่างต่อเนื่อง ย่อมได้รับอานิสงส์ระดับอุดมคติคือวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ มรรค ผล นิพพาน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา

 

Abstract

 

The objectives of this research are (1) to survey the situation and the concepts regarding the ethical issues found in Buddhist Scriptures (2) to study the ethical Buddhadhamma found in Buddhist Scriptures (3) to study the ethical standards in the frame of Buddhist Ethics (4) to study the goal of Buddhist Ethics. The study-process is to collect the material from Theravada Buddhist Scriptures.  The results of study are as follows:

The contents in Buddhist Scriptures are mostly ethical issues.  In the beginning period of propagation of the doctrines to the world creatures, the Buddha did not regulate the ethical rules separately as found in the present. Therefore, the Buddha’s Teachings comprise the moral and doctrinal contents together such as the contents of the Principal Teachings (Ovadapatimokkha).  What have been called  “goodness” in those days are not to do any evil and to do good under the frame of  minor morality (culasila), middle morality (majjhimasila) and major morality (mahasila).  Later on, the Buddha regulated the disciplinary rules called “Patimokkha” to be the guideline of conduct for minks (bhikkhu) and nuns (bhikkhuni) based on the former morality. Furthermore, the minor morality (culasila), middle  morality (majjhimasila) and major morality (mahasila) including other morality have been developed and systematized into “five precepts” for lay householders, “eight precepts-uposathasila” for lay householders who want to practice austerely, “ten precepts” for novices.  However, the moral and doctrinal contents are included in the Buddhist Ethics, it is not clear-cut that which one is moral, which one is doctrinal.  Thererfore, it can be concluded  here that what the contents of  Buddhist Ethics cover  the moral principle and moral standards such as doctrines in Kusalakammapatha 10-ten wholesome courses of action, doctrines in Parami 10-ten Perfections, doctrines in Mangala 38-thirty-eight Highest Blessings.  The principles of the whole Buddhist Ethics represent the inner qualifications or mental qualification, the guideline showing the mental qualification and the ethical rule for practising in daily life. The collection of these principles in Buddhist Ethics is the answer of the question "what is the goodness ?"

The questionable issue is "what is the standards of goodness ?" The Buddhist Ethics pertaining to ethical principle comprises of rule and criterion to judge clearly "what is the violation of ethical rule, what is not ?" eg. the first rule of five precepts comprises  5  criteria factors: (1) living creature (2)perception of living beings                (3) intention to kill (4)effort to kill and (5)that effort causes the creature die.  The interpretation problems are hardly found. In each ethical rule, whatever essence and criteria are, so-regulated the judgement must be, this is the clear-conclusive.  Some rules are regulated with exception, eg. The disciplinary rule “the monk (bhikkhu) who starts a fire is sentenced to an offence of expiation except in case of necessary situations”, some rules are regulated with no exception.

From the view-point of some western philosophers such as Hedonists, Utilitarinists, there may be controversies about the ethical standards, eg. Telling the truth without benefits and telling lie with benefits.  However these controversies do not cause the confusion in interpretation and practice happen to Buddhists. Because there is a clear-cut of Buddhist Ethics in terms of definition and standards fo goodness and the purpose of goodness.  The practitioners will gain the benefits at worldly-cycle way of life such as equipped with belongings, the spread of good reputations, boldness in midst of the assembly, dying with mindfulness and reborn in good plane after death.  The practitioners who keep practicing the Buddhist Ethical rules continuiously are eligible to gain the benefits at ideal purposes ie.  Wisdom, emancipation, purification, ethical path and fruition and nibbana (liberation), That is the Summum Bonum in Buddhism.

 

  บทนำ

 

             ความเป็นมาของปัญหาการวิจัย

                 หลักคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มีนัยครอบคลุมหลักอภิปรัชญา ญาณวิทยา และจริยศาสตร์ แต่ยังไม่มีจัดแบ่งชัดเจนว่าเนื้อหาตอนไหนเป็นอภิปรัชญา ตอนไหนเป็นญาณวิทยา ตอนไหนเป็นจริยศาสตร์ จึงมีประเด็นที่เป็นปัญหาการวิจัยในที่นี้ ๔ ประการคือ

                 ประการที่ ๑ มีเนื้อหาตอนไหนบ้างที่เป็นประเด็นทางจริยธรรม ? ข้อนี้หมายถึงเหตุการณ์และบุคคลในเหตุการณ์รวมทั้งหลักธรรมที่ว่าด้วยความชั่วความดี หลักปฏิบัติอันแสดงถึงคุณธรรมจริยธรรม (หรือศีลธรรม) เกณฑ์ตัดสินว่า ปรากฏการณ์นั้น ๆ ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร รวมทั้งเป้าหมายของหลักปฏิบัตินั้น

                 ประการที่ ๒ เนื้อหาตอนไหนบ้างซึ่งสามารถจัดเป็นจริยศาสตร์ มีลักษณะเนื้อหาเป็น “พุทธจริยศาสตร์” เหมือนกับจริยศาสตร์ที่พวกนักปรัชญาตะวันออกและตะวันตกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนิยมนำเสนอกัน ?

                 ประการที่ ๓ แม้จะมีเนื้อหาซึ่งสามารถจัดเป็นพุทธจริยศาสตร์ได้หรือไม่มีก็ตาม เนื่องจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยสรุปแล้วล้วนว่าด้วยเรื่องความชั่ว ความดี วิธีการละความชั่วและทำความดี ดังนั้น มีเนื้อหาตอนไหนบ้างที่แสดงวิธีการตัดสินความชั่วความดีหรือที่เรียกว่าเกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรม ? หรืออีกนัยหนึ่ง การประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อตัดสินความผิดความถูกมีวิธีการอย่างไร ?

                 ประการที่ ๔ เป้าหมายแห่งพุทธจริยศาสตร์คืออะไร ? มีกี่ระดับ ?

                 ประเด็นปัญหา ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และถ้าสามารถศึกษาค้นคว้า รวบรวมเรียบเรียง และจัดระบบเนื้อหาให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การปฏิบัติ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน

 

             วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                 ๑.  เพื่อสำรวจสถานการณ์และแนวคิดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางจริยธรรมซึ่งปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

                 ๒.  เพื่อศึกษาพุทธธรรมที่มีเนื้อหาเชิงจริยศาสตร์ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

                 ๓.  เพื่อศึกษาเกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมตามกรอบแห่งพุทธจริยศาสตร์

                 ๔.  เพื่อศึกษาเป้าหมายแห่งพุทธจริยศาสตร์

 

ผลการวิจัย

 

                 ผลการวิจัยพบว่า ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีเนื้อหาจริยศาสตร์เป็นจำนวนมาก ทั้งส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ทางจริยธรรมซึ่งแสดงให้เห็นความเจริญความเสื่อมของสังคมในแต่ละยุค เช่นกรณีของอัคคัญญสูตรและจักกวัตติสูตร ประเด็นที่เป็นปัญหาทางจริยธรรมที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นข้อยุติแล้วในสมัยพระพุทธเจ้า เช่นกรณีของพระจักขุบาลเถระที่เดินจงกรมเหยียบแมล่งค่อมทางตาย พระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัยแล้วว่าไม่ได้มีเจตนา ไม่เป็นปาณาติบาต กรณีนายเพชฌาตเคราแดงผู้ทำหน้าที่ประหารนักโทษมานานตายไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการทำหน้าที่ ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่า นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น กรณีที่หมอชีวกโกมารภัจกราบทูลพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการทำบุญได้บาป โดยยกกรณีการฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระองค์หรือสาวกของพระองค์การทำบุญประกอบด้วยเหตุ ๕ อย่างนี้ ถือว่าทำบุญได้บาป เป็นประเด็นทางจริยธรรมที่ปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคม อีกกรณีหนึ่งคือชาวบ้านฆ่าแพะเป็นจำนวนมาก เพื่อ (ปรุงอาหาร)ทำบุญอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว (มตกภัต) ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า การฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมากแล้วบำเพ็ญทานชื่อว่ามตกภัตย่อมไม่มีความเจริญอะไร ๆ แม้คนทั้งหลายทำด้วยหวังที่จะบำเพ็ญบุญอุทิศให้ผู้ตาย ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะรองรับความชอบธรรมของการได้สิ่งดี ๆ สำหรับตัวเองโดยการสูญเสียของผู้อื่น เช่น กรณีการฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาปรุงอาหารถวายพระสงฆ์ การฆ่าสัตว์บูชายัญเพื่อให้ตัวเองพ้นเคราะห์ภัย

                 ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกแสดงธรรมแก่ประชาชนในท่ามกลางปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นประเด็นทางจริยธรรมและหรือเป็นประเด็นปัญหาทางจริยธรรมดังกล่าวมานี้ตลอดเวลา นำมาสู่การยกข้อบัญญัติทางจริยธรรมที่มีการถือปฏิบัติกันอยู่ในยุคนั้นขึ้นมาแสดงตลอดเวลา เช่นกรณีของจูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล หรือมีการสร้างบทบัญญัติทางจริยธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นกรณีภิกขุปาติโมกข์และภิกขุนีปาติโมกข์ หรือการรวบรวมเรียบเรียงแล้วจัดระบบทางจริยธรรมขึ้นมาใหม่จากของเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่นกรณีเบญจศีล อุโบสถศีล และทศศีล ท้ายที่สุด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงและบัญญัติเป็นเวลา ๔๕ พรรษา จำนวนทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สามารถจัดเป็นระบบพุทธจริยศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์มาก ครอบคลุมทั้งนัยเชิงคุณธรรมและจริยธรรม 

                 เหตุผลความจำเป็นที่เกิดระบบพุทธจริยศาสตร์เป็นประเด็นที่อธิบายได้ไม่ยาก ปัญหาเกี่ยวกับโลกทัศนและชีวทัศน์ว่า “ชีวิตคืออะไร ? ชีวิตเป็นอย่างไร ? และชีวิตเป็นไปอย่างไร ?” เป็นปัญหาระดับปรมัตถธรรม (ปัญหาทางอภิปรัชญา) ส่วนปัญหาว่า “ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร ? และชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ?” เป็นปัญหาระดับจริยธรรมหรือศีลธรรม (ปัญหาทางจริยศาสตร์) ปรมัตถธรรมเป็นพื้นฐานของจริยธรรม นั่นคือบุคคลผู้ชอบครุ่นคิดพิจารณาปัญหาระดับปรมัตถธรรม เมื่อเกิดความรู้ได้คำตอบแล้ว ย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจให้ครุ่นคิดพิจารณาหาวิธีการที่จะบริหารจัดการชีวิตวิธีการบริหารจัดการชีวิตนั่นเองคือคำตอบปัญหาระดับจริยธรรม เช่น เมื่อเข้าใจถ่องแท้ว่าชีวิตคือขันธ์ ๕ และขันธ์คือชีวิตและชีวิตนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างไร ก็ย่อมเกิดความพยายามที่จะหาวิธีการทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่นมีสันติสุข นี่คือการคลี่คลายจากประเด็นเชิงปรมัตถ์มาสู่ประเด็นเชิงสมมติ คลี่คลายจากประเด็นเชิงอุดมคติมาสู่ชีวิตจริง ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยระหว่างปรมัตถธรรมกับจริยธรรม

                 ปัญหาเชิงจริยธรรมว่า “ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร และชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ?”                  มีความสัมพันธ์กับหลักความเชื่อของพุทธศาสนิกชนที่เรียกว่ากัมมสัทธาและปรโลกสัทธา                 ในลักษณะที่ว่า เมื่อมนุษย์มีคำถามในใจว่า“ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร และชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ?”  ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (กัมมสัทธา) คนทำดีย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ คนทำชั่วย่อมไปเกิดในอบายทุคติวินิบาต (ปรโลกสัทธา)” คำถามและความเชื่ออย่างนี้ ทำให้มีการแสวงหาตำแหน่งที่ดีที่สุดให้แก่ชีวิต ขณะเดียวกันก็แสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปสู่ตำแหน่งที่พึงประสงค์นั้น

                 ในการบำเพ็ญพุทธกิจ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสอนหลักการและวิธีการพัฒนาชีวิตเพื่อไปสู่จุดหมายคือสิ่งดีงามและสุคติโลกสวรรค์ ด้วยวิธีการหลากหลายแต่ท้ายที่สุดแล้วสามารถสรุปลงได้ตามกรอบไตรสิกขาทั้งหมดเป้าหมายของชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๒ ระดับคือ (๑) ระดับโลกิยะ นั่นคือ อวิปปฏิสาร-ความไม่เดือดร้อน ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุคติ โภคทรัพย์ สมาธิ ปัญญา (๒) ระดับโลกุตตระ นั่นคือ ปัญญา-ความรู้เห็นตามเป็นจริงนิพพิทา-ความเบื่อหน่ายวิราคะ-ความสำรอกกิเลสวิมุตติ-ความหลุดพ้นวิมุตติญาณทัศนะ-ความรู้เห็นความหลุดพ้นอนุปาทาปรินิพพาน-ความดับสนิทหาเชื้อมิได้การพัฒนาชีวิตก็คือการศึกษาตามหลักไตรสิกขาซึ่งเป็นวิธีการหรือมรรคที่จะนำไปสู่เป้าหมายทั้ง ๒ ระดับกล่าวนั้นกล่าวโดยสรุปก็คือ “ความดีเริ่มต้นด้วยศีล และศีลเป็นมาตรวัดการแสดงออกที่ดีและ        ไม่ดี”

                 ข้อธรรมในไตรสิกขาคือศีล สมาธิ และปัญญามีความสัมพันธ์เชิงสามเส้า ทิศทางแห่งความสัมพันธ์เป็นไปใน ๒ ทิศทาง แต่จุดเริ่มต้นในทางปฏิบัติ ต้องเริ่มด้วยข้ออธิศีลสิกขาจบลงด้วยอธิปัญญาสิกขา สาระของอธิศีลสิกขาจึงถือเป็นกรอบหลักของระบบพุทธจริยศาสตร์โดยมี         อธิจิตตสิกขา(สมาธิ)เป็นส่วนเสริมที่จะขาดไม่ได้เชื่อมตรงกลางระหว่างอธิศีลสิกขากับอธิปัญญาสิกขา ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นว่า ไตรสิกขามีทั้งความเป็นศีลและความเป็นธรรมอยู่ด้วยกัน “ศีล” ก็คืออธิศีลสิกขา “ธรรม” ก็คืออธิจิตตสิกขา (สมาธิ) และอธิปัญญาสิกขา ด้วยเหตุที่พุทธจริยศาสตร์มีสาระครอบคลุมทั้งความเป็นธรรมและความเป็นศีลดังกล่าวแล้ว            จึงสามารถแบ่งเนื้อหาออกแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ

                 (๑) คุณธรรม เป็นคุณสมบัติส่วนตน เป็นหลักการดีงามที่อยู่ภายในจิตใจ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม ทศบารมี เบญจธรรม พรหมวิหาร คุณธรรมเหล่านี้เป็นฐานของการคิดเป็นมโนสุจริตแล้วแสดงออกมาทางกายเป็นกายสุจริตและแสดงออกมาทางวาจาเป็นวจีสุจริต

                 (๒) จริยธรรม เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อความดีงาม เป็นกรอบแสดงออกทางกายและวาจาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบัญญัติกำหนดไว้ ได้แก่ปาริสุทธิศีล เบญจศีล อุโบสถศีล ทสศีล ธุดงค์

                 นอกจากนี้ยังมีหลักพุทธจริยศาสตร์บางส่วนที่มีเนื้อหาทั้งที่เป็นคุณธรรมและจริยธรรมรวมกันอยู่ ได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ กุศลกรรมบถ มงคล ๓๘ ทศบารมี ดังนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนา เมื่อถามว่า "ความดีคืออะไร ?" ความดีแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ

                 ส่วนที่ ๑ คุณธรรม เป็นคุณความดีภายในจิต ข้อธรรมที่แสดงถึงคุณความดีภายในจิตใจประกอบด้วยทศพิธราชธรรม  เบญจธรรม พรหมวิหาร กุศลกรรมบถ มงคล ๓๔  ทศบารมี

                 ส่วนที่ ๒ จริยธรรม หลักสำหรับการแสดงออกทางกายและวาจาที่ถูกต้องดีงาม          มีบทบัญญัติประกอบด้วยภิกขุปาติโมกข์  ภิกขุนีปาติโมกข์  อินทริยสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล  ปัจจยสันนิสสิตศีล  ทศศีล  ธุดงค์ ๑๓ เบญจศีล อุโบสถศีล โดยพุทธจริยศาสตร์ทั้ง ๒ ส่วนนี้มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้องเป็นฐาน กล่าวคือ มนุษย์จะมีแรงจูงใจใฝ่ดีในการอบรมตนและถือปฏิบัติตามหลักคุณธรรมจริยธรรมเหล่านี้ก็โดยอาศัยความเข้าใจโลกและชีวิตอย่างถูกต้อง เช่นต้องรู้ว่าชีวิตคืออะไร ? โลกคืออะไร ? ชีวิตที่ดีคืออะไร ? เป้าหมายของชีวิตคืออะไร ? คุณค่าทางจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนาเกิดจากการเชื่อมโยงกันชัดเจนระหว่างประเด็นทางอภิปรัชญา ญาณวิทยา และจริยศาสตร์อย่างนี้

                 ตามหลักพระพุทธศาสนา ถามว่า "อะไรคือเกณฑ์ตัดสินความดี ?" เนื่องจากพุทธจริยศาสตร์มี ๒ ส่วนคือคุณธรรมและจริยธรรม เกณฑ์ตัดสินความดีจึงมี ๒ ส่วน คือ

                 ส่วนที่ ๑ เกณฑ์ที่เป็นคุณธรรมคือข้อธรรมใน ทศพิธราชธรรม เบญจธรรม พรหมวิหาร กุศลกรรมบถ มงคล ๓๔ ทศบารมี  และเกณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบเป็นลักษณะนิสัยสะท้อนข้อธรรมออมาในวิถีชีวิต การแสดงออกทางกาย วาจา และการคิดทางใจที่ยึดหลักโอวาทปาติโมกข์เป็นต้นเป็นปกตินิสัย เพาะบ่มจิตใจจนเป็นคนมีคุณสมบัติภายในจิตใจอนุวัตสอดคล้องตามข้อธรรมในโอวาทปาติโมกข์เป็นต้นดังกล่าวแล้ว ดีไม่ดี ถูกไม่ถูก ควรไม่ควรย่อมมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว

                 ส่วนที่ ๒ เกณฑ์ที่เป็นจริยธรรมคือโอวาทปาติโมกข์ บทบัญญัติในปาริสุทธิศีล ๔ เบญจศีล อุโบสถศีล และทศศีล มีเกณฑ์ตัดชัดเจนตามที่ระบุไว้ในแต่ละบทบัญญัติ เฉพาะบทบัญญัติในภิกขุปาติโมกข์และภิกขุปาติโมกข์ ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัย พระพุทธเจ้าก็ทรงวินิจฉัยไว้เป็นตัวอย่าง เช่น กรณีหญิงลูกดกคนหนึ่งไปกราบเรียนภิกษุรูปหนึ่งขอยาที่ทำให้หยุดมีลูก ภิกษุรูปนั้นจัดยาให้ นางกินยานั้นถึงแก่ความตาย ภิกษุนั้นเกิดความกังวลใจว่าตัวเองต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ จึงไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ” นอกจากเกณฑ์ตัดบทบัญญัติแล้ว ยังมีเกณฑ์ตัดสินตามกฎแห่งกรรม โดยมีหลักการว่า การละเมิดบทบัญญัติใด ๆ เกิดขึ้นด้วยอกุศลเจตนา(โลภะ โทสะ และโมหะ) นอกจากจะเป็นความผิดคือต้องอาบัติแล้วยังมีบาปเกิดขึ้นด้วย

                 ส่วนในเบญจศีล อุโบสถศีล และทศศีล แต่ละบทบัญญัติก็มีองค์ประกอบซึ่งเป็นเกณฑ์ตัดสินเป็นการเฉพาะ เช่น ศีลข้อปาณาติบาตมีองค์ประกอบที่เป็นเกณฑ์ตัดสิน ๕ ประการคือ           (๑) สัตว์มีชีวิต (๒) รู้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต (๓) มีจิตคิดจะฆ่า (๔) มีความพยายามฆ่า (๕) สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้นการกระทำที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ถือว่าศีลขาด การละเมิดแต่ละสิกขาบทนอกจากศีลขาดแล้ว ยังมีบาปเกิดขึ้นอีกด้วย

                 เกณฑ์ตัดสินในแต่ละบทบัญญัติเหล่านี้ มีความยืดหยุ่นหรือไม่ ? มีนัยเชิงสัมพัทธ์หรือสมบูรณ์ ? ยอมรับกันได้โดยหลักสากลหรือไม่ ?  พวกกรณียธรรมไม่ได้ให้ความสนใจต่อความยืดหยุ่นของกฎใด ๆ คำว่า “ข้อยกเว้น” ไม่ควรปรากฏในข้อกฎหมายหรือในระบบจริยธรรม ส่วนพวกสุขนิยมและประโยชน์นิยมอาจมองว่า เป้าหมายพุทธจริยศาสตร์ผูกติดอยู่กับเรื่องอุดมคติมากเกินไป แทนที่จะยึดโยงอยู่กับธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ สังคมประกอบด้วยบุคคลหลายระดับ มีทั้งนักบุญและคนบาปรวมกันอยู่ ทุกคนมีทั้งความพอใจ และไม่พอใจ สุขและทุกข์ตามฐานะและโอกาส ดังนั้น บทบัญญัติใด ๆ ควรมีลักษณะยืดหยุ่นเหมาะกับฐานะ และสภาวะของแต่ละบุคคล  สุขนิยมและประโยชน์เห็นว่า “จริยธรรมกับความสุขดูเหมือนจะมีทิศทางตรงกันข้ามเสมอ”

                 บทบัญญัติว่า “ภิกษุจับต้องกายหญิง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” เมื่อเกิดกรณีภิกษุรูปหนึ่งจับต้องกายมารดาด้วยความรักฉันแม่ลูก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ” ภิกษุจับต้องกายหญิงมีโทษสูงสุดคือต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุจับต้องกายมารดาและธิดาของตนเองมีโทษเหมือนกันแต่เป็นโทษต่ำสุดคือต้องอาบัติทุกกฎสุขนิยมและประโยชน์นิยมอาจไม่เห็นด้วยที่มีข้อกำหนดว่า “แม้ถ้าเห็นโยมมารดาถูกกระแสน้ำพัดพาไป ภิกษุไม่พึงใช้มือจับ แต่ว่าพึงนำเรือ แผ่นกระดาน ท่อนกล้วย หรือท่อนไม้เข้าไป เมื่อไม่มีเรือเป็นต้น           พึงนำแม้ผ้ากาสาวพัสตร์ (ผ้าจีวร) เข้าไปวางข้างหน้ามารดาโดยไม่ต้องพูดอะไร เมื่อมารดาจับแล้ว จึงดึงมาโดยคิดเพียงว่า ดึงบริขาร (สิ่งของเครื่องใช้)” สุขนิยม และประโยชน์นิยมไม่เห็นด้วยกับวิธีการช่วยเหลือมารดาในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนั้น เพราะคนกำลังจะจมน้ำตาย วิธีการช่วยเหลือที่รวดเร็วที่สุดคือลงไปอุ้มขึ้นมา ภิกษุที่จับต้องกายมารดา ธิดา หรือแม้กระทั่งหญิงทั่วไปในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ควรถูกปรับโทษ แม้จะเป็นเพียงอาบัติทุกกฎซึ่งถือว่าเป็นโทษต่ำสุด ควรประนีประนอมระหว่างศีลกับธรรมเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ เหล่านี้คือมุมมองที่แตกต่างออกไป

                 ตามหลักพระพุทธศาสนา ถามว่า “เป้าหมายของชีวิตคืออะไร ?”พุทธจริยศาสตร์มีเป้าหมาย ๒ ระดับ คือระดับวิถีชีวิตในสังสารวัฏและระดับอุดมคติ

                 เป้าหมายของชีวิตในสังสารวัฏสรุปได้ ๕ ข้อคือ (๑) มีโภคทรัพย์เป็นอันมาก (๒)กิตติศัพท์อันงามย่อมขจรไป (๓) เข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณ์บริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป (๔) ย่อมไม่หลงลืมสติตาย (๕) หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติ ส่วนเป้าหมายระดับอุดมคติ เป็นเป้าหมายสืบเนื่องมาจากระดับสังสารวัฏภายใต้กรอบแห่งไตรสิกขา แต่มีลักษณะแน่วแน่ตรงดิ่งสู่จุดหมายสูงสุดระดับอุดมคติซึ่งแบ่งเป็น ๓ ด้าน

                 ด้านที่ ๑ ความสามารถทางจิตที่จะรู้เข้าใจกระบวนการของโลกและชีวิตตามความเป็นจริง (วิชชา) รวมทั้งสมรรถนะของจิตที่จะกระทำการใด ๆ เหนือวิสัยของชาวโลกทั่วไป (อภิญญา) ภาวะทางจิตที่หลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ) ความบริสุทธิ์แห่งกาย วาจา ใจอันสืบมาจากความที่จิตหลุดพ้น (วิสุทธิ) และภาวะที่จิตดับเย็นสนิทปราศจากกิเลสความเร่าร้อนทั้งปวง (นิพพาน)

                 ด้านที่ ๒ ระดับหรือขั้นของจิตที่มีคุณภาพและสมรรถภาพในการที่จะละกิเลสได้เป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับจากระดับต้นไปจนถึงระดับสูงสุด (มรรค-ผล)

                 ด้านที่ ๓ ชื่อหรือตำแหน่งของบุคคลที่มีความสามารถทางจิต มีระดับจิตที่มีคุณภาพและสมรรถภาพในขั้นต่าง ๆ (อริยบุคคล ๘)

                 เป้าหมายระดับอุดมคติทั้ง ๓ ด้านนี้ไม่ใช่เป้าหมาย ๓ อย่าง แต่เป็นอย่างเดียวกันประกอบด้วย ๓ ด้าน (หรือมิติ) คือ (๑) ความสามารถทางจิต (๒) ระดับหรือขั้นของจิต (๓) ชื่อหรือตำแหน่งของบุคคลที่มีความสามารถทางจิตและมีจิตที่มีคุณภาพตามสมควรในขั้นนั้น ๆ

                 เป้าหมายระดับอุดมคติอธิบายได้ภายใต้คำสำคัญคือ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ มรรค ผล และนิพพาน โดยมีหลักไตรสิกขาเป็นจุดเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นจนถึงเป้าหมายสุดท้าย เส้นทางสู่เป้าหมายจึงเริ่มต้นด้วยศีล ไปสู่สมาธิ ปัญญา และไต่ลำดับไปสู่นิพพาน ดังข้อความว่า “วินัยย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความสำรวม (ศีล) ความสำรวมมีเพื่อประโยชน์แก่ความไม่เดือดร้อนความไม่เดือดร้อนมีเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์ความปราโมทย์มีเพื่อประโยชน์แก่ความอิ่มใจความอิ่มใจมีเพื่อประโยชน์แก่ความสงบความสงบมีเพื่อประโยชน์แก่ความตั้งใจมั่น (สมาธิ) ความตั้งใจมั่นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นตามเป็นจริง (ปัญญา) ความรู้เห็นตามเป็นจริงมีเพื่อประโยชน์แก่ความเบื่อหน่ายความเบื่อหน่ายมีเพื่อประโยชน์แก่ความสำรอกกิเลสความสำรอกกิเลสมีเพื่อประโยชน์แก่ความหลุดพ้น(วิมุตติ)ความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นความหลุดพ้นความรู้เห็นความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์แก่ความดับสนิทหาเชื้อมิได้ (นิพพาน)

                 “นิพพาน” แปลว่า เย็นสนิท เป็นคำแสดงภาวะทางจิตใจ หมายถึง เย็นใจ ความดับความร้อนใจ หายร้อนรน ไม่มีความกระวนกระวายใจเป็นการดับกิเลสและกองทุกข์ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธจริยศาสตร์ นิพพานมี ๒ อย่างคือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” แปลว่า นิพพานยังมีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานยังมีเชื้อเหลือ ได้แก่นิพพานที่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ และ “อนุปาทิเสสนิพพาน” แปลว่า นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือ  ได้แก่นิพพานไม่มีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์

                 “มรรค” แปลว่า ทาง เป็นชื่อเรียกระดับจิตที่มีคุณภาพและสมรรถภาพสูงส่งเป็นคำคู่กับ “ผล”ซึ่งเป็นชื่อเรียกระดับจิตที่เกิดจากการละกิเลสได้ระดับต่าง ๆ และประการสุดท้ายคือ “อริยบุคคล” เป็นชื่อเรียกบุคคลผู้มีพัฒนาการทางจิตแต่ละขั้นคำทั้ง ๓ คือ “มรรค, ผล และอริยบุคคล” ใช้หมายถึงเรื่องเดียวกันและมีความสัมพันธ์ดังนี้:-โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค(ระดับจิตที่มีคุณภาพและสมรรถภาพสูงส่ง) โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล (ระดับจิตที่เกิดจากการละกิเลสได้ระดับต่าง ๆ) โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์(บุคคลผู้มีพัฒนาการทางจิตแต่ละขั้น)

 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕