หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » ถอนพิษประเทศไทย ถอนใจจากความรุนแรงและเกลียดชัง
 
เข้าชม : ๑๓๙๔๒ ครั้ง

''ถอนพิษประเทศไทย ถอนใจจากความรุนแรงและเกลียดชัง''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. (2555)

โครงการปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา
www.facebook.com/hansa.mcu


 http://www.komchadluek.net/detail/20121208/146696/วิฑูฑภะกรณีศึกษาดับไฟ(รุนแรง)ด้วยน้ำมัน.html

 

        "การใช้ไฟดับไฟย่อมทำให้ไฟโหมกระพือรุนแรงมากยิ่งขึ้น ฉันใด การเอาชนะความรุนแรงด้วยความรุนแรง ย่อมทำให้ความรุนแรงขยายตัวมากยิ่งขึ้น ฉันนั้น" ในเมื่อการใช้ความรุนแรงนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียมวลชน หรือแนวร่วม คำถามคือ "เพราะเหตุใดคนหรือกลุ่มคนบางกลุ่มจึงตัดสินใจใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา?" หรือว่าความรุนแรงมีมิติที่ลุ่มลึกมากกว่าที่เราเห็นด้วยตาแต่รับรู้ด้วยใจ

        เมื่อศึกษาโดยละเอียดเราพบประเด็นเรื่องความรุนแรงได้อย่างน่าสนใจว่า ความรุนแรงนั้นประกอบด้วยความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) กับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) หากวิเคราะห์อย่างผิวเผินอาจจะทำให้เห็นว่า ความรุนแรงสองสิ่งนี้แยกขาดเป็นคนละประเด็นไม่เกี่ยวข้องกัน แต่หากมองให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นกลับพบความจริงที่น่าสนใจว่า "กลุ่มคนจำนวนมากมักจะนำความรุนแรงทางตรงมาใช้แก้ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" กล่าวให้ชัดขึ้นไปอีกคือ การใช้ความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธ เช่น ปืน มีด และระเบิด รวมไปถึงอาวุธที่ติดตัวมือตั้งแต่เกิด เช่น มือ เข่า ศอก และปากไปจัดการกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างบางอย่าง เช่น หิวโหย การข่มเหงรังแก อันเนื่องมาจากพื้นทางทางสังคม ค่านิยม ความเชื่ออุดมการณ์ ศาสนา ชาติพันธุ์ และภาษาที่แตกต่าง จนนำไปสู่การปฏิบัติในลักษณะที่แตกต่าง ทั้งการเลือกปฏิบบัติ การดูถูก การเหยียดหยาม และการเคียดแค้นเกลียดชังกันอย่างรุนแรง

        ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ "วิฑูฑภะศึกษา" พระเจ้าวิฑูฑภะเป็นบุตรของพระเจ้าปเสนทิโกศลกับนางทาสี หรือสาวใช้ของพระเจ้ามหานามะ คำถามคือ "พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นถึงกษัตริย์แต่ไปรับสาวใช้มาเป็นมเหสีได้อย่างไร?" ต้นเหตุเกิดจากการที่พระองค์มีพระประสงค์จะเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า แม้จะไม่สามารถเป็นญาติทางธรรมได้ พระองค์เลือกที่จะเป็นญาติทางสายเลือดกับพระพุทธเจ้าในฐานะที่พระพุทธเจ้าเป็นศากยะวงศ์ จึงส่งทูตไปขอมเหสีจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "ศากยะ" ในแคว้นสักกะ แต่เนื่องจากคนกลุ่มนี้พยายามที่จะรักษาชาติพันธุ์ของตัวเองให้บริสุทธิ์โดยไม่นิยมไปแต่งงานกับชาติพันธุ์อื่นๆ ถึงอย่างนั้น ด้วยเหตุที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจทางการเมือง การปกครอง และการทหารมาก การที่จะขัดต่อไมตรีดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินวิเทโศบายระหว่างแคว้น จึงตัดสินใจเลือกนางทาสีของพระเจ้ามหานามะคนหนึ่ง โดยอุปโลกน์ให้เป็น "ธิดาของศากยะ" แล้วส่งไปถวายตัวแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล

        เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะอยู่ในวัยเยาว์ได้เกิดคำถามมาโดยตลอดว่า เพราะเหตุใด? พระเจ้าปู่ พระเจ้าย่า หรือพระญาติในแคว้นสักกะ จึงไม่ส่งบรรณาการ หรือของฝากมาให้ตัวเอง และแม่เลย ในขณะที่คนอื่นๆ ได้รับของฝากอย่างสม่ำเสมอ แต่คำถามที่ฝังแน่นอยู่ในใจได้รับการเปิดเผยขึ้น เมื่อยามเติบใหญ่ได้ขออนุญาติพระบิดา กับพระมารดาไปเยี่ยมแคว้นสักกะ เมื่อแคว้นสักกะได้รับทราบว่า พระเจ้าวิฑูฑภะกำลังจะเสด็จไปเยือน จึงตัดสินใจให้นำเจ้าศากยะที่มีอายุน้อยกว่าพระเจ้าวิฑูฑภะไปอยู่นอกเมืองทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าศากยะเหล่านั้นทำความเคารพพระเจ้าวิฑฑภะซึ่งเป็นบุตรของนางทาสีหรือสาวใช้ เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะเข้าไปในเมืองจึงไม่มีเจ้าศากยะท่านใด ทำความเคารพพระองค์แม้แต่คนเดียว

        ในที่สุดความจริงได้ปรากฎชัดยิ่งขึ้น เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะกำลังเสด็จกลับพร้อมไพร่พล แต่ทหารคนหนึ่งลืมอาวุธจึงรีบกลับเข้าไปในเมือง และได้ยินนางทาสีกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า "พวกเราต้องลำบากด้วยการนำน้ำนมมาล้างตั่งที่ลูกของนางทาสีมันนั่ง" จะเห็นว่าการใช้น้ำสะอาดล้างก็น่าจะเพียงพอ แต่การใช้น้ำนมล้างถือเป็นการกำจัดเสนียดจัญไร และความเป็นอัปปมงคลของเจ้าศากยะ ทหารจึงนำความจริงดังกล่าวไปแจ้งแก่พระเจ้าวิฑูฑภะ ในที่สุดแล้วพระองค์จึงสามารถประมวลภาพทั้งหมดตั้งแต่เยาว์วัยว่าเพราะเหตุใด? พระองค์จึงได้รับการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด

        ในขณะที่ความสงสัยของพระองค์ได้พลันเลือนมลายหายไป แต่ความเกลียดชังอย่างรุนแรงได้เข้ามาปรากฏแทนที่จนทำให้พระองค์ประกาศกร้าวว่า "วันนี้พวกเจ้าศากยะนำน้ำนมมาล้างตั้งที่เรานั่ง แต่วันหน้าเราจะนำเลือดที่ลำคอของพวกเจ้าศากยะมาล้างความเกลียดเคียดแค้นชิงชังแทน" หลังจากกลับไปแคว้นโกศลจึงดำเนินการยึดอำนาจจากพระเจ้าปเสนทิโกศล และแม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปห้ามปรามถึง ๓ ครั้ง แต่พระองค์ตัดสินพระทัยยกทัพหลวงไปฆ่าล้างแค้นกลุ่มชาติพันธุ์ของเจ้าศากยะทั้งหมด ยกเว้นพระเจ้ามหานามะซึ่งพระมารดาเคยทำงานรับใช้ในฐานะเป็นนางทาสี แต่สุดท้ายพระเจ้ามหานามะได้ตัดสินพระทัยฆ่าตัวตายด้วยไม่ประสงค์จะเสวยพระกระยาหารร่วมกับพระเจ้าวิฑูฑภะ

        กรณีศึกษาของพระเจ้าวิฑูฑภะจึงเป็นตัวอย่างที่ดีประการหนึ่งที่สามารถฉายภาพให้เราได้เห็นว่า "การใช้ไฟดับไฟย่อมทำให้ไฟโหมกระพือรุนแรงมากยิ่งขึ้น ฉันใด การใช้ความรุนแรงดับความรุนแรง ย่อมทำให้ความรุนแรงขยายตัวมากยิ่งขึ้น ฉันนั้น" จะเห็นว่า พระเจ้าวิฑูฑภะได้ใช้ความรุนแรงทางตรงคืออาวุธเข้าไปจัดการกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" อันเนื่องมาจากความโกรธ เกลียด เคียดแค้น และชิงชังที่ก่อตัวมาอย่างเงียบๆ และระเบิดออกมาในที่สุด หากมองในมุมของพระเจ้าวิฑูฑภะนั้น "การใช้ความรุนแรงด้วยการฆ่านั้น แม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อีกทั้งจะนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ ตามมา แต่การฆ่าได้ช่วยแก้ปัญหาด้วยการถอนเสี้ยนหนามคือความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในหัวใจของพระองค์ได้" และแนวคิดในลักษณะเช่นนี้ ยังคงมีอยู่ และเกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบันตราบเท่าที่ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างเข้ามาคุกคาม และซ่อนตัวอยู่ในทุกอณูของสังคมไทย และสังคมโลก

        สภาพปัญหาการใช้ความรุนแรงทางตรงเพื่อเข้าไปจัดการกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างมีให้เห็นอยู่ทั่วทุกมุมของโลก ไม่ว่าจะเป็นกรณีอาหรับสปริง (Arab Spring) ในตะวันออกกลาง รวมถึงซีเรียที่กำลังเกิดในปัจจุบันนี้ การต่อสู้ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล และสภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งกรณี ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อช่วงชิงภาวะการนำในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ก็เผยให้เห็นถึงบางแง่มุมของการใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะความรุนแรงเช่นเดียวกัน

        คำถามคือ ในที่สุดแล้วบทสรุปของเรื่องนี้จะปรากฎรูปโฉมออกมาในรูปแบบใด?? ชุดความคิดที่ว่า "อย่าใช้ไฟไปดับไฟแม้ว่าใครจะพยายามจุดไฟขึ้นมาก็ตาม" หรือ "อย่าใช้ความรุนแรงไปแก้ปัญหาความรุนแรง" จึงเป็นกระบวนทัศน์ที่กลุ่มคนต่างๆ ต้องให้ความสำคัญ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราจะพบความจริงว่า ในทุกสมรภูมิของการต่อสู้ที่ห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงนั้น ในที่สุดแล้ว การหาทางออกอย่างสันติ และยั่งยืนมักจะจบด้วยการเจรจาพูดคุยทั้งสิ้น เช่น การต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนในมินดาเนากับรัฐบาลกลาง ประเทศฟิลิปปินส์ การต่อสู้ระหว่างคนผิวขาวกับผิวดำในแอฟริกาใต้ สงครามระหว่างเหนือกับใต้ในอเมริกายุคประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น ท้ายที่สุด หนึ่งในทางออกคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการเลิกทาส หรือแม้กระทั่งพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทำสงคราม และฆ่ากลุ่มคนจำนวนมาก สุดท้ายได้หันกลับมาใช้ธรรมวิชัยยุทธ์

        พระพุทธเจ้าได้นำหลักการพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวว่า "จงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ" หมายถึง "การเอาชนะความรุนแรงด้วยความไม่รุนแรง" หลักการนี้ถือเป็นกฎข้อแรกในการวางท่าทีต่อกลุ่มคนต่างๆ และจำเป็นต้องยึดหลักการนี้ให้มั่นคง หากความโกรธคือไฟ ความไม่โกรธย่อมเป็นน้ำ หากความโกรธ เคียดแค้น ชิง ชัง คือ ความรุนแรง ความไม่โกรธคือ ความไม่รุนแรง สำหรับกฎข้อที่สอง คือ กฎที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะพุทธมามกะทรงเน้นให้ปฎิบัติอยู่ตลอดเวลาว่า "การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" โดยเริ่มต้นศึกษาเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า เพราะเหตุใด? กลุ่มคนต่างๆ จึงคิดต่าง และปฏิบัติต่างจากเรา และเข้าถึงเขาโดยการปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เขาเป็นเขา ไม่พยายามที่จะเอาเขามาเป็นเรา ด้วยการร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาทั้งกาย พฤติกรรม จิต และปัญญาให้สอดรับกับวิถีชีวิต ความต้องการ วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ศาสนา และภาษา ซึ่งกฎทั้งสองข้อสามารถประยุกต์ใช้แก้ปัญหาความรุนแรงได้ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างสมสมัยและมีประสิทธิภาพ

        กฎทั้งสองข้ออาจจะเป็น "ชุดความคิด และแนวปฏิบัติ" ในการจัดการกับความรุนแรงด้วยความไม่รุนแรง แม้ว่า หากมีคนหรือกลุ่มคนแสดงออกต่อเราด้วยรุนแรงทั้งโกรธ ความเกลียด เคียดแค้น และชิงชัง แต่ถ้าเราเข้าไปกระทำการรุนแรงตอบโต้ ย่อมจะทำให้พื้นที่ของความรุนแรงขยายวงออกไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะเหตุผลดังกล่าว พระพุทธเจ้าจงย้ำเตือนว่า "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" เหตุผลที่ทรงตรัสเช่นนี้ เพื่อให้ทุกอย่างจบลงและจะได้เริ่มต้นพัฒนาชีวิต และสังคมอย่างมีความสุขร่วมกันต่อไป จะเห็นว่า " การระงับจึงมีค่าเท่ากับการเริ่มต้น" ตัวอย่างเช่นนี้มีให้ได้เรียนรู้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งทางการเมืองระหว่างอับราฮัม ลินคอร์นกับเอดวิน แสตนตัน เนลสัน แมนเดลา กับเฟรเดอริค เดอ เคลิร์ก บารัก โอบามากับฮิลลารี คลินตัน  ออง ซาน ซูจีกับรัฐบาลทหารพม่า หรือว่าสุดท้ายแล้ว อาจจะมีข้อยกเว้นแก่เมืองไทยที่คน หรือกลุ่มคนบางกลุ่มจองเวรซึ่งกันและกันเหมือนหมีกับไม้ตะคร้อ พังพอนกับงูเห่า กากับนกเค้าแมว

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕