ร่องรอยภิกษุณีหลังพุทธปรินิพพาน
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ ได้บันทึกเหตุการณ์สังคายนาครั้งที่ ๑ ไว้ และในเหตุการณ์ครั้งนั้นพระอรหันต์๕๐๐ รูปในที่ประชุมสังคายนา ได้กล่าวตำหนิพระอานนท์ ในกรณีที่พระอานนท์ให้มาตุคามเข้าถวายบังคมพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้าก่อน[1] มาตุคามที่พระอรหันต์ทั้งหลายกล่าวถึง ผู้เขียนมองว่าคือภิกษุณี ด้วยเหตุผลที่ว่า ภิกษุณีอยู่นอกสำนักในเวลาวิกาลไม่ได้ ส่วนสตรีที่เป็นชาวบ้านนั้นสามารถอยู่ในเวลาวิกาลได้ เพราะมีญาติที่เป็นบุรุษคอยดูแล ภิกษุณีในชั้นอรรถกถาที่ได้รับการบันทึกไว้หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ ในสมัยพระเจ้าอโศก ช่วงพ.ศ. ๒๑๘-๒๖๐ (ตามหลักฐานของนักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันส่วนมากว่า ๒๗๐-๓๑๒)[2] หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้วเสร็จ ได้มีการจัดส่งสมณทูตไปในดินแดนต่างๆ ๙ สาย ในจำนวน ๙ สายนั้น ได้มีการบวชกุลธิดา ๓ สาย คือ ๑. สายของพระโยนกธรรมรักขิตและคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อปรันตกชนบท พระโยนกธรรมรักขิตได้แสดงอัคคิกขันโธปมสูตร ให้ชาวอปรันตกชนบทฟัง มีผู้บรรลุธรรม กุลบุตรออกบวช ๑,๐๐๐ คน กุลธิดาออกบวช ๖,๐๐๐ คน[3] ๒. สายของพระโสณะและพระอุตตระพร้อมด้วยคณะ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ ได้แสดงพรหมชาลสูตร ให้ประชาชนฟัง มีผู้บรรลุธรรม ๑๖,๐๐๐ คน กุลบุตรออกบวช ๒,๕๐๐ คน กุลธิดาออกบวช ๑,๕๐๐ คน[4] ๓. สายพระมหินทและคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ตัมพปัณณิ (ศรีลังกา) ได้แสดงจูฬหัตถิปโทปมสูตร และหลังจากนั้นได้แสดงธรรมโปรดชาวลังกาเสมอๆ มีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก ภายหลังออกบวชเป็นจำนวนนับหมื่น พระนางอนุฬาเทวีและบริวาร ๑,๐๐๐ คนออกบวชเป็นภิกษุณี[5]
จากหลักฐานอรรถกถานี้ทำให้ทราบว่าภิกษุณีในช่วง ๓๐๐ กว่าปีหลังพุทธกาลยังรุ่งเรือง มีกุลธิดาออกบวชเป็นภิกษุณี ถึงแม้ว่าสายของพระโยนกธรรมรักขิตและสายของพระโสณะและพระอุตตระไม่ได้บันทึกว่ากุลธิดาบวชเป็นภิกษุณี แต่ได้นำสายของพระมหินทมาเป็นเกณฑ์การตัดสิน จึงตีความว่า กุลธิดาเหล่านั้นได้บวชเป็นภิกษุณี เพราะในช่วง๓๐๐ ปี ยังมีภิกษุณีเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับจารึกของพระเจ้าอโศกที่ทรงให้จารึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑[6]จารึกอโศกกล่าวถึงภิกษุณีเป็นอันมาก ความว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ โยมมีความปรารถนาในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมบรรยายเหล่านี้ว่า ขอภิกษุผู้เป็นที่เคารพและภิกษุณีทั้งหลายเป็นอันมากพึงสดับและพิจารณาใคร่ครวญในธรรมบรรยายเหล่านี้อยู่โดยสม่ำเสมอเป็นประจำ”[7] ข้อความจารึกว่า “ข้าฯ ได้ทำให้สงฆ์มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว บุคคลใดๆ จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตามก็ไม่อาจทำลายสงฆ์ได้ ก็แล หากบุคคลผู้ใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม จักทำลายสงฆ์ให้แตกกันบุคคลผู้นั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งห่มผ้าขาวและไปอาศัยอยู่ในสถานที่อื่น(นอกวัด)[8] สมัยพระเจ้าอโศกภิกษุณีสงฆ์มีบทบาทในการสร้างอนุสาวรีย์ในพระพุทธศาสนา ปรากฏมีจารึกระบุจำนวนภิกษุณีที่มีส่วนในการสนับสนุน เช่น จารึกที่สถูปสาญจิ ภารหุต กัณเหริ การเล กุฑา นาสิก เปานิ อมราวดี และมถุรา ที่สถูปสาญจิมีรายนามภิกษุสงฆ์สนับสนุน ๑๒๙ รูป ภิกษุณี ๑๒๕ รูป ที่เปานิ รายนามภิกษุ ๓ รูป ภิกษุณี ๕ รูป ที่ภารหุต มีรายนามภิกษุ ๒๕ รูป ภิกษุณี ๑ รูป ที่อมราวดี มีภิกษุ ๑๒ รูป และยังปรากฏว่าที่เมืองมถุรา มีภิกษุณีหลายรูปสนับสนุนการสร้างพระพุทธรูปในยุคแรกๆ ที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น
คริสต์ศตวรรษที่ ๔ ถึงศตวรรษที่ ๕ ช่วงแรกๆนี้ พบหลักฐานบนแท่นพระพุทธรูป ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ ๔ จารึกระบุว่าผู้สร้างพระพุทธรูปคือศากยภิกษุณีสร้างอุทิศบิดามารดาและสรรพสัตว์ และอีกองค์ สร้างโดยภิกษุณีชยภัฏฏา ปรากฏในวัดยศาวิหาร เมืองมถุรา
ในศตวรรษที่ ๗ ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๘ มีในบันทึกของสมณอี้จิง ในบันทึกนี้กล่าวถึงรายระเอียดเกี่ยวกับการแต่งกายของภิกษุณีสงฆ์โดยเปรียบเทียบกับทางจีน ข้อมูลที่อี้จิงบันทึกไว้มีทั้งภิกษุณีสงฆ์ในอินเดียในเขตท้องที่เบงกอล พิหาร์ อุตตรประเทศรวมทั้งอาณาจักรศรีวิชัยด้วย[9]
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ หลวงจีนฟาเหียนเดินทางไปอินเดียระหว่างปี พ.ศ. ๙๔๒-๙๕๗ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองมถุรา ได้บันทึกไว้ว่า “เมืองนี้พระพุทธศาสนายังเจริญรุ่งเรืองมาก มีอารามมากมาย กล่าวถึงภิกษุณีว่า ในวันสำคัญของพระพุทธศาสนาจะไปชุมนุมสวดมนต์บูชาสถูปของพระอานนท์เถระ เพื่อรำลึกถึงบุญคุณของท่านที่ได้ช่วยให้สตรีได้บวชในพระพุทธศาสนา[10]
บันทึกของพระถังซำจั๋ง ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๘๘ ท่านได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางไว้อยางละเอียด เมื่อท่านเดินทางมาถึงเมืองกิสสะ หรือสังกัสสะซึ่งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ท่านได้พบวัดที่มีภิกษุและภิกษุณีจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมากถึง ๑,๐๐๐ รูป[11] เมื่อเดินทางมาถึงเมืองกานยกุปชะซึ่งเป็นเมืองของพระเจ้าหรรษวรรธนะ พระเจ้าแผ่นดินให้ความอุปถัมภ์ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ พระองค์เลี้ยงพระวันละ ๑,๐๐๐ รูป พราหมณ์วันละ ๕๐๐ คน และพระขนิษฐภคินีของพระเจ้าหรรษวรรธนะพระนามว่าราชยศรีได้บวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา[12]ในปีพ.ศ. ๑๕๔๖-๑๖๔๔ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗) ในอินเดียเหนือภิกษุและภิกษุณีประพฤติย่อหย่อนในวินัยมาก ประพฤติตัวคลุกคลีกับฆราวาส ประชาชนหันไปนับถือการบูชาเซ่นสรวง[13]
ในประเทศศรีลังกานั้น ภิกษุณีเข้าไปเจริญรุ่งเรืองหลังสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยพระนางสังฆมิตตาภิกษุณีได้ไปบวชสตรีศรีลังกาและประดิษฐานวงศ์ภิกษุณีไว้ในประเทศศรีลังกา เมื่อกาลเวลาล่วงมา ไม่ปรากฏมีภิกษุณีในศรีลังกาเลย ภิกษุณีอินเดียและภิกษุณีศรีลังกา เป็นที่รู้กันว่าปฏิบัติตามภิกษุสงฆ์ที่ยึดมติการสังคายนาครั้งที่ ๑ เมื่อยึดถือปฏิบัติเช่นนั้นในสังคมเถรวาทจะกล่าวเสียงเดียวกันว่า ภิกษุณีสงฆ์เถรวาททั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกาได้เสื่อมสูญลงแล้วถึงแม้จะมีการพยายามฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ก็ไม่จัดเป็นภิกษุณีเถรวาท เพราะขาดภิกษุณีผู้เป็นปวัตตินีพร้อมทั้งขาดคณะภิกษุณีฝ่ายเถรวาท หนังสือพุทธประวัติเขียนโดยพระภิกษุสีลาจาระ (J.F Mckechnie) ชาวอังกฤษ แต่งขึ้นสำหรับใช้สอนเด็กในประเทศศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. 2484 แปลโดยพุทธทาสภิกขุ กล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์ว่า “การบวชของภิกษุณี ซึ่งมีพระนางมหาปชาบดีเป็นองค์แรกนั้น มีอายุยืนยาวประมาณ 500 ปี แล้วก็สาบสูญไป”[14]
สังคมเถรวาทมีมติเป็นอันเดียวกันว่า “ภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาทเสื่อมสูญแล้ว” ปัญหาที่จะตั้งเป็นคำถามต่อไปคือ อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้วงศ์ภิกษุณีเถรวาทเสื่อมสูญไป?
เหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมสูญของภิกษุณีเถรวาท
ผู้เขียนมองว่าปัจจัยหลักๆที่เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมสูญของภิกษุณีเถรวาทนั้นมี ๒ ปัจจัย คือปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายในที่เกี่ยวกับภิกษุณีโดยตรงนั้น สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือพฤติกรรมของภิกษุณี จากพฤติกรรมของภิกษุณีนี้เองเป็นสาเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบท เป็นที่ทราบกันดีว่าพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทล่วงหน้า ต่อเมื่อภิกษุณีทำผิด มีภิกษุ ภิกษุณีและชาวบ้านตำหนิติเตียนพระองค์จึงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบทนั้นๆ พฤติกรรมของภิกษุณีมีความเกี่ยวเนื่องกับสาวิกาบารมีญาณ เพราะสตรีที่ไม่มีบารมีญาณในการบรรลุธรรมจะมีพฤติกรรมที่ไม่สมควรอันเป็นสาเหตุให้ล่วงละเมิดวินัยสิกขาบทต่างๆ และวินัยของภิกษุณีก็มีมาตรฐานสูงกว่าวินัยของภิกษุ สาเหตุเหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยภายในที่มีอิทธิพลต่อความเสื่อมสูญของภิกษุณี
พฤติกรรมของภิกษุณี
ในช่วงหลังพุทธกาลมีบันทึกเกี่ยวกับภิกษุที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมกับสมณะสารูปมีปรากฏเป็นจำนวนมาก ไม่มีใครห้ามปรามชี้ถูกชี้ผิด ท่านเฮี้ยนจังได้เล่าถึงความประพฤติของภิกษุ นิกายสัมมิติยะแห่งแคว้นสินธุ์ว่า “ใช้ชีวิตอย่างชาวโลกและไม่ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ พระเหล่านั้นเกียจคร้านเป็นคนที่ไร้ค่าและเที่ยวเตร่ ถึงแม้พระเหล่านั้นจะห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แต่ก็ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เลี้ยงปศุสัตว์ และมีลูกมีเมีย”[15] ประวัติศาสตร์ของแคชเมียร์ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “พระในแคว้นแคชเมียร์นั้น มีความประพฤติในลักษณะเช่นเดียวกันกับพระในแคว้นสินธุ์เหมือนกัน กล่าวคือในวัดที่พระนางยูกเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าเมฆวาหนะ(ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐) ให้สร้างขึ้นนั้น ครึ่งหนึ่งของวัดจัดเป็นที่อยู่ของพระที่มีความประพฤติดีและไม่มีเมีย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของวัดจัดให้เป็นที่อยู่ของพระที่มีลูกเมีย และมีทรัพย์สมบัติ”[16] จากวรรณกรรมบางเรื่อง ซึ่งแต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ และ ๑๒ นั้น ปรากฏว่าพระภิกษุและภิกษุณีในพระพุทธศาสนาในยุคนั้นได้มีความเกี่ยวข้องในกิจการทางการเมือง ทางการทหาร และเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการแต่งงาน[17] ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่มีภิกษุณีที่เป็นปุถุชนหลายรูปได้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายเรื่องเช่น ในเรื่องเพศ เรื่องการแต่งกาย การประพฤติตนเหมือนหญิงฆราวาส เป็นต้น สำหรับในเรื่องเพศนั้น มีภิกษุณีกลุ่มหนึ่ง ในกลุ่มมีจำนวน ๖ คน ในสมัยนั้นเรียกภิกษุณีกลุ่มนี้ว่า “ภิกษุณีฉัพพัคคีย์” ภิกษุณีกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะคือใช้น้ำโคลนสาดภิกษุเพื่อให้ภิกษุรักในพวกเธอ[18] ได้เปิดร่างกาย,เปิดถัน,เปิดขาอ่อน,เปิดองค์กำเนิดให้แก่ภิกษุดู และพูดเกี้ยวภิกษุ ชักชวนสตรีให้มารักกับภิกษุทั้งหลาย[19] ภิกษุณีเพ่งดูอวัยวะเพศของบุรุษ[20] เป็นต้น ภิกษุณีปุถุชน ยังแต่งตัวเหมือนสตรีคฤหัสถ์ ห่มจีวรสีเขียว ห่มจีวรสีเหลือง ห่มจีวรสีแดง ห่มสีวรสีบาน ห่มจีวรสีดำ ห่มจีวรสีแสด ห่มจีวรสีชมพู ห่มจีวรไม่ตัดชาย ห่มจีวรมีชายยาว ห่มจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ห่มจีวรมีชายเป็นแผ่น สวมเสื้อ สวมหมวก[21] แต้มหน้า,ทาแก้ม,[22] เป็นต้น ภิกษุณีที่เป็นปุถุชน ยังมีการทำสปา เพื่อเสริมความงาม นวดตัวนวดหน้า ภิกษุณีปุถุชน ประคบประหงมร่างกายให้สวยงาม เพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ ใช้กระดูกแข้งโคขัดสีตะโพก,ใช้ไม้มีสัณฐานดุจคางโคนวดตะโพก,นวดมือ,นวดหลังมือ,นวดเท้า,นวดหลังเท้า,นวดขาอ่อน,นวดหน้า,นวดริมฝีปาก[23]ใช้เครื่องหอมเครื่องย้อมผิว[24]ใช้แป้งอบกลิ่น[25] เป็นต้น
ภิกษุณีที่เป็นปุถุชนมีการทำมาหากินเหมือนฆราวาส ประพฤติไม่เหมาะสมประกอบการค้าขายที่ผิดสมณวิสัย ตั้งสำนักหญิงแพศยา,ตั้งร้านสุรา,ตั้งร้านขายเนื้อ,ออกร้านขายของเบ็ดเตล็ด,ประกอบการค้ากำไร ,ประกอบการค้าขาย,ขายของสดและของสุก,[26]เป็นต้น ภิกษุณีในสมัยยุคหลังพุทธกาลไม่มีหลักฐานบันทึกพฤติกรรมไว้เหมือนในสมัยพุทธกาล จากการศึกษาพฤติกรรมจากสมัยพุทธกาลทำให้ทราบว่า ภิกษุณีที่มีพฤติกรรมที่เป็นเหตุนำไปสู่การบัญญัติสิกขาบท คือ ภิกษุณีปุถุชน ภาวะจิตใจของภิกษุณีที่ยังเป็นปุถุชนไม่เข้มแข็งเหมือนภิกษุณีอรหันต์ ยิ่งภิกษุณีปุถุชนที่ไม่มีบารมีญาณถึงพระอรหันต์จึงเป็นการง่ายมากต่อการประพฤติที่ผิด เมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแก่เพศบรรพชิต ย่อมทำให้ประชาชนไม่ศรัทธา ความเป็นอยู่ก็ลำบากเพราะบรรพชิตมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น ไม่มีประชาชนทำบุญ ภิกษุณีไม่มีทุนไปซื้อข้าวปลาอาหาร ก็ไม่สามารถอยู่เป็นภิกษุณีได้ ดังนั้นพฤติกรรมของภิกษุณีเองเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้วงศ์ภิกษุณีเสื่อมสูญลง
สาวิกาบารมีญาณ
การออกบวชของสตรีนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างบารมีมาทั้งแต่อดีตชาติหลายภพหลายชาติและ ต้องมีอุปนิสัยคือความประพฤติส่วนตัวที่สะสมเป็นพื้นในอดีตชาติส่งผลให้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดในชาติปัจจุบันเป็นปัจจัยน้อมมาในบรรพชา บุคคลที่มีอุปนิสัยในการบรรพชา เมื่อเติบโตรู้เดียงสาจะมีความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีอุปนิสัยในอดีตชาติคอยเตือนให้เห็นภัยในชีวิตฆราวาสอยู่เสมอและคิดหาหนทางออกบวช เมื่อได้บวชแล้วจะมุ่งแสวงหาสัจจะเพื่อความพ้นทุกข์อย่างตั้งใจและเด็ดเดี่ยว ผู้ที่มีสาวิกาบารมีญาณจะมีลักษณะอุปนิสสัยที่เรียกว่าสัทธาจริยา[27]คือมีความศรัทธาต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยะเจ้า จิตใจฝักใฝ่ในธรรม ชอบบริจาคทาน ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา หรือเป็นผู้มีอุปนิสัยพุทธิจริยา[28] ชอบคบหากัลยาณมิตร เรียนรู้ได้เร็ว รู้จักประมาณในการบริโภค เมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วจะใช้สติปัญญาพิจารณาหาเหตุผลในคำสอนที่ได้ฟัง เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีอันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ก็จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งพ้นจากกิเลส คนที่ไม่มีบารมีทางด้านการออกบวช เมื่อมาบวชแล้วจะไม่ยินดีในการบวช หรือที่เป็นคฤหัสถ์อยู่แล้วเมื่อใจไม่น้อมในการบวชก็ไม่อยากจะบวช เพราะการบวชนั้นมีความเป็นอยู่ที่ขึ้นอยู่กับศรัทธาของประชาชนถือว่าลำบากกว่าการเป็นคฤหัสถ์ ดังนั้นเรื่องสาวิกาบารมีญาณจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม จากการศึกษาสตรีที่เป็นสาวิกาที่บวชเป็นภิกษุณี และได้บรรลุอรหัตผลเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในเถรีคาถามีจำนวน ๗๓ รูป ในจำนวน ๗๓ รูปนั้น ภิกษุณีที่มีสัทธาจริยา(ความเลื่อมใส)เป็นตัวนำมี๔๕ รูป ภิกษุณีที่มีพุทธิจริยา(ปัญญา) เป็นตัวนำมี ๒๘ รูป [29] ภิกษุณีที่ได้บรรลุธรรมก่อนบวชมี ๑๑ รูป และภิกษุณีที่ได้บรรลุธรรมหลังบวชมี ๖๒ รูป[30] ภิกษุณีที่ระบุว่าได้สร้างบุญบารมีมาในอดีตชาติมี ๓๕ รูป ภิกษุณีที่ไม่ระบุว่าได้สร้างบุญอะไรไว้ในอดีตชาติมี ๓๘ รูป[31] ภิกษุณีที่หลักฐานไม่ระบุว่าได้สร้างบุญอะไรไว้ในอดีตนั้น ภิกษุณีเหล่านี้ต้องได้สร้างบุญบารมีอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ เพียงแต่ไม่ระบุชัดเจน โดยเฉพาะภิกษุณีมหาสาวิกาเคยตั้งความปรารถนาต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าในอดีต ซึ่งปรากฏว่าแต่ละรูปตั้งความปรารถนาต่างกัน บางรูปปรารถนาบรรลุอรหัตตผล บางรูปปรารถนาเป็นพระอัคคสาวิกา บางรูปปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะ[32] สตรีที่ได้สร้างบารมีญาณและปรารถนาเป็นอัคคสาวิกาได้เกิดในสมัยพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่บรรลุธรรมและได้ปรินิพพานไป สตรีในยุคหลังพุทธกาลผู้ที่มีบารมีบรรลุอรหัตตผลเป็นสาวิกาบารมีญาณนั้นคงหายาก ภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ถ้ายังเหลืออยู่ก็จะสามารถรักษาวงศ์ภิกษุณีเถรวาทไว้ได้ เมื่อสตรีไม่มีสาวิกาบารมีญาณ จึงไม่มีอุปนิสัยน้อมมาในบรรพชาเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นที่น่าสังเกตว่าสตรีไม่นิยมออกบวชเท่ากับบุรุษ หรือเป็นเพราะว่าสตรีผู้ที่มีบารมีในการออกบวชนั้นมีไม่มาก และการบวชนั้นมีความลำบากในเรื่องการดำเนินชีวิต ต้องมีความอดทนอย่างสูง สาวิกาบารมีญานจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วงศ์ภิกษุณีเถรวาทเสื่อมสูญไป
วินัยของภิกษุณี
วินัยอันเป็นหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับภิกษุณีมีมาตรฐานสูงกว่าวินัยของภิกษุเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นมาตรฐานที่ต่างกันคือ ปาราชิกของภิกษุณี ๘ ข้อ ในขณะที่ของภิกษุมี ๔ ข้อ ในจำนวน ๘ ข้อนั้น ๔ ข้อพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เฉพาะภิกษุณีเท่านั้น และภิกษุณีล่วงละเมิดได้ง่ายที่สุดเมื่อล่วงละเมิดแล้วก็ขาดจากความเป็นภิกษุณีทันที พระพุทธเจ้าทรงวางแผนให้ภิกษุณีมีจำนวนจำกัดเท่านั้นเท่านี้โดยจำกัดโควตาให้บวช ทรงบัญญัติให้ปวัตตินี(อุปัชฌาย์) รูปหนึ่งบวชสิกขมานาเป็นภิกษุณีได้ ๑ รูป ต่อ ๑ ปี และปีต่อไปต้องงดบวชภิกษุณี ให้เว้นระยะการบวชคือปีเว้นปีหมายความว่า ๒ ปี ปวัตตินีบวชสิกขมานาให้เป็นภิกษุณีได้ ๑ รูปไม่ทรงอนุญาตให้ปวัตตินีบวชสิกขมานาเป็นภิกษุณีทุกๆปี[33]และไม่ทรงอนุญาตให้ปวัตตินีบวชให้สิกขมานาคราวละ ๒ รูปต่อปี[34] การกำหนดโควตาให้บวชนี้ดูเหมือนเป็นระบบคุมกำเนิดภิกษุณี มีวินัยที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุณีในคัพภินีวรรค คือ ไม่ให้ภิกษุณีบวชให้สิกขมานาผู้ยังไม่ได้ศึกษาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี[35] ไม่ให้ภิกษุณีบวชให้สิกขามานาผู้ศึกษาธรรม ๖ ข้อแต่สงฆ์ยังไม่ได้รับรอง[36] ไม่ให้ภิกษุณีบวชให้เด็กหญิงอายุหย่อนกว่า ๑๒ ปี[37] ไม่ให้ภิกษุณีบวชให้เด็กหญิงอายุครบ ๑๒ ปีผู้ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี[38] ไม่ให้ภิกษุณีบวชให้เด็กหญิงอายุครบ ๑๒ ปีผู้ได้ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้รับรอง[39] ไม่ให้ภิกษุณีบวชให้สหชีวินีแล้วไม่ดูแลอนุเคราะห์เป็นเวลา ๒ ปี[40]และในกุมารีภูตวรรค คือไม่ให้ภิกษุณีบวชให้กุมารีอายุครบ ๒๐ ปี ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี[41] ไม่ให้ ภิกษุณีบวชให้กุมารีอายุครบ ๒๐ ปี ที่ได้ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้รับรอง[42] ไม่ให้ภิกษุณีมีพรรษาหย่อนกว่า ๑๒ ตั้งตัวเป็นปวัตตินีบวชให้กุลธิดา[43]ไม่ให้ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แต่สงฆ์ยังไม่ได้ตั้งให้เป็นปวัตตินี บวชให้กุลธิดา[44]
จากวินัยบัญญัตินี้จะทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงพระประสงค์ภิกษุณีที่มีคุณภาพจึงได้บัญญัติวินัยอย่างเข้มงวด ต่อมาคุณภาพของสตรีไม่ถึงจึงไม่มีคนมาบวช นอกจากนี้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภิกษุณี เช่นการบวชของภิกษุณีจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย การปวารณาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย การประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เป็นสาเหตุให้ภิกษุณีไม่สะดวกในการตัดสินใจในการบริหารภายในของภิกษุณีเอง ดังนั้นวินัยบางสิกขาบทของภิกษุณีที่มีมาตรฐานสูงกว่าของภิกษุจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภิกษุณีเถรวาทเสื่อมสูญไป
ปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอกที่เป็นเหตุให้ภิกษุณีเสื่อมสูญคือบริบทสังคม บริบทสังคมหมายรวมเอาวัฒนธรรมเข้าไปด้วย การผสมผสานวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้เป็นไปตามกระแสที่คนส่วนมากดำเนินไปในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน ระบบวรรณะ ความไม่สงบของบ้านเมือง ภัยของภิกษุณีถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อวงศ์ภิกษุณี สตรีทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหน สังคมคาดหวังให้แต่งงาน ถ้าไม่แต่งงานจะถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม เข้าสังคมไม่ได้ ทำให้สตรีที่ไม่ได้แต่งงานเป็นผู้เก้อเขินอับอายไม่มั่นใจเมื่อเข้าในสมาคม และถูกกดดันจากครอบครัวของตัวสตรีเองด้วย สตรีต้องการมีลูกไว้คอยดูแลเมื่อถึงวัยชรา
วัฒนธรรมเกี่ยวกับการแต่งงาน
ธรรมเนียมของศาสนาพราหมณ์การแต่งงานเป็นสิ่งที่สูงสุดในชีวิต ไม่มีสิ่งใดที่จะสูงยิ่งกว่าการแต่งงาน เพื่อที่จะต้องมีบุตรชายสืบสกุล สังคมอินเดียให้ค่านิยมวัฒนธรรมในการมีลูกชาย บุรุษและสตรีจะต้องแต่งงานมีลูกสืบเชื้อสาย จะเห็นได้จากบิดามารดาของพระสุทิน วิงวอนให้พระสุทิน ลาสิกขา เพื่อแต่งงานมีลูก สืบเชื้อสาย วัฒนธรรมพราหมณ์ถือว่าบุรุษต้องแต่งงาน ถ้าไม่แต่งงานมีภรรยามีลูกถือเป็นเรื่องผิดปกติ ในสมัยพุทธกาลเมื่อมีบุรุษไปบวชประชาชนย่อมตำหนิ ด้วยคำพูดว่า “พระสมณโคดมปฏิบัติเพื่อให้ชายไม่มีบุตร เพื่อให้หญิงเป็นหม้าย และเพื่อความขาดสูญแห่งตระกูล บัดนี้ พระสมณโคดมบวชชฎิล ๑,๐๐๐ คนแล้ว และบวชปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัย ๒๕๐ คนแล้ว และพวกกุลบุตรชาวมคธเหล่านี้ที่มีชื่อเสียง ก็พากันประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดม”[45] และยังมีเสียงตำหนิติเตียนตลอดเวลา ชาวบ้านทั้งหลายเมื่อเห็นภิกษุจะพากันกล่าวเสียดสีด้วยคำว่า “พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระคิริพชนคร ของชาวมคธ ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว บัดนี้ยังทรงนำใครไปอีกเล่า”[46] ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดกับบุรุษที่มาบวชเป็นภิกษุ
สำหรับสตรีนั้น ในบริบทสังคมวัฒนธรรมพราหมณ์ถือว่าเป็นผู้ตามและเชื่อฟังคำของสามี การที่จะออกบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องขออนุญาตสามีเสียก่อน เมื่อสามีไม่อนุญาต ก็บวชไม่ได้ และเป็นไปได้อย่างสูงสตรีที่มีลูกมีสามีแล้วจะห่วงสามีและลูกพร้อมทั้งบ้าน สำหรับสตรีที่อยู่ในความปกครองของบิดามารดานั้นยิ่งยากมากเพราะเป็นสตรีสาวไม่เป็นการง่ายเลยที่บิดามารดาจะปล่อยให้มาบวช ตัวอย่างเช่น นางวิสาขาสำเร็จเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และบริวารของวิสาขา ๕๐๐ คนได้สำเร็จเหมือนกัน ถือว่าไม่ได้เป็นปุถุชนนางเป็นพระอริยบุคคล แต่นาง ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งได้แต่งงาน[47] ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตร สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ไม่ได้บวช ภายหลังได้เป็นภรรยาของนายพราน[48] ว่าตามข้อเท็จจริงของสังคมอินเดียแล้ว สตรีส่วนมากจะต้องแต่งงาน โครงสร้างทางร่างกายของสตรีไม่เหมาะที่จะอยู่คนเดียวเพราะไม่ปลอดภัย ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้จาริกสั่งสอนประชาชนทุกวัน สตรีที่เป็นชาวพุทธในครั้งพุทธกาล ก็ยังไม่ปรารถนาจะบวช แต่ประสงค์จะแต่งงานตั้งแต่ยังสาว ดังเรื่องปรากฏอยู่ในธรรมบทว่า “สตรีที่เป็นกุมารีรักษาอุโบสถศีลแล้วหวังผลคือการได้แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย”[49] และอีกประการหนึ่ง วัฒนธรรมการรักษาลูกสาวของชาวอินเดียโบราณจะรักษาลูกสาวเป็นอย่างดี ถ้าเป็นลูกสาวเศรษฐีจะรักษาไว้ที่ปราสาทชั้นที่ ๗ ไม่ให้ได้พบบุรุษเลย ตัวอย่างคือ นางปฏาจารา[50] นางกุณฑุลเกสี[51] ภรรยานายพรานกุกกุฏมิตร[52] สตรีที่อยู่ในวรรณะต่ำบิดามารดาก็รักษาเหมือนสตรีที่อยู่ในวรรณะสูง เพียงแต่ได้ไม่อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ เท่านั้น ไม่ว่าจะยุคพุทธกาลหรือในยุคหลังพุทธกาล ลูกสาวจะถูกรักษาอย่างเข้มงวดมากกว่าลูกชาย
สตรีอินเดียไม่มีอิสระเป็นของตัวเองเพราะต้องอยู่ในความปกครองของบุคคลในครอบครัว การที่จะออกบวชแสวงหาทางหลุดพ้นก็เป็นไปได้ยากมากเพราะบริบทสังคมอินเดียที่ไม่เอื้อให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นภิกษุณี ในวินัยปิฎกมหาวิภังค์ได้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนในความไม่มีอิสรภาพของสตรีว่า “สตรีที่มารดาปกครอง สตรีที่บิดาปกครอง สตรีที่ทั้งมารดาและบิดาปกครอง สตรีที่พี่ชายน้องชายปกครอง สตรีที่พี่สาวน้องสาวปกครอง สตรีที่ญาติปกครอง สตรีที่ตระกูลปกครอง สตรีที่มีคู่หมั้น(สตรีที่ถูกหมั้นหมายตั้งแต่อยู่ในครรภ์)” เป็นต้น สตรีเหล่านี้เมื่อประสงค์จะออกบวชเป็นภิกษุณีจะต้องขออนุญาตจากบิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ญาติ ตระกูล คู่หมั้น ถ้าผู้ปกครองเหล่านี้เป็นพราหมณ์ จะไม่อนุญาตให้ออกบวชเป็นแน่นอน หรือถ้าเป็นชาวพุทธแต่ไม่ลึกซึ้งในพุทธศาสนา เป็นการยากที่จะอนุญาตให้บวช และมีสตรีอีกจำพวกหนึ่งคือสตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นภรรยา มีทั้งหมด ๑๐ จำพวก คือ “ภรรยาสินไถ่ ภรรยาที่อยู่ด้วยความพึงพอใจ ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ ภรรยาที่อยู่เพราะแผ่นผ้า ภรรยาที่เข้าพิธีสมรส ภรรยาที่ถูกปลงเทริด ภรรยาที่เป็นทั้งคนรับใช้เป็นทั้งภรรยา ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้าง เป็นทั้งภรรยา ภรรยาที่เป็นเชลย ภรรยาชั่วคราว”[53] สตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นภรรยา จะตัดสินอะไรต้องได้รับความเห็นจากสามีเสียก่อน และเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากที่สามีจะยินยอมให้ภรรยาไปบวช สตรีเหล่านี้ถูกผูกมัดอยู่ด้วยระบบครอบครัวต้องรับผิดชอบบุตรธิดาที่จะเกิดมาเป็นสมาชิก หรือถ้าสตรีที่เป็นโสดมีบิดามารดาปกครอง และสตรีที่มีสามี แอบหนีไปบวชโดยไม่ขออนุญาตบิดามารดาหรือสามีก็ไม่สามารถจะบวชได้เพราะติดขัดที่อันตรายิกธรรม “ข้อว่าด้วยบิดามารดาหรือสามีอนุญาตหรือยัง” อีกประการหนึ่งศาสนาพราหมณ์ฮินดูเกี่ยวกับการดูแลสตรียังฝังรากลึกและติดแน่นอยู่กับวัฒนธรรมอินเดียอย่างแกะไม่หลุดจากวิถีชีวิตของประชาชนวัฒนธรรมของสังคมอินเดียนิยมหมั้นกันตั้งแต่ในครรภ์โดยที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังไม่ได้เห็นหน้ากันอันเป็นประเพณีโบราณ จึงปรากฏมีสตรีที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้ว อายุ ๑๒ ปีมาขอบวชเป็นภิกษุณี และสตรีเหล่านี้จะต้องเป็นสิกขมานา ๒ ปี อายุ ๑๔ ปีก็สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้
ในปัจจุบันการหมั้นหมายตั้งแต่อยู่ในท้องอันเป็นประเพณีโบราณนี้ยังคงดำรงอยู่และได้รับการพัฒนามาเป็นการหมั้นหมายกันตั้งแต่นอนแบเบาะ หรือตั้งแต่เป็นเด็กหญิงอายุยังน้อย จะมีสัญลักษณ์สีแดงประทับอยู่ที่แสกผมเหนือหน้าผากและสอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบันว่า “ เด็กหญิงเล็กๆ บางคนก็ทาสีแดงแสกผมเหนือหน้าผากแล้ว เพราะบิดามารดาได้จัดการให้แต่งงานตั้งแต่เด็กเป็นทำนองหมั้นหมายไว้แต่ยังอยู่กับพ่อแม่ ต่อเมื่อโตแล้วจึงจักส่งตัวให้กับสามีต่อไป เด็กทารกบางคน ต้องแสกหน้าตั้งแต่ยังนอนแบเบาะอยู่เลย เพราะผู้ใหญ่ได้จัดให้มีการแต่งงานแล้ว เพื่อความผูกพันที่มั่นคงและแน่นแฟ้น”[54] คัมภีร์ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของพราหมณ์หลังพุทธกาลราวห้าสิบปีคือคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์[55]ในคัมภีร์ได้บัญญัติบังคับให้สตรีในวัยสาวต้องแต่งงานอยู่กับบุรุษเมื่อสตรีและบุรุษได้แต่งงานกันแล้วได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ทางศาสนาคือการสร้างมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่คัมภีร์ระบุว่า “สตรีถูกสร้างขึ้นให้มีบุตร ชายถูกสร้างขึ้นเพื่อให้กำเนิดบุตร หน้าที่ทางศาสนาอันร่วมกันของบุรุษและสตรีบัญญัติไว้ในศรุติเช่นนั้น”[56] และว่า “บิดาไม่ให้บุตรสาวแต่งงานเมื่อถึงกาลอันควรย่อมถูกตำหนิ”[57] กาลต่อมาสังคมอินเดีย ตามหมู่บ้านหรือแม้แต่อำเภอต่างๆ จะหาหญิงสาวได้ยาก เพราะอายุ ๕-๖ ปี ก็เข้าพิธีหมั้นแล้ว โดยมากผู้หญิงหมั้นผู้ชาย วัฒนธรรมการแต่งงานตั้งแต่วัยเด็ก โดยผูกติดอยู่กับความเชื่อทางด้านศาสนาได้ครอบงำสตรีพราหมณ์ไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองในด้านความคิด
บริบทเกี่ยวกับระบบวรรณะ
ค่านิยมวัฒนธรรมพราหมณ์จะดูถูกบุคคลที่โกนศีรษะถือว่าเป็นบุคคลอัปมงคล ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าต้องโต้วาทะกับพวกพราหมณ์ เพราะพราหมณ์ถือตัวเองเป็นวรรณะที่ประเสริฐกว่าทุกวรรณะ[58] พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาและตอบปัญหาแก่วรรณะพราหมณ์นี้มากกว่าวรรณะอื่น ที่เป็นเช่นนั้น เพราะวรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะที่ศึกษาพระเวทและเรียนศาสตร์หลายศาสตร์ เป็นวรรณะที่มีอิทธิพลในการสร้างระบบความเชื่อในสังคม พราหมณ์บางคนมียศศักดิ์เป็นถึงผู้ครองนคร ครอบครองทรัพย์สมบัติมหาศาล ในสมัยพุทธกาลมีพราหมณ์หลายคนเป็นเจ้าเมืองครองนคร เช่น จังกีพราหมณ์[59]โปกขรสาติพราหมณ์[60] พราหมณ์เป็นวรรณะที่ไม่นิยมโกนศีรษะ คนที่โกนศีรษะถือว่าเป็นอัปมงคล เป็นคนกาลกิณี จะแสดงความรังเกียจต่อต้านบุคคลที่โกนศีรษะเป็นอย่างมาก ใช้คำพูดที่เหยียดหยามต่อพระพุทธเจ้าบ้างและต่อภิกษุบ้าง โดยเฉพาะคำพูดที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ “มุณฑกะ สมณกะ”แปลว่า สมณะกระจอก หัวโล้น ซึ่งถือว่าเป็นถ้อยคำที่รุนแรงมาก ดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นวรรณะต่ำ เป็นพวกขี้ข้า ในพระไตรปิฎกได้บันทึกเรื่อง สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ประกอบพิธีบูชาไฟ พอเสร็จพิธีแล้วจะถวายเครื่องเซ่น ได้เหลือบไปเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งห่มคลุมพระวรกายจนถึงพระเศียรอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งจึงใช้มือข้างซ้ายถือเครื่องเซ่นที่เหลือ มือขวาถือคนโทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ พอพระผู้มีพระภาคทรงเปิดผ้าคลุมพระเศียรออก สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ จึงกล่าวขึ้นว่า “นี้คนหัวโล้น นี้คนหัวโล้น”[61] และรีบถือเครื่องเซ่นหันกลับ และยังมีเรื่องทำนองเดียวกันอีกหลายเรื่องที่พบในพระไตรปิฎก
ส่วนสตรีที่โกนศีรษะบวชเป็นภิกษุณี ก็ได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากวรรณะพราหมณ์ เหมือนกันกับภิกษุ มีเรื่องบันทึกว่า ภิกษุณีได้เดินทางไปเมืองสาวัตถีแคว้นโกศลขอพักค้างคืนในบ้านหลังหนึ่ง ในบ้านนั้นอยู่แต่พราหมณีผู้เป็นภรรยา พราหมณ์ผู้เป็นสามียังไม่กลับเข้าบ้าน เมื่อพราหมณ์ผู้สามีกลับเข้าบ้าน ถามภรรยาว่า “สตรีเหล่านี้เป็นใคร” ภรรยาบอกว่า “สตรีเหล่านี้เป็นภิกษุณี” พราหมณ์ผู้เป็นสามีจึงสั่งให้คนในบ้านขับไล่ภิกษุณีออกจากบ้านโดยใช้คำพูดว่า “พวกท่านจงขับไล่หญิงชั่ว หัวโล้นพวกนี้ออกไป”[62]
ระบบวรรณะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สตรีไม่ประสงค์จะบวชเพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นคนวรรณะต่ำตามที่วรรณะพราหมณ์ได้กล่าวหา จำนวนภิกษุณีจึงลดลงเรื่อยๆ
ภัยของภิกษุณี
ภัยของภิกษุณีถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ เพราะภัยของสตรีคือบุรุษ สตรีที่บวชเป็นภิกษุณีแล้วก็ไม่พ้นภัยคือ การถูกลวนลาม ข่มขืน จากบุรุษ พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี ได้ถูกนักเลงเจ้าชู้ได้ยืนขวางกั้นทางจะไปสวนมะม่วง[63] ภิกษุณีทั้งหลายจาริกไปภายในรัฐพวกนักเลงข่มขืนภิกษุณีเหล่านั้น[64] ภิกษุณีเที่ยวจาริกไปภายนอกรัฐถูกพวกนักเลงข่มขืน[65]ภิกษุณีในยุคหลังพุทธกาลก็คงพบภัยในลักษณะเดียวกันกับภิกษุณีในสมัยพุทธกาล ในสังคมไทยปัจจุบัน สตรีที่ประสงค์จะบวชเป็นแม่ชี ส่วนมากบิดามารดาจะไม่อนุญาต ญาติพี่น้องไม่ยินดีด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยทั้งภายในวัดและนอกวัด
การฟื้นตัวของลัทธิพราหมณ์ฮินดูในสมัยหลังพุทธกาล
สาเหตุแห่งความเสื่อมสูญของภิกษุณีอาจจะเกี่ยวโยงกับการฟื้นตัวของลัทธิพราหมณ์ฮินดูใหม่ในยุคหลังพุทธกาล ในช่วงพ.ศ. ๙๔๓-๑๐๔๓ และพ.ศ. ๑๐๐๐-๑๑๐๐พราหมณ์ได้แต่งคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เขียนให้พระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตารปางที่ ๙ ในคัมภีร์นี้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นมายาบุรุษของพระนารายณ์ เป็นแผนของพระนารายณ์ที่ส่งพระพุทธเจ้ามาหลอกลวงคนโง่ให้หลงเชื่อแล้วกำจัดทิ้งไป พระพุทธเจ้าเป็นของปลอมเป็นนักหลอกลวงไม่ใช่ของจริงเป็นเพียงมายาบุรุษ ดังข้อความในคัมภีร์ปุราณะกล่าวว่า “พวกอสูร มีประหลาทะ เป็นหัวหน้า ได้ขโมยเครื่องบูชายัญของเทพยดาทั้งหลายไป แต่เหล่าอสูรเก่งกล้ามาก...เทพยดาปราบไม่ได้ พระวิษณุเจ้า(พระนารายณ์) จึงทรงนิรมิตบุรุษแห่งมายา(นักหลอกลวง) ขึ้นมาเพื่อให้ไปชักพาเหล่าอสูรออกไปให้พ้นจากทางแห่งพระเวท...บุรุษแห่งมายานั้นนุ่งห่มผ้าสีแดง และสอนเหล่าอสูรว่าการฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นบาป...ทำให้พวกอสูรเป็นชาวพุทธและชักพาให้หมู่ชนอื่นๆ ออกนอกศาสนา พากันละทิ้งพระเวทติเตียนเทพยดาและพราหมณ์ทั้งหลาย สลัดทิ้งสัทธรรมที่เป็นเกราะป้องกันตัว เทพยดาทั้งหลายจึงเข้าโจมตีและฆ่าอสูรเหล่านั้นได้”อีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า
“ในการสงครามระหว่างเทพยดากับเหล่าอสูร เทพยดาได้ปราชัยและมาขอให้องค์พระเป็นเจ้า(พระวิษณุ=นารายณ์)ทรงเป็นที่พึ่ง องค์พระเป็นเจ้าจึงได้ทรงมาอุบัติเป็นราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะมาทรงเป็นองค์มายาโมหะ(ผู้หลอกลวง) และทรงชักพาให้เหล่าอสูรพากันหลงผิดไปเสีย ไปนับถือพุทธศาสนา และละทิ้งพระเวทแล้วพระองค์ก็ได้ทรงเป็นพระอรหันต์ และทำให้คนอื่นๆ เป็นพระอรหันต์ พวกนอกพระศาสนาจึงได้เกิดมีขึ้น”
คัมภีร์ภาควตปุราณะกล่าวว่า “เมื่อกาลียุคเริ่มขึ้นแล้ว องค์พระวิษณุเจ้า(พระนารายณ์)จะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า โอรสของราชาอัญชนะ เพื่อชักพาเหล่าศัตรูของเทพยดาทั้งหลายให้หลงผิดไปเสีย....มาสอนอธรรมแก่เหล่าอสูร...ทำให้พวกมันออกไปเสียจากพระศาสนา...พระองค์จะทรงสั่งสอนเหล่าชนผู้ไม่สมควรแก่ยัญพิธีให้หลงผิดออกไป ขอนอบน้อมแด่องค์พุทธะ ผู้บริสุทธิ์ผู้หลอกลวงเหล่าอสูร” คัมภีร์มหาภารตะได้กล่าวว่า“เมื่อเริ่มกลียุค องค์พระวิษณุเจ้าจะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นโอรสของราชาสุทโธทนะ และจะเป็นสมณะโล้น ออกสั่งสอนด้วยภาษามคธ ชักพาเหล่าประชาชนให้หลงผิด ประชาชนเหล่านั้นก็กลายเป็นคนหัวโล้นไปด้วย และนุ่งห่มผ้าเหลือง พราหมณ์ก็เลิกทำพิธีเซ่นสรวง และหยุดสาธยายพระเวท.ลำดับนั้น เมื่อสิ้นกลียุค พราหมณ์นามว่ากัลกี เป็นบุตรแห่งวิษณุยสะ จะมาถือกำเนิด และกำจัดเหล่าพวกอนารยชนคนนอกศาสนาเหล่านั้นเสีย”ฮินดูนิกายไศวะ สายศังกราจารย์ สอนว่าศังกราจารย์เป็นอวตารของพระศิวะ(พระอิศวร) เพื่อมากำจัดพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา มีข้อความในศังกรทิควิชยะว่า
“เทพยดาทั้งหลายได้มาร้องทุกข์แด่องค์พระศิวะเป็นเจ้าว่า พระวิษณุได้เข้าสิงสู่ร่างของพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์เพื่อประโยชน์ของตน บัดนี้ เหล่าชนผู้เกลียดชังพระศาสนา ผู้ดูหมิ่นพราหมณ์ ดูหมิ่นธรรมแห่งวรรณะ และอาศรมธรรม ได้มีจำนวนมากเต็มผืนแผ่นดิน ไม่มีบุคคลใดประกอบพิธี เพราะคนทั้งหลายได้กลายเป็นคนนอกพระศาสนา(นอกศาสนาฮินดู) คือเป็นพุทธ เป็นพวกกาปาลิก เป็นต้น ทำให้เหล่าเทพยดาทั้งหลายไม่ได้เสวยเครื่องเซ่นสังเวย องค์พระศิวะเป็นเจ้า ก็ได้โปรดเห็นชอบกับเหล่าเทพยดา เสด็จอวตารลงมาเป็นศังกราจารย์ เพื่อกู้คำสอนแห่งพระเวท ให้ฟื้นคืนกลับมา เพื่อให้สากลโลกมีความสุขและทำลายความประพฤติชั่วให้สิ้นไป”[66] ในช่วงนี้ศาสนาพราหมณ์ฮินดูได้ฟื้นขึ้นมาเจริญรุ่งเรืองและได้เขียนคัมภีร์ให้พระพุทธเจ้าเป็นบุรุษมายา หลอกลวงคนโง่และกำจัดทิ้ง การเจริญเติบโตของฮินดู ถ้ามองในมุมกลับก็คือความเสื่อมลงของสิทธิและโอกาสของสตรีที่จะเข้าถึงศาสนา ฮินดูมีรากฐานในการกำจัดสิทธิสตรี ซึ่งสิทธิสตรีนี้จะถูกจำกัดด้วยคำสอนของพราหมณ์ฮินดู เมื่อศาสนาพุทธเสื่อมลง ก็หมายถึงสิทธิของสตรีเสื่อมลงด้วย ค่านิยมที่สตรีบวชได้ก็ถูกบันทอนลงในที่สุดก็สูญหายไป
บริบทเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง
เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการที่พุทธศาสนาจะเสื่อมหรือเจริญ ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้นำหรือกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองนั้น การที่จะรู้จักความเป็นไปของภิกษุณีนั้นเป็นการยากเพราะไม่ได้รับการบันทึกไว้ ดังนั้นจึงต้องศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาจึงจะทราบความเป็นไปของภิกษุณี พุทธศาสนาในประเทศอินเดียนั้น ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ในยุคของพระองค์มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ส่งสมณทูตออกไปประกาศศาสนา ๙ สาย พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง หลังพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคต ราชวงศ์เมารยะได้เริ่มเสื่อมลง อาณาจักรเริ่มแตกแยกพระราชนัดดาของพระองค์คือเจ้าชายทศรถและเจ้าชายสัมปติได้แบ่งอาณาจักรกันปกครอง เมื่อเจ้าชายทศรถทรงครองราชย์ได้ ๘ ปี ก็เสด็จสวรรคต เจ้าชายสัมปติทรงครองราชย์เพียงผู้เดียวและพระองค์ทรงนับถือศาสนาเชน[67] และเมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าพฤหทรถ ทรงเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอมาก ได้ถูกพราหมณ์ชื่อว่าปุษยมิตรซึ่งเป็นเสนาธิการในราชสำนัก แย่งราชบัลลังก์ปลงพระชนม์พระเจ้าพฤหทรถแล้วปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน ตั้งวงศ์ขึ้นใหม่ชื่อว่าราชวงศ์ศุงคะ มีเมืองหลวงชื่อว่าปาฏลีบุตร อวสานราชวงศ์เมารยะในเวลา ๕๐ ปี กษัตริย์ปุษยมิตรเป็นพราหมณ์ จึงได้ประกอบพิธีบูชายัญชื่อว่า อัศวเมธ และมีพราหมณ์ที่เป็นนักปราชญ์ชื่อว่าปตัญชลีเป็นเจ้าพิธี พระเจ้าปุษยมิตรทรงทรงเบียดเบียนพระสงฆ์ เผาทำลายวัด วิหารและสถูปเป็นจำนวนมาก พระสงฆ์ในกุกกุฏารามและอโศการามในเมืองปาฏลีบุตร ถูกเบียดเบียนอย่างหนัก จึงต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น พระเจ้าปุษยมิตรได้ตั้งรางวัล ๑๐๐ ดินาร์แก่ผู้ที่ตัดศรีษะภิกษุได้ ๑ ศรีษะ ด้วยพระประสงค์จะกำจัดพระพุทธศาสนาให้หมดสิ้นไปจากอาณาจักรของพระองค์ ราชวงศ์ศุงคะปกครองอินเดียเป็นเวลา ๑๐๐ กว่าปี และนับถือศาสนาพราหมณ์[68] ราชวงศ์กุษาณเป็นอีกราชวงศ์หนึ่งที่ได้ปกครองอินเดียโปราณต่อจากราชวงศ์ศุงคะ กษัตริย์ในช่วงต้นราชวงศ์คือพระเจ้ากัทพิเสส ที่ ๑ และที่ ๒ นับถือศาสนาเทวนิยมตามพวกกรีก ไม่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช พระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน จึงมีการบำรุงพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน[69]
เมื่อราชวงศ์กุษาณเสื่อมอำนาจลงอินเดียเริ่มระส่ำระสายอาณาจักรแตกแยกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ขัดแย้งกันตลอดเวลา จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๘ พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๑ ได้สถาปนาราชวงศ์คุปตะขึ้นในแคว้นมคธ และกษัตริย์ในราชวงศ์คุปตะส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ราชวงศ์คุปตะปกครองอินเดียประมาณ ๒๐๐ ปีเศษก็เสื่อมอำนาจลง พระเจ้านรวรรธนะได้ตั้งราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ชื่อว่าวรรธนะ กษัตริย์ในต้นวงศ์วรรธนะ ๔ พระองค์ คือ พระเจ้านรวรรธนะ พระเจ้าราชยวรรธนะ พระเจ้าอาทิตยวรรธนะ และพระเจ้าประภาวรรธนะทรงนับถือศาสนาฮินดู บูชาศิวลึงค์ ถึงรัชสมัยพระเจ้าหรรษวรรธนะทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อพระเจ้าหรรษวรรธนะสวรรคต[70] พระเจ้าโคปาละได้สถาปนาราชวงศ์ปาละขึ้นในปีพ.ศ.๑๒๕๐ ราชวงศ์ปาละนับถือพระพุทธศาสนา กษัตริย์ในยุคต้นราชวงศ์ปาละทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง แต่ในช่วงปลายราชวงศ์กษัตริย์ไม่ทรงให้ความสำคัญในการบำรุงพระพุทธศาสนา ราชวงศ์ปาละได้ปกครองอินเดีย ๔๐๐ กว่าปี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ราชวงศ์ปาละเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าวิชัยเสนได้สถาปนาราชวงศ์เสนะขึ้นปกครองอินเดีย กษัตริย์ราชวงศ์เสนะเป็นฮินดู ในยุคนี้ประชาชนหันไปนับถือศาสนาฮินดูมากขึ้นสถานการณ์พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงมาก ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ กองทัพอิสลามเติร์กบุกทำลายเมืองต่างๆ ในแคว้นมคธ ได้เผาวัด วิหาร มหาวิทยาลัยนาลันทา ตำราวิชาการในหอสมุดมหาวิทยาลัยถูกเผาหมดสิ้น พระสงฆ์สามเณรถูกฆ่าฟันล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่รอดตายได้หลบหนีเข้าไปในเนปาลและทิเบต ผลกระทบจากการบุกอินเดียของกองทัพอิสลามเติร์กครั้งนี้ พระพุทธศาสนาถูกทำลายมากกว่าฮินดู พระสงฆ์หมดไปจากอินเดียจำเดิมแต่นั้นมา เมื่อขาดสถาบันสงฆ์ ชาวพุทธก็ขาดที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ชาวพุทธถูกกลืนเข้าไปเป็นศาสนิกฮินดู บางส่วนก็ถูกบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม วัดและวิหารบางแห่งที่รอดพ้นจากการถูกทำลาย ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของฮินดู พุทธศาสนาได้เกิดและเจริญในอินเดียเป็นเวลา ๑๗ ศตวรรษ และได้สูญสิ้นจากในอินเดีย[71]กองทัพอิสลามภายใต้การนำของขุนทัพบักตยาร์ ขัลจิ ยกทัพบุกทะลวงมคธในปี พ.ศ.๑๗๔๓(ค.ศ.๑๒๐๐)แล้วได้ทำลายมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา อันเป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เป็นที่รวมของวัด ๑๐๘ วัด มีอาจารย์บรรยาย ๘๐๐ ท่าน มีนักศึกษาเป็นจำนวนหมื่น...... และกองทัพอิสลามได้ยกเข้ามาล้อมมหาวิทยาลัยนาลันทาได้ใช้ไฟเผามหาวิทยาลัยเสียเรียบ ขนเอาทรัพย์สมบัติไปมหาศาล แล้วไปปล้นเอาทรัพย์สมบัติตามวัดต่างๆฆ่าฟันภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่พบเห็น[72] บันทึกของพระถังซำจั๋ง ได้บันทึกไว้เมื่อค.ศ. ๖๒๗-๖๔๙ ได้บันทึก เกี่ยวกับมหิรกุลราชากับแคว้นกัศมีระ ว่า หลังจากที่มหิรกุลราชาฆ่าพระราชาแห่งกัศมีระสิ้นพระชนม์แล้ว หลังจากนั้นได้ยกทัพไปฆ่าพระราชาแคว้นคันธาระ และได้ทำลายสถูปวัดวาอารามย่อยยับ นับได้กว่า ๑,๖๐๐ แห่ง เหล่าขุนนางได้เตือนมหิรกุลราชา ไม่ให้ทำลายวัดวาอาราม และเข่นฆ่าคน มหิรกุลราชาตรัสว่า “พวกเจ้าล้วนนับถือศาสนาพุทธ ให้ความสำคัญกับความสุขที่จะได้รับในปรโลก มุ่งพุทธผล จึงได้เพียรพยายามเผยแผ่เรื่องราวในชาดกของศากยมุนี เจตนาจะให้เวรกรรมของเราติดตัวไปชาติหน้าหรือไร พวกเจ้าจงกลับไปที่ของตนและหุบปากเสียให้สนิท”[73]พระเจ้ามหิรกุลได้รับสั่งให้รื้อสถูปและทำลายสังฆารามทั้งหลายเสียถึงหนึ่งพันหกร้อยแห่งใช่แต่เท่านั้นพระองค์รับสั่งให้ฆ่าชาวพุทธในแคว้นนั้นเสียเป็นจำนวนมากต่อมาก[74]
พุทธศาสนาในประเทศอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๙๔๒ ยังเจริญรุ่งเรืองทราบจากบันทึกของพระภิกษุฟาเหียน และพุทธศาสนาใน ปี พ.ศ. ๑๑๗๒ เสื่อมลง ทราบจากบันทึกของพระถัมซำจั๋ง การเดินทางของทั้งสองท่านนี้ห่างกัน ๒๓๐ ปี ท่านทั้งสองเดินทางผ่านเมืองเดียวกัน จำนวนภิกษุในสมัยพระฟาเหียนจะมากกว่า สมัยพระถังซำจั๋ง เมื่อเปรียบเทียบบันทึกการเดินทางของพระภิกษุ ๒ รูปนี้แล้วจะเห็นความชัดเจนในจำนวนที่ลดลงของภิกษุ[75] ดังนี้
สมัยพระฟาเหียน
|
สมัยพระถังซำจั๋ง
|
แคว้น Nagarahara รอบเมืองมีวัดมีภิกษุ ๗,๐๐๐ รูป
|
อารามมีจำนวนมาก แต่ภิกษุมีจำนวนน้อย สถูปถูกปล่อยให้รกร้าง
|
แคว้นUdyana พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากมีสังฆาราม ๕๐๐ แห่ง ล้วนศึกษาหินยาน
|
ในอดีตมีภิกษุ๑๘,๐๐๐ รูป ปัจจุบันลดน้อยลงนับถือมหายาน
|
Mathura สองฝั่งแม่น้ำมีสังฆาราม ๒๐ แห่ง มีภิกษุ ๓,๐๐๐ รูป
|
มีสังฆาราม ๒๐ กว่าแห่ง มีภิกษุ ๒,๐๐๐ รูป
|
KapiTha มีภิกษุและภิกษุณีนับได้ ๑,๐๐๐ รูป ศึกษามหายาน และหินยาน
|
สังฆารามฝั่งตะวันออกของเมือง มีภิกษุสงฆ์นับ ๑๐๐ รูป
|
Kanyakubja มีสังฆาราม ๒ แห่งล้วนศึกษาหินยาน
|
สังฆาราม ๑๐๐ กว่าแห่ง ภิกษุสงฆ์๑๐,๐๐๐กว่ารูป ศึกษาทั้งมหายานและหินยาน
|
Konsambi ปัจจุบันยังมีหมู่สงฆ์อยู่ส่วนใหญ่ศึกษาหินยานในเมืองไร้เจ้าครองนครและชาวบ้าน แทบเป็นเนินล้าง มีเพียงหมู่สงฆ์ บ้านเรือนกว่า ๑๐ หลังคาเรือนเท่านั้น
|
มีอาราม ๑๐ กว่าแห่งส่วนใหญ่ถูกทิ้งรกร้าง ภิกษุสงฆ์ ๓๐๐ กว่ารูป ศึกษาหินยาน อารามเก่า ๑,๐๐๐ แห่ง ด้านหนึ่งของกำแพงวัง มีอารามอยู่แห่งหนึ่ง ภิกษุ ๓๐ กว่ารูป ศึกษาหินยาน
|
Tamraliti มีสังฆาราม ๒๔ แห่ง ล้วนมีภิกษุประจำอยู่ มีภิกษุ ๖,๐๐๐ รูป ล้วนศึกษาหินยาน
|
อารามกว่า ๑๐ แห่ง ภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป
|
Gandhara ชาวเมืองนี้ส่วนใหญ่ศึกษาหินยาน แต่กษัตริย์ชอบการฆ่าฟัน ไม่ศรัทธาพุทธศาสนา
|
อารามนับ ๑๐ ส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้าง ภิกษุ ๓๐๐ กว่ารูปศึกษามหายาน
|
จากการศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาในอินเดีย ร่องรอยภิกษุณีเถรวาทปรากฏอยู่อย่างมั่นคงในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คือระหว่างปีพ.ศ. ๒๑๘-๒๖๐(หรือตามหลักฐานของนักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันส่วนมากว่า พ.ศ ๒๗๐- พ.ศ.๓๑๒) และมีปรากฏในจารึกต่างๆในสมัยต่อมาแต่ไม่มากนัก หลังจากนั้นไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ ภิกษุณีไม่สนใจบันทึกเรื่องของตัวเองไว้ เป็นไปได้ว่าภิกษุณีอาศัยภิกษุมานาน ภิกษุณีคงคาดหวังว่าภิกษุคงจะบันทึกเรื่องของตนเองไว้ ภิกษุณีจึงไม่ได้บันทึกเรื่องตัวเอง ภิกษุณีส่วนมากไม่ค่อยได้ศึกษาเล่าเรียนเท่าไหร่ ดังนั้นหลักฐานต่างๆของภิกษุณีจึงต้องศึกษาจากหลักฐานเกี่ยวกับพระภิกษุ วงศ์ภิกษุณีเถรวาทในอินเดีย เสื่อมลงในปี พ.ศ.ใด หลักฐานไม่ปรากฏชัดเจน สันนิษฐานว่าคงสูญสิ้นลงในศตวรรษที่ ๑๗ พร้อมกับวงศ์ของภิกษุ
ภิกษุณีในศรีลังกาปรากฏหลักฐานหลังสังคายนาครั้งที่ ๓ ตามหลักฐานว่าพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะกษัตริย์เกาะตัมพปัณณิทวีป(ลังกา)ส่งพระราชสาสน์ขอภิกษุณีจากพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์ชมพูทวีป(อินเดีย)มาให้บวชสตรีในเกาะลังกา สังฆมิตตาภิกษุณีจึงถูกส่งมาที่เกาะลังกาและได้บวชพระนางอนุฬาเทวีและบริวาร ๑,๐๐๐ คน[76] ภิกษุณีในลังกานั้นรุ่งเรืองสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ หลังจากนั้นมาเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบฐานะความเป็นอยู่ของภิกษุสงฆ์ไม่มั่นคง ปัญหาการเมืองอันเนื่องจากกษัตริย์ ๒ กลุ่ม แย่งกันครองลังกา กาลใดกษัตริย์ชาวสิงหลขึ้นครองราชย์พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองแต่กาลใดทมิฬขึ้นครองราชย์พุทธศาสนาถูกตัดทอน วัดวาอารามถูกทำลายกลายเป็นวัดร้าง พระสงฆ์ถูกเบียดเบียนจากกษัตริย์ ลังกามีสงครามรบพุ่งกันเป็นประจำ เมื่อค.ศ. ๙๘๕-๑๐๑๒ ตรงกับ พ.ศ. ๑๕๑๒-๑๕๕๕ กษัตริย์อินเดียใต้ได้มาครอบครองเกาะลังกาและศาสนาฮินดูก็ได้เข้ามาพร้อมกับกษัตริย์ผู้นี้ ประชาชนชาวลังกาจึงนับถือศาสนาฮินดู กษัตริย์อินเดียใต้ครองลังกาอยู่ ๕๓ ปี และหลังจากนั้นมามีสงครามเกิดขึ้นเป็นประจำ กษัตริย์แย่งกันครองราชย์เหมือนเช่นเคย จนกระทั่งมีปอร์ตุเกสเข้าไปครอบครองเกาะลังกา ศาสนาคริสต์ได้แพร่ไปสู่ชนชาวลังกา หลังจากนั้นฮอลันดาเข้าครอบครองเกาะลังกาในสมัยที่ฮอลันดาปกครองนั้นพระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมากกระทั่งหาภิกษุรวมกันเป็นคณะเดียวกันรวมกัน ๕ รูปไม่ได้ ปรากฏว่าพระสงฆ์ในลังกาสูญวงศ์ลง เพราะไม่ได้อุปสมบทกันช้านาน เหลือแต่สามเณรรูปเดียวชื่อสรณังกร อายุ ๕๕ ปี ต่อมาพระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์กษัตริย์ลังกาได้แต่งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาส์นขอพระสงฆ์ไทยไปตั้งพระพุทธศาสนาให้อุปสมบทชาวลังกา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโปรดให้พระ อุบาลีวัดธรรมาราม กับ พระอริยมุนี พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๑๖ รูป รวม ๑๘ รูป และสามเณรอีก ๗ รูป ไปตั้งคณะสงฆ์สยามวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ [77]เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของลังกาแล้วจะทราบได้ว่าบ้านเมืองไม่สงบ เมื่อกษัตริย์ทมิฬหรือฮินดูครองราชย์ ศาสนาพุทธก็เสื่อมโทรม อารามถูกเผา พระสงฆ์ถูกเบียดเบียน สำหรับสตรีถึงแม้จะมีศรัทธาจะบวช คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอนุญาตให้ลูกสาวไปอยู่ไกลตากลัวลูกจะได้รับอันตรายแก่ชีวิต บางรัชสมัยภิกษุต้องสึกเพื่อกอบกู้แผ่นดิน จากเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบนี้เอง ภิกษุสงฆ์ในลังกาจึงสูญวงศ์ลง ภิกษุณีในลังกาสันนิษฐานว่าเสื่อมสูญวงศ์ลง ประมาณพ.ศ ๑๕๑๒ เป็นต้นมา จี.พี.มาละลาเสเกร่า ยืนยันว่าภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาสูญสิ้นไปเมื่อกษัตริย์โจฬะครอบครองศรีลังกาในศตวรรษที่ ๑๐ หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๕[78] ส่วนภิกษุสงฆ์เมื่อเสื่อมสูญลงแล้วได้ขออุปัชฌาย์จากประเทศไทยไปบวชกุลบุตรชาวลังกา
เหตุการณ์ความไม่สงบเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดที่เป็นเหตุที่ทำให้ภิกษุต้องหมดไปจากประเทศนั้นๆ เหมือนในประเทศกัมพูชา เมื่อ เมื่อค.ศ. 1975-1979 (พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๒) เมื่อคอมมิวนิสต์เวียตนามเหนือนำทหาร เข้ามาตั้งฐานในกัมพูชา ๒ แสนคน และร่วมมือกับเขมรแดงเข้าตีพนมเปญ ในขณะนั้นพระเจ้านโรดมสีหนุและพระราชินีเสด็จฝรั่งเศส เวียตนามเหนือร่วมมือกับเขมรแดงยึดพนมเปญได้ หัวหน้าเขมรแดงคือสลุดซอ(พลพรตชื่อที่ฝรั่งเศสตั้งให้) นายพลสลุดซอหรือพลพรตได้จับพระสึก ถ้าขัดขืนให้ดึงจีวรออกจากร่าง หรือไม่ก็ถูกฆ่าอย่างทารุณ หลังจากสึกแล้วให้ไปทำนาและเคี่ยวเข็ญให้ทำงานอย่างหนัก ให้กินข้าวต้มวันละ ๑ ทัพพี ผสมกับน้ำ และผักต้ม รับประทานอาหารวันละ ๒ เวลา คือเช้า-เย็น พระสังฆราชทิพยวงศ์ถูกจับสึก พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ๘ รูป และพระเถระนั่งในรถเก๋งได้ขับลงแม่น้ำโขงฆ่าตัวตาย พระที่เรียนสูงๆถูกจับสึกหมด พระแงดเนียงจบจาก ประเทศฝรั่งเศส หลังจากถูกจับสึกแล้ว ได้ไปบอกชาวบ้านให้ระวังตัว ทหารเวียตนาม จับแงดเนียงไปขังไว้ในอุโบสถ รอคำสั่งฆ่า ท่านจึงได้ผูกคอตายในอุโบสถนั่นเอง ดังนั้นภายใน ๒-๓ ปี ภิกษุและสามเณรได้หมดไปจากประเทศกัมพูชา คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาถูกเผาเป็นจำนวนมาก ทำลายพระพุทธรูป ส่วนโบสถ์ วิหารถูกนำไปใช้เป็นที่เก็บอาวุธ เป็นที่นอน เป็นโรงครัวของกองทัพทหารเวียตนามเหนือ[79] จากเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้วงศ์ของภิกษุในประเทศกัมพูชาต้องหมดไป เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายแล้วจึงได้ขออุปัชฌาย์จากประเทศไทยไปบวชให้ชาวกัมพูชา และเหตุการณ์ที่เกิดในกัมพูเจียกรอม(เขมรใต้) ซึ่งดินแดนส่วนนี้แต่ก่อนเป็นของเขมร แต่ต่อมาด้วยเหตุผลทางการเมืองจึงมาอยู่ในความปกครองของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนามในปัจจุบันนี้ กัมพูเจียกรอมนับถือพุทธศาสนาเถรวาทมีชาวเขมรอยู่ในดินแดนเดิมของตนประมาณ ๑๒ ล้านคน มีวัดเถรวาท ๕๖๔ วัด ปัจจุบันนี้มีพระประมาณ ๒๐,๐๐๐รูป เมื่อปี ค.ศ. 1984 ภิกษุถูกจับติดคุกประมาณ ๒,๐๐๐ รูป และถูกเบียดเบียนอย่างต่อเนื่อง การที่จะบวชเป็นภิกษุนั้นต้องขออนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อนจึงจะบวชได้ ภิกษุบวชแล้วต้องทำนา ทำสวน เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา และห้ามไม่ให้ชาวบ้านมาช่วย หรือบวชอยู่ก็สามารถถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหาร ถ้ามีการขุดคลองจะเกณฑ์พระภิกษุและฆราวาสชาวพุทธไปขุดคลอง แต่ละคนต้องขุดให้ได้ยาว ๕ เมตร กว้าง ๒ เมตร ถ้าถนนสายไหนขาดจะเกณฑ์ภิกษุไปซ่อม การทำพิธีกรรมต่างๆที่มีคนตั้งแต่ ๘ คนชุมชนกัน และนิมนต์พระมาทำพิธีต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเสียก่อน ส่วนสตรีกัมพูเจียกรอมที่บวชก็บวชเป็นแม่ชี โกนศีรษะ ใส่เสื้อขาว ส่วนมากเป็นสตรีที่มีอายุ เรียกพวกเธอว่า “เนียะกันศีล” จะพักอาศัยอยู่บ้าน เมื่อถึงวันอุโบสถจะไปวัดรับศีล แล้วกลับมาอยู่บ้าน เพราะที่วัดไม่มีที่อยู่อาศัยและไม่ปลอดภัย ประการสำคัญไม่มีใครเลี้ยง พระภิกษุท่านก็ทำนาเลี้ยงตัวเอง[80]เหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมืองเป็นสาเหตุให้ภิกษุลดจำนวนลง การพระศาสนาไม่เจริญ สตรีประสงค์จะบวชก็ไม่สามารถจะอยู่วัดได้ต้องมาอยู่ที่บ้าน
ความไม่สงบของบ้านเมืองถือเป็นปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้ภิกษุณีในอินเดียและศรีลังกานั้นได้เสื่อมสูญลง I.B Horner ได้กล่าวถึงการสูญสิ้นภิกษุณีว่า “กำหนดเวลาแน่นอนไม่ได้ ภิกษุณีเสื่อมตั้งแต่ต้นเป็นลำดับมา ช่วงแรกของการบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์นั้นภิกษุณีส่วนมากมาจากคนตระกูลชั้นสูงที่ออกจากเรือนบวชในพระศาสนา ต่อมาภิกษุณีสงฆ์เสียคุณลักษณะนี้ไปสถาบันภิกษุณีสงฆ์กลายเป็นที่พึ่งพำนักของคนยากจนอนาถา คนล้มเหลวในชีวิต สาวแก่และแม่หม้าย รวมทั้งการไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวของชนชั้นสูงในที่สุดก็ถูกละเลยให้สูญสิ้นไป”[81]
ส่วนที่ศรีลังกาได้กล่าวถึงสตรีในพุทธศาสนาคือ ทศศีลดังข้อความว่า “ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอนาถาแต่ละแห่งจะมีพระสงฆ์อยู่ ๑ หรือ ๒ รูป บุคคลที่มีหลักฐานดี เป็นผู้ตั้งขึ้นนั้นต้องการพระสงฆ์คอยให้โอวาท และอบรมสั่งสอนเด็กเหล่านี้ให้มีความประพฤติเรียบร้อย แต่ในสถานที่ๆ มีเด็กหญิงอยู่ด้วย ปรากฏว่าไม่มีพระดังกล่าวอยู่ ในสถานเด็กกำพร้าหญิงนั้นจะมีแม่ชีซึ่งชาวลังกาเรียกว่า ทศศีลเป็นผู้อยู่แทนสงฆ์”[82]ในประเทศศรีลังกาปรากฏมีเฉพาะทศศีลตามหลักฐานดังกล่าว กาลต่อมาศรีลังกาพยายามจะฟื้นฟูวงศ์ภิกษุณีขึ้นมาอีก คำถามมีต่อไปว่า“เมื่อมีการรื้อฟื้นวงศ์ภิกษุณีเถรวาทขึ้น ยังได้ชื่อว่าภิกษุณีเถรวาทหรือไม่?” ประเทศศรีลังกาเคยมีภิกษุณีมาแล้วดังนั้นจึงได้พยายามจะรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีขึ้นมาอีกโดยมีภิกษุสงฆ์ในประเทศศรีลังกาเป็นผู้สนับสนุน และเมื่อปี ค.ศ.1986 พระภิกษุชาวศรีลังกา จัดการประชุมใหญ่ที่ศรีลังกา ในการประชุมคราวนั้นมีประสงฆ์จากทั่วโลก เลขาธิการของการประชุมเป็นพระที่สมาคมมหาโพธิที่พุทธคยา ได้กล่าวในที่ประชุมเรื่องการช่วยสตรีชาวศรีลังกาให้ได้บวชเป็นภิกษุณี[83] เมื่อพระให้ความสนับสนุนเช่นนี้ความพยายามของสตรีชาวศรีลังกาในการที่จะบวชเป็นภิกษุณีไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศของตัวเอง ทศศีลชาวศรีลังกาได้ไปบวชเป็นภิกษุณีอยู่ที่วัดชีไหล ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา พระซิงหยุน แห่งวัดโฝกวางซานเป็นผู้ดำเนินการบวชให้ จากคำให้สัมภาษณ์ของภิกษุณีกุสุมา ได้กล่าวว่า เมื่อค.ศ.1988 วัดชีไหล สาขาวัดโฝกวางซาน ลอสแองเจลิส อเมริกา มีการจัดบวชภิกษุณี สตรีชาวศรีลังกาไปบวช ๑๑ คน เมื่อไปถึงแล้ว ส่วนหนึ่งไม่บวชเป็นภิกษุณี คงเป็นทศศีลเหมือนเดิม และอีกส่วนหนึ่ง ได้บวชเป็นภิกษุณี เมื่อสตรีที่ได้รับการบวชเป็นภิกษุณีจากวัดชีไหลนั้นกลับประเทศศรีลังกา สังคมไม่ยอมรับในที่สุดก็กลับมาแต่งตัวนุ่งห่มแบบทศศีลมาตาเหมือนเดิม การบวชครั้งนั้นล้มเหลว เพราะภิกษุณีเหล่านี้ไม่มีความรู้ ขาดความมั่นใจ[84] ได้มีการบวชภิกษุณีที่พุทธคยา นำโดยวัดโฝกวางซาน ประเทศใต้หวัน เป็นเจ้าภาพในการจัดการบวช ,มีการบวชที่ประเทศศรีลังกา โดยคณะภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ นำโดยท่านสุมังคละ มหาเถระ เป็นพระฝ่ายอัสคีรีสยามนิกาย , มีการบวชที่ประเทศใต้หวัน วัดโฝกวางซาน เมืองเกาซุง[85] เมื่อปี ค.ศ. 1996 สตรีชาวศรีลังกาคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์สอนธรรมะด้วย มีความประสงค์จะบวชจึงได้เชิญภิกษุณีชาวเกาหลีชื่อว่า Sang Won มาเป็นอุปัชฌาย์ พระที่สมาคมมหาโพธิที่พุทธคยาประเทศอินเดียชาวศรีลังกา ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนสตรีศรีลังกาท่านนี้ และประการสำคัญสังคมยอมรับเพราะเคยสอนธรรมะและมีความรู้ ส่วนการแต่งกายนั้น ครั้งแรกพระศรีลังกาเสนอให้มีการแต่งกายสีเหลืองแต่รูปแบบการตัดเย็บให้เป็นแบบเกาหลี ในขณะนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระศรีลังกาได้ยื่นจีวรให้สตรีศรีลังกาคนนั้น เป็นอันว่า ภิกษุณีศรีลังกา ที่มีอุปัชฌาย์เป็นภิกษุณีเกาหลี จึงมีการแต่งกายโดยการใช้จีวรสีเหลืองเหมือนภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีศรีลังการูปนี้คือ ภิกษุณีกุสุมา[86] ความจริงภิกษุณี Sang won ได้เข้าไปอยู่ในประเทศศรีลังกาเมื่อปี ค.ศ. 1982 เพื่อดูสถานการณ์ ความเป็นไปได้ในการบวชภิกษุณีที่ศรีลังกาโดยอาศัยอยู่ ๓ ปี นับเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูวงศ์ภิกษุณีในประเทศศรีลังกา ภิกษุณีกุสุมาเล่าให้ฟังว่า “ภิกษุณีศรีลังกาบวชจากภิกษุณีเกาหลี ส่วนภิกษุณีเกาหลีนั้นบวชจากภิกษุณีจีน และภิกษุณีจีนบวชมาจากภิกษุณีศรีลังกา”[87] และสอดคล้องกับ หลักฐานว่า “พ.ศ. ๙๗๕ ภิกษุณีชาวลังกาคณะหนึ่ง โดยการนำของภิกษุณีเทวสารา ได้เดินทางไปประเทศจีนทางเรือ เพื่อประกอบพิธีบวชให้แก่ภิกษุณีสงฆ์ในประเทศจีน นับแต่นั้นมาภิกษุณีสงฆ์ก็ถือว่าได้ตั้งมั่นลงแล้วในประเทศจีนและมีศิษย์สืบสายกันมาไม่ขาดสาย[88]การบวชของสตรีศรีลังกาโดยการจัดของคณะสงฆ์ศรีลังกา มีปวัตตินีเป็นภิกษุณีใต้หวันหรือภิกษุณีเกาหลี โดยอาศัยความเชื่อว่า ปวัตตินีเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากภิกษุณีศรีลังกาเมื่อคราว พ.ศ. ๙๗๕ ในเมื่อสงฆ์ ๒ ฝ่ายเป็นสายเถรวาท ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้รับการบวชใหม่ในปัจจุบันนี้เป็นภิกษุณีเถรวาทหรือไม่?
จากคำถามนี้ ต้องย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ของศรีลังกาช่วงพ.ศ. ๕๐๐ ภิกษุฝ่ายอภัยคิรีวิหาร ได้ยอมรับและประพฤติตามคำสอนของภิกษุเหล่าวัชชีบุตรซึ่งสอนว่า “คนเรามีตัวตนถาวร”[89] จากการที่ประพฤติตามคำสอนของเหล่าวัชชีบุตร ภิกษุสงฆ์ฝ่ายอภัยคิรีวิหารจึงมีชื่อเรียกว่านิกายธรรมรุจี พระเจ้าวัฏฏคามินีทรงโปรดปรานนิกายธรรมรุจีมาก คณะสงฆ์ฝ่ายอภัยคิรีวิหารเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น[90]เพราะทำการศึกษาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกก้าวหน้าอยู่เสมอ ฝ่ายมหาวิหารเป็นพวกอนุรักษ์นิยมทำให้บางสิ่งบางอย่างกลายเป็นเครื่องถ่วงความเจริญทำให้นิกายทั้งสองนี้แตกแยกกันมากขึ้น[91] ในหนังสือศาสนวงศ์กล่าวว่า ภิกษุอภัยคิรีวิหารที่พระเจ้าวัฏฏคามินีสร้างถวายได้แก้ไขคัมภีร์ปริวารคลาดเคลื่อนจากบาลีและอรรถกถาแล้วแยกจากคณะมหาวิหารวาสีเป็นจำนวนมากมาตั้งเป็นคณะหนึ่ง[92] พ.ศ. ๘๑๒-๘๓๔ ลัทธิไวตุลยซึ่งแต่งขึ้นโดยเดียรถีย์ชื่อว่าไวตุลยะผู้ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา ได้เผยแผ่เข้าไปในลังกา ภิกษุฝ่ายอภัยคิรีวิหารได้ถือปฏิบัติตาม โดยประกาศยืนยันว่าลัทธิไวตุลยนี้เป็นพุทธพจน์ ไวตุลยนี้บางครั้งเรียกว่ามหายานสูตร[93] พ.ศ. ๘๖๕-๘๗๖ นิกายไวตุลยะมหายานได้เข้าไปในลังกาอีกครั้งโดยพระเถรหนุ่มรูปหนึ่งชื่อว่าสังฆมิตร ได้เป็นอาจารย์พระเจ้าเชฏฐติสสะ และพระมหาเสนะ(พระอนุชา) พระสังฆมิตรได้มีฐานที่มั่นคืออภัยคิรีวิหาร พระสังฆมิตรได้ไปชักชวนพระฝ่ายมหาวิหารเป็นมหายาน แต่ฝ่ายมหาวิหารไม่รับ พระสังฆมิตรจึงได้ยืมมือสถาบันกษัตริย์กลั่นแกล้งพระฝ่ายมหาวิหารโดยให้พระองค์ออกคำสั่งประกาศห้ามประชาชนทำบุญถวายอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุฝ่ายมหาวิหาร เป็นเหตุให้ฝ่ายมหาวิหารต้องพากันทิ้งอารามไปอยู่ที่อื่น มหาวิหารได้กลายเป็นวิหารร้าง ฝ่ายพระสงฆ์ฝ่ายอภัยคิรีวิหารเจริญรุ่งเรืองมาก ในหนังสือมหาวงษ์ พงษาวดารลังกาทวีปกล่าวถึงพระสังฆมิตรสรุปได้ความว่า สังฆมิตรภิกษุ เป็นศิษย์ของพระรักขิตในอภัยคีรีวิหาร ฉลาดในสาตรเวททั้งหลายมีภูตวิชาขับผีปีศาจเป็นต้น ท่านสังฆมิตรโกรธให้ภิกษุฝ่ายมหาวิหาร ในรัชสมัยของพระเจ้าเชฏฐติสสะสังฆมิตรหนีมาอยู่ที่ฝั่งอินเดีย เมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้ามหาเสนะ สังฆมิตรภิกษุได้กลับมาที่ลังกา เริ่มแผนจะกำจัดพระสงฆ์ที่อยู่ในมหาวิหาร จึงทูลถวายพระพรว่า “ดูกรมหาราชผู้ประเสริฐ บรรดาภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในมหาวิหารนั้น จะได้มีถ้อยคำเปนวินัยหามิได้ แต่อาตมาภาพทั้งหลายนี้มีถ้อยคำเปนวิไนย ยังบรมกระษัตรให้ถือเอามั่นฉะนี้แล้ว ก็ตั้งไว้ซึ่งราชอาชญาแห่งพระมหากระษัตรว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรให้ข้าวให้น้ำแก่ภิกษุทั้งหลายอันอยู่ในมหาวิหารนั้น สินไหมร้อยหนึ่งจะพึงมีแก่ผู้นั้น เมื่อสังฆมิตรภิกษุเบียดเบียนฉะนี้ ฝ่ายภิกษุทั้งหลายอันอยู่ในมหาวิหารก็ละซึ่งมหาวิหารเสียแล้ว ก็ไปสู่ มไลยประเทศและโรหนะชนบท เหตุดังนั้น อันว่ามหาวิหารก็เปนอารามร้างว่างเปล่าสูญจากภิกษุทั้งหลายสิ้น ๙ ปี”[94] เมื่อมหาวิหารเป็นวิหารร้างว่างเปล่าไร้ภิกษุฝ่ายมหาวิหารอาศัยพระสังฆมิตรจึงได้ทูลยุยงความปรากฏว่า “แท้จริงอันว่าที่แดนทั้งปวงหาเจ้าของมิได้แล้วก็เปนที่ของเจ้าแผ่นดิน เมื่อมีอุบายอันตนได้แต่สำนักมหากระษัตรแล้ว ก็ประกอบการที่จะทำลายล้างเสียซึ่งมหาวิหารนั้น”[95] พระสังฆมิตรร่วมกับโสณอมาตย์ไปรื้อซึ่งโลหปราสาทอันมีพื้นที่ ๗ ชั้น แลปราสาทอื่นต่างๆเปนอันมาก นำมาแต่มหาวิหารเอาไปไว้ในอไภยคิรีวิหารแลอไภยคิรีวิหารนั้นก็มากไปด้วยปราสาท อันอำมาตย์แลภิกษุนั้นนำมาแต่มหาวิหาร[96] กาลต่อมาเมื่อภิกษุฝ่ายมหาวิหารได้กลับมาอยู่ในมหาวิหารเหมือนเดิม พระราชามหาเสนะได้สร้างเชตวันวิหารในอาณาบริเวณฝ่ายมหาวิหารถวายแด่พระติสสะเถระซึ่งเป็นพวกสาคลิยะซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับมหาวิหาร พระองค์มีพระประสงค์จะให้ภิกษุฝ่ายมหาวิหารเดาะซึ่งสีมาของมหาวิหารเสีย การกระทำครั้งนี้ภิกษุฝ่ายมหาวิหารไม่พอใจเป็นอย่างมากจึงพากันทิ้งมหาวิหารไปอยู่ที่อื่นอีก ๙ เดือน[97]เชตวันวิหาร ความจริงก็เป็นพรรคเดียวกับพวกอภัยคิรีวิหารนั่นเอง[98]ในคัมภีร์ศาสนวงศ์กล่าวถึงพระสังฆมิตตะไว้ว่า เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพวกพระภิกษุคณะอภยคิริวาสี ท่านเป็นประธานอาจารย์ของพระราชา(มหาเสนะ)ได้ปรารภปรึกษากับพระเจ้ามหาเสนะ เพื่อจะยุบวัดมหาวิหารอันเป็นที่อยู่ของพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระมหามหินทรเป็นต้น ครั้งนั้น วัดมหาวิหารว่างพระภิกษุถึง ๙ ปี[99]
พระเจ้ามหาเสนะได้บีบคั้นมหาวิหารนิกายในที่สุดมหาวิหารนิกายได้เข้าถึงความเสื่อมเป็นเวลานาน อภัยคิรีวิหารเจริญรุ่งเรือง[100] ในสมัยพระเจ้าศิริเมฆวรรณ พระบรมสารีริกธาตุอันเป็นส่วนพระเขี้ยวแก้วได้ถูกนำมาจากแคว้นกาลิงคะจากอินเดียสู่ลังกาและได้นำไปประดิษฐานเพื่อเป็นที่เคารพสักการะที่อภัยคิรีวิหาร[101]พระเจ้าศิริเมฆวรรณได้สืบราชสมบัติเมื่อปี ๙๐๕[102] เมื่อพ.ศ. ๙๕๒-๙๗๕ พระเจ้ามหานามเสวยราชย์แล้ว ทรงเลื่อมใสคณะสงฆ์ฝ่ายอภัยคิรีวิหาร[103] หลวงจีนฟาเหียนได้เดินทางเข้าไปลังกาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ได้บันทึกการเดินไว้ว่า “วัดอภัยคิรีวิหารนั้นเจริญรุ่งเรืองมากมีพระภิกษุสามเณรถึง ๕,๐๐๐ รูป แต่วัดมหาวิหารนั้นไม่ค่อยเจริญมีภิกษุสามเณรประมาณ ๓,๐๐๐ รูป” คณะอภัยคิรีวิหาร เป็นคณะเสรีนิยม ไม่รังเกียจภิกษุต่างนิกาย ยินดีต้อนรับเอาความคิดเห็นของต่างนิกายเข้ามา...อภัยคิรีจึงเป็นศูนย์สำคัญแห่งหนึ่งของมหายานในลังกา[104]
ในช่วงพ.ศ.๙๗๕ นั้นคณะสงฆ์ฝ่ายอภัยคิรีวิหารมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากเพราะกษัตริย์นับถือภิกษุฝ่ายอภัยคิรีวิหาร ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในลังกาไม่ปรากฏว่าคณะสงฆ์ฝ่ายอภัยคิรีถูกรังแกมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ เป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า ฝ่ายมหาวิหารซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาท ถูกกลั่นแกล้งได้รับความลำบากต้องทิ้งถิ่นไปอยู่ที่อื่นถึง ๒ ครั้ง มีความเป็นอยู่ลำบาก ฝ่ายที่บ้านเมืองและกษัตริย์สนับสนุนคือภิกษุฝ่ายอภัยคิรีวิหาร เมื่อเป็นเช่นนั้นประชาชนส่วนใหญ่จะประพฤติปฏิบัติทางศาสนาตามกษัตริย์ ดังนั้นภิกษุณีเทวสราและคณะจึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า เป็นภิกษุณีฝ่ายอภัยคิรีวิหาร เพราะช่วงที่อภัยคีรีวิหารเจริญรุ่งเรือง คือช่วง พ.ศ. ๘๐๐-๑,๐๐๐[105] จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้จึงสันนิษฐานว่า “เป็นไปได้อย่างสูงว่า ภิกษุณีศรีลังกาที่ไปบวชสตรีชาวจีนเมื่อพ.ศ.๙๗๕ นั้น เป็นภิกษุณีฝ่ายอภัยคิรีวิหารซึ่งเป็นนิกายธรรมรุจีไม่ใช่ฝ่ายมหาวิหารที่เป็นเถรวาท[106]
อนึ่งการบวชของภิกษุณีจีนนั้นมี ๓ ขั้นคือ ช่วงแรกให้สตรีผู้จะบวช ขอบวชเป็นสามเณรี รักษาศีลก่อน จากนั้นฝึกอบรมต่อไปอีก ๓-๔ วัน ช่วงที่ ๒ ให้สามเณรีขอบวชเป็นภิกษุณีจากภิกษุณีสงฆ์ก่อนเป็นเรื่องที่ภิกษุณีสงฆ์จัดการบวชให้กันเอง จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่บวชให้อีก ช่วงที่ ๓ เป็นการรับศีลพระโพธิสัตว์ ๕๘ ข้อ [107] การบวชแบบจีนใต้หวันไม่มีขั้นตอนการเป็นสิกขมานา แสดงว่ามหายานเลิกปฏิบัติตามครุธรรม ๘ ประการ ภิกษุณีจีนที่บวชจากภิกษุณีศรีลังกาฝ่ายอภัยคีริวิหารเป็นมหายาน และยิ่งเจริญในฝ่ายจีนใต้หวัน ยิ่งปรากฏชัดเจนว่าภิกษุณีจีนใต้หวันเป็นมหายานเพราะวิธีการบวชไม่มีขั้นตอนการเป็นสิกขมานา ๒ ปี เมื่อปวัตตินี(ฝ่ายภิกษุณี) เป็นมหายาน และภิกษุสงฆ์ที่บวชให้เป็นเถรวาท ภิกษุณีได้รับการบวชด้วยลักษณะนี้เรียกว่า เป็นมหายานกึ่งเถรวาท หรือภิกษุณีที่มีภิกษุณีมหายานและภิกษุมหายานบวชให้ เรียกว่า มหายาน จริงอยู่คณะสงฆ์สมัยพุทธกาลไม่มีนิกาย แต่ต้องดูข้อเท็จจริงในการปฏิบัติตามพระวินัย พระพุทธศาสนามีภิกษุสงฆ์กลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจประชาชน ๒ กลุ่ม คือมหายาน(ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้) และเถรวาท(คงสิกขาบทเดิม) ในส่วนของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คณะภิกษุสงฆ์ได้ถือมติของพระเถระที่สังคายนาครั้งที่ ๑ ในมติครั้งนั้นว่าจะไม่ถอนสิกขาบทไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น คงสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้อย่างครบถ้วน ถึงแม้ว่า พระพุทธเจ้าจะทรงสั่งพระอานนท์ไว้ในเวลาที่ใกล้จะปรินิพพานด้วยข้อความว่า “อานนท์เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ก็พึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้”[108] พระเถระในคราวสังคายนาก็ไม่ถอน ด้วยเหตุผลคือไม่สามารถตกลงกันได้ในที่ประชุมว่าอะไรคือสิกขาบทเล็กน้อย เพราะพระอานนท์ไม่ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้นมีอะไรบ้าง ในที่สุด พระมหากัสสปะได้ทำความตกลงกันกับคณะสงฆ์ในที่ประชุมว่า “ท่านทั้งหลายขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเราที่รู้กันในหมู่คฤหัสถ์มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้อยู่ว่า “สิ่งนี้ควรแก่พวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย ก็จะมีผู้กล่าวว่า “พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่พวกสาวกชั่วกาลแห่งควันไฟ สาวกพวกนี้ศึกษาสิกขาบทอยู่ตลอดเวลาที่พระศาสดาของตนยังมีชีวิตอยู่ พอพระศาสดาของพวกเธอปรินิพพานไปแล้ว บัดนี้พวกเธอก็ไม่ศึกษาสิกขาบท ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ได้ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้ พึงสมาทานประพฤติตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่ถอนพระบัญญัติตามที่ทรงบัญญัติไว้ สมาทานประพฤติตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง[109]
เมื่อคณะสงฆ์ในที่ประชุมสังคายนาไม่มีผู้ใดทักท้วง หรือคัดค้านข้อญัตติที่พระมหากัสสปะประกาศในที่ประชุม ดังนั้นท่านจึงประกาศมติว่า “สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่ถอนพระบัญญัติตามที่ทรงบัญญัติไว้ สมาทานประพฤติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้[110]ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก พระอรหันต์เถระ ๕๐๐ รูปนำโดยพระมหากัสสปะ พระอุบาลี และพระอานนท์ได้ประกาศจุดยืนไม่ถอนสิกขาบทเล็กน้อย เมื่อทราบจุดยืนของเถรวาทแล้ว คำตอบของการบวชภิกษุณีโดยสงฆ์สองฝ่ายที่เป็นเถรวาทและมหายาน ก็คือภิกษุณีกึ่งเถรวาทและกึ่งมหายาน ไม่ใช่เถรวาทฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่ภิกษุณีเถรวาท
พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แสดงทัศนะในกรณีนี้ว่า “ภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทขาดตอนหมดไปแล้ว เราเลยบอกว่าไม่รู้จะเอาภิกษุณีสงฆ์ที่ไหนมาบวชผู้หญิงให้เป็นภิกษุณี ถึงแม้ภิกษุสงฆ์จะมีอยู่ ก็บวชให้ไม่ได้ เพราะการที่จะบวชภิกษุณีได้นั้น ความสำคัญอยู่ที่ภิกษุณีสงฆ์ มีภิกษุสงฆ์อย่างเดียวบวชให้เป็นภิกษุณีไม่ได้ องค์ประกอบสำคัญก็คือภิกษุณีสงฆ์นี่แหละ ตอนนี้มีคำถามว่า ที่ประเทศมหายานเช่นไต้หวันนั้นมีภิกษุณีสงฆ์ เพราะฉะนั้น ก็บวชภิกษุณีได้ใช่ใหม ก็ตอบง่ายๆ ชัดเจนว่าบวชได้ คือบวชเป็นภิกษุณีมหายาน เพราะเมื่อบวชโดยภิกษุณีสงฆ์มหายานและภิกษุสงฆ์มหายาน ก็ต้องเป็นภิกษุณีมหายานเป็นเรื่องธรรมดา บวชอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ถ้าบอกว่าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นเป็นภิกษุณีสงฆ์เถรวาทเพราะสืบต่อมาจากสายเถรวาท ก็ต้องไปสืบประวัติกันให้ชัดออกมา คือตรงไปตรงมา ให้ชัดลงไปว่าเป็นมาอย่างไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นอกจากนั้นยังจะมีปัญหาอีกขั้นหนึ่งว่าถ้าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันเริ่มต้นโดยเกิดจากภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริง แต่ต่อจากนั้นมา เวลาบวชภิกษุณีก็กลายเป็นว่า สงฆ์ ๒ ฝ่าย ที่บวชให้นั้นภิกษุณีสงฆ์เป็นเถรวาท ภิกษุสงฆ์เป็นมหายาน ภิกษุณีที่บวชใหม่ก็จะกลายเป็นลูกครึ่ง คือเป็นภิกษุณีที่เป็นกึ่งเถรวาทกึ่งมหายาน[111] นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ได้กล่าวว่า “จะเป็นภิกษุณีได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดเป็นพุทธบัญญัติตายตัวและชัดเจนตายตัวคือจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้อีกแล้วเนื่องจากเป็นพุทธบัญญัติ องค์พระบรมศาสดาผู้บัญญัติ ปรินิพพานไปแล้วแม้จะมีพระพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้ แต่มติหรือคติของเถรวาทนั้นตกลงไม่ยอมถอน คงยึดถือประพฤติตามพุทธบัญญัติอย่างเคร่งครัดมาจนถึงทุกวันนี้ [112]
พระธรรมปิฎกกล่าวไว้ว่า “ความปรารถนาดีและความต้องการของเรานี้จะได้แค่ไหน ก็ต้องขึ้นต่อหลักการ เราต้องดูว่าหลักการเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติไว้อย่างไรในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ทำได้เท่าไหนก็เท่านั้น การปฏิบัติในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณีนี้ ถึงจะมีรายละเอียดมาก แต่ถ้าว่าโดยหลักการกว้างๆ เราทราบกันแล้วว่า การที่จะบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องมีอุปัชฌาย์เป็นภิกษุณี แต่ข้อนี้ยังไม่สำคัญเท่าไร เพราะว่าอุปัชฌาย์นั้นยังไม่ทำให้สำเร็จความเป็นภิกษุณีได้ การบวชเป็นภิกษุณีหรือภิกษุก็ตามสำเร็จด้วยสงฆ์ ตรงนี้เป็นข้อสำคัญ และเป็นตัวตัดสิน คือต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทำอย่างไร จะให้มีภิกษุณีสงฆ์มาบวชให้ ในเมื่อภิกษุณีสงฆ์ขาดตอนไปแล้ว ในเรื่องนี้ ไม่ว่าภิกษุหรือภิกษุณีก็เหมือนกันไม่ใช่เฉพาะภิกษุณี ภิกษุถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ก็บวชไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ อย่างในประวัติศาสตร์ของลังกาภิกษุสงฆ์หมดไป ๒ ครั้ง กุลบุตรบวชเป็นภิกษุไม่ได้ แต่พอดีว่าประเทศไทยและพม่าซึ่งเป็นประเทศเถรวาทเหมือนกัน ยังมีภิกษุสงฆ์อยู่ ทางศรีลังกาจึงได้ส่งทูตมาขอพระภิกษุสงฆ์ไปบวชกุลบุตรชาวลังกา เกิดมีพระภิกษุขึ้นใหม่ ต่อมาภิกษุสงฆ์หมดอีก ก็ขอใหม่อีก ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าภิกษุสงฆ์ในประเทศอื่นไม่มี ภิกษุก็บวชใหม่ไม่ได้ ก็จบสิ้นเหมือนกัน[113]
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภิกษุณีสงฆ์เถรวาทเสื่อมสูญไปจากสังคมเถรวาทที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ความไม่สงบของบ้านเมืองในประเทศนั้นๆและสังคมวัฒนธรรม ไม่ใช่เสื่อมสูญเพราะครุธรรม ๘ หรือสิกขาบทบางสิกขาบท เพราะครุธรรมนั้นเป็นเพียงกฎที่ภิกษุณีต้องรักษา และกฎครุธรรม ๘ ประการ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว เมื่อย้อนไปศึกษาภิกษุณีในสมัยพุทธกาล จะพบว่าสตรีในสมัยพุทธกาลมาบวชเป็นภิกษุณีเป็นจำนวนมากมีเป็นหมื่นทั้งๆ ที่มีครุธรรม ๘ ประการและสิกขาบทแล้ว ดังนั้นครุธรรม ๘ และสิกขาบทจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ภิกษุณีเสื่อมสูญ
ปัจจุบันนี้ที่ประเทศศรีลังกามีการบวชภิกษุณีเถรวาทขึ้นมาทดแทนภิกษุณีเถรวาทที่เสื่อมสูญไป และมีการบวชติดต่อกันทุกปีโดยมีพระอินามาลุเว ศรีสุมังคโลมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดดัมบุลละนิกายสยามวงศ์เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมีภิกษุณีเกาหลีและภิกษุณีไต้หวันเป็นผู้สนับสนุนโดยการถวายปัจจัยให้ท่านศรีสุมังคโลได้สร้างศูนย์ฝึกภิกษุณีขึ้นที่กาลุนเดวะในดัมบุลละ[114] สตรีทุกคนที่จะบวชเป็นภิกษุณีต้องผ่านการบวชเป็นสามเณรีก่อน หลังจากนั้นต้องเข้าอบรมหลักสูตร ๓ เดือน เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมแล้วต้องสอบข้อเขียน ถ้าสามเณรีรูปใดสอบผ่านจึงจะสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ ถ้าสอบไม่ผ่านหมดสิทธิ์ต้องรอสอบปีหน้า[115] การบวชให้สตรีของท่านอินามาลุเว ศรีสุมังคโลไม่มีขั้นตอนของสิกขมานา ๒ ปี แต่มีการบวชเป็นสามเณรี และมีการบวชติดต่อกันทุกปี ท่านไม่ได้ปฏิบัติตามครุธรรมข้อว่าด้วยการเป็นสิกขมานา ๒ ปี ไม่ปฏิบัติตามสิกขาบทข้อว่าด้วยปวัตตินีสามารถบวชให้สตรีเป็นภิกษุณีปีละรูปเท่านั้นและบวชปีเว้นปี ในสมัยพุทธกาลไม่มีการสอบข้อเขียนเพื่อเป็นภิกษุณี คนไทยที่บวชเป็นภิกษุณีโดยธรรมเนียมศรีลังกามี ๘ รูป[116] ในประเทศศรีลังกามีภิกษุณีถึง ๔๐๐ รูป[117] ในปัจจุบันนี้สันนิษฐานว่าคงมีภิกษุณีที่ศรีลังกาประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงแม้ว่าประเทศศรีลังกาจะมีภิกษุณีเกิดขึ้นใหม่แต่สถานการณ์ของภิกษุณีศรีลังกายังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากที่ได้พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการบวชเป็นภิกษุณีมานานหลายปี แต่ชาวพุทธในศรีลังกายังคงไม่ให้การยอมรับผู้หญิงที่บวชเป็นภิกษุณีเท่าไรนัก[118]
ภิกษุณีเถรวาทดั่งเดิมได้เสื่อมสูญไปเพราะเหตุปัจจัยภายในและภายนอกดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อมองภิกษุณีเถรวาทที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขอันเดียวกันนี้ ภิกษุณีเถรวาทที่เกิดขึ้นใหม่นี้ก็จะเสื่อมสูญหมดไปด้วยเงื่อนไขอันเดียวกันกับในอดีต ต่างกันแต่เพียงกาลเวลาจะช้าหรือเร็ว เท่านั้น วงศ์ภิกษุณีเถรวาทเสื่อมสูญลงยุคหลังพุทธกาลนั้นเพราะความไม่สงบของบ้านเมืองเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากที่สุด และเงื่อนไขปัจจัยอันเดียวกันนี้ยังคงเป็นเงื่อนไขที่นำมาใช้ได้ในปัจจุบันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยคือ ยะลา นราธิวาสและปัตตานี ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง ภิกษุสามเณรถูกฆ่าตายถึงในวัด เมื่อไปบิณฑบาตก็ถูกวางระเบิดทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องมีทหารคุ้มกันในขณะบิณฑบาตร ถึงกระนั้นก็ยังไม่ปลอดภัย ชาวพุทธใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อพยพหนีจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กี่หมื่นกี่แสนคนแล้ว[119]
[1] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๔๓/๒๘๐,วิ.จู.(ไทย)๗/๔๔๓/๓๘๔.
[2] พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต),จารึกอโศก,(กรุงเทพมหานคร:ธรรมสภา,ม.ป.ป.,หน้า๒.
[4] วิ.มหา.อ.(บาลี)๑/๖๒-๖๓.
[5] วิ.มหา.อ.(บาลี) ๑/๖๓-๘๒.
[6]พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต),จารึกอโศก, ,หน้า ๑๐๙.
[7] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๓๐.
[8] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๙๙.
[9] Peter Skilling,A Note on the History of the Bhikkhuni-sangha(II),มหามกุฏราชวิทยาลัย,บาลีสันสกฤตวิชาการ,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๖),หน้า๒๐๓-๒๐๔.
[10] James Legge,Tr. The Travels of Fa-Hien’ s record,2nd ed.(Indie:Oriental Publications, 1972),p. 45.
[11] Nalinakshe Dutt, and Krishne Datta Bajpai,Development of Buddhism in Uttar Pradesh, (Lacknow,India:Publication Bureau Government of Uttar Pradesh,1956),p.314.
[13] Dr.Sarla Khosla,and Dr.Karan Singh, History of Buddhism in Kashmir,(New Delhi: Sagar Publication,1972),p.51.
[14] พุทธทาสภิกขุ,พุทธประวัติสำหรับนักศึกษา,(กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์แพร่พิทยา,๒๕๒๕)หน้า ๒๐๐.
[15] พระเทพวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณฺโณ), ทำไมพระพุทธศาสนาจึงเสื่อมจากอินเดีย,พิมพ์ครั้งที่ ๘,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๒),หน้า๕-๖.
[16] เรื่องเดียวกัน,หน้า๖.
[17] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๗.
[18] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๑๑/๒๔๓,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๑๑/๓๓๐.
[19] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๑๑/๒๔๓,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๑๑/๓๓๑.
[20] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๒๐/๒๕๑,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๒๐/๓๔๐-๓๔๒.
[21] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๑๘/๒๕๐,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๑๘/๓๓๙.
[22] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๑๗/๒๔๙,วิ.จู. (ไทย) ๗/๔๑๗/๓๓๙.
[23] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๑๖/๒๔๘,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๑๖/๓๓๘.
[24] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๙๘/๒๑๓,วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๙๘/๓๖๘.
[25] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๒๐๒/๒๑๔,วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๒๐๒/๓๗๐.
[26] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๑๗/๒๔๙,วิ.จู. (ไทย) ๗/๔๑๗/๓๓๙.
[27] วิสุทธิ.(บาลี) ๑/๘๑.
[28] วิสุทธิ.(บาลี) ๑/๘๑.
[29]พระมหาสังเวย ธมฺมเนตฺติโก,ภิกษุณีกับการบรรลุอรหัตตผล,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์อักษรสมัย,๒๕๓๗),หน้า๔๙.
[30] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๑๐๙.
[31] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๑๙.
[32] เรื่องเดียวกัน,หน้า๒๒.
[33] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย)๓/๑๑๗๐-๑๑๗๑/๓๕๔.
[34] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๗๔-๑๑๗๕/๓๕๖.
[35] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๒๔/๓๒๕.
[36] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๓๐/๓๒๙.
[37] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๓๖/๓๓๓.
[38] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๒๔/๓๒๕.
[39] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๓๐/๓๒๙.
[40] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๐๗/๓๑๖.
[41] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๒๔/๓๒๕.
[42] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๓๐/๓๒๙.
[43] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๓๖/๓๓๓.
[44] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๔๐/๓๓๕.
กกกกกกกก [45] วิ.ม.(บาลี)๔/๖๓/๕๕,วิ.ม.(ไทย)๔/๖๓/๗๘-๗๙.
[46] วิ.ม.(บาลี) ๔/๖๓/๕๕,วิ.ม.(ไทย) ๔/๖๓/๗๘-๗๙.
[48] ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๕/ ๒๕.
[50] ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๓/๑๓๕.
[53] วิ.มหา.(บาลี)๑/๓๐๓/๒๓๕,วิ.มหา.(ไทย) ๑/๓๐๓/๓๔๕-๓๔๖.
[54] พระมหาประมวล ฐานทตฺโต(บุลาลม),พาราณสี คือ อินเดียแท้,(กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ร่มธรรม,๒๕๔๘)หน้า ๑๒๙-๑๓๐.
[55] ปรีชา ช้างขวัญยืน,สตรีในคัมภีร์ตะวันออก,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๔๑)หน้า ๓๐.
[56] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๔๙.
[57] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๕๓.
[58] วรรณะ มี ๔ คือ ๑.กษัตริย์ ๒. พราหมณ์ ๓. แพศย์ ๔. ศูทร ที.ปา.(บาลี) ๑๑/๑๑๕/,ที.ปา.(ไทย) ๑๑/๑๑๕/๘๕.
[59] ม.ม.(บาลี) ๑๓/๔๒๒/๔๑๑,ม.ม.(ไทย) ๑๓/๔๒๒/๕๓๐.
[60] ที.สี.(บาลี) ๙/๒๕๕/๘๗,ที.สี.(ไทย) ๙/๒๕๕/๘๗.
[61] ขุ.สุ.(บาลี) ๒๕/๔๕๘/๔๑๙-๔๒๐,ขุ.สุ.(ไทย) ๒๕/๔๕๘/๖๐๔.
[62] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๘๖๔/๑๓๕,วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๘๖๔/๑๗๓.
[63] ขุ.เถรี.(บาลี) ๒๕/๓๖๘/,ขุ.เถรี.(ไทย) ๒๕/๓๖๘/๖๑๖.
[64] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๙๖๑/๑๓๔,วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๙๖๑/๒๓๐.
[65] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๙๖๕/๑๓๕,วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๙๖๕/๒๓๒.
[66] พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต),จาริกบุญจารึกธรรม,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์สหธรรมิก,๒๕๔๓),หน้า๓๕๗-๓๖๑.
[67] พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล(อุ่นคำ),”ราชวงศ์แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย”,พุทธจักร,ปีที่ ๕๖ฉบับที่ ๖(เมษายน ๒๕๔๕):๔๒-๔๕.
[68] เรื่องเดียวกัน,หน้า๔๕-๔๖.
[69] เสถียร โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, หน้า๓๒๑.
[70]พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล(อุ่นคำ), หน้า:๒๙.
[71] เรื่องเดียวกัน,๔๔-๔๖.
[72] พระเทพวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณฺโณ),ทำไม พระพุทธศาสนาจึงเสื่อมจากอินเดีย,หน้า๕๙.
[73] ชิว ซูหลุน,ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง,(กรุงเทพมหานคร:พิมพ์ ที่บริษัท พิฆเณศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์จำกัด,๒๕๔๗),๑๕๙.
[74] พระเทพวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณฺโณ),ทำไมพระพุทธศาสนาจึงเสื่อมจากอินเดีย,หน้า ๕๑.
[75] Ji Xian lin, Zhong Yin wen hua guan xi shi(lun yiji),(San lian shu dian, Beijing 1982.pp.78-79.( น.ส.อุษา โลหะจรูญ แปลจากต้นฉบับภาษาจีน).
[76] วิ.มหา.อ.(บาลี) ๑/๑๐๑.
[77] ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร,พุทธศาสนาในลังกา,(กรุงเทพมหานคร:เจริญสินการพิมพ์,๒๕๐๘), หน้า ๑๙๘-๒๑๓.
[78] Ceylon Daily Nees,Vesak Number 1934,p.49.อ้างใน เดือน คำดี,ภิกษุณีในพระพุทธศาสนา:การศึกษาเชิงวิเคราะห์,โครงการวิจัยพุทธศาสตร์ศึกษา ของศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๔๔,หน้า ๒๑๒.
[79] พระมหารัตนาวุฒิ กลฺยาณสีโล วัดสังวรสีลาราม จังหวัด กัมปงจาม ประเทศกัมพูชา สัมภาษณ์. ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐.
[80]ภิกษุกัมพูเจียในเวียตนามใต้ ประเทศเวียตนาม,สัมภาษณ์.๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐.
[81] I.B. Horner,Women under Primitive Buddhism,p”173.
[82]ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร,พุทธศาสนาในลังกา,(กรุงเทพมหานคร:เจริญสินการพิมพ์,๒๕๐๘), หน้า ๑๙๘-๒๑๓.
[83]ภิกษุณีกุสุมา ชาวศรีลังกา (ปวัตตินี), สัมภาษณ์. ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๗.
[84]ภิกษุณีกุสุมา ชาวศรีลังกา (ปวัตตินี), สัมภาษณ์.๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๗.
[85] ธัมมนันทา สามเณรี(รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์), การสืบสายภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา,(กรุงเทพฯ:ส่องศยามจำกัด,๒๕๔๔),หน้า ๑๐-๑๕.
[86] ภิกษุณีกุสุมา ชาวศรีลังกา(ปวัตตินี), สัมภาษณ์ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๗.
[87] ภิกษุณีกุสุมา ชาวศรีลังกา(ปวัตตินี), สัมภาษณ์ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๗.
[88] ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์,มาดสตรีในพระพุทธศาสนา,(กรุงเทพมหานคร:บริษัทสารมวลชน,๒๕๒๘),หน้า ๒๙.
[89]ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร,พุทธศาสนาในลังกา, หน้า ๒๘๔.
[90] Hirakawa Akira, A History of Indian Buddhism, (Hawaii: University of Hawaii Press,1990),p.124.
[91] พระเทพดิลก(ระแบบ ฐิตญาโณ),ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘),หน้า๒๘๒.
[92]กรมศิลปากร,ศาสนวงศ์หรือประวัติศาสนา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์(โสม ฉนฺโน) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๖,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม,๒๕๐๖)หน้า๓๔-๓๕.
[93] ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร,พระพุทธศาสนาในศรีลังกา,หน้า๘๘-๙๓.พระเทพดิลก(ระแบบ ฐิตญาโณ),ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,หน้า๒๘๔.
[94]พระสมุดวชิรญาณ, มหาวงษ์ พงษาวดารลังกาทวีป เล่ม ๒,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิพม์ไทย, ร.ศ.๑๒๙),หน้า(๗๒๓-๗๒๗.
[95] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๗๒๗.
[96] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๗๒๗.
[97] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๗๓๐-๗๓๒.
[98] พระกวีวรญาณ,ไปสืบพระศาสนาในลังกา จดหมายเหตุจากเมืองละเวง,(ม.ป.ท.๒๕๐๒),หน้า๑๒๑.
[99] กรมศิลปากร,ศาสนวงศ์หรือประวัติศาสนา ,หน้า ๓๖-๓๗.
[100]Hirakawa Akira, A History of Indian Buddhism,p.125.
[102]พระเทพดิลก(ระแบบ ฐิตญาโณ),ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,หน้า๒๘๗.
[103] เรื่องเดียวกัน,หน้า๒๘๘.
[104] เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ ภาค ๒,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๐),หน้า ๔.
[105] สรุปจากชูศักดิ์ ทิพย์เกษร,พระพุทธศาสนาในศรีลังกา,หน้า ๙๒-๑๐๙.
[106]การอ้างคัมภีร์มหาวงษ์ พงษาวดารลังกาทวีปนี้ผู้วิจัยก็ตระหนักถึงปัญหาข้อว่า “อ้างแต่คัมภีร์ที่แต่งโดยฝ่ายมหาวิหารแต่ประการเดียว”ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วเอกสารคัมภีร์มหาวงษ์ พงษาวดารถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ศรีลังกาได้ละเอียด.
[107] พระศรีปริยัติโมลีและคณะ,สตรีในพระพุทธศาสนา,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์หจก.เอมี่ เทรดดิ้ง,๒๕๔๔),หน้า๑๐๘-๑๐๙.
[108] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๔๑/๒๘๗,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๔๑/๓๘๒.
[109] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๔๒/๒๗๙,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๔๒/๓๘๓.
[110] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๔๒/๒๗๙.,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๔๒/๓๘๓.
[111] อาจารย์สมพร ประวรรณากร,ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก,ภิกขุนีปาติโมกข์,(กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ธรรมสาร,๒๕๔๕),หน้า ๑๘๒-๑๘๗.
[112] นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,ชำนาญ นิศารัตน์,ไขปริศนา ปัญหาภิกษุณี,(กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์สหธรรมิกจำกัด,๒๕๔๔),หน้า๒๕-๒๖.
[113] พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต),ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี,หน้า ๑๗.
[114] ฉัตรสุมาลย์, “ธรรมลีลา”,มติชนสุดสัปดาห์,(๑๔-๒๐ กันยายน ๒๕๕๐):๔๖.
[115] เรื่องเดียวกัน: ๔๖.
[116] เรื่องเดียวกัน: ๔๖.
[117] ธัมมนันทา, “ธรรมะจากข่าว”,คมชัดลึก,(๙ สิงหาคม ๒๕๔๘):๑๒.
[118] ภัสรา, “ข่าวสารผ่านโลก”,ธรรมลีลา,( ๑ เมษายน ๒๕๔๗):๖.
[119] พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต),การเผยแผ่เชิงรุก,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๘)หน้า ๗.
|